หลิวชิงอวิ๋น ควง กุ้ยหลุนเหม่ย คว้ารางวัล ม้าทองคำ ปี 2012
ผลประกาศรางวัล "โกลเดน ฮอร์ส อวอร์ดส์" (Golden Horse Awards) หรือ ม้าทองคำ ปีนี้สร้างความแปลกใจให้คนดูไม่น้อย เมื่อภาพยนตร์ทุนต่ำจากจีนแผ่นดินใหญ่เรื่อง "Beijing Blues" เป็นฝ่ายกวาดรางวัลสำคัญๆ ไปครองถึง 3 รางวัล เท่ากับคู่แข่งจากฮ่องกงอย่าง "Life without Principle" ของผู้กำกับ "ตู้ฉีเฟิง" ขณะที่ภาพยนตร์รักสามเส้าจากไต้หวัน "Gf*Bf" และ "Mystery" ของผู้กำกับ "โหลวเยี่ย" ที่เข้าชิงถึง 7 สาขา กลับพลิกโผได้มาเพียงเรื่องละ 2 รางวัลเท่านั้น โดยงานประกาศรางวัลออสการ์แห่งวงการภาพยนตร์ภาษาจีนครั้งที่ 49 นี้จัดขึ้นในค่ำวันที่ 24 พฤศจิกายน 2012 ที่ผ่านมา ณ เมืองอี้หลาน บนเกาะไต้หวัน และมีนักร้องสาวชาวไต้หวัน "เฉิงเป่าอี๋" รับหน้าที่พิธีกรคู่กับ "หวงปั๋ว" เจ้าของรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเมื่อปี 2009
Beijing Blues ของผู้กำกับ "เกาฉวินซู" เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับตำรวจนอกเครื่องแบบที่พบเห็นการดิ้นรนของแต่ละชีวิตในรูปแบบต่างๆ กันไป ซึ่งมีชื่อเข้าชิงทั้งหมด 5 สาขา ก่อนจะชนะรางวัลใหญ่ทางด้านเทคนิคการสร้างอย่างรางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยมและตัดต่อภาพยอดเยี่ยม และในที่สุดก็ถูกประกาศเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอย่างเหนือความคาดหมายของทั้งผู้ชมและตัวผู้กำกับเองด้วย "นี่เป็นอะไรที่ผมไม่คิดไม่ฝันมาก่อนเลยครับ ผมก็เป็นแค่ผู้กำกับมือใหม่ที่ทำหนังมาไม่กี่เรื่องแค่นั้น ผมไม่ได้หวังด้วยซ้ำว่าชื่อผมจะมามีส่วนเกี่ยวข้องกับม้าทองคำได้" เกาฉวินซู กล่าวอย่างตื่นเต้นขณะขึ้นรับรางวัล "ขอบคุณนะครับ ขอบคุณ"
ส่วน Life without Principle นั้นบอกเล่าเรื่องราวของพนักงานธนาคาร ตำรวจ และอันธพาลที่ต่อสู้กับความผิดชอบชั่วดี เมื่อมีเงิน 5 ล้านเหรียญฮ่องกงผ่านเข้ามาในมือตอนที่เศรษฐกิจกำลังล่มสลาย และภาพยนตร์ชีวิตผสมอาชญากรรมเรื่องนี้เองที่เป็นหนึ่งในคู่แข่งสุดหินของหลายๆ เรื่อง โดยการมีชื่อเข้าชิงรางวัลสำคัญมากถึง 6 สาขา ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ผู้ชมผิดหวัง เมื่อผู้กำกับรุ่นเก๋ามากฝีมือ ตู้ฉีเฟิง ก้าวขึ้นเวทีเพื่อรับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม ส่วนทีมเขียนบทภาพยนตร์ของเขาก็ได้รางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมไปเช่นกัน ขณะที่การแสดงของ "หลิวชิงอวิ๋น" ในบทอันธพาล แพนเธอร์ ก็ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมไปในที่สุด หลังเคยมีลุ้นมาแล้วครั้งหนึ่งแต่พลาดรางวัลไปอย่างน่าเสียดายเมื่อปี 1999
และถึงแม้รางวัลสูงสุดของงานจะตกเป็นของภาพยนตร์จากจีนและฮ่องกง แต่ Gf*Bf และ "Touch of the Light" ของฝั่งไต้หวันก็ถือว่าทำได้ดีไม่แพ้กัน "กุ้ยหลุนเหม่ย" นักแสดงสาวเจ้าของบทสาวห้าวจาก Gf*Bf สามารถสร้างความประทับใจให้แก่คณะกรรมการจนคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาครองเป็นครั้งแรก "นี่จะเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่สำหรับฉันค่ะ ฉันรักภาพยนตร์ และฉันก็จะแสดงต่อไปเรื่อยๆ เท่าที่จะทำได้" กุ้ยหลุนเหม่ย เผยความรู้สึกทั้งน้ำตา ซึ่งเรื่องราวความรักไม่ธรรมดาท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงใน Gf*Bf ยังเอาชนะใจผู้ชมจนขึ้นแท่นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากการเลือกของผู้ชมไปอีกหนึ่งรางวัลด้วย
ขณะที่การต่อสู้ของนักเปียโนตาบอดที่กินใจใครหลายๆ คนใน Touch of the Light ก็ทำให้ "จางหรงจี๋" เอาชนะเพื่อนร่วมชาติอีก 4 คนจนได้ตำแหน่งผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม และตัวภาพยนตร์ก็ได้รับเกียรติให้เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากนักวิจารณ์อีกหนึ่งตำแหน่ง ส่วนนักแสดงนำของเรื่องอย่าง "หวงอวี้เสียง" ผู้เป็นนักเปียโนผู้พิการทางสายตาตัวจริงที่สร้างแรงบันดาลใจให้ทั้งผู้สร้างภาพยนตร์และผู้ชม ก็ได้ก้าวขึ้นสู่เวทีม้าทองคำเพื่อรับรางวัลผู้สร้างภาพยนตร์ไต้หวันที่โดดเด่นแห่งปีไปครอง หลังกล่าวขอบคุณครอบครัวแล้ว เขายังทิ้งท้ายด้วยประโยคเด็ดจากภาพยนตร์ไว้ให้ผู้ชมได้คิดตามด้วยว่า "คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณสามารถไปได้ไกลแค่ไหน ถ้าคุณไม่ลองพยายามดูก่อน"
ผลรางวัล Golden Horse Awards ประจำปี 2012
- ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม: Beijing Blues
- ผู้กำกับยอดเยี่ยม: ตู้ฉีเฟิง (To Kei-fung หรือ Johnnie To) จาก Life without Principle
- ผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม: จางหรงจี๋ (Chang Rong-ji) จาก Touch of the Light
- นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม: หลิวชิงอวิ๋น (Lau Ching Wan) จาก Life without Principle
- นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม: กุ้ยหลุนเหม่ย (Gwei Lun-Mei) จาก Gf*Bf
- นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม: เจิ้งจงจี (Cheng Chung-Kei หรือ Ronald Cheng) จาก Vulgaria
- นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม: เหลียงจิ้ง (Liang Jing) จาก Design of Death
- นักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยม: ฉีซี (Qi Xi) จาก Mystery
- บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม: มิลกีเวย์ ครีเอทีฟ ทีม (Milkyway Creative Team) โอวเจี้ยนเอ๋อร์ (Au Kin Yee) หวงจินฮุย (Wong King-Fai หรือ Ben Wong) จาก Life without Principle
- บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม: เป้าจิงจิง (Bao Jingjing) จาก Love Is Not Blind
- กำกับภาพยอดเยี่ยม: อูตี๋ (Wu Di) จาก Beijing Blues
- ตัดต่อยอดเยี่ยม: หยางหงอวี่ (Yang Hongyu) จาก Beijing Blues
- กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม: หลินมู่ (Lin Mu) จาก Design of Death
- แต่งหน้าและแต่งกายยอดเยี่ยม: จางจิ่งฉุน (Cheung Sai-Kit หรือ Stanley Cheung) จาก The Bullet Vanishes
- ออกแบบฉากต่อสู้ยอดเยี่ยม: เฉียนเจียเลอ (Chin Kar Lok) หวงเหว่ยฮุย (Wong Wai-Fai) อู๋ไห่ถัง (Ng Hoi -Tong) จาก Motorway
- ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม: เพย์แมน ยัซดาเนียน (Peyman Yazdanian) โยฮันน์ โยฮันน์สัน (Johann Johannsson) จาก Mystery
- เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม: DoReMi จาก Romancing in Thin Air แต่งดนตรีโดย หลัวท่าโย่ว (Lo Tayu) คำร้องโดย หลินซี (Lin Xi) ขับร้องโดย เจิ้งซิ่วเหวิน (Cheng Sau-Man หรือ Sammi Cheng)
- วิชวลเอฟเฟกต์ยอดเยี่ยม: คิมอุก (Kim Wook) จงจื้อหาง (Chung Chi-Hang หรือ Frankie Chung) จอช โคล (Josh Cole) จาก Flying Swords of Dragon Gate
- เทคนิคเสียงยอดเยี่ยม: เฉิงจิ่งเสียง หรือ (Tsang Kin-Cheung หรือ Kinson Tsang) หลีจื้อโสง (Lai Chi-Hung) จาก Nightfall
- ภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม: The Home Gleaners
- ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม: China Heavyweight
- ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากการเลือกของผู้ชม: Gf*Bf
- ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากนักวิจารณ์ (FIPRESCI Award): Touch of the Light จากไต้หวัน
- ผู้สร้างภาพยนตร์ไต้หวันที่โดดเด่นแห่งปี: หวงอวี้เสียง (Huang Yu-Siang)
- รางวัลผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต: สือจวิ่น (Shih Chun)