พูดคุยกับนักแสดงและผู้กำกับฯ Phantom of the Opera
จากละครเวทีที่เป็นที่รู้จักมานานกว่า 16 ปี ผลงานการประพันธ์ของ เซอร์ แอนดรูว์ ลอยด์ เว็บเบอร์ "The Phantom of the Opera" กลายมาเป็นภาพยนตร์เพลงสุดอลังการ กำกับโดย "โจล ชูมักเกอร์" นำแสดงโดย "เอมมี รอสซัม" "เจอร์ราร์ด บัตเลอร์" "แพตทริก วิลสัน" และ "มิแรนด้า ริชาร์ดสัน"
The Phantom of the Opera เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้รับเชิญให้มาฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2548 ที่ผ่านมา โดยผู้กำกับภาพยนตร์ โจล ชูมักเกอร์ พร้อมกับสองนักแสดงอย่าง เจอร์ราร์ด บัตเลอร์ และ มิแรนด้า ริชาร์ดสัน ได้ให้เกียรติมาร่วมพูดคุยถึงภาพยนตร์ในงานนี้ด้วย
ที่มาของการทำภาพยนตร์เรื่องนี้
โจล "ปี 1988 แอนดรูว์ได้ดู The Lost Boys และรู้สึกประทับใจ ก็เลยติดต่อมา ทำให้ผมตื่นเต้นตกใจ เพราะตอนนั้นผมเพิ่งเป็นที่รู้จัก ส่วนแอนดรูว์เป็นที่โด่งดังแล้ว ตอนนั้นวางนักแสดงนำเป็นชุดเดียวกับละครเวที คือ ไมเคิล ครอว์ฟอร์ด และ ซาร่าห์ ไบรท์แมน แต่ปรากฏว่าปี 1990 ผมกำลังทำเรื่อง Flatliners แอนดรูว์หย่ากับซาร่า ทำให้ต้องยกเลิกโครงการนี้ไป
ได้คุยกันอีกทีปี 2002 ตอนนั้นผมกำลังถ่ายทำเรื่อง Veronica Guerin จำได้ว่านัดกินข้าวกันในลอนดอน ซึ่งผมเสนอไปว่านักแสดงที่มารับบทนำในเรื่องนี้ต้องมีอายุไม่มาก แอนดรูว์บอกว่าไม่มีปัญหาตราบใดที่นักแสดงร้องเพลงเอง"
รู้สึกอย่างไรกับนักแสดง
โจล "เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นที่ได้ร่วมงานกับนักแสดงที่มีพรสวรรค์ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องมีอายุน้อย แต่ตัวบทบังคับแบบนั้น การร่วมงานกับนักแสดงที่มีอายุน้อย ทำให้ผมรู้สึกหนุ่มไปด้วย บางครั้งที่ดูพวกเขาแสดง ราวกับเป็นเรื่องมหัศจรรย์ บางอย่างผมเองยังทำไม่ได้เลย และนักแสดงเหล่านี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำงานด้วย"
จริงหรือเปล่าที่ โจล เป็นคนชวน มิแรนด้า มาแสดงเรื่องนี้
มิแรนด้า "โจลเป็นคนชวนฉันมาแสดงจริงๆ ค่ะ จำได้ว่านัดกันในลอนดอนเพื่อคุยกัน โดยปกติผู้กำกับต้องเป็นคนสัมภาษณ์นักแสดง แต่ฉันกลับเป็นคนสัมภาษณ์โจลนะคะ เพราะฉันอยากรู้ว่าทำไมโจลถึงคิดว่าฉันเหมาะกับบทนี้ เพราะบทนี้ดูร้ายหน่อย แต่สุดท้ายก็รู้ว่าบทนี้ต้องใช้อารมณ์มาก เป็นบทค่อนข้างลึก แต่ที่ไม่รู้ คือ ต้องร้องเพลงเองค่ะ (ฮา)"
ช่วยเล่าถึงความสัมพันธ์ของ มาดามกีรี่ และ แฟนทั่ม
มิแรนด้า "ตัวละคร แฟนทั่ม ไม่เคยคิดทำร้าย มาดามกีรี่ และ มาดามกีรี่ ก็ไม่ทำร้าย แฟนทั่ม เหมือนกัน แต่สุดท้าย แฟนทั่ม ก็ใช้ชีวิตแปลกแยกจากโลกของความเป็นจริง มาดามกีรี่เชื่อว่าแฟนทั่มจะสามารถดึงพรสวรรค์ของคริสทีนในการร้องเพลงออกมาได้ แต่ในที่สุดมาดามกีรี่ก็ทำให้แฟนทั่มรู้สึกว่าเธอทรยศเขา"
รู้สึกยังไงที่ได้มารับบท แฟนทั่ม
เจอราร์ด "ตื่นเต้นนิดหน่อย เพราะผมยังเป็นนักแสดงหน้าใหม่ คิดแต่ว่าจะแสดงให้ดีที่สุด ไม่ได้คิดเลยว่าหลังจากนั้นจะเป็นยังไง"
บท แฟนทั่ม กับ แดร็กคูล่า ใน Dracula 2000 คล้ายกันไหม
เจอราร์ด "คล้ายกันครับ มีความทุกข์อยู่ภายในเหมือนกัน เกี่ยวกับเรื่องของความรักเหมือนกัน"
ได้ข่าวว่า เจอราร์ด เคยเป็นนักร้องด้วย
เจอราร์ด "ผมอยากให้เลิกพูดถึงเรื่องที่เคยเป็นนักร้อง ตอนนั้นผมกำลังจะเป็นทนาย การร้องเพลงเป็นเพลงแค่งานอดิเรกเล่นๆ มีผลเพียง 1% เท่านั้นที่ทำให้ได้งานนี้ ผมร้องเพลงให้แอนดรูว์ฟัง แล้วผมก็ถูกวิจารณ์ไป 20 นาทีว่าเสียงตรงไหนที่ชอบ เสียงตรงไหนต้องปรับ ตอนผมเรียนร้องเพลง ผมก็บอกตรงๆ ว่าถ้าทำได้ดีก็ให้บอกว่าดี แต่ถ้าไม่ดีก็บอกว่าไม่ดี ผมก็จะได้เรียนร้องเพลงต่อไป ซึ่งผมก็ดีใจมากที่หลังจากภาพยนตร์ฉายไปแล้ว โจลมาบอกว่าผมทำได้ดีมาก"
เตรียมตัวมากน้อยแค่ไหนกับการรับทมาดามกีรี่
มิแรนด้า "ฉันอ่านบทหลายรอบมาก อ่านแล้วอ่านอีกให้มากที่สุด ต้องไปเข้าคอร์สฝึกบัลเล่ต์ เรียนร้องเพลง ก็ยากพอสมควรนะคะ เพราะต้องร้องเพลงไปด้วยแสดงไปด้วย แต่ฉันพยายามทําอารมณ์ให้ไปด้วยกันได้ค่ะ"
อยากแก้ไขอะไรในภาพยนตร์อีกไหม
โจล "(คิดนาน) ไม่ได้อยากแก้อะไรเลยครับ เพราะผมก็ทำภาพยนตร์อย่างเต็มที่ ส่วนแอนดรูว์ก็ทำเพลง ต่างฝ่ายต่างมีอิสระต่อกัน ถ้าแก้ได้คงจะเอาเพลงออกครับ (หัวเราะ)"
หากได้ทำเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 1988 คิดว่าจะแตกต่างจากที่ทำตอนนี้ไหม
โจล "ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าต่างกันยังไง เพราะตอนนั้นผมเพิ่งทำภาพยนตร์มา 4 เรื่องเอง ตอนนี้ผมทำไป 18 เรื่องแล้ว ถ้าทำตอนนั้น ผมคงต้องรอให้ เอมมี รอสซัม เกิดก่อนครับ (ฮา)"
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคืออะไร
โจล "ผมเรียนรู้การเป็นผู้กำกับมาขึ้น เติบโตขึ้น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 19 ที่ผมทำแล้ว ผมรู้ว่าคริสทีนต้องเป็นวัยรุ่น ไร้เดียงสา ความสัมพันธ์กับราอูลจะเป็นความรักแบบโรแมนติก ส่วนความสัมพันธ์กับแฟนทั่มจะเป็นด้านมืดหน่อย ให้ดูขัดแย้งกัน และรู้ว่าจะต้องเลือกนักแสดงที่หน้าใหม่สักหน่อย"
พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย
โจล "หวังว่าคนไทยจะรับรู้ความรู้สึกที่ทุกคนส่งแรงใจมาช่วย ผมชื่นชมมากที่ ททท. จัดงานนี้ในช่วงหลังวิกฤต เพราะภาพยนตร์ถ่ายทอดเรื่องราวแง่มุมของชีวิตได้เป็นอย่างดี การได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติในครั้งนี้จึงมีความหมายมากสำหรับผม"
เจอราร์ด "อยากให้รู้ว่าทุกประเทศเห็นใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ประเด็นเดียวกับแฟนทั่มที่เป็นมุมมองของคนที่เป็นทุกข์หรือต่ำกว่า จึงเป็นเรื่องที่ดีที่มีรอบการกุศลหรืออย่างอื่นที่สามารถช่วยเหลือได้"
มิแรนด้า "ฉันวางแผนจะมาเมืองไทยก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิค่ะ ซึ่งทำให้ฉันรู้สึกช็อก เพราะคิดว่างานนี้จะต้องงดแน่ๆ เลย แต่ฉันก็ดีใจที่สุดท้ายก็ไม่ได้งด ฉันรู้สึกชื่นชมมากค่ะ และคิดว่าคงจะกระตุ้นอีกหลายฝ่ายให้ช่วยเหลือกันมากขึ้น ฉันก็อยากจะเสริมประเด็นของแฟนทั่มที่สะท้อนให้เห็นถึงการทำดีให้แก่กันด้วยค่ะ"
นอกจากนี้ นักแสดงชื่อดัง "ไมเคิล ดักลาส" ยังได้มาร่วมพูดคุยในงานแถลงข่าวภาพยนตร์เรื่อง The Phantom of the Opera เพื่อเชิดชูเกียรติให้กับ โจล ชูมักเกอร์ อีกด้วย
"ก่อนอื่นเลย ผมก็ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์สึนามิและรถไฟฟ้าใต้ตินที่เกิดขึ้น เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่ดี คือความดีของคนไทยที่ดูแลอย่างดี ทั้งคนไทยและต่างชาติเท่าเทียมกัน สร้างความประทับใจให้แก่นานาชาติ" ไมเคิล กล่าว
"ผมรู้จักโจลตั้งแต่ช่วงปี 1970 ตอนนั้นผมยังเป็นดาราที่ดิ้นรนหาบท ส่วนโจลก็เป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกาย เราสองคนเคยไปงานเลี้ยงหนึ่ง เดินหาโต๊ะแล้วว่าไม่มีชื่อ ก็เลยต้องไปนั่งโต๊ะพิเศษ ปรากฏว่าโต๊ะนั้นนั่งกัน 2 คน เพราะมีแค่ 2 คนที่ไม่มีชื่อครับ (ฮา)
หลังจากนั้น ต่างคนต่างก็ไปพัฒนาอาชีพของตัวเอง โคจรมาพบกันอีกครั้งใน Flatliners ซึ่งตอนนั้นผมได้ดู The Lost Boys นักแสดงที่แสดงตอนนั้นไม่ดังเลย อาทิ คีเฟอร์ ซัตเธอร์แลนด์ และ เจสัน แพ็ตทริก แต่ตอนนี้เป็นนักแสดงชื่อดังแล้ว
หลังจากเป็นโปรดิวเซอร์ Flatliners ผมก็เห็นว่าทุกคนรักที่จะร่วมงานกับเขา 3 ปีจากนั้น ผมก็ได้แสดงในภาพยนตร์เรื่อง Falling Down ผมรู้สึกชอบมาก แม้ภาพยนตร์จะได้กระแสวิจารณ์เยอะ แต่ผมก็ชอบ เพราะทำให้มีการพูดถึงภาพยนตร์ต่อไปอีก 2-3 ปี"
โจล เล่าให้ฟังว่า "ผมต้องตามไปถึง ซานต้า บาร์บาร่า เพื่อขอให้ ไมเคิล แสดงเรื่องนี้ เพราะปกติ ไมเคิล จะแสดงแค่ปีละเรื่อง ผมคิดว่าเขาเหมาะที่จะแสดงเรื่องนี้"
ไมเคิล กล่าวเพิ่มเติมว่า "การทำภาพยนตร์ต้องสมดุลระหว่างศิลปะกับธุรกิจ การทำภาพยนตร์แตกต่างจากศิลปะอื่นๆ ตรงที่ต้องทำงานร่วมกัน ในฐานะโปรดิวเซอร์ Flatliners ผมมองว่าจุดแข็งของ โจล คือ มีสายตาในการออกแบบที่ดีมาก"
โจล กล่าวว่า "ถ้าภาพยนตร์สามารถทำให้มุมมองของคนเปลี่ยนได้ แสดงว่าสำเร็จ คงไม่ผิดถ้าทำภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงเท่านั้น คนดูก็ไม่ผิด เพราะต้องเสียเงินไปดู ถ้าไปดู Falling Down แล้วเห็นแต่ความรุนแรงก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าได้มุมมองอื่น อาทิทางการเมืองด้วย ก็จะดีไม่น้อย"
โจล เผยถึงความรู้สึกของเทศกาลภาพยนตร์ว่า "ความสำคัญของเทศกาลภาพยนตร์ คือ การค้นพบนักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ ผมสนับสนุนให้มีทุกประเทศ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เติบโตขึ้น และสามารถหาทุนเพื่อมาสร้างภาพยนตร์ได้"
ปิดท้ายด้วยความรู้สึกของ ไมเคิล ว่า "ผมมาเมืองไทยเป็นครั้งแรก เพิ่งมาถึงเมื่อวานนี้ (20 ม.ค.) ยังไม่ได้เห็นอะไรมากนัก ได้เห็นตารางฉายภาพยนตร์ก็รู้สึกว่าครอบคลุมดี ธุรกิจภาพยนตร์ทำให้คนเข้ามาเจอกันได้ การที่ได้เห็นคนไทยช่วยเหลือกัน เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมาก ซึ่งผมจะนำเรื่องนี้ไปพูดคุยให้คนอื่นๆ ได้รู้ด้วย"