ผลรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ประจำปี 2548
ประกาศผลกันไปเรียบร้อยแล้วสำหรับรางวัลภาพยนตร์ "สุพรรณหงส์" ครั้งที่ 15 ประจำปี 2548 เมื่อวันที่ 4 มกราคม ที่ผ่านมา โดยสถานที่จัดงานในปีนี้ คือ บริเวณเรือตรวจการ 813 บ้านบางเนียง ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา อันเป็นกิจกรรมตามนโยบายของ ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีวัตถุประสงค์ฟื้นฟู และเยียวยาชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ประสบภัยพิบัติสึนามิ
สำหรับเรื่องที่มีรายชื่อเข้าชิงมากที่สุดถึง 13 รางวัล จากทั้งหมด 16 รางวัล อย่าง "มหา'ลัยเหมืองแร่" ก็กวาดรางวัลกลับไปได้มากที่สุดเช่นกัน คือ 6 รางวัล โดยเฉพาะรางวัลใหญ่ๆ อย่าง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากฝีมือของ "จิระ มะลิกุล" รวมทั้ง นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม จากบทบาทของ "สนธยา ชิตมณี" หรือ สน เดอะ สตาร์ ขณะที่รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ได้แก่ "ฉัตรชัย เปล่งพานิช" จากเรื่อง "จอมขมังเวทย์" และนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ได้แก่ "เกรซ - นวรัตน์ เตชะรัตนประเสิรฐ" จาก "เอ๋อเหรอ"
สรุปภาพรวมของภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ คือ มหา'ลัยเหมืองแร่ 6 รางวัล จอมขมังเวทย์ 3 รางวัล เอ๋อเหรอ 3 รางวัล เพื่อนสนิท 2 รางวัล ซุ้มมือปืน 2 รางวัล
จากรายชื่อภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัล ดังนี้ มหา'ลัยเหมืองแร่ เข้าชิง 13 รางวัล ซุ้มมือปืน เข้าชิง 12 รางวัล เพื่อนสนิท เข้าชิง 7 รางวัล เอ๋อเหรอ จอมขมังเวทย์ และ เฉิ่ม เข้าชิงเรื่องละ 6 รางวัล กบฏท้าวศรีสุดาจัน ต้มยำกุ้ง และ แหยมยโสธร เข้าชิงเรื่องละ 4 รางวัล นรก เข้าชิง 3 รางวัล คนระลึกชาติ บุปผาราตรี เฟส 2 เสือร้องไห้ และ อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม เข้าชิงเรื่องละ 1 รางวัล
โดยในปีนี้มีภาพยนตร์ไทยที่สร้างและฉายทั้งหมด 37 เรื่อง ซึ่งเข้าร่วมเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติรางวัลสุพรรณหงส์ครั้งที่ 15 ทั้งหมด 34 เรื่อง ไม่ส่งเข้าประกวด 2 เรื่องคือ โคตรเพชฌฆาต และ มือปืนเก๋าเจ๋ง ของ ซีเอ็มฟิล์ม ขณะที่เรื่อง ลองของ ขอถอนตัว ส่วน วาไรตี้ผีฉลุย ที่เข้าฉายส่งท้ายปี ก็ยกยอดไปประกวดในครั้งหน้า คือปี 2549
ปีนี้ไม่ได้มีการแจกรางวัลในสาขาภาพยนตร์นักศึกษาสารคดียอดเยี่ยม เนื่องจากไม่มีเรื่องใดเหมาะสม รวมทั้งภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยม เพราะไม่มีสถาบันใดส่งเข้าประกวด ส่วนรางวัลสุพรรณหงส์เกียรติยศ ตกเป็นของ "ต้มยำกุ้ง" ในฐานะที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ
ผลรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 15 ประจำปี 2548
- ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ มหา'ลัยเหมืองแร่
- ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ จิระ มะลิกุล จาก มหา'ลัยเหมืองแร่
- นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ได้แก่ ฉัตรชัย เปล่งพานิช จาก จอมขมังเวทย์
- นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ได้แก่ เกรซ นวรัตน์ เตชะรัตนประเสิรฐ จาก เอ๋อเหรอ
- นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ได้แก่ สนธยา ชิตมณี จาก มหา'ลัยเหมืองแร่
- นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ได้แก่ สาธิดา เขียวชะอุ่ม จาก เอ๋อเหรอ
- บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ นิธิศ ณพิชญสุทิน จาก เพื่อนสนิท
- กำกับภาพยอดเยี่ยม ได้แก่ ธีระวัฒน์ รุจินธรรม จาก ซุ้มมือปืน
- ลำดับภาพยอดเยี่ยม ได้แก่ วิชชา โกจิ๋ว จาก เพื่อนสนิท
- บันทึกเสียงยอดเยี่ยม ได้แก่ นเรศ สราภัสสร และห้องบันทึกเสียงรามอินทรา จาก มหา'ลัยเหมืองแร่
- เพลงนำยอดเยี่ยม ได้แก่ เพลงหนึ่งในหัวใจพ่อ ประพันธ์โดย แสนแสบ จาก เอ๋อเหรอ
- ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ได้แก่ ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ จาก ซุ้มมือปืน
- กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม ได้แก่ เอก เอี่ยมชื่น จาก มหา'ลัยเหมืองแร่
- ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม ได้แก่ อภิญญา ชวรางกูร จาก มหา'ลัยเหมืองแร่
- การสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม ได้แก่ โอเรียลทัล โพสต์ จาก จอมขมังเวทย์
- แต่งหน้ายอดเยี่ยม ได้แก่ วิทยา ดีรัตน์ตระกูล จาก จอมขมังเวทย์
- ภาพยนตร์สั้นนักศึกษายอดเยี่ยม ได้แก่ เรื่อง Post-IT ไดอารี่สีน้ำเงิน ของ ทีม Generation X จาก มหาวิทยาลัย มหาสารคาม
- รางวัลสุพรรณหงส์เกียรติยศ ได้แก่ จา พนม ยีรัมย์ และ ปรัชญา ปิ่นแก้ว จาก ต้มยำกุ้ง