เกร็ดน่ารู้จาก Milk
เกร็ดน่ารู้
- ผู้เขียนบท ดัสติน แลนซ์ แบล็ก ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ ฮาร์วี่ย์ มิลค์ ครั้งแรกจากอาจารย์ท่านหนึ่ง ในช่วงที่เขาทำงานในโรงละครราวๆ ต้นทศวรรษที่ 1990 หลังจากนั้น เขารู้สึกประทับใจสุนทรพจน์ของ มิลค์ ที่ปรากฏอยู่ตอนท้ายภาพยนตร์สารคดีที่ชนะรางวัลออสการ์เรื่อง The Times of Harvey Milk (1984) จนเกิดแรงบันดาลใจในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ในที่สุด
- ก่อนหน้าที่จะมาเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ดัสติน แลนซ์ แบล็ก ทำงานอยู่ในแวดวงภาพยนตร์และโทรทัศน์หลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นผู้เขียนบท ผู้อำนวยการสร้าง และผู้กำกับ
- ดัสติน แลนซ์ แบล็ก รวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนบทเรื่องนี้ โดยไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของนักการเมือง ฮาร์วี่ย์ มิลค์ แต่ใช้วิธีหาข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้ที่มีประสบการณ์ตรง และผู้ที่ได้ฟังเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมา
- ช่วงแรกๆ ที่ ดัสติน แลนซ์ แบล็ก หาข้อมูลในการเขียนบทโดยไปพูดคุยกับผู้คนที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ฮาร์วี่ย์ มิลค์ นั้น เขาไม่ได้รับความร่วมมือเท่าใดนัก เนื่องจากหลายๆ คนยังแคลงใจว่าข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์จริงหรือไม่ เพราะมีคนมากมายเคยมาถามหาข้อมูลเช่นนี้ แต่ไม่ได้สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับ มิลค์ ตามที่สัญญาไว้
- บุคคลแรกที่ ดัสติน แลนซ์ แบล็ก สัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูลมาเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ คือนักเคลื่อนไหวผู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับนักการเมือง ฮาร์วี่ย์ มิลค์ ที่ชื่อ คลีฟ โจนส์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโครงการ เนมส์ โปรเจกต์ และเป็นผู้ออกแบบและสร้างสรรค์ของโครงการ เอดส์ ควิลต์ ซึ่งดูแลเกี่ยวกับโรคเอดส์
- คลีฟ โจนส์ ให้ความร่วมมือกับผู้เขียนบท ดัสติน แลนซ์ แบล็ก โดยการให้สัมภาษณ์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเวลา 2 วัน มีความยาวรวมทั้งสิ้น 8 ชั่วโมง และยังเป็นที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
- คลีฟ โจนส์ ซึ่งสนิทสนมกับนักการเมือง ฮาร์วี่ย์ มิลค์ เป็นผู้แนะนำให้ผู้เขียนบท ดัสติน แลนซ์ แบล็ก รู้จักกับผู้คนมากมายที่สนิทกับ ฮาร์วี่ย์ มิลค์ เช่นกัน อาทิ แดนนี นิโคเลตตา, แอนน์ โครเนนเบิร์ก, แอลลัน เบร์ด, แฟรงก์ โรบินสัน, ทอม อัมมิอาโน, จิม ริวัลโด, อาร์ต อันโยส, แครอล รูธ ซิลเวอร์ และ ไมเคิล หว่อง
- ช่วงที่ ดัสติน แลนซ์ แบล็ก เริ่มหาข้อมูลสำหรับเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ใหม่ๆ เขายังติดพันอยู่กับการเขียนบทให้กับละครโทรทัศน์ Big Love ฤดูกาลแรก ทำให้เขาต้องขับรถจากสถานที่ถ่ายทำละครในเมืองซานตาคลาริตาขึ้นมาที่ซานฟรานซิสโกทุกๆ วันหยุดสุดสัปดาห์
- ไมเคิล หว่อง เพื่อนสนิทของนักการเมือง ฮาร์วี่ย์ มิลค์ มอบรูปถ่ายจำนวนมาก ซึ่งบันทึกชีวิตประจำวันของเขากับ มิลค์ ให้แก่ผู้เขียนบท ดัสติน แลนซ์ แบล็ก เพื่อให้ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้
- ผู้เขียนบท ดัสติน แลนซ์ แบล็ก ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับ ฮาร์วี่ย์ มิลค์ มากมายจากเอกสารในหอจดหมายเหตุ ฮาร์วี่ย์ มิลค์ ในศูนย์เกย์และเลสเบียนประจำห้องสมุดประชาชนแห่งซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีทั้งบันทึกส่วนตัวของ สก็อตต์ สมิธ คนรักของ มิลค์ และบันทึกของสมาคมทางประวัติศาสตร์ของ เกย์ เลสเบียน ไบเซ็กชวล และทรานส์เจนเดอร์
- ดัสติน แลนซ์ แบล็ก เก็บข้อมูลก่อนเขียนบทได้มากเกินไป จึงต้องพยายามคัดเลือกข้อมูลอย่างละเอียด เขาเลือกเล่าเรื่องตั้งแต่นักการเมือง ฮาร์วี่ย์ มิลค์ ย้ายมาอยู่ที่ซานฟรานซิสโกเมื่อปี 1972 ไปจนถึงปี 1978 และเน้นนำเสนอชีวิตส่วนตัวกับความรักของ ฮาร์วี่ย์ มิลค์ กับการเคลื่อนไหวเพื่อสังคมของเขา ซึ่งบ่อยครั้งดำเนินไปด้วยกันอย่างใกล้ชิด
- ถ่ายทำตลอดทั้งเรื่อง ณ สถานที่จริงในซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยคณะผู้สร้างเปิดห้องพักที่โรงแรม เทรเชอร์ ไอส์แลนด์
- นายกเทศมนตรีของซานฟรานซิสโก เกวิน นิวซัม อนุญาตให้ผู้สร้างถ่ายทำในศาลากลางของเมือง และยังเสนอให้ใช้ห้องทำงานของท่านเป็นสถานที่ถ่ายทำ แต่ผู้สร้างปฏิเสธข้อเสนอหลังนี้ เพราะตระหนักว่าท่านควรประจำอยู่ที่นั่นเพื่อสนองความต้องการของปวงชน
- ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับผลประโยชน์เต็มที่จากโครงการ ซีน อิน ซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นโครงการรณรงค์ให้ถ่ายทำภาพยนตร์ในซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนายกเทศมนตรี เกวิน นิวซัม เซ็นลงนามไว้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2006
- ผู้สร้างถ่ายทำฉากร้านขายกล้องถ่ายรูป คาสโตร คาเมรา ที่สถานที่จริง คือที่อาคารเลขที่ 575 บนถนนคาสโตร ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นร้านขายของที่ระลึกชื่อ กิฟเวน โดยผู้สร้างขอให้คนในร้านช่วยหยุดงานเป็นเวลา 9 สัปดาห์ จากนั้นผู้ออกแบบงานสร้าง บิล กรูม ก็ตกแต่งร้านใหม่ ให้เหมือนร้าน คาสโตร คาเมรา ในอดีต รวมถึงสร้างกำแพงเสริมขึ้น 3 นิ้ว
- ร้านขายกล้องถ่ายรูป คาสโตร คาเมรา ที่ผู้สร้างจำลองขึ้นมาใหม่เหมือนกับร้านของ ฮาร์วี่ย์ มิลค์ จริงๆ ในอดีต ทำให้ ไมเคิล หว่อง เพื่อนที่สนิทสนมกับ มิลค์ ถึงกับร้องไห้ด้วยความสะเทือนใจ
- เหตุผลหนึ่งที่ผู้ออกแบบงานสร้าง บิล กรูม ต้องสร้างฉากให้ละเอียดสมจริงที่สุด เพื่อให้นักแสดงรู้สึกคล้อยตามกับบรรยากาศ เพราะวิธีการทำงานของผู้กำกับ กัส แวน แซนต์ ในบางครั้งเป็นแบบคิดสด ทำให้คาดเดาไม่ได้ว่าจะต้องแสดงโดยใช้ข้าวของในฉากมาประกอบด้วยมากแค่ไหน
- ผู้สร้างต้องสร้างฟิล์มภาพยนตร์ กระดาษอัดรูป น้ำยาล้างรูป และวัสดุต่างๆ ที่ทุกวันนี้ไม่มีแล้วขึ้นมาใหม่ โดยทำฉลากติดเอาไว้ให้เหมือนจริงที่สุดอีกด้วย
- ผู้สร้างสร้างฉากร้านขายกล้องถ่ายรูป คาสโตร คาเมรา ได้สมจริงมากจนวันหนึ่งมีนักท่องเที่ยวหญิง 3 คน เข้ามาขอซื้อถ่านใส่กล้องถ่ายรูป
- ผู้สร้างได้ตกแต่งถนนสายที่ 17 ไปจนถึงสายที่ 19 ของเมืองคาสโตร ในซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแยกความแตกต่างของแต่ละช่วงถนนอย่างชัดเจน เพราะต้องถ่ายทอดประวัติศาสตร์ของซานฟรานซิสโกซึ่งครอบคลุมเวลาทั้งสิ้น 6 ปี ฉะนั้น บางส่วนของถนนจึงเป็นแบบช่วงปี 1972-1973 และบางส่วนเป็นแบบช่วงปี 1976-1977
- ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย แดนนี กลิกเคอร์ ต้องหากางเกงยีนส์แนบเนื้อแบบยุค 70 มาให้นักแสดงทุกคน โดยเขาตระเวนหากางเกงยีนส์ตามร้านขายเสื้อผ้าใช้แล้ว และบางครั้งก็ต้องจ่ายเงินมหาศาลเพื่อแลกกับกางเกงยีนส์ ลีวายส์ ขาดๆ เก่าๆ แต่สวยงามและเป็นของแท้จากยุค 70
- ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย แดนนี กลิกเคอร์ ออกแบบให้ ฮาร์วี่ย์ มิลค์ ซึ่งรับบทโดย ฌอน เพนน์ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าซ้ำๆ เพียงไม่กี่ชุด เพื่อให้ตรงกับนิสัยจริงๆ ของ มิลค์ แม้กระทั่งตอนที่ มิคล์ เป็นนักการเมือง ก็ยังมีเพียงสูทที่ซื้อจากร้านเสื้อผ้ามือสองเพียง 2 ตัว และยังสวมรองเท้าที่ขาดเป็นรูโหว่ด้วย
- มีนักแสดงหลายคนที่ได้แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าจริงของบุคคลที่ตัวเองกำลังรับบท เช่น ฌอน เพนน์ สวมเสื้อผ้าจริงๆ ของ ฮาร์วี่ย์ มิลค์ ส่วน อลิสัน พิลล์ ได้สวมต่างหูที่ แอนน์ โครเนนเบิร์ก ใส่เป็นประจำ ลูคัส กราบีล สวมเสื้อกั๊กของ แดนนี นิโคเลตตา และ วิกเตอร์ การ์เบอร์ ผูกเทกไทของ จอร์จ มอสโคน ซึ่ง โจนาธาน ลูกชายของ จอร์จ ส่งมาให้คณะผู้สร้าง
- ร็อบ เอปสไตน์ ผู้กำกับ The Times of Harvey Milk (1984) ยอมให้ผู้สร้างนำภาพยนตร์ 35 มม. เรื่องนี้ของเขา มาจัดฉายที่โรงภาพยนตร์ คาสโตร เธียเตอร์ อันเป็นสถานที่ที่เคยฉายรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ เพื่อปลุกอารมณ์ร่วมของตัวประกอบก่อนการถ่ายทำฉากที่ ฮาร์วี่ย์ มิลค์ ซึ่งรับบทโดย ฌอน เพนน์ นำขบวนประท้วงเคลื่อนไปตามท้องถนน
- ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2008 ผู้สร้างถ่ายทำฉากที่ชาวซานฟรานซิสโกนับหมื่นคนร่วมชุมนุมใต้แสงเทียนอย่างสงบเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 1978 ฉากนี้มีตัวประกอบมาร่วมเข้าฉากมากกว่า 1,000 คน โดยมีส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่เคยร่วมชุมนุมจริงๆ มาแล้ว
- เดิมผู้สร้างตั้งใจจะให้ แมตต์ แดมอน มารับบท แดน ไวต์ แต่ต้องล้มเลิกความตั้งใจไป เพราะ แมตต์ ติดถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Green Zone (2009) สุดท้ายบทนี้จึงตกเป็นของ จอช โบรลิน
- มีนักแสดงประกอบฉากนับพันๆ คนที่ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้โดยไม่รับค่าตัว
- ผู้กำกับ กัส แวน แซนต์ เตรียมงานสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับ ฮาร์วี่ย์ มิลค์ มานานกว่า 15 ปี ในช่วงต้นยุค 90 กัส เตรียมถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Mayor of Castro Street และทาบทาม ริเวอร์ ฟีนิกซ์ ซึ่งเขาเพิ่งร่วมงานด้วยใน My Own Private Idaho (1991) ให้มารับบท คลีฟ โจนส์ นอกจากนี้ยังมีนักแสดงมากมายเกือบได้มารับบท ฮาร์วี่ย์ มิลค์ เช่น โรบิน วิลเลียมส์, ริชาร์ด เกียร์, แดเนียล เดย์-ลิวอิส และ เจมส์ วูดส์ แต่สุดท้าย กัส ก็ไม่ได้กำกับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว
- นักแสดง ไบรอัน แดนเคอร์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมานาน ได้รับบทพูดเป็นครั้งแรกในฉากฆาตกรรมของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งในชีวิตจริงระหว่างปี 1970-1971 เขาปฏิบัติงานอยู่ในประเทศเวียดนาม ในหน่วยแอร์โบร์นที่ 173 หน่วยเดียวกับ แดน ไวต์
- ในฉากที่ ชาร์ลส์ ลูกชายของ แดน ไวต์ เข้าพิธีล้างบาป ชาร์ลส์ ไวต์ ตัวจริงปรากฏตัวอยู่ในฉากด้วย
- ช่างแต่งหน้าผู้ชนะรางวัลออสการ์ สตีเวน ดูพุยส์ แปลงโฉม ฌอน เพนน์ เพื่อรับบท ฮาร์วี่ย์ มิลค์ ในเรื่องนี้ โดยตกแต่งจมูกและฟันใหม่ สวมคอนแทกต์เลนส์ และปรับลักษณะเส้นผม
- เดนิส โอฮาเร รับบทเป็น จอห์น บริกก์ส สมาชิกวุฒิสภาผู้ต่อต้านเกย์ในเรื่องนี้ แต่ในชีวิตจริง เดนิส เป็นเกย์ที่เปิดเผย
- เอมิล เฮิร์ช รับบทเป็น คลีฟ โจนส์ ส่วน คลีฟ ตัวจริงมาร่วมแสดงด้วยในบท ดอน อมาเดอร์
- ห้องพักที่ โลเวอร์ เฮต ในซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ถ่ายทำในเรื่อง เป็นห้องพักที่ ฮาร์วี่ย์ มิลค์ ตัวจริงเคยพักอาศัย
- ผู้ที่มารับบท คารอล รูธ ซิลเวอร์ คือ เวนดี เทรมอนต์ คิง ส่วน คารอล ตัวจริงแสดงรับเชิญในบท เธลมา
advertisement
วันนี้ในอดีต
- Alexanderเข้าฉายปี 2004 แสดง Colin Farrell, Jared Leto, Angelina Jolie
- Puss in Bootsเข้าฉายปี 2011 แสดง Antonio Banderas, Salma Hayek, Zach Galifianakis
- ฝนตกขึ้นฟ้าเข้าฉายปี 2011 แสดง นพชัย ชัยนาม, ศิริน หอวัง, อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต