1. สยามโซน
  2. ภาพยนตร์
  3. ข่าววงการภาพยนตร์

กันตนา โชว์ผลงานชิ้นโบว์แดงแอนิเมชั่น 3 มิติ ก้านกล้วย

กันตนา โชว์ผลงานชิ้นโบว์แดงแอนิเมชั่น 3 มิติ ก้านกล้วย

เปิดให้สื่อมวลชนได้เห็นความคืบหน้ากันไปแล้ว สำหรับการผลิตภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่น 3 มิติเรื่องแรกของไทย "ก้านกล้วย" งานนี้หัวเรือใหญ่อย่าง "จาฤก กัลย์จาฤก" ลงทุนเปิดโรงภาพยนตร์ กันตนา ซีนีเพล็ก ให้สัมผัสอย่างใกล้ชิด ทั้งกระบวนการทำภาพยนตร์แอนิเมชั่น โฉมหน้าทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังนับ 100 ชีวิต และยังได้ชมภาพยนตร์ตัวอย่างแอนิเมชั่น 3 มิติ ฝีมือคนไทยล้วนๆ พร้อมออกสู่สายตาทั่วประเทศเดือนมีนาคมนี้

จาฤก เปิดเผยถึงความคืบหน้าของ ก้านกล้วย ว่า "ขณะนี้ขั้นตอนการผลิตต่างๆ โดยรวมคืบหน้าเกือบ 100% แล้ว โดยในส่วนของการทำแอนิเมชั่น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการให้ชีวิตแก่ตัวละคร สร้างให้ตัวละครและสิ่งประกอบแวดล้อมต่างๆ ในภาพยนตร์มีการเคลื่อนไหวได้อย่างสมจริงมีชีวิตชีวา รวมทั้งสร้างอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครให้เป็นธรรมชาติ

เราได้หัวเรือหลักระดับมืออาชีพอย่าง คุณคมภิญญ์ เข็มกำเนิด ที่เคยฝากผลงานในการ์ตูนแอนิเมชั่นชื่อดังของวอล์ทดิสนีย์ และ บลูสกาย สตูดิโอ อย่าง Tarzan, Ice Age และ Atlantis มาเป็นผู้กำกับควบคุมคุณภาพการผลิตให้ออกมาดีที่สุด โดยเรามีทีมงานในส่วนของการผลิตทั้งหมดกว่า 100 คน และใช้งบประมาณกว่า 150 ล้านบาท

หนังเรื่องนี้เหมาะแก่เยาวชนไทยจึงอยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองพาเด็กๆ มาชมกัน เพราะนอกจากจะได้ความสนุกสนานแล้ว ในภาพยนตร์ยังจะแทรกจริยธรรมเพื่อสอนเด็กๆ ซึ่ง ก้านกล้วย จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ประมาณเดือนมีนาคม 2549 คาดว่าจะทำรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท และเชื่อว่าจะเป็นผลงานที่สร้างชื่อให้กับกันตนาในฐานะเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่น"

อัจฉรา กิจกัญจนาสน์ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์แอนิเมชั่น ก้านกล้วย เล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังการทำงานว่า "ทีมงานมีความมุ่งมั่นและอยากสร้าง ก้านกล้วย ให้ออกมาตามความตั้งใจ แต่เมื่อเริ่มลงมือทำงานกันจริงๆ อะไรๆ กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด ตั้งแต่การสร้างโมเดลตัวละคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นช้าง มี 4 ขา 2 หู 1 งวง 1 หาง แต่ละส่วนต้องขยับได้อย่างเป็นธรรมชาติ

ตามมาถึงการทำงานของแอนิเมเตอร์ ซึ่งในช่วงแรกๆ ส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นกับท่าทางของช้าง ไม่ว่าจะเป็นการเดิน ยืน กิน นอน และอื่นๆ ซึ่งทุกส่วนของร่างกายต้องสัมพันธ์กัน ดูเป็นธรรมชาติ แถมยังต้องสร้างบุคลิกที่เป็นเอกลักษณ์ให้ช้างแต่ละตัวด้วย ทว่าหลังจากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของช้าง ถ่ายวิดีโอมาเพื่อศึกษา และลุยงานกันอย่างเต็มที่ การเคลื่อนไหวของตัวละครที่ออกมาก็ดูลื่นไหล และได้อารมณ์ตามที่ทุกคนคิดฝันไว้

งานอีกส่วนหนึ่งที่สร้างความหนักใจให้กับทีมงาน คือ การสร้างฉากสงครามยุทธหัตถี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดของเรื่อง และเป็นฉากที่มีรายละเอียดซับซ้อน ทั้งตัวละครที่มีจำนวนมาก บรรยากาศของเรื่องซึ่งเต็มไปด้วยฝุ่นควัน เปลวไฟ ประกายไฟ เศษซากสิ่งของ และอื่นๆ อีกมากมาย

เพราะเหตุนี้เอง กันตนา จึงได้จัดทีมขึ้นมาเพื่อสร้างฉากสงครามโดยเฉพาะ นอกจากการใส่ความเคลื่อนไหวให้ตัวละครแล้ว ทีมงานยังต้องเขียนโปรแกรมพิเศษเฉพาะขึ้นมา เพื่อรองรับการทำงานในส่วนนี้ ซึ่งโปรแกรมพิเศษนี้ช่วยเพิ่มโมเดลตัวละคร จากเป็นกลุ่มเล็กๆ ให้ขยายจนเต็มเฟรม และโปรแกรมสเปเชียลเอฟเฟ็กต์อื่นๆ ซึ่งช่วยเสริมให้ภาพทั้งหมดดูสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ถือเป็นมาตรฐานใหม่ของงานแอนิเมชั่น 3 มิติ ของไทยเลยก็ว่าได้"

ความคิดเห็น

ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ในอดีต

เกร็ดภาพยนตร์

  • Still Alice - ตอนที่ได้อ่าน Still Alice ฉบับหนังสือครั้งแรก ริชาร์ด แกลตเซอร์ และ วอช เวสต์มอร์แลนด์ ผู้กำกับทั้งสองคนรู้สึกว่าเรื่องราวของผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับโรคสมองเสื่อมชนิดเกิดเร็วเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เพราะก่อนที่ทั้งคู่จะกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ริชาร์ด ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเอแอลเอส ที่เป็นสาเหตุให้พูดแล้วลิ้นพันกัน ซึ่งเป็นทำให้ทั้งสองคนต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ เหมือนตัวละคร อลิซ ที่แสดงโดย จูเลียนน์ มัวร์ อ่านต่อ»
  • Song One - สก็อตต์ อาเวตต์ จากวง ดิ อาเวตต์ บราเธอร์ส เคยมาทดสอบบท เจมส์ โดย สก็อตต์ เล่าว่า เขาอ่านบทกับ แอนน์ แฮตธาเวย์ ผู้รับบท แฟรนนี ในฉากสะเทือนอารมณ์ และ แอนน์ เริ่มน้ำตาคลอ ตอนนั้นผมรู้สึกว่า โอ้ พระเจ้า เธอทำอย่างนั้นได้อย่างไร และมันก็ชัดเจนเลยว่านี่ไม่ใช่ที่ของผม ซึ่งภายหลังบท เจมส์ นี้ก็ตกเป็นของ จอห์นนี ฟลินน์ อ่านต่อ»
เกร็ดจากภาพยนตร์สามารถดูได้ในหน้าข้อมูลภาพยนตร์แต่ละเรื่อง

เปิดกรุภาพยนตร์

ในอดีตการถ่ายภาพคือวาระพิเศษของชีวิต และหลายครั้งมันถูกใช้เพื่อบันทึกภาพสุดท้ายของใครบางคนด้วยหวังว่าจะเก็บภาพนั้นไว้นอ...อ่านต่อ»