1. สยามโซน
  2. ภาพยนตร์
  3. ข่าววงการภาพยนตร์

วิเคราะห์สถานการณ์ภาพยนตร์ไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

วิเคราะห์สถานการณ์ภาพยนตร์ไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

เห็นรายได้ของภาพยนตร์ไทยทั้งหมดเมื่อปี 2544 รวมแล้วเกือบ 1,300 ล้านบาท จากเดิมที่เคยได้เพียงปีละ 500 ล้านบาท ยอมรับว่าขนลุก เพราะนั่นคือสัญญาณที่ทำให้เริ่มมองเห็นความรุ่งโรจน์ของวงการภาพยนตร์ไทยอีกครั้ง

จากตัวเลขของภาพยนตร์ไทยที่เข้าโรงในปี 2533 ที่มากถึง 69 เรื่อง จนถึงปี 2540 มีหนังเข้าฉายเพียง 29 เรื่องกระทั่งในปี 2541 ความคึกคักหวนกลับมาสู่วงการภาพยนตร์ไทยอีกครั้ง แม้จะมีภาพยนตร์เข้าโรง 14 เรื่อง และมีอยู่เพียงเรื่องเดียวที่ขึ้นครองใจคนไทย นั่นคือ 2499 อันธพาลครองเมือง ของผู้กำกับฯ นนทรีย์ นิมิบุตร ที่มีรายได้สูงถึง 75 ล้านบาท ขณะที่ นางนาก ของผู้กำกับฯ คนเดียวกัน ที่ออกฉายต้นปี 2542 กวาดรายได้ไปถึง 150 ล้านบาท

ก่อนที่ภาพยนตร์ไทยจะมารุ่งโรจน์แบบสุดๆ ในปี 2544 ที่มีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง สุริโยไท ของ ม.จ.ชาตรี เฉลิมยุคล ที่กวาดรายได้ทั้งในและต่างประเทศถึง 700 ล้าน ขณะที่ บางระจัน ของ ธนิต จิตนุกูล กวาดรายได้ 150.4 ล้าน มือปืน/โลก/พระ/จัน ของผู้กำกับฯ ยุทธเลิศ สิปปภาค 120 ล้าน และ สตรีเหล็ก ของ ยงยุทธ ทองกองทุน 99 ล้าน นั่นคือปีทองที่น่าจดจำของวงการภาพยนตร์ไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่มีเข้าฉายเพียง 11 เรื่องเท่านั้น

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยกำลังเข้าไปสู่ยุคการแข่งขันที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นเป็นเพราะ กระแสโลกที่เป็นตัวกำหนดรสนิยมของการดูภาพยนตร์ของคนไทยเริ่มเปลี่ยนไป พร้อมๆ กับการเข้ามาของกลุ่มผู้กำกับฯ คลื่นลูกใหม่ ที่มีศิลปะในการจัดการทางด้านธุรกิจ การใช้สื่อโฆษณาทุกรูปแบบกระตุ้นผู้บริโภค ทำให้ตัวเลขภาพยนตร์ไทยจาก 26 เรื่องที่เข้าฉายในปี 2545 ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 45 เรื่องในปี 2546

จะเห็นว่า บริษัทสร้างภาพยนตร์รายเก่าๆ อย่างไฟว์สตาร์ สหมงคลฟิล์ม และ ไท เอนเตอร์เทนเม้นท์ ลืมตาอ้าปากเข็นภาพยนตร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดย สหมงคลฟิล์ม เป็นค่ายที่มีหนังออกมามากที่สุด แต่ที่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำทั้งจากในและต่างประเทศ คือ องค์บาก ของ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ที่ผลิตในนาม บริษัทบาแรมยู ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท

ส่วน ไท เอนเตอร์เทนเม้นท์ ปีนี้ไม่ถึงกับขาดทุน แต่ว่าไม่มีกำไร ไม่ว่าจะเป็น สตรีเหล็ก 2 ที่กินบุญเก่า หรือ คู่แท้ปาฏิหาริย์ ที่ภาพความเป็นพระเอกอย่า ง ติ๊ก - เจษฎากรณ์ ผลดี ก็ยังไม่สามารถช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าของ วิสูตร พูลวรลักษณ์ ได้

ส่วนค่ายไฟว์สตาร์ ก็สร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการดึงค่ายภาพยนตร์ 5 ชาติ มาร่วมทุนในภาพยนตร์เรื่อง เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล ของผู้กำกับฯ เป็นเอก รัตนเรือง ที่เติมความเป็นสากลเข้าไป ด้วยการนำ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ ผู้กำกับภาพที่ทำงานร่วมกับ หว่อง การ์ ไว มากำกับภาพ แต่ภาพยนตร์ก็ไปไม่ถึงฝันด้านรายได้

นอกจากบริษัทภาพยนตร์รายเก่าจะรุกตลาดแบบไม่ยั้งมือแล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการเพลงอย่าง อาร์.เอส.โปรโมชั่น และ แกรมมี่ ก็ประกาศเข้าสู่ธุรกิจภาพยนตร์อย่างเต็มตัวโดย อาร์.เอส.ฯ ตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ในเครือไว้รองรับแล้วถึง 8 บริษัท มีภาพยนตร์ออกฉาย 7-8 เรื่อง แต่ไม่มีเรื่องไหนทำเงินแบบถล่มทลาย สังหรณ์ ที่หวังกวาดรายได้จากแฟนเพลงของดีทูบีก็เจ๊งสนิท ส่วน ตะลุมพุก, คลื่นเหงา สาวข้างบ้าน และ จ.เจี๊ยวจ๊าว ก็ไปไม่ถึงฝั่งด้านรายได้ จะมีก็แต่ พันธุ์ร็อกหน้าย่น ที่พอเงินเม็ดเงินบ้าง

สำหรับค่ายแกรมมี่ หลังจากพยายามเข้ามาแทรกตลาดอยู่หลายครั้ง ปี 2546 เริ่มเปิดตัวภาพยนตร์ กุมภาพันธ์ ของผู้กำกับฯ ยุทธเลิศ สิปปภาค ที่ได้แต่คำชมว่าภาพสวย แต่รายได้ไม่สวยตามภาพ คืนไร้เงา ที่เอาใจภาพยนตร์อาร์ต ก็ล้มไม่เป็นท่า แม้จะเดินทางไปเปิดตัวรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่กรุงเบอร์ลิน ครั้งที่ 53 ก่อนฉายในเมืองไทยก็ตาม ส่วน บิวตี้ฟูล บ๊อกเซอร์ เปิดตัว 3 วันแรกที่เข้าฉายกวาดรายได้ไป 7.6 ล้านบาท

ส่วนบริษัทสร้างภาพยนตร์รายอื่นๆ อย่าง บริษัท พระนครฟิล์ม ที่กำไรจาก ผีหัวขาด เมื่อปี 2545 จน คมสันต์ ตรีพงษ์ เข้ามาเป็นผู้บริหารและเปิดโอกาสให้ เทพ โพธิ์งาม ทำภาพยนตร์ ดึก ดำ ดึ๋ย ที่ถูกวิจารณ์เละเทะ แต่ก็กวาดไปได้ไปราว 10 ล้าน

เครดิตจากการเป็นผู้กำกับฯ 100 ล้าน ไม่ได้รับประกันว่า เมื่อสร้างเรื่องต่อไป จะทำได้ 100 ล้านอีก ดูอย่าง ตะเคียน ของ เฉลิม วงศ์พิมพ์ ที่มีเครดิตจาก 7 ประจัญบาน หรือ ขุนศึก ของ ธนิตย์ จิตนุกูล ผู้กำกับร้อยล้านจากบางระจัน ทำรายได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท

นั่นเป็นเพราะหัวใจสำคัญอยู่ที่บทภาพยนตร์ เมื่อขาดคนเขียนบทที่ดี บวกกับความเร่งรีบในการผลิต ทำให้ความพิถีพิถันกับบทมีน้อยลง เนื้อหาก็ออกมาใกล้เคียงกัน อย่างเมื่อเห็นผีทำเงิน ภาพยนตร์อย่าง เฮี้ยน, หลอน, ตะเคียน, แก้วขนเหล็ก ก็ทยอยออกตามมา ไม่รวมภาพยนตร์ตลกผีอย่าง หลบผี...ผีไม่หลบ หรือ คนบอผีบ้า...ป่าช้าแตก จึงอย่าได้แปลกใจ ที่ตลอดปีภาพยนตร์ไทยเข้าข่ายเจ๊งเกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

จะมีก็แค่ องค์บาก ที่กวาดทั้งรายได้และคำวิจารณ์ ที่ต้องถือว่าเป็นแชมป์ในครึ่งปีแรก ขณะที่ แฟนฉัน ภาพยนตร์ร่วมทุนระหว่าง จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ส, ไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์ และ หับ โห้ หิ้น ฟิล์ม ถือว่าเป็นแชมป์ปลายปี และทำท่าจะเป็นแชมป์ ปี 2546 โดยช่วง 3 วันอันตราย สามารถกวาดไปได้ถึง 30.4 ล้านบาท และยอดรายได้จนถึงเดือนพฤศจิกายนสูงถึง 135 ล้านบาท ทั้งที่ทุนสร้างและค่าโฆษณารวมกันแค่ 35 ล้านบาทเท่านั้น

รายชื่อภาพยนตร์ไทยทำรายได้สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2541-2546

  • 2541 - 2499 อันธพาลครองเมือง 75 ล้านบาท
  • 2542 - นางนาก 150 ล้านบาท
  • 2544 - สุริโยไท 700 ล้านบาท
  • 2544 - บางระจัน 150.4 ล้านบาท
  • 2544 - มือปืน/โลก/พระ/จัน 120 ล้านบาท
  • 2544 - สตรีเหล็ก 99 ล้านบาท
  • 2545 - ผีหัวขาด 85 ล้านบาท
  • 2545 - ขุนแผน 70 ล้านบาท
  • 2545 - มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟเอ็ม 60 ล้านบาท
  • 2546 - องค์บาก 100 ล้านบาท
  • 2546 - แฟนฉัน 135 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความคิดเห็น

ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ในอดีต

เกร็ดภาพยนตร์

  • Run All Night - เป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 3 ที่ผู้กำกับ ฮวม คอลเล็ต-เซอร์รา และ เลียม นีสัน ผู้รับบท จิมมี คอนลอน ทำงานร่วมกัน สองเรื่องก่อนหน้านี้คือ Unknown (2011) และ Non-Stop (2014) อ่านต่อ»
  • Insurgent - เรื่องนี้เป็นภาคต่อของภาพยนตร์เรื่อง Divergent (2014) อ่านต่อ»
เกร็ดจากภาพยนตร์สามารถดูได้ในหน้าข้อมูลภาพยนตร์แต่ละเรื่อง

เปิดกรุภาพยนตร์

เรื่องราวของ 3 สาว ประกอบไปด้วย อาโอโกะ (ฟูมิ นิไคโด) บรรณาธิการสาวในสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งที่ต้องส่งต้นฉบับให้ทันก่อนกำหน...อ่านต่อ»