เปิดใจ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ถึงการทำงานในหนังเรื่อง องค์บาก
ภาพยนตร์คือความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง ที่มีทั้งสาระและความสนุกสนานผสมผสานกันได้อย่างลงตัว สมัยหนึ่งภาพยนตร์ไทยเคยรุ่งเรืองสุดขีดมาตลอด แต่พอมายุคหลังๆ ที่มีภาพยนตร์จีนและภาพยนตร์ฝรั่งเข้ามาแทนที่ ทำให้หนังไทยตายไปตามกาลเวลา แต่พอนับเริ่มจาก 2499 อันธพาลครองเมือง นางนาก สตรีเหล็ก และ สุริโยไท ทำให้ภาพยนตร์ไทยกลับมาฟูเฟื่องอีกครั้งหนึ่ง โดยภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่เข้าฉายในวันที่ 31 มกราคม ที่จะถึงนี้ และได้รับความสนใจไม่น้อย ถึงขนาดได้รับเกียรติให้เป็นภาพยนตร์ฉายเปิดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ด้วย คือเรื่อง องค์บาก โดย ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการทำงานเรื่องนี้ ดังนี้
แรงบันดาลใจสำหรับการทำหนังเรื่องนี้
แรงบันดาลใจต้องย้อนไปสมัยตอนอยู่ต่างจังหวัดนะครับ ตอนนั้นยังเป็นวัยรุ่นยังเรียนหนังสืออยู่ ได้ดูหนังเรื่องไทยหนึ่งเป็นหนังแอ๊คชั่นที่น่าศึกษามากที่สุด เป็นหนังที่ติดตาตั้งแต่นั้นมาก็จดจำมาโดยตลอด ชื่อเรื่องว่าเกิดมาลุย แต่ก็ไม่ได้คิดอะไร คิดแค่ว่าหนังเรื่องนี้สนุก ก็พอย้อนกลับมาดูตอนที่ได้ทำหนังเอาประสบการณ์และความสามารถบวกกัน คิดว่าหนังแอ๊คชั่นจะเป็นหนังที่น่าสนใจได้ดี จึงเป็นโปรเจ๊คของการคิดหนังเรื่องนี้
คิดทำหนังเรื่องนี้มานานเท่าไรแล้ว
ประมาณ 20 กว่าปี แต่คิดที่จะทำจริงๆ ก็ 4 ปีที่แล้ว วงการหนังไทยช่วงนั้นกำลังแย่มาก ช่วงนั้นผมก็รับจ้างทำคิวบู๊ให้หนังให้ละครไปเรื่อย การที่ได้เรียนรู้ประสบการณ์มา ก็อยากที่จะทำหนังไทยให้สามารถมีชื่อเสียงกลับมาอีก ซึ่งตอนนั้นผมทำงานบริษัท และเห็นน้องคนหนึ่งมีความสามารถโดดเด่นมาก ผมคิดว่าน่าจะทำสิ่งแปลกใหม่ให้กับกองถ่าย ที่คิดอย่างนี้ก็เพราะว่าวัฒนธรรมของคนไทยถูกกลืนจากวัฒนธรรมของฮ่องกง ไม่ว่าจะเป็นการเตะการต่อยจะมีการเรียนแบบหนังฮ่องกง จนกลายเป็นว่าประเทศไทยไม่มีอะไรที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยเลย
ผมเริ่มที่เตือนสติของคนไทยให้คิดถึงความเก่งและเห็นศิลปะการต่อสู้ของคนไทย ทำให้ผมนึกถึงความสามารถของน้องคนนั้น คิดว่าออกแบบฉากแอ๊คชั่นโดยที่เน้นท่าทางการต่อสู้ที่เป็นของคนไทย ผมคิดว่าจะทำยังไงเพื่อให้หนังไทยได้ติดอันดับโลก จึงคิดว่าไม่มีเงินลงทุนหรืออะไรๆ ที่จะสู้เขาได้ นอกจากการเสี่ยงตาย ผมจะเน้นความเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย มีการค้นคว้าจากตำราจะมีเทคนิคต่างๆ เยอะมากที่ไม่มีใครที่คิดจะนำมาใช้ในการต่อสู้เลย แม้แต่วงการมวยไทย ซึ่งน่าเสียดาย
การค้นคว้าหาข้อมูลของบท
บทแต่ละบทเราจะมีการตรวจสอบความถูกต้อง โดยจะคิดถึงนายขนมต้มที่ยึดหลักแม่ไม้มวยไทยที่ถูกต้องและสอดคล้องกับความเป็นสากลมากที่สุด แต่เราก็การปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะช่วยกันคิดท่าที่แปลกใหม่นำมาผสมให้สอดคล้องกันความเป็นจริง กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงในวงการมวยไทยไม่ให้คนมองเป็นมวยเถื่อน
ที่ว่าจะมีโครงการหนังภาคสอง
มีการวางอนาคตของหนังเท่าที่มองโครงการกับคุณพันนา เพราะตอนเริ่มต้นของการสร้างหนังเรามองไปถึงอนาคตว่าเป็นหนังระดับประเทศ ที่เราสามารถเปิดเผยวัฒนธรรมของไทยให้ชาวต่างชาติได้รู้จัก ความงดงามและความเป็นศิลปะมากที่สุด และเรื่องต่อๆ ไปเราจะมีการพัฒนาความเป็นแม่ไม้มวยไทยให้ชาวต่างชาติได้รับรู้มากยิ่งขึ้น
การคัดตัวนักแสดง อย่างเช่นคุณจา
จะดูจากประวัติของเขา เพราะเราก็ไม่ค่อยได้รู้จักเขาเท่าไหร่ แต่จะศึกษาจากประวัติส่วนตัวเขามากกว่า ช่วงแรกติดต่อพระเอกไว้หลายคนสุดท้ายก็ลงเอยที่จา ส่วนนักแสดงคนอื่นๆ ก็จะดูจากความเหมาะสม
การที่เลือกฉากที่มีพระพุทธรูปเพราะอะไร
เป็นการสร้างความเชื่อถือ หนังเรื่องนี้จะไม่ใช่ที่แสดงความรัก แต่จะเป็นหนังที่แสดงความเป็นเพื่อน ที่มีแต่ความรู้สึกที่ดีๆ ให้กัน เป็นที่ดูแล้วสดใส
การทำหนังจะต่างจากการทำละคร
ใช่ ถึงแม้ว่ารายได้ของหนังจะมากกว่าการทำละคร และความลำบากก็มากขึ้นเท่าตัว และไม่มีอะไรทำแล้วราบรื่น ทุกอย่างต้องมีอุปสรรค และต้องมีผู้แสดงหลายคนที่เราต้องคอยเอาใจใส่ดูแล
แบบนี้เราก็ต้องแบ่งเวลาให้เขาด้วย เพราะใช้เวลาในการถ่ายทำนาน
ประมาณ 4 ปีกว่าจะทำเสร็จ จะดูเหมือนกับยาวนาน และต้องดูแลเขาจนกว่าจะถ่ายทำเสร็จ
ลำบากไหมที่ต้องมีฉากที่เป็นสะพานและมีน้ำที่ต้องดูเป็นพื้นบ้าน
จะมีการเลือกให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ ที่ใช้ในการถ่ายทำให้เหมาะสมและเป็นตามธรรมชาติมากที่สุด เราจะไม่ทำเหมือนหนังต่างประเทศ ที่มีฉากแอ๊คชั่น มีการใช้ระเบิดที่รุนแรง
ปัญหาในการถ่ายทำส่วนใหญ่ มีเรื่องอะไรบ้าง
มีการวางแผนที่ยาวมาก มีการร่างโครงการก่อนการถ่ายทำ ประมาณ 5 เดือน และมีปัญหาเรื่องของฝน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก และทำให้งบประการถ่ายทำเพิ่มมากขึ้น
ฉากแอ๊คชั่น คนเขาจะมองว่าเรียนแบบท่าทางของเฉินหลงหรือเปล่า
อย่างที่เคยบอกว่าวัฒนธรรมของคนจีนได้แผ่ขยายไปทั่วโลก และคนไทยก็ให้ความสนใจ ซึ่งจะมองข้ามวัฒนธรรมของไทย เราจึงคิดที่จะมีการปรับปรุงและฝึกฝนในเรื่องของมวยไทยให้คนทั่วไปรับรู้
ฉากไหนที่คิดว่าหนักใจมากที่สุด
ฉากที่ต้องทำให้พระองค์ใหญ่กลิ้งลงมา เพราะต้องให้สมจริงสมจัง
ทั้งหมดจากการที่ถ่ายทำมาทั้งหมดใช้เวลาเท่าไหร่
8 เดือน ตั้งแต่เปิดกล้องก็เดือนเมษายน
มีคิวถ่ายทำทั้งหมดกี่คิว
ที่เราคุยกับคุณพันนาทั้งหมด 85 คิว ถ่ายทำทั้งหมด 75 คิว
คาดหวังกับหนังเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
อยากให้คนไทยรักเมืองไทยและหันมาให้ความสนใจกับวัฒนธรรมไทยมากขึ้น ผู้หญิงสามารถนำไปใช้เพื่อป้องกันตัวได้