1. สยามโซน
  2. ภาพยนตร์
  3. ข่าววงการภาพยนตร์

ชีวิตผกผันของผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โรมัน โปลันสกี้

ชีวิตผกผันของผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โรมัน โปลันสกี้

ถ้าจะมีเรื่องราวของคนทำภาพยนตร์คนไหนตื่นเต้นและโลดโผนพอๆ กับผลงานของเขา โรมัน โปลันสกี้ ถือเป็นคนหนึ่งที่จะไม่มีวันพลาดการถูกกล่าวอ้างถึง

สำหรับนักดูภาพยนตร์ ชื่อของโปลันสกี้คือยอดผู้กำกับที่เป็นเจ้าของผลงานระดับคลาสสิกหลายเรื่อง อาทิ Knife in the Water, Repulsion, Rosemary's Baby, Chinatown ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์กลุ่มเขย่าขวัญจนถึงสยองขวัญ แต่ถ้าใครติดตามผลงานของเขาอย่างต่อเนื่อง ก็จะพบความแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากผลงานของคนทำภาพยนตร์ในแนวทางคล้ายคลึงกัน

นอกจากการใช้เทคนิคทั้งภาพและเสียงเพื่อเขย่าขวัญผู้ชมอย่างชาญฉลาดแล้ว ภาพยนตร์ของโปลันสกี้มักจะเกี่ยวโยงกับตัวละครที่ฝังใจในอดีตอันปวดร้าว ความหวาดกลัวที่ตามหลอกหลอน การใช้ความรุนแรงอย่างเลือดเย็น ประการสำคัญเกือบทุกเรื่องมักจะลงเอยต้องการสูญเสียหรือเกี่ยวข้องกับการสูญเสีย

โปลันสกี้ไม่ได้ลุ่มหลงกับแก่นเนื้อหาเหล่านี้โดยปราศจากเหตุผล ถ้าหากจะวิเคราะห์ด้วยหลักง่ายๆ ในทางจิตวิทยา ก็จะพบว่าเส้นทางชีวิตที่เรียกได้ว่าผกผันและยุ่งเหยิง คือแหล่งวัตถุดิบสำคัญของการสร้างผลงานที่อาจถือเป็นการพลิกโฉมความน่าสะพรึงกลัวบนแผ่นฟิล์ม

โรมัน โปลันสกี้เกิดในปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ปี 1933 ครอบครัวของเขาเป็นยิวที่ย้ายถิ่นฐานมาจากโปแลนด์ แต่หลังจากโปลันสกี้เกิดได้เพียงสามปี พ่อของเขาก็ตัดสินใจผิดพลาดครั้งมหันต์ด้วยการอพยพครอบครัวกลับไปปักหลักที่เมื่อคราคุฟ ประเทศโปแลนด์ ทั้งๆ ที่กระแสต่อต้านยิวเริ่มแพร่กระจายไปทั่วประเทศ และอีกเพียงสามปีจากนั้น กองทัพนาซีของฮิตเลอร์ก็บุกยึดโปแลนด์

จากคำบอกเล่าของคนใกล้ชิดครอบครัวของโปลันสกี้ พร้อมกับชาวยิวอีกจำนวนมหาศาลถูกกวาดต้องไปรวมกันอยู่ในค่ายกักกันที่เรียกว่า เก็ตโต้ (Ghetto) ความยากแค้นและขัดสนโดยเฉพาะในเรื่องอาหารการกิน ทำให้โปลันสกี้ซึ่งอายุไม่ถึงสิบขวบได้รับมอบหมายให้เป็นคนลักลอบออกไปนอกค่าย เพื่อนำอาหารมาจุนเจือครอบครัวของเขาและของคนอื่น

คงเป็นช่วงนี้เองที่โปลันสกี้ต้องพบกันประสบการณ์ที่ลืมไม่ลง เมื่อกลายเป็นเป้าซ้อมยิงเคลื่อนที่ของทหารเยอรมันในระหว่างการลักลอบออกไปนอกเก็ตโต้ แต่ความเลวร้ายไม่ได้จบลงเพียงแค่นั้น สองปีก่อนสงครามเลิก เขาถูกทอดทิ้งให้ผจญชะตากรรมตามลำพัง เมื่อพ่อแม่ของเขาถูกนำตัวไไว้ในค่ายกักกันอีกแห่ง (แม่ของเขาจบชีวิตที่นั่น) นอกเหนือจากการดิ้นรนอยู่รอดเพียงลำพังด้วยการลักเล็กขโมยน้อย หนทางหนึ่งในการหลบหนีจากโลกความจริงที่เลวร้ายสำหรับโปลันสกี้ ก็คือการเข้าไปในโรงภาพยนตร์ที่ฉายภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อของเยอรมัน ไม่ว่าเนื้อหาของภาพยนตร์ที่ฉายจะสะท้อนทัศนคติเลวร้ายเพียงใด สิ่งที่โปลันสกี้ค้นพบเป็นครั้งแรกและกลายเป็นความรักตลอดทั้งชีวิตก็คือมนต์เสน่ห์ของภาพยนตร์

ชีวิตของโปลันสกี้หลังสงครามจบสิ้นค่อยกระเตื้องขึ้น เขาทุ่มเทความสนใจให้กับการแสดงและได้ร่วมเล่นละครเวทีหลายเรื่อง แต่ความทะเยอทะยานที่แท้จริงคือการได้ทำภาพยนตร์ หลังจากพยายามอยู่หลายครั้ง โปลันสกี้ก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียนภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงของโปแลนด์-ลูดซ์ และแล้วภาพยนตร์สั้นของโปลันสกี้ Two Men and a Wardrobe (1958) ได้รับถึง 5 รางวัลจากการประกวดภาพยนตร์ระดับนานาชาติ แต่ภาพยนตร์ที่ส่งให้ชื่อของเขาถูกกล่าวถึงในระดับกว้างขวางและครึกโครม ก็คือภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Knife in the Water (1962) ที่นอกเหนือจากการคว้ารางวัลนักวิจารณ์ในเทศกาลหนังเมืองเวนิซ และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์หนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม

ความกล้าหาญอย่างที่ใครก็นึกไม่ถึงของ Knife in the Water ก็คือการใช้ตัวละครเพียงสามคนเป็นตัวเดินเรื่อง ไม่มีอไรในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่บอกถึงการดำรงอยู่ของสังคมรอบข้าง แต่ถึงอย่างนั้น ตัวละครสามคนที่ออกไปล่องเรื่องใบกลางทะเลสาบเวิ้งว้าง ก็กลายเป็นภาพจำลองของความเหลื่อมล้ำทั้งทางชนชั้นและฐานะ ตลอดจนสะท้อนปัญหาช่องว่างระหว่างวัย

ภาพยนตร์ถูกต่อต้านจากรัฐบาลโปแลนด์โดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรม ที่มองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ปราศจากแง่มุมเกี่ยวโยงหรือเป็นประโยชน์กับสังคม อีกทั้งในการออกฉายภายในประเทศ ก็ไม่ได้รับการต้อนรับอย่างกระตือรือร้น ชีวิตการทำภาพยนตร์ของโปลันสกี้คงจะต้องพบความลำบากอย่างไม่ต้องสงสัย ถ้าหากหนังไม่ได้แรงสนับสนุนจากนานาชาติ

ความสำเร็จของ Knife in the Water ทำให้โครงการสร้างภาพยนตร์เรื่องที่สองกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น และภาพยนตร์เรื่องต่อมา Repulsion (1965) ก็สะท้อนจินตทัศน์ที่ล้ำลึกของโปลันสกี้ โดยเฉพาะในกรอบแนวทางสยองขวัญ ภาพยนตร์เดินเรื่องจากมุมมองของหญิงสาว (แคทธารีน เดอเนิฟ) ที่ตกอยู่ในภาวะแปลกแยกและเปลี่ยวเหงา ภายหลังจากที่เธอขังตัวเองอยู่ในอพาร์ตเมนท์ที่คับแคบ อาการประสาทหลอน-ส่งผลให้โลกทัศน์ของเธอแปรปรวน จนถึงขั้นบิดเบี้ยวและวิปลาส

ตลอดทั้งเรื่อง เกือบจะไม่มีฉากประเภทที่ภาพยนตร์จงใจเขย่าขวัญผู้ชมอย่างไร้เหตุผล หากแต่ทีละน้อย ความหวาดผวาเพิ่มเติมขึ้นจากความวิปริตทางจิตใจของตัวละครที่ผู้ชมได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม

อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ สิ่งที่โปลันสกี้รอคอยและยังมาไม่ถึง คือภาพยนตร์ที่จะกุมหัวใจของผู้ชมในวงกว้าง และสำเร็จอย่างจริงๆ จังๆ ทั้งในด้านรายได้และคำวิจารณ์

Cul-De-Sac (1966) กับ Fearless Vampire Killers (1967) เป็นภาพยนตร์ตลกอีกสองเรื่องที่ยังไม่ช่วยนำพาให้โปลันสกี้ไปถึงจุดที่คาดหวัง แม้ว่าเรื่องหลังจะเป็นผลงานที่ทำให้เขาได้ร่วมงานกับนักแสดงสาว ชารอน เทท ซึ่งในเวลาต่อมา เธอไม่เพียงจะกลายเป็นคู่ชีวิตของโปลันสกี้ แต่ยังเป็นจุดหักเหจนถึงเหตุผลของโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่หลวงในชีวิตของเขา

เมื่อ โรเบิร์ต อีแวนส์ ผู้บริหารของพาราเมนท์ จ้างให้โปลันสกี้มากำกับ ภาพยนตร์สยองขวัญที่สร้างจากงานเขียนของ ไอร่า เลวิน เรื่อง Rosemary's Baby ทุกอย่างจึงประจวบเหมาะและสอดคล้อง

ถือเป็นเรื่องน่าขันและเย้ยหยันอยู่ไม่น้อย ที่เนื้อหาของ Rosemary's Baby บังเอิญไปพ้องกับชีวิตของโปลันสกี้ ภาพยนตร์เล่าเรื่องของนักแสดงหนุ่มที่ไม่ถึงกับขายวิญญาณให้กับซาตานเพื่อแลกกับความสำเร็จ แต่สิ่งที่เขายอมขายก็คือลูกชาย ในทำนองคล้ายกับ Repulsion ภาพยนตร์เดินเรื่องผ่านมุมมองของหญิงสาว (มีอา ฟาร์โรว์) ที่ภายหลังจากตั้งท้อง เธอเริ่มโดดเดี่ยวตัวเองจากโลกภายนอกมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ความระแวงสงสัยของเธอ ไม่ได้เกิดจากการสร้างภาพขึ้นมาหลอกหลอนตัวเองเหมือนกรณี แคทธารีน เดอเนิฟใน Repulsion หากทั้งหมดกลายเป็นเรื่องจริงที่เลวร้ายกว่างที่เธอนึกคิดหลายเท่าตัวนัก

ส่วนที่อาจมองได้ว่าชีวิตของโปลันสกี้คล้ายกับนักแสดงหนุ่มในเรื่อง ก็ตรงที่เขาโหยหาความสำเร็จจนถึงกับยอมทำทุกอย่าง ในกรณีของโปลันสกี้ก็คือการที่เขายอมทำภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ซึ่งถือเป็นสถานที่ที่ไม่เอื้อต่อพลังสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากจะมองว่าความสำเร็จที่ได้รับ จำเป็นต้องแลกกับอะไรบางอย่างในทำนองของการตอบแทน มูลค่าที่โปลันสกี้ต้องชดใช้ก็ต้องนับว่าสูงลิบ

RoseMary's Baby ออกฉายในปี 1968 และประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลทั้งในแง่ของรายได้และคำวิจารณ์ สิ่งที่วิเศษที่เกิดขึ้นกับชีวิตของโปลันสกี้อีกอย่างก็คือการได้แต่งงานกับ ชารอน เทท ในตอนต้นปี และหลังจากนั้นไม่นาน เธอก็ตั้งท้อง

ถ้าหากจะกล่าวว่า โรมัน โปลันสกี้ คือบุคคลที่ใครๆ พากันอิจฉามากที่สุดในตอนนั้นก็คงไม่ผิดไปจากความจริง เพราะทุกอย่างลงตัวสำหรับเขาทั้งในแง่ของการงานและชีวิตส่วนตัว แต่หลังจากเวลาพ้นไปอีกเพียงปีเดียว โลกที่เคยบรรเจิดและสวยหรูก็พังทลายลงต่อหน้าต่อตา

วันที่ 10 สิงหาคม ปี 1969 คือวันที่จะไม่มีทางลบเลือนไปจากความทรงจำของโปลันสกี้ ขณะนั้น เขาอยู่ในลอนดอน ง่วนอยู่กับโครงการใหม่ที่ชื่อว่า The Day of the Dolphin ส่วน ชารอน เทท อยู่ที่บ้านใน เบเวอลี่ ฮิลล์ แคลิฟอร์เนีย เพื่อเตรียมคลอดลูก สิ่งที่คนทำความสะอาดได้พบในเช้าวันนั้นที่บ้านพักของเททและโปลันสกี้ คือภาพที่ชวนสยดสยองของคนที่ถูกฆ่าตายทั้งหมด 5 คน นอนเกลื่อนทั่วบ้าน

แต่ละศพทั้งถูกยิงและถูกแทงอย่างโหดเหี้ยมทารุณ บางรายถูกแทงถึง 51 ครั้ง แล้วยังถูกทุบด้วยของแข็งที่ศีรษะอีกนับครั้งไม่ถ้วน และหนึ่งในเหยื่อที่จบชีวิตอย่างน่าอนาถก็คือ ชารอน เทท โปลันสกี้ ที่ตั้งท้องได้ 8 เดือนครึ่ง เธอถูกแทงทั่วร่างกายทั้งหมด 16 แผล เท่านั้นยังไม่พอ ยังถูกรัดคอด้วยเชือกที่พาดข้ามคานไปรัดที่คอของเหยื่อเคราะห์ร้ายอีกคน

จีน กูทาวสกี้ เพื่อสนิทของโปลันสกี้เล่าให้ฟังว่า โปลันสกี้โทษตัวเองในสิ่งที่เกิดขึ้นและพยายามทำร้ายตัวเอง ภายหลังจากตั้งสติได้ เขารีบเดินทางกลับไปอเมริกาทันที สิ่งที่ทุกคนสงสัยใคร่รู้เหมือนกันก็คือ ฆาตกรใจอำมหิตรายนี้เป็นใคร และจุดมุ่งหมายในการฆ่าคืออะไร ข่าวบางกระแสกล่าวหาโปลันสกี้ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ โดยเฉพาะการทำภาพยนตร์ที่พูดถึงเรื่องไสยศาสตร์และอำนาจชั่วร้าย ขณะที่บางสมมติฐานก็เชื่อว่าคนที่ฆาตกรต้องการลงมือสังหารจริงๆ คือตัวโปลันสกี้

เขากลายเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยของตำรวจในการฆาตกรรมภรรยาตามขั้นตอนการสอบสวน กระทั่งหลังจากสามารถพิสูจน์ตัวเองจากความเกี่ยวข้องในสิ่งที่เกิดขึ้น โปลันสกี้กับเพื่อนๆ ลงประกาศในหนังสือพิมพ์ให้เงินเป็นจำนวนถึง 25,000 เหรียญ กับใครก็ตามที่สามารถแจ้งเบาะแสของคนร้าย

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ตำรวจมองว่าแรงจูงใจในเหตุฆาตกรรมครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับคนที่เกลียดชังโปลันสกี้โดยตรง การเปิดเผยฆาตกรตัวจริงกลับหักล้างทุกเหตุผลที่ตำรวจตั้งข้อสงสัย

เริ่มต้นจากนักโทษสาวคนหนึ่งที่ติดคุกด้วยข้อหาไม่เกี่ยวกับเหตุฆาตกรรมสยองขวัญ คุยโตโอ้อวดให้เพื่อนร่วมห้องขังฟังว่าเธอเป็นคนฆ่า ชารอน เทท ด้วยมือตัวเองพร้อมทั้งบอกเล่าแผนการณ์ทั้งหมด ภายหลังจากเจ้าหน้าที่สืบสวนรับทราบเรื่องนี้ การพยายามคลี่คลายขยายข้อเท็จจริงก็เริ่มต้นอย่างไม่รอช้า และในที่สุดเจ้าหน้าที่สืบสวนก็ได้พบความจริงอย่าคาดไม่ถึงว่าสิ่งที่นักโทษสาวรายนั้นกล่าวอ้างเป็นเรื่องจริงทั้งหมด การฆาตกรรม ชารอน เทท และเพื่อนๆ ของเธอนอกจากจะไม่ได้เกิดจากแรงจูงใจที่เกี่ยวโยงกับโปลันสกี้ สิ่งที่ตำรวจได้รับรู้เพิ่มเติมจากนั้น ยิ่งก่อให้เกิดความประหลาดใจมากขึ้นไปอีก

เพราะในบรรดาฆาตกรทั้งห้าคนที่ถูกจับได้ สามคนเป็นเด็กสาวอายุไม่เกิน 21 ปี อีกคนเป็นเด็กหนุ่มอายุ 23 ปี ส่วนหัวโจกได้แก่ ชาร์ลส์ แมนสัน อายุ 34 ปี เป็นเพียงคนเดียวที่มีประวัติอาชญากรรมและใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในคุก ทนายฝ่ายจำเลยกล่าวถึงบรรดาเด็กสาวที่กลายเป็นสาวกของแมนสันว่า นอกจากคนเหล่านี้จะไม่มีประวัติอาชญากรรมแล้ว ยังไม่เคยแม้กระทั่งสูบบุหรี่ก่อนหน้าได้พบกับแมนสัน

สำหรับมูลเหตุของการฆาตกรรมเกี่ยวโยงกับการที่แมนสันก่อตั้งลัทธิอุบาทว์ที่มองสังคมเต็มไปด้วยความวุ่นวายสับสน จากปัญหาเชื้อชาติและสีผิว เขาเป็นคนกระตุ้นให้บรรดาสาวกจัดการกับปัญหาดังกล่าวด้วยการทำลายล้าง จากคำให้การของหนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกกักตัวออกมาเป็นพยานระบุว่า แมนสันออกคำสั่งให้ไปที่บ้านของเททและฆ่าทุกคนในนั้น รวมทั้งทำลายหลักฐานทั้งหมด

ในที่สุด ปมปริศนาของเหตุฆาตกรรมสะเทือนขวัญก็ได้รับการเฉลยในช่วงเวลาไม่กี่เดือนหลังจากนั้น สำหรับโปลันสกี้ ข่าวการจับกุม ชาร์ลส์ แมนสัน และพรรคพวกถือเป็นเรื่องวิเศษในยามที่ต้องกล้ำกลืนกับความเลวร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

การพิจารณาคดีดำเนินไปอีกถึงปีเศษ ในท่ามกลางความวุ่นวายยุ่งเหยิง ใครบางคนถึงกับเรียกการพิจารณาคดีครั้งนี้ว่าไม่แตกต่างจากละครสัตว์ เพราะนอกจากบรรดาสาวกจะมาชุมนุมให้กำลังใจ พวกเขายังแสดงออกในเชิงต่อต้านทุกวิถีทาง ว่าไปแล้ว คนเหล่านี้ ตกอยู่ในความงมงายไม่แตกต่างจากบรรดาสาวกซาตานใน Rosmary's Baby

ผลของการพิจารณาลงเอยด้วยคำสั่งประหารชีวิต ชาร์ลส์ แมนสัน กับสาวกสาวอีกสามคน แต่เนื่องจากกฏหมายของแคลิฟอร์เนียว่าด้วยการประหารชีวิตถูกเขียนไว้ไม่ชัดเจน ศาลจึงเปลี่ยนคำตัดสินเป็นการจำคุกตลอดชีวิตแทน

สำหรับโปลันสกี้ ซึ่งย้ายสถานที่พำนักจากฮอลลีวู้ด เพราะไม่ต้องการถูกย้ำเตือนจากความทรงจำที่เลวร้าย รวมทั้งจากการรบกวนของพวกนักข่าว ก็ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง แต่ผลงานเรื่องถัดมา Macbath ซึ่งดัดแปลงจากบทละครเชคสเปียร์ก็บอกให้รู้ว่าฝันร้ายจากเหตุการณ์ครั้งนั้นยังไม่ได้ไปไหน

ภาพยนตร์เล่าเรื่องของนักรบที่หน้ามืดตามัวจนถึงขั้นยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ นั่นรวมถึงการสังหารทุกคนที่ขวางทาง ไม่เว้นแม้กระทั่งลูกเมียของฝ่ายตรงข้าม นอกเหนือจากระดับความรุนแรงที่เกินเลย เซ็กซ์ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ถูกแสดงไว้อย่างโจ่งแจ้ง เรียกได้ว่าถ้าเชคสเปียร์สมาเห็นก็อาจจะหัวใจวายได้

โรเจอร์ อีเบิร์ต นักวิจารณ์ชื่อดังบอกว่านี่คือหนึ่งในภาพยนตร์ที่มองโลกแง่ร้ายที่สุดเท่าที่เคยสร้างกันมา ขณะที่ผู้ชมจำนวนไม่น้อยก็เชื่อว่า ความรุนแรงที่ถูกแสดงออกอย่างไม่บันยะบันยังใน Macbath ก็คือปฏิกิริยาตอบสนองของเขาต่อกรณีของ ชาร์ลส์ แมนสัน กับพรรคพวก

ภาพยนตร์ล้มเหลวทั้งในด้านรายได้และคำวิจารณ์ เส้นกราฟของโปลันสกี้มาถึงจุดตกต่ำอีกครั้ง ผลงานเรื่องต่อมา What? ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์กระเตื้องขึ้น มิหนำซ้ำยังถูกกล่าวหาว่าเป็นเพียงภาพยนตร์ลามกที่หาแก่นสารอะไรไม่ได้

สิ่งที่โปลันสกี้ต้องการในตอนนั้น คือภาพยนตร์สักเรื่องที่พบความสำเร็จด้านรายได้และคำวิจารณ์ เพื่อย้ำเตือนทั้งกับตัวเองและคนรอบข้างว่าเขายังไม่ได้หล่นหายไปไหน แต่สิ่งที่โปลันสกี้คาดไม่ถึงก็คือ ผลงานต่อมา Chinatown ไม่เพียงจะทำให้เจ้าตัวสมหวัง แต่ยังถือเป็นงานชิ้นสำคัญของยุคสมัยและของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ลาร์รี่ เกลบาร์ท นักเขียนบทชื่อดังถึงกับบอกว่า นี่คือภาพยนตร์ที่โรงเรียนภาพยนตร์ควรบรรจุไว้เป็นหลักสูตรสำหรับการศึกษา ทั้งในแง่ของบทและเทคนิคการนำเสนอตลอดเวลา 4 ปี

ฉากหลังเป็นเหตุการณ์ในลอสแองเจลิสช่วงทศวรรษที่ 1930 ภาพยนตร์เล่าเรื่องของนักสืบ (แจ็ค นิโคลสัน) ที่ได้รับการว่าจ้างให้สอดส่องพฤติกรรมชู้สาวของหนุ่มใหญ่รายหนึ่ง แต่เหตุไม่ชอบมาพากลบางอย่างนำให้เขาได้พบกับบางเรื่องที่คาดไม่ถึง มันเกี่ยวโยงกับการฉ้อฉลครั้งมโหฬาร รวมทั้งการเปิดเผยความจริงที่บัดสี ซึ่งจะทำให้ผู้ชมงงงันและตื่นตะลึง

ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างครึกโครมและชื่อของโปลันสกี้ ก็ถูกกล่าวถึงในฐานะของสุดยอดคนทำภาพยนตร์แห่งทศวรรษ ทุกสิ่งทุกอย่างกลับมาสดใสและสดสวย เพียงเพื่อทั้งหมดนั้นจะได้ล้มครืนเป็นครั้งที่สอง สิ่งที่แตกต่างไปจากก่อนหน้า คือคราวนี้เขาทำตัวเอง

จุดเริ่มต้นของความยุ่งเหยิงครั้งใหญ่หลวงมาจากการที่ได้รับเชิญให้เป็นบรรณาธิการนิตยสารโว้ค ฉบับผู้ชาย หนึ่งในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายก็คือการคัดเลือกเด็กสาวมาเป็นแบบให้กับนิตยสาร เพื่อนคนหนึ่งของโปลันสกี้แนะนำเด็กสาววัย 13 ปีชื่อ ซาแมนธ่า เกลี่ย์ หลังจากที่ติดต่อของอนุญาตจากผู้ปกครองของเด็กสาวเป็นที่เรียบร้อย นัดหมายการถ่ายแบบก็เริ่มต้นในช่วงต้นปี 1977

จากคำบอกเล่าของซาแมนธ่า (ในเวลาต่อมาเธอแต่งงานและเปลี่ยนนามสกุลเป็นไกเมอร์) การถ่ายแบบในวันนั้นไม่มีอะไรบอกถึงความไม่ชอบมาพากล จนกระทั่งโปลันสกี้ขอให้เธอถอดเสี้อผ้า แต่ก็ยังไม่มีอะไรเลยเถิดไปกว่านั้นจนกระทั่งการถ่ายทำครั้งต่อมาที่เหตุการณ์ดำเนินไปในรูปรอยเดิม เพียงแต่คราวนี้ โปลันสกี้ไม่ได้ปล่อยให้เด็กสาวกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ

เรื่องที่เกิดขึ้นคงไม่อึกทึกครึกโครม ถ้าหากแม่ของเด็กสาวไม่บังเอิญไปได้ยินว่าเกิดอะไรขึ้น และแจ้งตำรวจให้จับกุม นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ชื่อของโปลันสกี้กระฉ่อนไปทั่ววงการและตกเป็นเป้าความขัดแย้ง เพียงแต่ครั้งนี้ ตำรวจไม่ต้องเสียเวลาค้นหาตัวคนกระทำผิด

แรกทีเดียวโปลันสกี้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่หลังจากได้ตกลงนอกศาลกับอัยการ โปลันสกี้ยอมรับสารภาพว่าเขามีเพศสัมพันธ์กับเด็กสาวอายุต่ำกว่า 18 ปี และยอมถูกส่งตัวเขาไปในทัณฑสถานแห่งหนึ่ง เพื่อตรวจสอบสภาพจิตเป็นเวลา 90 วันก่อนที่ศาลจะพิพากษาความผิดจริงๆ สิ่งที่โปลันสกี้เจออาจไม่เลวร้ายเหมือนเมื่อครั้งที่แอบหนีจากค่ายกักกันของนาซี แต่ก็สร้างความหวาดระแวงให้อย่างลืมไม่ลง

ขณะที่โปลันสกี้ตกเป็นจำเลยทั้งในคดีอาญาและสังคม เขาเริ่มเชื่อว่าตัวเองจะไม่ได้รับความเป็นธรรมโดยเฉพาะจากผู้พิพากษา ลอเรนซ์ ริทเทนแบนด์ ที่ดูเหมือนตั้งหน้าตั้งตาเล่นงานเขาให้อยู่หมัด ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อโปลันสกี้สบโอกาสเหมาะ เขาก็ตัดสินใจหนีขึ้นเครื่องบินไปฝรั่งเศส เพราะในฐานะของพลเมืองฝรั่งเศสโดยสัญชาติ เขาได้รับความปลอดภัยและไม่ต้องถูกส่งตัวกลับไปรับโทษที่อเมริกา

หลังจากเรื่องวุ่นๆ โปลันสกี้กลับมาทำภาพยนตร์อีกครั้ง Tess เป็นผลงานที่ดัดแปลงจากนิยายคลาสสิกของ โธมัส ฮาร์ดี้ แต่ในแง่ของจุดมุ่งหมายที่นำเสนอก็ยังกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับผลงานก่อนหน้านี้ ยังคงพูดถึงสังคมที่เลวร้ายและตัวละครที่เผชิญกับการสูญเสีย ภาพยนตร์เล่าเรื่องของเด็กสาวที่ตกเป็นเหยื่อทางเพศจากพ่อบังเกิดเกล้าไปจนถึงญาติของตัวเอง แต่ส่วนที่สร้างความสะเทือนใจก็ตรงที่เธอต้องชดใช้สิ่งเลวร้ายด้วยชีวิตของตัวเอง

สิ่งที่โปลันสกี้พิสูจน์ให้ผู้ชมได้ประจักษ์อีกครั้งก็คือพลังสร้างสรรค์ที่เต็มล้น Tess อาจจะผิดไปจากภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ของโปลันสกี้ในแง่ของสไตล์การนำเสนอที่สุขุมนุ่มลึก แต่โดยเนื้อแท้แล้วยังคงบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นเสมือนโศกนาฏกรรม ภาพยนตร์ประสบปัญหาการจัดจำหน่ายโดยเฉพาะในอเมริกา แต่เมื่อได้ฉายจริงๆ ผู้ชมก็ให้การตอบรับกับภาพยนตร์เรื่องอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ภาพยนตร์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 6 รางวัล รวมทั้งรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมและคว้ามาได้สามจากกำกับศิลป์ ถ่ายภาพ และเครื่องแต่งกาย

นับจากทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา คลื่นลมในชีวิตของโปลันสกี้ก็สงบราบเรียบมากขึ้น ถึงแม้เขาจะยังคงตกเป็นข่าวอื้อฉาว โดยเฉพาะกับเด็กสาวอายุคราวลูก แต่ก็ไม่มีอะไรเลยเถิดถึงขั้นล้ำเส้นกฏหมาย ช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 เขาแต่งงานกับ เอ็มมานูแอล ซินแยร์ นักแสดงสาวที่อายุน้อยกว่าเขาถึง 33 ปี และชีวิตสมรสของคนทั้งสองยังคงยืนยาวมาจนถึงทุกวันนี้

ส่วนที่เห็นได้ชัดเจนว่าตกลงไปคือฝีไม้ลายมือในการทำภาพยนตร์ หลังจาก Tess ในปี 1979 โปลันสกี้ไม่มีผลงานที่เรียกได้ว่าสร้างชื่อให้เขาอย่างจริงๆ จังๆ อีกเลย โดดเด่นที่สุดในช่วงหลังคือ Death and the Maiden (1994) ที่เป็นอีกเรื่องเดียวที่คมคายทั้งในแง่กลวิธีการนำเสนอและเนื้อหา ที่เชื่อมโยงได้กับเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตของโปลันสกี้ นอกเหนือจากนั้นแล้วไม่มีเรื่องไหนที่อยู่ในเกณฑ์น่าสนใจ นั่นรวมถึง Frantic, Bitter Moon รวมถึง The Nine Gate ก่อนที่เขาจะกลับมาอย่างยิ่งใหญ่และสร้างความประหลาดตื่นตะลึงในการประกาศผลออสการ์ครั้งล่าสุด ที่เขาสามารถนำผลงานเรื่อง The Pianist ซึ่งถูกมองว่าเป็นไม้ประดับสำหรับการประกวดครั้งนี้ กวาดสามรางวัลสำคัญ ทั้งบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงชายยอดเยี่ยม และ ตัวเขาเองก็ได้รับบำเหน็จอย่างสมฐานะกับรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

อย่างไรก็ตาม หลายคนบ่นเสียดายว่า ถ้าหากโปลันสกี้ไม่ไปทำในสิ่งที่ถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่หลวงและยังคงทำภาพยนตร์ในฮอลลีวู้ด บางทีเขาอาจได้สร้างผลงานระดับ Rosemary's Baby กับ Chinatown มากกว่านี้ แต่นั่นเป็นเรื่องของการคาดเดา ไม่มีทางที่ใครจะพิสูจน์ได้

ความคิดเห็น

ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ในอดีต

  • โอเคเบตง
    เข้าฉายปี 2003
    แสดง ภูวฤทธิ์ พุ่มพวง , จีรนันท์ มะโนแจ่ม , สรัญญ่า เครื่องสาย
  • ฅนปีมะ
    เข้าฉายปี 2003
    แสดง นิธิพร มั่นนาค, นภัสกร มิตรเอม, ถั่วแระ เชิญยิ้ม
  • ฮวงจุ้ย
    เข้าฉายปี 2003
    แสดง จินตหรา สุขพัฒน์, กรรชัย กำเนิดพลอย, วัชรชัย สัตย์พิทักษ์

เกร็ดภาพยนตร์

  • Unfriended - ถ่ายทำที่บ้านหลังเดียวโดยนักแสดงอยู่กันคนละห้อง อ่านต่อ»
  • Tomorrowland - ผู้กำกับ แบรด เบิร์ด เป็นตัวเลือกแรกที่จะให้กำกับ Star Wars: Episode VII - The Force Awakens (2015) แต่ แบรด ปฏิเสธข้อเสนอเพื่อกำกับภาพยนตร์เรื่อง Tomorrowland (2015) โดย แบรด บอกว่าหากคุณมีโอกาสกำกับภาพยนตร์ต้นฉบับก็ควรคว้าโอกาสเอาไว้ อ่านต่อ»
เกร็ดจากภาพยนตร์สามารถดูได้ในหน้าข้อมูลภาพยนตร์แต่ละเรื่อง

เปิดกรุภาพยนตร์

เรื่องราวของนักบินอวกาศ รอย แม็กไบรด์ (แบรด พิตต์) ต้องรับหน้าที่ทำภารกิจสำคัญที่สุดในชีวิต นั่นก็คือการเดินทางข้ามระบบ...อ่านต่อ»