1. สยามโซน
  2. เพลง
  3. ข่าวสารวงการเพลง

ทอดด์ อวดอัลบั้มเพลงชุดใหม่ ใส่ความเป็นไทยผสมสากล

ทอดด์ อวดอัลบั้มเพลงชุดใหม่ ใส่ความเป็นไทยผสมสากล

"ทอดด์ ทองดี" หรือ "โธมัส เจมส์ ลาเวลล์" (Thomas James Lavelle) นักร้อง นักดนตรี และพิธีกรชาวอเมริกันที่มีหัวใจรักความเป็นไทยอย่างเต็มร้อย ด้วยความที่อยู่เมืองไทยมานานกว่า 20 ปี ทำให้ ทอดด์ ได้มีโอกาสสัมผัสกับวัฒนธรรมไทยทั่วประเทศ จึงได้หยิบเอาประสบการณ์ทางด้านดนตรีพื้นบ้านของแต่ละภาคของไทยมาผสมผสานกับดนตรีนานาชาติ หรือที่เรียกว่าดนตรีแนวเวิลด์มิวสิก มาทำจนเกิดเป็นอัลบั้ม "Himmapan 2nd World" อัลบั้มที่ใช้เวลาทำนานถึง 5 ปี โดยแถลงข่าวเปิดอัลบั้มไปเมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมี "กษิต ภิรมย์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาร่วมให้เกียรติเป็นประธานในงานแถลงข่าวครั้งนี้ ซึ่ง ทอดด์ ขอเริ่มเปิดอัลบั้มแห่งสีสันดนตรีด้วยเพลง "Ivo Memory"

ทอดด์ บอกที่มาของชื่ออัลบั้มว่า "เราใช้คำว่าจากโลกที่เคยเป็นสู่โลกที่เป็นอยู่เพื่อโลกที่เป็นไปได้ เราคิดว่าเมื่อเรามีตำนานมีวัฒนธรรมภายในตัวเราก็เหมือนมีผ้าห่มที่คลุมเราอยู่ แล้วสำหรับโลกปัจจุบันที่กำลังต้องการความคิดใหม่ แนวทางใหม่ที่มาจากสีสันใหม่ของมนุษย์ซึ่งอาจจะอยู่มานานแล้ว นั่นแหละคือสัตว์หิมพานต์ของเรา เซเคินด์เวิลด์คือโลกใหม่ที่เราจะสร้างด้วยกัน โดยใช้เมตตา ความรัก ใช้การประสานหรือที่ฝรั่งเรียกว่าซินเนอร์จี หนึ่งบวกหนึ่งคือสาม เรามาร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีและโลกเราอาจไม่ใช่แค่รอด โลกเราอาจจะเลิศครับ เรามองว่าเมืองใหญ่ทั่วโลกกำลังเป็นโรคจืด แต่เรามองว่าชนบทยังมีสีสันอยู่ ภาษา ศิลปะ ก็ยังมีของอยู่ ทำยังไงจะหยิบของนั้นมาอยู่บนเวทีที่คนทั่วไปรับได้ฟังได้"

แนวเพลงในอัลบั้มชุดนี้เน้นการผสมผสานระหว่างดนตรีพื้นบ้านไทยกับดนตรีสากล ซึ่ง ทอดด์ เล่าว่ามีผู้มาร่วมทำอัลบั้มมากถึง 300 คน "คนร่วมเพิ่งนับก็ประมาณ 300 ชีวิต จากทั่วโลกทั่วแผ่นดินไทย แต่ที่สำคัญได้เพื่อน ได้คนร่วมศรัทธา จากภาคเหนือ มีเพลงที่นำวัฒนธรรมปกาเกอะญอล้านนา มาเชื่อมกับอาร์แอนด์บีจากฝรั่งเศส จากภาคใต้ มีดนตรีของอเมริกาเชื่อมกับดนตรีของชาวมุสลิมที่ใต้ ดนตรีจากแม่น้ำโขงตั้งแต่ทิเบตลงมาถึงเวียดนาม ถ้าเป็นภาคกลาง เพลงที่เราชอบ คือเพลง คู่โลก ที่เอาความเป็นสิงห์บุรีเชื่อมกับความเป็นซานอันโตนิโอของเทกซัส เพลง Sing Momma Sing ใช้แกนแอฟริกามาเชื่อมกับความเป็นไทย ไม่สำคัญว่าใครมาก่อน ใครเริ่ม ใครต่อ สำคัญว่าเราร่วม

แล้วคนที่ร่วมสร้างสรรค์ในชุดนี้ก็มี พี่แอ๊ด คาราบาว (ยืนยง โอภากุล) มาร่วมร้องกับเรา ลานนา คัมมินส์ ชิ (สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์) ปกาเกอะญอกับทีมงาน ศิลปินจากหลายประเทศ ที่เราปลื้มที่สุดก็ได้ เดบาชิช บาตธาจารยา (Debashish Bhattacharya) ศิลปินเวิล์ดมิวสิกที่ชิง แกรมมี่ อวอร์ดส์ ในสหรัฐอเมริกาปีนี้มาร่วมในเพลง Slave King ปลื้มที่สุดว่าเพื่อนมาร่วม แล้วหวังว่าชุดนี้จะเป็นเมล็ดที่เราจะนำไปที่อื่นแล้วดูว่าจะเพาะอะไรได้บ้าง"

ทอดด์ ยังมาแจ้งข่าวดีที่จะนำบทเพลงจากอัลบั้มนี้ไปอวดวัฒนธรรมทางดนตรีไทยให้ชาวโลกได้รู้จัก โดยเริ่มที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรก ซึ่งจะตระเวนไปแสดง 20 เมือง 10 รัฐ ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงการต่างประเทศ "จะไปอเมริกาก่อนแล้วค่อยไปที่อื่น เราได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนที่ร่วมทางกับเราทั้งนอกและในไทย ในการสร้างสรรค์ดนตรีแนวเวิล์ดมิวสิกได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงต่างประเทศ สมาคมไทยในอเมริกาหลายที่ เราไปด้วยความเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ควรทำกัน แล้วไม่แน่ไปที่นู่นอาจจะเจอเพื่อนต่อ เพราะฉะนั้นจะไปไหนต่อก็ไม่แน่ใจ แต่ไปอเมริกาแน่วันที่ 9 กันยา ถึง 9 ตุลา ใครว่างก็ไปเที่ยวกัน"

จากนั้นมาพบกับเพลง "Hat Yai World Junction" ที่มี 3 พี่น้อง "เปียโน - สุพัณณดา พลับทอง" "ซอ - มนต์มนัส พลับทอง" และ "เบส - ภัทรณินทร์ พลับทอง" วง "เดอะซิส" (The Sis) มาร่วมร้อง โดย เปียโน บอกความรู้สึกที่ได้ร่วมงานกับ ทอดด์ ว่า "จริงๆ แล้วเราก็เป็นแฟนของพี่ทอดด์มาตลอด ร่วมงานเทศกาลต่างๆ ที่จัดขึ้นที่เมืองไทยมาหลายๆ เทศกาล เพลงที่รับผิดชอบคือเพลงที่ชื่อว่า Hat Yai World Junction คือที่หาดใหญ่บ้านเกิดของเราจะเป็นชุมทางที่มารวมตัวกันแล้วแยกย้ายไปตามที่ต่างๆ เราก็รู้สึกว่าเราก็เป็นส่วนนึงของชุมทางนั้น ชุมทางที่ว่าก็หมายถึงประเทศไทยด้วยที่รวบรวมเอาหลายสิ่งหลายอย่างแตกแขนงออกไป ไปสู่จุดต่างๆ ไปสู่สิ่งดีๆ มากมาย เพราะฉะนั้นเราไม่ลังเลเลยที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดเพลงนี้"

ด้าน เบส บอกว่า "ตอนที่ได้ร้องได้เห็นได้ฟังเนื้อเพลงคือมันใช่เลยค่ะ เราต้องร้องเพลงนี้ให้ได้ ต้องขอบคุณพี่ทอดด์และทีมงานด้วยที่แต่งเพลงนี้ขึ้นมา รู้สึกดีใจมากที่ได้ร้องเพลงนี้ค่ะ" และ ซอ พูดความรู้สึกว่า "ซอก็ได้เป็นตัวแทนไปถ่ายทอดเพลงนี้กับพี่ทอดด์ที่อเมริกา ภูมิใจค่ะ ในเนื้อหาเพลงก็จะทำให้คนอเมริการู้ว่าหาดใหญ่คือจังหวัดนึงที่มีวัฒนธรรมหลากหลายเช่นเดียวกับอเมริกา เหมือนความชัดเจนในเรื่องแนวเพลงของพี่ทอดด์มันซึมเข้า ทำให้ซอรู้สึกอยากจะโชว์ความเป็นไทยให้ยิ่งใหญ่ขึ้นค่ะ"

แล้วมาต่อด้วยเพลง "Mekong Madness" ที่มีนักดนตรีพื้นบ้านทางภาคอีสาน ฝีมือเยี่ยมอย่าง "ยอด - ชนะชัย ขจรเดช" และ "ป้อ - ปรัชญา เมืองโคตร" ผู้ชนะจากรายการ คุณพระช่วย 9 สมัย มาร่วมเล่นดนตรีให้ ตามมาด้วยเพลง "Thibi Gawbi" ที่ร่วมร้องกับ "ลานนา คัมมินส์" และมีศิลปินพื้นบ้านชาวปกาเกอะญอ "ชิ - สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์" มาเป็นตัวแทนแสดงวัฒนธรรมของภาคเหนือ และมาปิดท้ายที่เพลง "Sing Monma Sing" ที่ทั้ง ซอ ลานนา มาร่วมร้องกับ ทอดด์ ด้วย

สำหรับอัลบั้ม Himmapan 2nd World ภายใต้การสร้างสรรค์ผลงานของ ทอดด์ พร้อมให้ทุกคนสัมผัสวัฒนธรรมไทยที่ผสมกลมกลืนกับหลากวัฒนธรรมจากนานาชาติผ่านเสียงดนตรีในเดือนตุลาคมนี้

สงวนลิขสิทธิ์ © ห้ามคัดลอก ตัดต่อ
ดัดแปลงหรือเผยแพร่ในสื่อใดๆ ก่อนได้รับอนุญาต
กดเพื่อดูรูปใหญ่ ปัดซ้าย-ขวาเพื่อดูรูปถัดไป
  • รูปภาพ 1
  • รูปภาพ 2
  • รูปภาพ 3
  • รูปภาพ 4
  • รูปภาพ 5
  • รูปภาพ 6
  • รูปภาพ 7
  • รูปภาพ 8
  • รูปภาพ 9
  • รูปภาพ 10
  • รูปภาพ 11
  • รูปภาพ 12
  • รูปภาพ 13
  • รูปภาพ 14
  • รูปภาพ 15
  • รูปภาพ 16
  • รูปภาพ 17
  • รูปภาพ 18
  • รูปภาพ 19
  • รูปภาพ 20
  • รูปภาพ 21
  • รูปภาพ 22
  • รูปภาพ 23
  • รูปภาพ 24
  • รูปภาพ 25
  • รูปภาพ 26
  • รูปภาพ 27
  • รูปภาพ 28
  • รูปภาพ 29
  • รูปภาพ 30
  • รูปภาพ 31
  • รูปภาพ 32
  • รูปภาพ 33
  • รูปภาพ 34
  • รูปภาพ 35
  • รูปภาพ 36
  • รูปภาพ 37
  • รูปภาพ 38

ความคิดเห็น