เกร็ดน่ารู้จาก The Hurt Locker

เกร็ดน่ารู้
  • ออกฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์เวนิซ ประเทศอิตาลี ปี 2008 และคว้ารางวัลภาพยนตร์เพื่อสิทธิมนุษยชนมาได้ หลังจากนั้นอีกหลายเดือนจึงได้ออกฉายแบบจำกัดโรงในสหรัฐอเมริการาวกลางปี 2009 จากนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ก็โด่งดังขึ้นจากการสนับสนุนของนักวิจารณ์ การชื่นชมแบบปากต่อปาก และการคว้ารางวัลใหญ่มาได้มากมาย รวมถึงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ในปี 2010
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ แคธรีน บิเกอโลว์ เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากสมาคมผู้กำกับแห่งอเมริกา หรือ ดีจีเอ อวอร์ดส์ และอคาเดมี อวอร์ดส์ หรือ ออสการ์
  • เดิมผู้กำกับ แคธรีน บิเกอโลว์ ตั้งใจจะไปถ่ายทำที่ฐานทัพอเมริกาในประเทศคูเวต แต่ไม่ได้รับอนุญาต กองถ่ายจึงต้องย้ายไปปักหลักที่กรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน ซึ่งติดกับประเทศอิรัก
  • การถ่ายทำในช่วงต้นเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะสภาพอากาศที่ร้อนระอุ จนผู้กำกับภาพ แบร์รี แอกครอยด์ ล้มป่วย ไม่นานหลังจากนั้น พระเอกของเรื่อง เจเรมี เรนเนอร์ ผู้รับบท วิลเลียม เจมส์ สะดุดตกบันไดขณะถ่ายทำฉากอุ้มเด็กชายชาวอิรักคนหนึ่ง เขาบาดเจ็บที่ข้อเท้าจนต้องพักกองไปหลายวัน
  • ในช่วงที่ถ่ายทำในประเทศจอร์แดน ตรงกับช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิมตะวันออกกลางพอดี ทีมงานที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามจึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารและน้ำในที่ลับ เช่น ในเต็นท์ หรือในโรงแรมที่ปิดหน้าต่างมิดชิด เนื่องจากการรับประทาน การดื่ม และการสูบบุหรี่ในช่วงกลางวันของการถือศีลอดถือเป็นการลบหลู่ศาสนา และอาจต้องโทษจำคุกได้
  • คำว่า Hurt Locker ในชื่อเรื่องเป็นสำนวนหมายถึง การทำให้อีกฝ่ายตกอยู่ในความเจ็บปวดทรมาน ในฐานทัพที่ประเทศอิรัก ทหารส่วนใหญ่ใช้คำนี้เป็นอุปมาอุปไมยถึงการออกไปกู้ระเบิด
  • ผู้เขียนบท มาร์ก โบล เป็นนักข่าวสายทหารที่คลุกคลีกับสภาพการณ์ในฐานทัพอเมริกาในตะวันออกกลางเป็นอย่างดี เขาเคยเขียนบทความตีพิมพ์ในนิตยสาร เพลย์บอย มาก่อน ส่วนงานเขียนบทภาพยนตร์ชิ้นแรกของเขาคือเรื่อง In the Valley of Elah (2007) ซึ่งเขาเขียนร่วมกับ พอล แฮ็กกิส และเป็นเรื่องของสงครามอ่าวเช่นเดียวกัน
  • เดิมที ผู้กำกับ แคธรีน บิเกอโลว์ ไม่มั่นใจว่าจะกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ดีหรือไม่ แต่ผู้กำกับ เจมส์ คาเมรอน อดีตสามีของเธอ ได้อ่านบทภาพยนตร์แล้วสนับสนุนให้เธอตกลงกำกับ หลังจากนั้น เจมส์ ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้หลายครั้งตั้งแต่ยังตัดต่อไม่เสร็จ เขาชื่นชมภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าเป็นผลงานที่ดีเทียบเท่า Platoon (1986) เพียงแค่เปลี่ยนฉากหลังจากสงครามเวียดนามมาเป็นสงครามอิรัก
  • นักแสดงดัง เรล์ฟ ไฟน์ส, กาย เพียร์ซ และ เดวิด มอร์ส แสดงบทรับเชิญในภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยปรากฏตัวกันเพียงคนละไม่เกิน 10 นาที ในบทหัวหน้าผู้รับเหมา นายทหารหน่วยปฏิบัติการพิเศษ แมตต์ ธอมป์สัน และพันเอก รีด ตามลำดับ
  • บทบาท วิลเลียม เจมส์ ในเรื่องนี้ถือเป็นบทแจ้งเกิดของ เจเรมี เรนเนอร์ เพราะมันทำให้เขาคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมมาครองจากหลายสถาบัน รวมถึงสมาคมนักวิจารณ์แห่งชาติอเมริกา ก่อนหน้านี้ เจเรมี เคยแสดงบทสมทบในภาพยนตร์ S.W.A.T. (2003) North Country (2005) และ 28 Weeks Later (2007) และเคยรับบทนำเฉพาะในละครโทรทัศน์ คือเรื่อง The Unusuals
  • ถ่ายทำด้วยกล้องซูเปอร์ 16 ม.ม. 3-4 ตัวหรือมากกว่า โดยไม่ใช้เครื่องพยุงกล้อง เพื่อให้ได้ภาพในรูปแบบภาพยนตร์สารคดี ภาพวิดีโอความยาวเกือบ 200 ชั่วโมงที่ถ่ายมามีอัตราส่วนเท่ากับ 100:1 ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วนของ Apocalypse Now (1979) ภาพยนตร์สงครามเรื่องดังของผู้กำกับ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา
  • ผู้สร้างรวบรวมทีมงานแผนกต่างๆ มาด้วยความยากลำบาก เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องถ่ายทำในประเทศตะวันออกกลางซึ่งอาจไม่ปลอดภัย แต่เมื่อถ่ายทำจริง สถานที่ถ่ายทำอย่างประเทศจอร์แดนกลับปลอดภัยดี จนนักแสดงไม่จำเป็นต้องใช้คนคุ้มครองตามที่เตรียมการไว้แต่แรก และไม่มีทหารของจอร์แดนเข้ามาดูแลความปลอดภัยให้กองถ่าย มีเพียงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจากบริษัทเอกชนเท่านั้น
  • หลังจากเดินทางกลับจากการถ่ายทำที่ประเทศจอร์แดน ทีมงานชาวอเมริกันในตำแหน่งสำคัญหลายคนถูกสนามบินอเมริกันซักถามและตรวจค้นสัมภาระ แม้กระทั่งผู้อำนวยการสร้างคนหนึ่งยังถูกดึงตัวไว้ซักถามก่อนจะปล่อยตัวเขากลับไปยังลอสแอนเจลิส
  • โคลิน ฟาร์เรลล์, วิลเลม เดโฟ และ ชาร์ลิซ เธอรอน ถูกวางตัวไว้ให้มีบทบาทในภาพยนตร์เรื่องนี้ในช่วงแรกของการเตรียมงานสร้าง
  • เพลง Fear (Is Big Business), Palestina และ Khyber Pass ที่ใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเพลงจาก Rio Grande Blood อัลบั้มที่ 10 ของวง มินิสทรี ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สงครามอิรักและประธานาธิบดี จอร์จ บุช ของสหรัฐอเมริกา
  • เจเรมี เรนเนอร์ ผู้รับบท วิลเลียม เจมส์ สวมชุดกู้ระเบิดจริงๆ ในทะเลทรายอันร้อนระอุโดยที่ไม่ใช้นักแสดงแทน
  • ทีมงานเบื้องหลังมาจากหลากหลายประเทศ ได้แก่ อเมริกา จอร์แดน เลบานอน อังกฤษ ไอร์แลนด์ เยอรมนี โมรอกโก เดนมาร์ก ตูนีเซีย แอฟริกาใต้ ไอซ์แลนด์ อิรัก ลิเบีย ปาเลสไตน์ อาร์เมเนีย สวีเดน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
  • เดิมประเทศบราซิลต้องการขายภาพยนตร์เรื่องนี้ในรูปแบบดีวีดีทันที แต่เมื่อภาพยนตร์ได้รับความสนใจมากมาย รวมถึงได้รางวัลจากหลายสถาบัน ประเทศบราซิลก็เปลี่ยนมาจัดฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2010

advertisement

วันนี้ในอดีต

เกร็ดภาพยนตร์

  • Mad Max: Fury Road - ฉากเทคนิคพิเศษประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ช่วย แต่เป็นของจริงโดยใช้นักแสดงแทน ฉาก และการแต่งหน้าช่วย ส่วนที่ใช้คอมพิวเตอร์ก็ใช้เพียงลบเชือก ตกแต่งพื้นที่ทะเลทรายนามิบ และสร้างแขนปลอมข้างซ้ายของ ชาร์ลีซ เธอรอน ผู้รับบท ฟิวริโอซา เท่านั้น อ่านต่อ»
  • Life Partners - คริสเตน เบลล์ ถูกวางตัวให้มารับบท ซาชา แต่จำเป็นต้องถอนตัวเพราะตั้งครรภ์ อีวาน ราเชล วูด จึงเป็นนักแสดงคนถัดไปที่จะเข้ามารับบทนี้แทน แต่ อีวาน ก็ตั้งครรภ์เช่นกันจึงต้องถอนตัวออกไปอีกคน ภายหลังบทนี้ก็ได้ เลห์ตัน มีสเตอร์ มาแสดงในที่สุด อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

The Hunt The Hunt ท่ามกลางทฤษฎีสมคบคิดทางอินเตอร์เน็ตสุดป่าเถื่อน กลุ่มชนชั้นนำรวมตัวกันเป็นครั้งแรกที่คฤหาสน์หลังใหญ่ เพื่อล่ามนุษย์เป็น...อ่านต่อ»