อุรุพงศ์ สะท้อนชีวิตแห่งท้องทุ่งเป็น เพลงของข้าว
บริษัท เอ็กซ์ตร้า เวอร์จิ้น จำกัด นำเสนอภาพยนตร์ "เพลงของข้าว" (The Songs of Rice) บทสรุปของภาพยนตร์ไตรภาค ถัดจาก "เรื่องเล่าจากเมืองเหนือ" (Stories from the North) และ "สวรรค์บ้านนา" (Agrarian Utopia) ผลงานการกำกับของ "ต้อย - อุรุพงศ์ รักษาสัตย์" ที่หยิบยกเอาเรื่องราวเกี่ยวกับข้าวมาเป็นตัวแปรหลักในการดำเนินเรื่อง โดยผู้กำกับเผยว่าเป็นเพราะยังมีความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องราวของข้าวหลงเหลืออยู่ จึงจำเป็นต้องสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ตัวเองหมดความแคลงใจ
ต้อย เล่าถึงการทำสารคดีเรื่องนี้ว่า "การทำสารคดีเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าเราไม่ได้สนใจสารคดีที่เป็นลักษณะเป็นบทบรรยาย แต่ว่าเราใช้การเล่าเรื่องด้วยภาพแทน เพราะผมมีความคิดว่า บางทีการทำสารคดีที่เห็นเจตนาของคนทำว่าอยากได้อย่างนั้น อยากได้อย่างนี้ คือมีการเขียนบทไปตั้งแต่ต้น บางครั้งก็รู้สึกว่ามันมีความน่าเบื่ออยู่ประมาณหนึ่ง" แม้จะเป็น เพลงของข้าว แต่ผู้กำกับก็แง้มว่าไม่ได้เน้นไปที่ความรู้เรื่องข้าว "การตัดต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้อิงตามวงจรการเพาะปลูกข้าวเป็นหลัก จะดูตามอารมณ์โดยรวมมากกว่านะครับ เพราะว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้เน้นไปที่ความรู้เรื่องข้าว หรือว่าความรู้เรื่องวัฒนธรรมอะไรโดยตรง แต่ว่าเราเน้นไปอารมณ์ ความรู้สึก"
การถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้ ผู้กำกับใช้วิธีเฝ้าสังเกตและบันทึกภาพเพื่อให้ได้ความเป็นธรรมชาติ "การทำสารคดีเรื่องนี้จึงใช้วิธีการเฝ้าสังเกต แล้วก็ใช้การบันทึกภาพ สิ่งที่เป็นอยู่จริงๆ เพื่อให้ได้ความเป็นธรรมชาติ แล้วก็ความสดใหม่ของวิถีชีวิต ของผู้คน ของชุมชน ในการถ่ายทำ เพลงของข้าว เราไปตามเก็บภาพที่เป็นอยู่จริงๆ ใช้การเรียบเรียงในขั้นตอนการตัดต่อ ประกอบกับพวกดนตรี ทั้งดนตรีในสถานที่จริง แล้วก็ดนตรีที่เราใส่ลงไปทีหลัง เพื่อให้ได้ภาพยนตร์ที่มีลักษณะการเป็นลำนำ เป็นบทเพลง เป็นบทกวี ผมคิดว่ามันน่าจะทำให้มีความแตกต่างจากสารคดีที่เน้นการบรรยายหรือว่าการเล่าเรื่อง"
ส่วนที่ฉากที่ ต้อย แนะนำ คือฉากแข่งขันตะไลล้าน "มีอยู่ฉากหนึ่งนะ ที่ผมคิดว่าน่าจะพูดถึงก็คือ ฉากแข่งขันตะไลล้าน ที่อำเภอกุฉินารายน์ จังหวัดกาฬสินธุ์ คือเราก็พอจะรู้มาบ้าง แต่ว่าพอได้ไปสู่พื้นที่ถ่ายทำจริงๆ เรารู้สึกว่าสิ่งนี้มันน่าสนใจมากๆ เป็นสิ่งที่แปลกประหลาด แม้แต่คนไทยเอง เพราะว่าหลายคนเขาบอกว่าไม่เคยเห็นสิ่งอย่างนี้มาก่อนเลย เวลาถ่ายทำผมรู้สึกว่ามันทำให้มีความเป็นซินีมาติก คือมันมีการเคลื่อนไหวของวัตถุ ของบั้งไฟ แล้วก็ผู้คน รวมถึงการเคลื่อนกล้องด้วย คือรวมแล้วทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความน่าสนใจนะครับ ที่น่าจะนำเสนอให้กับผู้ชมทั้งไทยแล้วก็ต่างประเทศ"
ร่วมซึมซับและเรียนรู้วิถีของข้าวและผู้คน ไปกับภาพยนตร์เรื่อง เพลงของข้าว วันที่ 22 มกราคม 2558 เป็นต้นไป ที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จากนั้นจะเข้าฉายที่ เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า เมญ่า เชียงใหม่ ในวันที่ 29 มกราคม 2558 และที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ ซิตี้ เซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558