เกร็ดน่ารู้จาก The Last Airbender
เกร็ดน่ารู้
- สร้างจากแอนิเมชันชุด Avatar: The Last Airbender ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่องนิกเคโลเดียนตั้งแต่ปี 2005 และประสบความสำเร็จออกอากาศอยู่ในกว่า 120 ประเทศ ผู้สร้างแอนิเมชันชุดนี้ ไมเคิล ดังเต ดิมาร์ติโน และ ไบรอัน โคนีตซ์โก มาทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างบริหารให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ พร้อมทั้งมีส่วนช่วยในการพัฒนาบทภาพยนตร์เป็นอย่างมาก
- เป็นภาพยนตร์ดัดแปลงเรื่องแรกของผู้กำกับ เอ็ม ไนต์ ชยามาลาน
- ผู้กำกับ เอ็ม ไนต์ ชยามาลาน ต้องการสร้างภาพยนตร์ดัดแปลงมาหลายปีแล้ว แต่เลือกเรื่องที่สนใจไม่ได้ จนกระทั่งเขาลองชม Avatar: The Last Airbender แอนิเมชันเรื่องโปรดของลูกสาว และรู้สึกชื่นชอบขึ้นมา จึงนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ โดยเพิ่มความระทึกขวัญเข้าไปมากขึ้น
- ผู้กำกับ เอ็ม ไนต์ ชยามาลาน และนักวาดสตอรีบอร์ด บริก เมสัน ช่วยกันวางโครงเรื่องก่อนเริ่มถ่ายทำเป็นเวลา 1 ปี จากนั้นพวกเขาร่วมกับผู้กำกับภาพ แอนดรูว์ เลสนี และหัวหน้าแผนกวิชวลเอฟเฟกต์ ปาโบล เฮลแมน จากบริษัท อินดัสเทรียล ไลต์ แอนด์ เมจิก ช่วยกันสร้างภาพแอนิเมชันที่เรียกว่า พรีวิชวลไลเซชัน เพื่อให้เห็นภาพการถ่ายทำคร่าวๆ ล่วงหน้า โดยมากกว่า 1 ใน 3 ของภาพยนตร์มีการใช้เทคนิคนี้ก่อนถ่ายทำจริง
- โนอาห์ ริงเกอร์ ผู้ชนะเลิศศิลปะป้องกันตัวรุ่นเยาว์จากดัลลัส รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มฝึกเทควันโดตั้งแต่อายุ 10 ปี และโกนผมเพื่อลดความร้อนระหว่างฝึก คนรอบข้างจึงทักว่าเขาดูเหมือน แอง ในแอนิเมชัน Avatar: The Last Airbender โนอาห์ จึงลองชมการ์ตูนชุดนี้จนชื่นชอบ เป็นแรงบันดาลใจให้เขาทำดีวีดีสำหรับเข้าชิงบท แอง โดยเขาวาดรูปลูกศรสีน้ำเงินที่เป็นสัญลักษณ์ของตัวละครไว้บนศีรษะของตนด้วย บุคลิกที่นิ่งสงบทำให้ผู้สร้างตัดสินใจเลือก โนอาห์ หลังจากค้นหาผู้เหมาะสมมานานกว่า 6 เดือน
- ขณะที่ เดฟ พาเทล ประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ Slumdog Millionaire (2008) เขาทำเทปตัวอย่างการแสดงเพื่อเข้าชิงบท ซูโก ในเรื่องนี้ไปด้วย ต่อมาผู้กำกับ เอ็ม ไนต์ ชยามาลาน โทรศัพท์มาเสนอบทนี้ให้เขาแสดง เอ็ม มองว่า เดฟ ที่มีความอ่อนไหวและเหมือนเด็กในร่างผู้ใหญ่นั้น เหมาะกับบทที่ผสมผสานระหว่างความโกรธและความเมตตาบทนี้
- เดฟ พาเทล ผู้รับบท ซูโก ชม Avatar: The Last Airbender แอนิเมชันต้นแบบของภาพยนตร์เรื่องนี้ ระหว่างช่วงพักในกองถ่าย Slumdog Millionaire (2008) เดฟ เล่าว่าเขาชอบแอนิเมชันเรื่องนี้เพราะมันมีบทเรียนมากมายให้เรียนรู้ และมีรูปแบบการต่อสู้ที่คล้ายกับของนักแสดงที่เขาชื่นชอบอย่าง บรูซ ลี
- นิโคลา เพลต์ซ ผู้รับบท คาตารา คุ้นเคยกับแอนิเมชัน Avatar: The Last Airbender ที่เป็นต้นแบบภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเคยนั่งชมร่วมกับน้องชายฝาแฝด นอกจากนี้ คาตารา ยังเป็นตัวละครโปรดของ นิโคลา และของเด็กผู้หญิงอีกหลายคน รวมถึงลูกสาวของผู้กำกับ เอ็ม ไนต์ ชยามาลาน ด้วย
- ผู้กำกับ เอ็ม ไนต์ ชยามาลาน ตั้งใจเพิ่มบทของ ซ็อกกา ที่แสดงโดย แจ็กสัน แรธโบน ให้มากกว่าใน Avatar: The Last Airbender ที่เป็นแอนิเมชันต้นฉบับ ทำให้ภาพยนตร์มีอารมณ์ขันมากขึ้น และทำให้ผู้ชมได้เห็น ซ็อกกา เติบโตขึ้นด้วย
- ผู้สร้างเปิดรับสมัครนักแสดงทั่วทั้งชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา โดยเปิดรับนักแสดงทุกวัย รวมถึงเด็กอายุ 6-15 ปี ที่มีฝีมือด้านการต่อสู้ การทหาร การเต้นรำ และยิมนาสติก พวกเขาแบ่งบทบาทตามลักษณะใบหน้า คนที่หน้าคล้ายคนตะวันออกกลาง อินเดียนแดง เมดิเตอร์เรเนียน และอิตาเลียน รับบทเป็นชนชาติไฟ คนที่หน้าคล้ายคนเกาหลี ญี่ปุ่น มองโกเลีย และแอฟริกัน รับบทเป็นคนชาติดิน ส่วนคนที่หน้าคล้ายชาวแองโกลรับบทเป็นชนเผ่าน้ำ รวมทั้งสิ้นเป็นนักแสดงกว่า 6,000 คน
- โนอาห์ ริงเกอร์ ผู้รับบท แอง มีเวลาฝึกการต่อสู้กับคณะนักแสดงผาดโผน 2 เดือนก่อนถ่ายทำ และมีเวลาฝึกทักษะการแสดง 1 เดือนก่อนถ่ายทำ โนอาห์ ตั้งข้อสังเกตว่าการต่อสู้และการแสดงนั้นต้องใช้วินัยที่คล้ายกัน เมื่อฝึกเทควันโด เขาต้องฟังครูฝึก และเมื่อเป็นนักแสดง เขาต้องฟังผู้กำกับ
- พื้นฐานด้านกีฬาที่ค่อนข้างดีของ นิโคลา เพลต์ซ เป็นประโยชน์ต่อการรับบท คาตารา เธอเคยเล่นฮ็อกกีน้ำแข็งมาหลายปี ถึงขั้นเคยคิดจะเล่นเป็นอาชีพ นอกจากนี้ เธอยังฝึกศิลปะการต่อสู้ก่อนถ่ายทำ 5 เดือน โดยเริ่มจากฝึกด้วยตัวเองในบรูกลิน ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นเรียนกังฟูในช่วง 2 เดือนก่อนถ่ายทำ แล้วย้ายไปที่ฟิลาเดลเฟียเพื่อฝึกมวยไทเก๊ก ซึ่งเป็นศิลปะที่ผู้สร้างใช้ออกแบบการต่อสู้ของตัวละครชนเผ่าน้ำที่เธอแสดง
- ผู้กำกับ เอ็ม ไนต์ ชยามาลาน ชอบภาพยนตร์ศิลปะป้องกันตัว ถึงขนาดมีรูปปั้นของ บรูซ ลี อยู่ในห้องทำงาน และเคยชมภาพยนตร์ Enter the Dragon (1973) ที่ บรูซ แสดงมาเป็นสิบๆ รอบ ทั้งหมดกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ และเขาให้ โนอาห์ ริงเกอร์ ผู้รับบท แอง ชม Enter the Dragon เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงในการแสดงด้วย
- ภาพยนตร์ดำเนินตามแอนิเมชัน Avatar: The Last Airbender ที่ใช้ศิลปะการต่อสู้วูซู 4 รูปแบบ สร้างความแตกต่างให้ตัวละคร โดยเจ้าแห่งลมใช้ปากัวจ่างหรือฝ่ามือแปดทิศ เจ้าแห่งน้ำใช้มวยไทเก๊ก เจ้าแห่งดินใช้มวยหงกา และเจ้าแห่งไฟใช้กังฟูเส้าหลิน ดังนั้นแม้สองนักแสดงนำ โนอาห์ ริงเกอร์ ในบท แอง และ เดฟ พาเทล ในบท ซูโก จะเป็นนักกีฬาเทควันโดสายดำ พวกเขาก็ยังต้องฝึกซ้อมเพื่อแปลงท่วงท่าการเคลื่อนไหวให้เข้ากับภาพยนตร์
- นักแสดงหลักทุกคนมีนักแสดงแทน 1 คนช่วยแสดงในฉากยากๆ ยกเว้น โนอาห์ ริงเกอร์ ผู้รับบท แอง มีนักแสดงแทน 2 คน ได้แก่ คาไรน์ มอฟฟรีย์ นักกายกรรมหญิงจากคณะ เซิร์ก ดู โซเลยล์ ที่แสดงเป็น แอง ในฉากการใช้ท่าต่อสู้ของชาติลม และ เจด ควอน นักยิมนาสติกหญิงที่แสดงเป็น แอง ในฉากการเคลื่อนไหวในวงกว้าง และฉากตีลังกาและหมุนตัวควงสว่านโดยใช้ลวดสลิง
- ใช้นักแสดงผาดโผนรวม 61 คน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านลวดสลิงและครูฝึกวูซู นอกจากนี้ยังมีนักแสดงประกอบที่มีทักษะการต่อสู้อีก 90 คน ซึ่งจะต้องฝึกฝนเพิ่มเติมกับคณะนักแสดงผาดโผนที่นำโดย เจฟฟ์ แฮบเบอร์สแตด เป็นเวลานาน 4 เดือนก่อนถ่ายทำ ฉากต่อสู้ในเรื่องดูคล้ายการเต้นรำที่ผ่านการออกแบบมาอย่างละเอียด และนักแสดงจะต้องแสดงตามที่กำหนดไว้อย่างแม่นยำทุกจังหวะ
- คณะนักแสดงผาดโผนให้ช่างเทคนิค 2 คนใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เนวิเกเตอร์ กำหนดรายละเอียดการใช้สลิงไว้ล่วงหน้า พร้อมแสดงความเร็วของการเคลื่อนไหวออกมาเป็นเส้นกราฟ โปรแกรมนี้ช่วยให้งานสลิงแม่นยำ จึงจำลองฉากผาดโผนได้มากมาย สามารถปรับเปลี่ยนฉากเหล่านั้นได้ทุกเมื่อ และช่วยให้นักแสดงสามารถบินโดยโหนตัวจากสลิงโลหะที่หนาไม่ถึง 1 ใน 3 นิ้วได้
- หลังปิดกล้อง แผนกวิชวลเอฟเฟกต์ของ ปาโบล เฮลแมน จากบริษัท อินดัสเทรียล ไลต์ แอนด์ เมจิก ใช้เวลา 6 เดือนใส่ชอตวิชวลเอฟเฟกต์ทั้งหมดเข้าไปในภาพยนตร์ และใช้เวลา 4-5 เดือนเก็บรายละเอียด งานส่วนนี้มีตั้งแต่สร้างภาพการควบคุมพลังธาตุ สร้างสัตว์ประหลาด ตกแต่งฉาก และขยายขนาดสภาพแวดล้อม
- ปกติแล้วผู้กำกับ เอ็ม ไนต์ ชยามาลาน จะไม่เข้าไปในห้องตัดต่อภาพจนกว่าการถ่ายทำจะสิ้นสุดลง แต่สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาเริ่มตัดต่อภาพยนตร์ระหว่างการถ่ายทำ จากนั้นก็ส่งฉากที่ตัดต่อแล้วไปให้บริษัท อินดัสเทรียล ไลต์ แอนด์ เมจิก เริ่มทำงานด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิกทันที
- แม้ภาพยนตร์จะเต็มไปด้วยงานด้านวิชวลเอฟเฟกต์ แต่ผู้สร้างก็พยายามหลีกเลี่ยงการถ่ายทำหน้าฉากสีเขียวเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะพวกเขาอยากให้นักแสดงมีสิ่งที่ใช้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ได้
- บริษัท อินดัสเทรียล ไลต์ แอนด์ เมจิก สร้างสิ่งมีชีวิตคอมพิวเตอร์กราฟฟิกขึ้นจำนวนมาก ได้แก่ แอปปา ควายไบซัน 6 ขา สูง 16 ฟุต กว้าง 12 ฟุต และสามารถแหวกว่ายในอากาศด้วยท่าเหมือนตุ่นปากเป็ด อีกตัวคือแรดคิโมโดที่ชนชาติไฟใช้ขี่ในสงคราม มันมีลำตัวพร้อมหางยาว 32 ฟุต และสูงกว่า 17 ฟุต นอกจากนี้ยังมีค้างคาวลีเมอร์ชื่อ โมโม และมังกรจิตวิญญาณ ขณะถ่ายทำ สัตว์เหล่านี้อาจเป็นเพียงจุดที่นักแสดงเพ่งมองเพื่อกำหนดระดับสายตา หรืออาจเป็นแค่เก้าอี้ที่พวกเขาใช้นั่งเพื่อแสดงท่าทางเหมือนกำลังขี่พวกมัน
- แผนกสเปเชียลเอฟเฟกต์ของ สตีฟ เครมิน รับผิดชอบทั้งงานด้านระบบไฮโดรลิก ท่อปล่อยแก๊ส การใช้น้ำ และที่สำคัญที่สุดคือการใช้ไฟ โดย สตีฟ จะต้องสร้างทั้งซากปรักหักพังที่ไหม้ไฟ ลูกบอลไฟ คบไฟ และควันไฟ รวมถึงไฟในฉากการต่อสู้ของ ซูโก ที่รับบทโดย เดฟ พาเทล เช่น ฉากที่ทีมงานจุดไฟที่ลวดสลิงแล้วปล่อยให้มันพุ่งผ่านหน้า เดฟ และฉากที่ เดฟ เตะควงสว่าน แล้วทีมงานคนหนึ่งกดปุ่มจุดไฟ ให้ดูเหมือนมีไฟพุ่งออกมาจากขาของ เดฟ
- 1 ปีก่อนถ่ายทำ ผู้ออกแบบงานสร้าง ฟิลิป เมสซินา ตั้งทีมศิลปกรรมและทีมก่อสร้างรวมแล้วกว่า 250 คน ขึ้นเพื่อสร้างชิ้นงานออกแบบต่างๆ
- ผู้ออกแบบงานสร้าง ฟิลิป เมสซินา คิดว่าฉากของชนเผ่าน้ำทางเหนือเป็นงานออกแบบที่ยากที่สุด เพราะสภาพแวดล้อมแบบขั้วโลก ทำให้ต้องใช้จินตนาการอย่างมากในการออกแบบวิถีชีวิตของตัวละคร ฟิลิป สร้างป้อมปราการขึ้นที่นั่น โดยทำให้ดูเหมือนมันสร้างจากน้ำแข็งทั้งหมด ฉากที่ชนชาติไฟบุกยึดป้อมปราการนี้เป็นฉากใหญ่ที่ใช้นักแสดงมากกว่า 400 คน
- ผู้ออกแบบงานสร้าง ฟิลิป เมสซินา ออกแบบฉากชุมชนของชนเผ่าน้ำโดยนึกถึงศิลปะแบบอิสลาม อินเดีย และตุรกี คนงานกว่า 200 คนก่อสร้างฉากนี้ขึ้นในโรงเก็บเครื่องบินขนาดเท่าสนามฟุตบอล 2 สนาม โดยใช้เวลานานเกือบ 4 เดือน และเพื่อสร้างความรู้สึกเหมือนอยู่ท่ามกลางน้ำแข็ง พวกเขาตกแต่งทั้งฉากด้วยโพลีเมอร์สีน้ำเงินและเทาจำนวนหลายพันแกลลอน ปกคลุมด้วยหิมะที่ทำจากเกลือเอปสัน
- ตามท้องเรื่อง ชนชาติลมตกเป็นเบี้ยล่างของชนชาติไฟ ผู้ออกแบบงานสร้าง ฟิลิป เมสซินา จึงออกแบบฉากหมู่บ้านของพวกเขาให้ดูเหมือนเคยยิ่งใหญ่แต่ตอนนี้พังพินาศ เขาควบคุมการสร้างฉากวิหารขึ้นในโรงถ่ายในฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับแรงบันดาลใจจากวิหารโบราณทั้งหลาย โดยเฉพาะในกัมพูชา วิหารนี้ดูเหมือนเป็นหินทั้งหมด แต่จริงๆ แล้วมีโครงสร้างที่ทำจากยาง เพื่อความปลอดภัยของนักแสดงผาดโผน
- ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย จูเดียนนา มาคอฟสกี ผลิตเสื้อผ้าและเสื้อเกราะรวม 1,800 ชิ้น บวกรองเท้าอีก 50 คู่ เพื่อใช้สวมใส่ในเรื่องนี้
- สัญลักษณ์ลูกศรสีน้ำเงินบนศีรษะของ แอง ที่รับบทโดย โนอาห์ ริงเกอร์ เป็นฝีมือของช่างสักคนหนึ่งจากนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ลูกศรนั้นประกอบขึ้นจากจุดจนดูเหมือนเกลียวเชือก ทำให้ไม่ดูรบกวนใจหรือให้อารมณ์เผด็จการมากเกินไป นอกจากนี้ยังมีตัวอักษรที่ช่างแต่งหน้า อิวานา พริโมแรก และช่างสักสร้างขึ้นจากการผสมตัวอักษรของอินเดียนแดง ไทย และญี่ปุ่นเข้าด้วยกัน และมีสัญลักษณ์จากการเล่นแร่แปรธาตุด้วย
- ถ่ายทำฉากชนเผ่าน้ำทางใต้กันที่ อิลลูลิสแซต เมืองชายฝั่งเล็กๆ ในกรีนแลนด์ ซึ่งเข้าถึงยากจนผู้สร้างต้องขนย้ายเครื่องมือจากสหรัฐอเมริกามาทางเรือใหญ่ ก่อนจะใช้เฮลิคอปเตอร์ขนส่งต่อไปยังสถานที่ถ่ายทำ บางครั้งอุณหภูมิที่นี่ลดต่ำกว่า 0 องศา ผู้สร้างต้องเตรียมสิ่งของให้ความอบอุ่นแก่ทุกคน และป้องกันไม่ให้กล้องถูกน้ำแข็งเกาะ พวกเขาเลือกถ่ายทำในที่สุดลำบากนี้ เพราะต้องการภาพเทือกเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ ตัดกับท้องฟ้าสีฟ้า และทะเลที่มีก้อนน้ำแข็งผุดอยู่
- เมืองอิลลูลิสแซตในกรีนแลนด์ที่ใช้ถ่ายทำฉากหมู่บ้านกระท่อมน้ำแข็งนั้น เป็นพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองในโครงการมรดกโลกขององค์กรยูเนสโก ทีมงานจึงต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เคร่งครัด พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เจาะพื้นด้วยอุปกรณ์ก่อสร้างทุกชนิด อาคารทั้งหมดจึงต้องสลักติดเอาไว้กับผิวน้ำแข็งหนาๆ ที่อยู่บนผิวหน้าของดิน
- บางฉากที่ถ่ายทำในกรีนแลนด์ มีการใช้หิมะที่ทำจากสไตโรโฟม
- ก่อนกองถ่ายจะมาถึงอิลลูลิสแซต ในกรีนแลนด์ กรมไปรษณีย์ที่นั่นติดตั้งสายเคเบิลอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงความยาวหลายพันไมล์ไว้ใต้ทะเล ทำให้ทีมงานสามารถส่งภาพที่ถ่ายทำไปยังคอมพิวเตอร์ของคณะผู้สร้าง ที่อยู่ในห้องทำงานแสนสบายในโรงแรมอาร์กติกได้
- ช่างทำผม อิวานา พริโมแรก ย้อมสีผมปลอมโดยใช้วิธีการย้อมผ้าแบบท้องถิ่น ซึ่งต้องทำกันกลางแจ้ง แม้อุณหภูมิในเวลานั้นจะลดต่ำกว่า 0 องศาก็ตาม ผมปลอมที่เปียกกลายเป็นน้ำแข็งในเวลาไม่นาน และเมื่อสะบัดน้ำแข็งออก สีที่ย้อมก็จะปรากฏให้เห็น ผู้สร้างต้องทำให้ผมปลอมแห้งสนิทก่อนใช้งาน เพื่อไม่ให้พวกมันจับตัวแข็งบนศีรษะของนักแสดง
- เนื่องจากต้องถ่ายทำในกรีนแลนด์ที่อากาศหนาวเย็นมาก ผู้สร้างจึงทำหมวกที่มีสีสันเหมือนผิวคนให้ โนอาห์ ริงเกอร์ ผู้รับบท แอง ซึ่งมีศีรษะโล้น ใช้สวมขณะถ่ายทำฉากระยะไกล และทำถุงมือจากลาเทกซ์ให้เหล่านักแสดงสวม นอกจากนี้พวกเขายังให้นักแสดงสวมชุดชั้นในผ้าไหมหลายชั้น สวมเสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากวัสดุคุณภาพดี และสวมรองเท้าที่มีการบุฟองน้ำและมีการเสริมส้นที่ช่วยป้องกันเท้าสัมผัสกับน้ำแข็ง
- เดิมภาพยนตร์มีชื่อว่า Avatar: The Last Airbender เหมือนชื่อแอนิเมชันชุดที่เป็นต้นแบบของภาพยนตร์ แต่เนื่องจาก เจมส์ คาเมรอน และบริษัท ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ สร้างภาพยนตร์ชื่อ Avatar (2009) ออกมา ผู้สร้างจึงตัดคำว่า Avatar ออกไปจากชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน
- เดิมบท ซูโก เป็นของ เจสซี แมกคาร์ตนีย์ แต่เนื่องจาก เจสซี ติดปัญหาเรื่องตารางการทำงาน บทนี้จึงตกมาเป็นของ เดฟ พาเทล แทน
- นักพากย์ ดี แบรดลีย์ เบเกอร์ ที่พากย์เสียงตัวละคร แอปปา และ โมโม ในแอนิเมชัน Avatar: The Last Airbender กลับมาพากย์เสียงตัวละครทั้งสองอีกครั้งในภาพยนตร์เรื่องนี้
- เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของผู้กำกับ เอ็ม ไนต์ ชยามาลาน นับจาก Wide Awake (1998) ที่ได้รับเรต พีจี
- ผู้กำกับ เอ็ม ไนต์ ชยามาลาน เผยว่าเขาจงใจให้ชื่อของตัวละคร อาทิ แอง หรือ อวตาร ที่รับบทโดย โนอาห์ ริงเกอร์ และชื่อ ซ็อกกา ที่รับบทโดย แจ็กสัน แรธโบน ออกเสียงด้วยสำเนียงเอเชีย เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่แอนิเมชันต้นฉบับ Avatar: The Last Airbender
- สิ่งหนึ่งที่ผู้กำกับ เอ็ม ไนต์ ชยามาลาน เปลี่ยนแปลงจากแอนิเมชันต้นฉบับอย่างเห็นได้ชัด คือในภาพยนตร์มีการจำกัดผู้ที่ใช้พลังไฟ เฉพาะชนเผ่าไฟระดับสูงเท่านั้นที่สามารถปล่อยเปลวไฟออกมาจากพลังชี่ของพวกเขาได้
- มีการถ่ายทำฉากแนะนำตัวละคร ซุกิ ผู้นำกลุ่มนับรบเคียวชิไปแล้ว แต่สุดท้ายผู้สร้างก็ตัดฉากนั้นออกไป เพราะผู้กำกับ เอ็ม ไนต์ ชยามาลาน คิดว่าเรื่องราวส่วนนั้นเป็นเรื่องราวที่แยกออกไป และจะทำให้ผู้ชมไขว้เขวไปจากเรื่องราวในภาพยนตร์
- เป็นการร่วมงานกันครั้งที่ 7 ของนักแต่งเพลง เจมส์ นิวตัน โฮเวิร์ด กับผู้กำกับ เอ็ม ไนต์ ชยามาลาน ถือเป็นการร่วมงานอย่างต่อเนื่องระหว่างนักแต่งเพลงและผู้กำกับที่ยาวนานเป็นอันดับที่ 4 รองจากนักแต่งเพลง จอห์น วิลเลียมส์ กับผู้กำกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก ที่ร่วมงานกันมากว่า 36 ปี นักแต่งเพลง อลัน ซิลเวสทรี กับผู้กำกับ โรเบิร์ต เซเมกคิส ร่วมงานกันมากว่า 26 ปี และนักแต่งเพลง แดนนี เอลฟ์แมน กับผู้กำกับ ทิม เบอร์ตัน ร่วมงานกันมาอย่างต่อเนื่อง 14 ปี หรืออาจนับเป็น 25 ปี หากไม่นับภาพยนตร์ Ed Wood (1994) ที่ ทิม หันไปใช้บริการ โฮเวิร์ด ชอร์
advertisement
วันนี้ในอดีต
- Alexanderเข้าฉายปี 2004 แสดง Colin Farrell, Jared Leto, Angelina Jolie
- Puss in Bootsเข้าฉายปี 2011 แสดง Antonio Banderas, Salma Hayek, Zach Galifianakis
- ฝนตกขึ้นฟ้าเข้าฉายปี 2011 แสดง นพชัย ชัยนาม, ศิริน หอวัง, อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต
เกร็ดภาพยนตร์
เปิดกรุภาพยนตร์
Fall In Love At First Kiss เรื่องราวระหว่างหนุ่มอัจฉริยะไอคิว 200 เจียงจื้อฉู่ (ดาร์เร็น หวัง) และสาวบ๊องหน้าใส หยวนเซียงฉิน (หลินอวิ่น) เมื่อตัวเ...อ่านต่อ»