The Railway Man ย้อนรอยปลายรางมรณะจากอดีตเชลย
"The Railway Man" หรือ "แค้นสะพานข้ามแม่น้ำแคว" ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากชีวิตจริงของ "อีริก โลแมกซ์" (Eric Lomax) นายทหารประจำกองสื่อสารแห่งกองทัพสหราชอาณาจักร ช่วงเวลาที่กองทัพสัมพันธมิตรพ่ายแพ้ให้กับญี่ปุ่น นายทหารเหล่านี้ถูกจับให้มาเป็นแรงงานในการสร้างทางรถไฟข้ามแม่น้ำแควที่จังหวัดกาญจนบุรี บาดแผลที่เกิดขึ้นในสงครามก็ตามหลอกหลอนเขาตั้งแต่นั้น และกว่า 80% ของภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำที่ประเทศไทย อาทิ สะพานข้ามแม่น้ำแคว ช่องเขาขาด จังหวัดกาญจนบุรี และสถานีรถไฟใหญ่ๆ อย่างหัวลำโพงและบางซื่อในกรุงเทพฯ
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นักแสดงรางวัลออสการ์อย่าง "โคลิน เฟิร์ธ" (Colin Firth) มารับเป็น อีริก และ "นิโคล คิดแมน" (Nicole Kidman) รับบทเป็น แพตตี ภรรยาผู้เป็นแรงสนับสนุนให้เขาเผชิญหน้ากับอดีตที่โหดร้าย ส่วนหนุ่ม "เจเรมี เออร์ไวน์" (Jeremy Irvine) รับบทเป็น อีริก วัยหนุ่ม และ "ฮิโรยูกิ ซานาดะ" (Hiroyuki Sanada) รับบท นางาเซะ นายทหารที่เป็นล่ามประจำกองทัพและเป็นคนที่ทรมาน อีริก
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2557 ได้มีการจัดงานเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง The Railway Man ณ ชั้น 8 โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ภายในงานมี "ชาร์ลส์ แซลมอน" (Charles Salmon) ผู้ช่วยควบคุมงานสร้าง มาร่วมพูดคุย และ 2 นักแสดงที่อยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ "ปีเตอร์ ธูนสตระ" (Peter Tuinstra) ที่แสดงเป็นทหารสัมพันธมิตร และ "โชโกะ ทานิกาว่า" (Shogo Tanikawa) ที่มาร่วมแสดงเป็นทหารผู้ควบคุมรถไฟในกองทัพญี่ปุ่น
ถามถึงความรู้สึกของ ชาร์ลส์ ที่มารับหน้าที่ในไทยว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง เจ้าตัวตอบว่า "มีความสุขมากครับ จริงๆ ผมอ่านบทภาพยนตร์เรื่องนี้มาประมาณ 3 ปีแล้ว พอได้ทำก็รู้สึกดีใจและมีความสุขมากที่ได้ทำภาพยนตร์เรื่องนี้" ชาร์ลส์ เล่าว่าอยากใช้สถานที่จริงเป็นการถ่ายทำจึงมาถ่ายทำในไทย "ด้วยความที่หนังเรื่องนี้มีฉากที่อยู่ในเมืองไทย โดยเฉพาะที่กาญจนบุรี ซึ่งก็เป็นสถานที่จริงที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น ซึ่งผมก็ได้ร่วมงานกับหน่วยงานราชการของไทย อย่างการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ให้ความร่วมมืออย่างดีมาก"
อีกทั้ง ชาร์ลส์ ยังพูดถึง 2 นักแสดงนำของเรื่อง คือ โคลิน กับ นิโคล ว่า "ทั้ง 2 คนหลงรักบทหนังเรื่องนี้มาก และให้ความสำคัญกับบทด้วยการศึกษาตัวละคร และได้ทำความรู้จักกับเจ้าของเรื่องนี้ ทั้ง อีริก โลแม็กซ์ และ แพตตี และผมก็ประทับใจในการทำงานร่วมกับคนไทย ถึงแม้เป็นประสบการณ์ที่หนัก แต่ผมก็ประทับใจมากที่ได้มาทำงานที่นี่" ชาร์ลส์ ยังบอกอีกว่า อีริก เจ้าของเรื่องที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว ให้ความช่วยเหลือในเรื่องบทภาพยนตร์เป็นอย่างมาก "ผมไม่ได้พบกับคุณอีริกโดยตรงนะครับ แต่ว่าคุณอีริกให้ความช่วยเหลืออย่างมากโดยเฉพาะเรื่องของบทภาพยนตร์ จริงๆ แล้วคนที่ใกล้ชิดน่าจะเป็นคุณโคลิน เฟิร์ธ มากกว่า ได้พูดคุยกับอีริก ได้ศึกษาวิธีคิดของเขาเพื่อที่จะได้ถ่ายทอดออกมา"
ด้าน โชโกะ ที่แสดงเป็นทหารผู้ควบคุมรถไฟในกองทัพญี่ปุ่น แนะนำตัวเป็นภาษาไทยว่า "สวัสดีครับ ผมชื่อ โชโกะ ทานิกาว่า ครับ เป็นนักแสดงที่ทำงานที่อยู่ในเมืองไทยครับ" โชโกะ อธิบายถึงบทบาทที่ได้รับในภาพยนตร์เรื่องนี้ "เป็นทหารญี่ปุ่นที่คอยควบคุมดูแลเจเรมี ก็พาเขามาและคอยควบคุมดูแลอยู่ในค่ายทหารญี่ปุ่น" โชโกะ เผยว่าความยากของเขาในการแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้คือภาษา "การแสดงครั้งนี้สิ่งที่ยากคือเรื่องของภาษา เพราะผมพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยเก่ง ส่วนการทำงานร่วมกับนักแสดงระดับโลกอย่างเจเรมี ได้เล่นร่วมกันก็ถือเป็นเกียรติมากและผมก็ดีใจ"
ตัวแทนนักแสดงจากฝั่งทหารสัมพันธมิตร คือ ปีเตอร์ นักแสดงชาวอเมริกันที่พูดไทยได้เหมือนเจ้าของภาษา "ผมชื่อ ปีเตอร์ ธูนสตระ เรื่องนี้รับบทเป็นเชลยศึกสมัยสงครามโลกที่สองที่โดนบังคับสร้างทางรถไฟ ในเรื่องก็เป็นโอเปเรตอร์ของกลุ่มทหาร เป็นฉากสั้นๆ ของเรื่อง" ปีเตอร์ ยังเผยอีกว่าส่วนใหญ่เขาจะเข้าฉากกับ เจเรมี มากกว่า โคลิน "ตอนที่เป็นหนุ่มนะครับ คนที่มาเล่น เจเรมี ได้เจอกัน น่ารักมาก แต่เราพูดภาษาอังกฤษกันนะฮะ เพราะเขาพูดไทยไม่ได้ แต่ว่าเขาเป็นคนนิสัยดีมาก ได้คุยกัน ก็สนุกดี"
นักแสดงชาวญี่ปุ่นยังบอกถึงความตั้งใจของทีมงานที่มีแก่ภาพยนตร์ "หนังเรื่องนี้ก็ประกอบด้วยนักแสดง ทีมงานหลากหลายชาติ แล้วก็คนเหล่านั้นรวมพลังกันเพื่อมาสร้างหนังที่สมจริง ทำเรื่องที่ผ่านมาแล้วให้กลับมามีชีวิต ผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ยอดเยี่ยม และอยากให้ทุกท่านได้ติดตามชมกัน ในส่วนสงครามผมก็มองว่าถ้าวันหนึ่งมันหายไปจากโลกมนุษย์เราได้ก็คงดี" โชโกะ แง้มความรู้สึกในฐานะที่เป็นคนญี่ปุ่นและได้ศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านบทภาพยนตร์ว่า "ผมรู้สึกว่าที่เหล่าทหารญี่ปุ่นทำในสมัยก่อน ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไร ผมก็พยายามถ่ายทอดออกมาให้ดีที่สุดนะครับ เล่นบทที่ผมได้รับอย่างเต็มที่และฝากให้ทุกท่านได้มีโอกาสรับชม"
ด้าน ปีเตอร์ เสริมว่า "จริงๆ แล้วสิ่งที่สำคัญในหนังเรื่องนี้ รู้สึกว่าอยากจะแสดงความเคารพต่อคนที่ผ่านประสบการณ์จริง ไม่ว่าเราจะจินตนาการหรือนึกภาพออกมากแค่ไหน มันไม่เหมือนกับชีวิตจริงนะครับ ผมรู้สึกว่าเรื่องนี้น่าชมน่าดูมาก เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นคนไทย เป็นคนฝรั่ง คนญี่ปุ่นอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าเราจะมองในด้านการบันเทิงหรือสนใจเรื่องประวัติศาสตร์เรื่องนี้มีอะไรน่าสนใจให้ทุกคนได้ชมดู" สำหรับ ชาร์ลส์ ทิ้งท้ายถึงความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ "หนังเรื่องนี้จะพูดถึงความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นแก่นที่สำคัญคือเราจะได้เห็นคนสองคนในสองช่วงเวลาที่จะต้องมาเจอกันในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน"
แม้ว่าสงครามจะจบสิ้นไป แต่ก็ยังคงทิ้งบาดแผลที่ฝังลึกลงไปในหัวใจของผู้ที่เผชิญหน้ากับมัน ร่วมเดินทางย้อนรอยระลึกถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้นได้ใน The Railway Man วันที่ 24 เมษายน 2557 ณ โรงภาพยนตร์