1. สยามโซน
  2. ภาพยนตร์
  3. ข่าววงการภาพยนตร์

The King's Speech คว้าภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากพีจีเอ

The King's Speech คว้าภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากพีจีเอ

ในงาน "พีจีเอ อวอร์ดส์" (PGA Awards) ของสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกา (Producers Guild of America) ที่จัดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 22 มกราคม 2011 ตามเวลาใน เบเวอร์ลี ฮิลตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา "The King's Speech" ที่อำนวยการสร้างโดย "เอียน แคนนิง" "เอมิล เชอร์แมน" และ "แกเรธ อันวิน" สร้างความแปลกใจด้วยการคว้ารางวัล แดร์เรล เอฟ. ซานุก หรือผู้อำนวยการสร้างยอดเยี่ยม ซึ่งมีค่าเทียบเท่าภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในงานอื่นๆ ขณะรับรางวัล เอมิล กล่าวว่า "เราตื้นตันมากกับเสียงตอบรับของผู้ชมทั่วโลกที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้"

สำหรับปีนี้ "The Social Network" ของผู้กำกับ "เดวิด ฟินเชอร์" เป็นตัวเต็งอันดับ 1 ในการช่วงชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากงานออสการ์ ซึ่งกำลังจะประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงในวันอังคารที่จะถึงนี้ เพราะ The Social Network คว้ารางวัลใหญ่จากสถาบันนักวิจารณ์ต่างๆ มาได้ครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วยังชนะรางวัลภาพยนตร์ชีวิตยอดเยี่ยมจากงานลูกโลกทองคำเมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่ผ่านมาด้วย ชัยชนะครั้งนี้ของ The King's Speech จึงทำให้ทั้ง 2 เรื่องกลับมาเป็นคู่แข่งในงานออสการ์ที่สมน้ำสมเนื้ออีกครั้ง

ผู้ชนะในงานนี้ที่มี "จัดด์ อพาโทว์" เป็นพิธีกร ตัดสินจากการลงคะแนนเสียงของสมาชิกมากกว่า 4,500 คน และปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่สมาคมเปลี่ยนจำนวนผู้เข้าชิงในสาขาผู้อำนวยการสร้างยอดเยี่ยมจาก 5 คนเป็น 10 คน โดยคู่แข่งที่ The King's Speech ฝ่าด่านชนะมาได้ นอกจากกระดูกชิ้นโตอย่าง The Social Network แล้วยังมี "127 Hours" "Black Swan" "The Fighter" "Inception" "The Kids Are All Right" "The Town" "True Grit" และ "Toy Story 3"

อย่างไรก็ตาม Toy Story 3 ยังได้รางวัลแอนิเมชันยอดเยี่ยม โดยเอาชนะคู่แข่งอย่าง "Despicable Me" และ "How to Train Your Dragon" มาได้ ผู้อำนวยการสร้าง "ดาร์ลา เค. แอนเดอร์สัน" กล่าวขณะรับรางวัลว่า "ฉันคงไม่ได้มาอยู่ที่นี่ถ้าไม่ได้ความสามารถในการกำกับที่ยอดเยี่ยมของ ลี อุนคริช" ส่วนภาพยนตร์ว่าด้วยระบบโรงเรียนรัฐบาลของอเมริกา "Waiting for Superman" ของผู้อำนวยการสร้าง "เลสลีย์ ชิลค็อตต์" ก็ชนะรางวัลสารคดียอดเยี่ยม เลสลีย์ กล่าวอย่างถ่อมตนว่า "พวกคุณปฏิบัติกับเราเหมือนเราเป็นภาพยนตร์ใหญ่ ทั้งที่เราเป็นแค่สารคดีเล็กๆ เท่านั้น"

"สก็อตต์ รูดิน" เป็นผู้อำนวยการสร้างคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล แดร์เรล เอฟ. ซานุก จากภาพยนตร์ 2 เรื่องภายในปีเดียว นั่นคือ The Social Network และ True Grit แต่ถึงทั้ง 2 เรื่องจะพลาดท่าให้ The King's Speech สก็อตต์ ก็ยังได้รางวัลเกียรติยศ เดวิด โอ. เซลส์นิก ในฐานะผู้ประสบความสำเร็จในวงการภาพยนตร์ "ผมรักงานนี้มาก มันเป็นสิ่งเดียวที่ผมอยากทำตั้งแต่อายุ 8 ปี ผมมีความสุขมากที่ได้ทำมันมา 30 ปี" สก็อตต์ กล่าว

"ทอม แฮงก์ส" และ "แกรี โกตซ์แมน" ขึ้นเวที 2 รอบเพื่อรับรางวัล เดวิด แอล. โวลเปอร์ จากการอำนวยการสร้างละครโทรทัศน์ที่ไม่จบในตอน "The Pacific" และรางวัล นอร์แมน เลียร์ สำหรับความสำเร็จในวงการโทรทัศน์ ขณะรับรางวัลหลัง ทอม กล่าวว่า "เราได้มาอยู่ที่นี่เพราะความรักในงานแสดงของเหล่านักแสดงครับ" ส่วน "เจมส์ คาเมรอน" ที่ได้รางวัล ไมล์สโตน จากการสร้างผลงานมายาวนาน ใช้โอกาสนี้กล่าวถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นที่เขาสอดแทรกไว้ในภาพยนตร์ "Avatar" ของเขา "ผมขอท้าให้พวกคุณทุกคนในคืนนี้ลองคิดออกนอกฟองสบู่ที่สวยหรู แล้วลุกขึ้นมาแก้ปัญหาครับ"

ผู้ชนะรางวัลเกียรติยศอีก 2 คนที่ใช้โอกาสนี้เรียกร้องทางสังคม คือ เจ้าของรางวัล วิชันนารี "ลอรา ซิสคิน" ผู้ผลิตรายการ "Stand Up To Cancer" เธอกล่าวในงานนี้ว่า "เราไม่ใช่หมอหรือนักวิทยาศาสตร์ แต่เรารู้สึกว่าสามารถใช้สื่อในการทำให้มะเร็งกลายเป็นประเด็นสำคัญระดับประเทศได้" ส่วนนักแสดงชื่อดัง "ฌอน เพนน์" ที่ได้รางวัล สแตนลีย์ เครเมอร์ กล่าวถึงการฟื้นฟูประเทศเฮติหลังจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ว่า "ด้วยความช่วยเหลือของพวกคุณ เฮติจะต้องผ่านพ้นวิกฤติได้ คงต้องลำบากกันสัก 2-3 เดือน แต่ขอให้ยืนหยัดไว้นะครับ"

สรุปผลรางวัล Producers Guild Awards ครั้งที่ 22

ภาพยนตร์

  • รางวัล แดร์เรล เอฟ. ซานุก แด่ผู้อำนวยการสร้างยอดเยี่ยม: เอียน แคนนิง (Iain Canning) เอมิล เชอร์แมน (Emile Sherman) และ แกเรธ อันวิน (Gareth Unwin) จาก The King's Speech
  • ผู้อำนวยการสร้างยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์สารคดี: เลสลีย์ ชิลค็อตต์ (Lesley Chilcott) จาก Waiting for Superman
  • ผู้อำนวยการสร้างยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์แอนิเมชัน: ดาร์ลา เค. แอนเดอร์สัน (Darla K. Anderson) จาก Toy Story 3

โทรทัศน์

  • รางวัล แดนนี โธมัส แด่ผู้อำนวยการสร้างยอดเยี่ยมจากละครโทรทัศน์แนวตลก: สตีเวน เลวิแทน (Steven Levitan) คริสโตเฟอร์ ลอยด์ (Christopher Lloyd) เจฟฟ์ มอร์ตัน (Jeff Morton) แดน โอแชนนอน (Dan O’Shannon) เจสัน ไวเนอร์ (Jason Winer) บิลล์ วรูเบล (Bill Wrubel) และ แดนนี ซูเคอร์ (Danny Zuker) จาก Modern Family
  • รางวัล นอร์แมน เฟลตัน แด่ผู้อำนวยการสร้างยอดเยี่ยมจากละครโทรทัศน์แนวชีวิต: ลิซา อัลเบิร์ต (Lisa Albert) สกอตต์ ฮอร์นบอกเกอร์ (Scott Hornbacher) อองเดร ชากเมตตง (Andre Jacquemetton) มาเรีย ชากเมตตง (Maria Jacquemetton) เบล็ก แม็กคอร์มิก (Blake McCormick) ดเวย์น แชตทัก (Dwayne Shattuck) และ แมตธิว ไวเนอร์ (Matthew Weiner) จาก Mad Men
  • รางวัล เดวิด แอล. โวลเปอร์ แด่ผู้อำนวยการสร้างยอดเยี่ยมจากละครโทรทัศน์ที่ไม่จบในตอนหรือภาพยนตร์ที่ฉายทางโทรทัศน์: แกรี โกตซ์แมน (Gary Goetzman) ทอม แฮงก์ส (Tom Hanks) ยูจีน เคลลี (Eugene Kelly) ทอดด์ ลอนดอน (Todd London) บรูซ ซี. แมกเคนนา (Bruce C. McKenna) เชอรีลแอนน์ มาร์ติน (Cherylanne Martin) สตีเวน แชร์ชิอัน (Steven Shareshian) สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) โทนี ตู้ (Tony To) ทิม แวน แพตเทน (Tim Van Patten) และ เกรแฮม โยสต์ (Graham Yost) จาก The Pacific
  • ผู้อำนวยการสร้างยอดเยี่ยมจากรายการโทรทัศน์ประเภทนำเสนอความจริง: ธอม เบียร์ส (Thom Beers) เจฟฟ์ คอนรอย (Jeff Conroy) ชีลา แม็กคอร์แมก (Sheila McCormack) อีธาน พร็อชนิก(Ethan Prochnik) และ แมตต์ เรนเนอร์ (Matt Renner) จาก Deadliest Catch
  • ผู้อำนวยการสร้างยอดเยี่ยมจากรายการโทรทัศน์ประเภทบันเทิงหรือรายการแข่งขัน: เมเรดิธ เบนเนตต์ (Meredith Bennett) สตีเวน โคลแบรต์ (Stephen Colbert) ริชาร์ด ดาห์ม (Richard Dahm) ทอม เพอร์เซลล์ (Tom Purcell) อัลลิสัน ซิลเวอร์แมน (Allison Silverman) และ จอน สจวร์ต (Jon Stewart) จาก The Colbert Report

รางวัลเชิดชูเกียรติ

  • รางวัล ไมล์สโตน แด่ผู้สร้างผลงานในอุตสาหกรรมบันเทิงมายาวนาน: เจมส์ คาเมรอน (James Cameron)
  • รางวัล เดวิด โอ. เซลส์นิก แด่ผู้ประสบความสำเร็จในวงการภาพยนตร์: สก็อตต์ รูดิน (Scott Rudin)
  • รางวัล นอร์แมน เลียร์ แด่ผู้ประสบความสำเร็จในวงการโทรทัศน์: ทอม แฮงก์ส (Tom Hanks) และ แกรี โกตซ์แมน (Gary Goetzman)
  • รางวัล วิชันนารี แด่ผู้อำนวยการสร้างที่มีคุณภาพและเป็นเอกลักษณ์: ลอรา ซิสคิน (Laura Ziskin)
  • รางวัล แวนการ์ด แด่ผู้ประสบความสำเร็จในสื่อสมัยใหม่: บริษัท เรียลดี (ผู้พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการสร้างภาพยนตร์ 3 มิติ)
  • รางวัล สแตนลีย์ เครเมอร์ แด่ภาพยนตร์สะท้อนปัญหาสังคม: Milk

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความคิดเห็น

ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ในอดีต

เกร็ดภาพยนตร์

  • The Last Five Years - ใช้เวลา 21 วันในการถ่ายทำ และถ่ายทำฉากเพลง Goodbye Until Tomorrow ในวันสุดท้าย อ่านต่อ»
  • Mad Max: Fury Road - ฉากเทคนิคพิเศษประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ช่วย แต่เป็นของจริงโดยใช้นักแสดงแทน ฉาก และการแต่งหน้าช่วย ส่วนที่ใช้คอมพิวเตอร์ก็ใช้เพียงลบเชือก ตกแต่งพื้นที่ทะเลทรายนามิบ และสร้างแขนปลอมข้างซ้ายของ ชาร์ลีซ เธอรอน ผู้รับบท ฟิวริโอซา เท่านั้น อ่านต่อ»
เกร็ดจากภาพยนตร์สามารถดูได้ในหน้าข้อมูลภาพยนตร์แต่ละเรื่อง

เปิดกรุภาพยนตร์

เรื่องราวเน้นที่การทุจริตในระบบการศึกษาของประเทศ แนวคิดของการใช้เงินเพื่อซื้ออนาคตไม่ว่าจะเป็นการศึกษา งาน และรายได้ แม...อ่านต่อ»