สวรรค์บ้านนา ความงดงามที่อยู่ภายใต้กระดูกสันหลังของชาติ
หลังจากผู้กำกับ "ต้อย - อุรุพงศ์ รักษาสัตย์" พาภาพยนตร์แนวสารคดีผสมการเล่าเรื่อง "สวรรค์บ้านนา" เดินทางไปอวดโฉมตามประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แคนาดา อเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี เกาหลี สิงคโปร์ และ ญี่ปุ่น แถมยังสร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติ คว้ารางวัลพิเศษจากองค์การยูเนสโก ซึ่งมอบให้กับภาพยนตร์ที่ช่วยส่งเสริมและอนุรักษ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในงานภาพยนตร์เอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Screen Awards: APSA) ประจำปีครั้งที่ 3 ก็ได้เวลา ที่คนไทยจะได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้กันแล้ว
สวรรค์บ้านนา เป็นภาพยนตร์ 1 ใน 3 จากโครงการ "Director's Screen Project" ที่จัดฉายภาพยนตร์อิสระหรือภาพยนตร์นอกกระแสให้ได้ชมในโรงภาพยนตร์ โดยเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ โรงภาพยนตร์เอสเอฟเอ็กซ์ เอ็มโพเรียม และก่อนจะได้เห็นฝีมือการกำกับของ ต้อย กันแบบเต็มๆ ผู้กำกับก็พ่วง "พิมพกา โตวิระ" โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ "เลี่ยม บุตรจันทา" ปราชญ์ชาวบ้านจาก จ.ฉะเชิงเทรา และหนึ่งในนักแสดง "พร้อม - พร้อมโชค บุญคำตัน" ผู้ที่หลีกหนีการใช้ชีวิตแบบคนเมือง หันกลับมาใช้ชีวิตแบบพึ่งพิงธรรมชาติ มาร่วมพูดคุยถึงภาพยนตร์ และร่วมเสวนาในหัวข้อ "วิถีชาวนาไทย...โลกในฝันหรือสวรรค์ล่ม?"
ต้อย พูดถึงจุดเริ่มต้นในการทำภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า "ผมทำจากประสบการณ์ในวัยเด็กของผมนะครับ คือความประทับใจต่างๆ แต่ว่าตอนที่ลงไปทำ ก็พัฒนาเรื่องขึ้นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเราเจออันดับแรกก็คือปัญหาหนี้สิน ความยากจน ที่ทำให้เราไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็นได้ เป็นปัญหาใหญ่มากของชาวนา สองคือปัญหาเกี่ยวกับระบบความคิด ไปยึดติดกับอะไรสักอย่าง ยึดติดกับวัตถุหรือเปล่า ทำให้คนถึงไม่มีความสุข"
ด้านโปรดิวเซอร์เล่าเสริมว่า "ตอนแรกเดินมาบอกเลยว่าจะถ่ายหนังปีหนึ่งครับพี่ ก็อึ้งไปพักใหญ่ อุรุพงศ์เขาก็มาบอกความคิดว่าเขาอยากถ่ายทอดชีวิต วงจรของกระบวนการทำนาในรอบ 1 ปี เราก็เห็นภาพที่เขาเล่า ส่วนใหญ่เริ่มมาจากความทรงจำของเขาว่าเขาเห็นอะไร เห็นความงดงามในเหตุการณ์ที่เขาจำตั้งแต่วัยเด็ก อันนั้นเป็นเรื่องแรกๆ ที่เราคุยกัน เสร็จแล้วเราก็เอาไอเดียที่ต้อยนำเสนอมาลองคุยดูว่าจะทำยังไงที่เราจะไปหาทุน ในแง่ของโปรดิวเซอร์ก็มาดูว่าจะทำยังไงให้เป็นเรื่องที่เราจะไปหาเงินมาได้
ตอนนั้นก็เลยคุยกันว่าลองทำอย่างนี้ไหม ลองเสนอกันว่าเรามีตัวละครไหม ก็คุยกันว่าจะมีชาวนา 2 ครอบครัวมาอยู่ในพื้นที่ๆ นี้แล้วก็ทำนา อุรุพงศ์ก็จะดีเวลอปตัวเรื่องไป เราเข้าใจสไตล์ว่าเขาเป็นคนทำสารคดี สารคดีต้องค่อยๆ พัฒนาไอเดียไป แล้วอีกอย่างเราเชื่อในสิ่งที่เขาเห็น เขาบรรยายมารู้สึกน่าสนใจ รู้สึกว่าการทำงานปีหนึ่งคงจะคุ้มค่า โดยไอเดียของหนังเหมือนกับเป็นความทรงจำของเขาอยู่แล้ว แต่เขาต้องพัฒนาเหตุการณ์รอบๆ ไปด้วยนะ เรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองในระยะเวลานั้น หรือในเรื่องของสภาพเศรษฐกิจ"
ในส่วนของการถ่ายทำ ต้อย บอกว่า "การทำงานผมลงไปอยู่ในระดับเดียวกับเขา หนึ่งผมเป็นลูกชาวนา แม้ว่าตอนนี้พ่อแม่จะเลิกทำนาไปแล้ว แต่ก็ยังได้รับประสบการณ์อะไรเยอะ พอผมลองไปทำแทนที่จะเป็นมุมมองจากคนทำงาน อยู่ข้างบนแล้วก็ถ่ายทำ ปล่อยให้คนที่เป็นชาวนาเขาทำนาของเขาไป เราก็ทำงานอยู่ข้างบน แต่ว่าพวกมุมกล้องเราเหมือนกับอยู่ในระดับเดียวกับเขา เราไปร่วมทานข้าว นอนในกระท่อมหลังเดียวกัน
สิ่งเหล่านี้อาจจะต้องใช้เวลาในการอยู่ร่วมกัน ก็ค่อยๆ เก็บ เราพาตัวเองเข้าไปเลย พาผู้ชมเข้าไปอยู่ เพื่อที่จะสร้างงานให้มีรูปแบบอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เป็นการแสดง แล้วก็ไม่ใช่สารคดีแบบถ่ายของจริงทั้งหมด ซึ่งเวลา 1 ปีก็ทำให้หนังออกมาเป็นรูปแบบแบบนี้ ซึ่งอาจจะทำไม่ได้ถ้าเราไปถ่าย 3 เดือน ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง อาจจะดีกว่าหรือว่าแย่กว่าก็ไม่รู้ แต่ว่ามันต่างกัน"
ทางด้านเกษตรกรตัวจริง เลี่ยม เล่าถึงการพลิกผันในการเป็นชาวนาว่า "จุดที่ผมเปลี่ยนก็ใช้เวลานาน สั้นๆ ก็คือได้สรุปบทเรียนชีวิตว่าที่ทำปัจจุบัน ทำเพื่อขายๆ สุดท้ายต้องขายที่ ขายที่หนี้ยังไม่หมดนะ พอหนี้มากขึ้นๆ สิ่งที่ตามมาเกิดในครอบครัวก็คือทะเลาะกัน แต่พอเปลี่ยนว่าต่อไปจะไม่ทำอย่างนี้แล้ว พ่อแม่ลูก ช่วยกันทำมาหากิน ใช้เทคโนโลยีง่ายๆ แค่มีดแค่จอบแค่เสียม แล้วก็ควายตัวหนึ่ง ไม่มีเงินสักบาทก็ทำนาได้ ควายไม่ถามหากินน้ำมันสักหยด ไถไปให้ปุ๋ยไป ปุ๋ยก็ไม่ต้องซื้อ ทำเพื่อให้กิน เหลือจากกินก็แบ่งขายบ้าง ทำไปทำมาจากหนี้สินมากมาย หมด จากสุขภาพจิตที่เริ่มย่ำแย่ก็ดีขึ้น ที่ดินก็ยังได้เพิ่มอีกนะ"
พร้อม ถ่ายทอดประสบการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนในอาชีพของตัวเองว่า "มีปัญหากับความคิดในเรื่องของตัวเอง มีปัญหากับความคิดว่าเราหาเงินทุกวันๆ เป็นความสุขจริงหรือ เป็นสวรรค์ของเราจริงๆ หรือเปล่า ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นสวรรค์ ไม่เห็นจะมีความสุข มีอยู่เท่าไรก็ไม่พอ ผมคุยแทบจะทุกคนบอกว่าในบั้นปลายของชีวิตจะกลับไปอยู่กับธรรมชาติ กลับไปเป็นชาวไร่ชาวสวนชาวนา
อดใจรอจนถึงวันที่มีความพร้อม ไม่ต้องพร้อมอะไรหรอก อยู่ที่ใจ ในเมื่อนกหนูอยู่กับธรรมชาติได้ ไม่มีการศึกษาทำไมอยู่ได้ เราก็มีการศึกษาแล้วทำไมจะอยู่ไม่ได้ เราบอกว่าตัวเราวิเศษ เก่งกว่าสัตว์ทั้งหลาย แล้วทำไมจะอยู่กับธรรมชาติไม่ได้ ก็ลองดู โดยที่ทิ้งอะไรทุกอย่างเหมือนกับหนีบวช ไปพลิกพื้นดินที่เคยแห้งแล้ง พยายามใช้เงินให้น้อยที่สุด อยู่กับธรรมชาติให้มากที่สุด แนบชิดกับธรรมชาติ ตัดข้อมูลต่างๆ ที่จะมาทำให้เราไขว้เขวออก มันเป็นความสุขโดยตรงจากการทำงานของเรา"
ส่วนเสน่ห์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้กำกับ กล่าวว่า "อันดับแรกผมมองว่าเป็นงานด้านภาพนะ หนังเรื่องนี้จะเล่าเรื่องด้วยภาพ ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็ง ดึงคนให้มาดูหนังเรื่องนี้ อันดับต่อมาที่ผมทำก็คือผมจะเชื่อมภาพเหล่านั้นด้วยเรื่อง ซึ่งผมพัฒนาขึ้นมาทีหลัง เพราะต้องขึ้นอยู่กับความจริงตอนนั้นว่าเป็นแบบไหน เกิดอะไรขึ้นยังไง ผมไม่ได้มองแล้วก็บังคับคนให้เป็นแบบนี้ๆ ไม่ได้เขียนบทตั้งแต่อยู่กรุงเทพฯ เพราะถ้าเขียนแบบนั้น เราไม่รู้ว่าความจริงเกิดขึ้นยังไง เพราะฉะนั้นเวลาผมไปถ่ายทำ ผมจะได้สิ่งที่เกิดขึ้นมาทีหลังเยอะมาก แล้วก็ใช้ความรู้ด้านภาพยนตร์ ด้านอะไรต่างๆ เข้าไปจับมันแล้วก็ผสมกัน"
ต้อย พูดถึงกระแสตอบรับหลังจากนำภาพยนตร์ไปฉายตามประเทศต่างๆ ว่า "ผมว่าฟีดแบ็กดีนะ จริงๆ แล้วหนังเรื่องนี้คัดเลือกผู้ชมอยู่แล้วล่ะ คนที่สนใจด้านเกษตรกรรม สนใจด้านงานภาพ งานศิลปะที่เป็นหนังเขาก็จะสนใจเข้ามาดู คนเหล่านี้เราได้คุยกับเขาหลังจากหนังฉาย มันช่วยทำให้เขาเข้าใจเมืองไทยดีขึ้นโดยที่เราไม่ต้องพูด เหมือนกับเขาดูข่าว อันนั้นเขาก็ได้ข้อมูลบางอย่างไป แต่ว่าการนั่งดูชีวิตคนจริงๆ 2 ชั่วโมง เราเรียงร้อยด้วยศิลปะของภาพยนตร์ ทำให้ความลึกในการเข้าใจดีขึ้น ไม่ใช่พาดหัวข่าวแค่ 3-4 วิ แต่ดู 2 ชั่วโมง ซึ่งตรงนี้น่าจะทำให้คนเข้าใจเมืองไทยได้ดีขึ้นระดับหนึ่ง"
สำหรับสิ่งที่จะได้รับหลังจากชมภาพยนตร์ ผู้กำกับบอกว่า "แน่นอนที่สุด เขามาดูเขาได้ความรื่นรมย์ในการชมภาพยนตร์ เพราะผมทำงานเต็มที่ให้ภาพมันสวย ดูแล้วมันอิน พ้นไปจากนั้นเขาอาจจะเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นเบื้องหลังความงดงามเหล่านั้น"
ติดตามชีวิตชาวนาที่ถ่ายทอดเรื่องราวโลดแล่นบนแผ่นฟิล์ม ได้ใน สวรรค์บ้านนา เข้าฉายตลอดเดือนกันยายน ในโรงภาพยนตร์เอสเอฟเอ็กซ์ เอ็มโพเรียม เริ่มตั้งแต่ 2 กันยายน 2553 โดยจะฉายทุกวันในเวลา 19:00 น. ส่วนวันเสาร์ - อาทิตย์ เพิ่มอีก 1 รอบ ในช่วง 14:00 น.