รวมขุนพลเปิดตำนานเล่าขานเพลงอมตะใน สยาม ซองบุ๊ก
สยาม ซองบุ๊ก (Siam Songbook) หรือ หนังสือเพลงสยาม อัลบั้มเพลงจากแนวคิดที่ต้องการส่งต่อคุณค่าของบทเพลงให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสถึงความไพเราะ โดยได้ 12 ศิลปินรุ่นใหม่ มาถ่ายทอด 12 บทเพลงอมตะ ซึ่งได้เปิดอัลบั้มย้อนตำนานเพลงเพราะกันไป เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
แกนนำหลักของอัลบั้มนี้ ได้แก่ "นัดดา บุรณศิริ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอร์นเนอร์ มิวสิค (ประเทศไทย) "ทิวา สาระจูฑะ" บรรณาธิการนิตยสาร สีสัน รวมถึงกลุ่ม "สหายดนตรี" หรือ "เดอะ มิวสิก คอมราดส์" (The Music Comrades) ที่ประกอบด้วย "บี๋ - คณาคำ อภิรดี" "พยัต ภูวิชัย" "หรั่ง - อิสระ สุวรรณณัฐวิภา" "อ๋อ - นล สิงหลกะ" "สมบัติ พรหมมา" "อี๊อ - สุวรรณ มโนษร" "ป๊อป - จักรรินทร์ ดวงมณีรัตนชัย" "เอ็ดดี้ - สุเทพ ปานอำพัน" และ "ซ้ง - ธิติ พฤกษ์ชะอุ่ม"
ทั้งหมดยกเว้น เอ็ดดี้ และ ซ้ง ที่ติดภารกิจไม่สามารถมาร่วมงาน ได้มาพูดคุยถึงที่มาที่ไป และการทำงานเบื้องหลัง โดยเริ่มจาก นัดดา ที่เล่าความเป็นมาของอัลบั้มนี้ว่า "อัลบั้มนี้เกิดจากวันหนึ่งเราก็นั่งคุยกันว่าการที่เราจะส่งต่อวัฒนธรรมดนตรีไทยจากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่ง โดยที่เจนเนอเรชั่นนี้ก็รับได้ แต่ในขณะเดียวกันก็หวังว่ารุ่นปัจจุบันก็ให้ความชื่นชม แล้วก็ไม่ได้รู้สึกประหลาดมากเกินไปนัก ก็เลยมาปรึกษากับน้าทิวา หลังจากนั้นคอนเซปต์ของ สยาม ซองบุ๊ก เริ่มพัฒนาจากน้าทิวาและทีม มิวสิค คอมราดส์"
ส่วน ทิวา บอกว่า "ความรู้สึกแรกที่ต้องทำ ต้องถูกด่าแน่ๆ เพราะว่าคนฟังเพลงไทยสากล โอกาสที่เขาจะเปิดรับการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างยาก แต่เรามองเป้าหมายคนรุ่นใหม่เป็นหลักก็เลยกล้าตัดสินใจที่จะทำ"
พยัต เล่าว่า "การที่จะเลือกมาให้เหลือ 12 เพลงในอัลบั้ม น้าทิวาต้องผ่านการฟังเพื่อคัดกรองห้องสมุดในความทรงจำ เพื่อให้ได้ 12 เพลงที่ลงตัว รวมทั้งศิลปินที่ตั้งไว้ในใจแล้วว่าเพลงไหนเหมาะกับใคร ขั้นตอนนี้ก็ใช้เวลานานพอสมควร เมื่อเลือกตรงนี้ได้แล้วก็ต้องมากระจายคิดเรื่องของดนตรีว่าศิลปินท่านไหนที่มีลายเซ็น บุคลิกทางดนตรีของแต่ละท่าน เพื่อจะมาประยุกต์ให้เข้ากันกับเพลงเก่าที่เราจะเอามาผสมผสานกัน"
หรั่ง กล่าวเสริมว่า "การอะเรนจ์เมนต์ส่วนใหญ่แล้วมาจากน้าทิวา เป็นคนวางโครงว่าศิลปินคนนี้ต้องเป็นแบบนี้ แล้วพวกผมก็ยึดเหนี่ยวจากจุดๆ นี้ แล้วก็เอาทีม มิวสิค คอมราดส์ ทั้งหมดมาเรียบเรียงอีกที"
ด้าน อ๋อ บอกความยากของการทำดนตรีว่า "ของผมคงเป็นเรื่องกลอง ได้ฟังออริจินอลแล้วก็ให้ตีแบบนั้นคงทำไม่ได้ น้าทิวาก็เลยให้คิดเอาเอง ดีไซน์เอาเอง ตอนอัดก็ใช้เวลานานเหมือนกันในการเลือกอุปกรณ์ให้เข้ากับเพลง เรื่องซาวน์จะค่อนข้างพิถีพิถันหน่อย เปลี่ยนไม้กลอง เปลี่ยนกลองอยู่เรื่อยๆ เลย อยากให้ซาวน์ออกมาดีให้ใกล้เคียงกับศิลปินแต่ละท่าน"
ทิวา กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า "อยากจะขอบคุณนักร้อง 12 คนที่มาช่วยถ่ายทอด ถือว่าเป็นนักร้องรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ ทีมงานที่ร่วมหัวจมท้ายมา พอเห็นผลงานแล้วก็รู้สึกดีใจ คิดว่าถ้าชุดหน้ามีโอกาสอยู่ร่วมกันอีกก็จะดีกว่านี้"
ส่วน นัดดา บอกว่า "ขอขอบคุณ มิวสิค คอมราดส์ ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเขาเป็นเอกในแต่ละแขนงดนตรี เขายอมเสียสละเวลาทำงานประจำของเขามานั่งถกเถียงเรื่องเพลง การทำงานผ่านการกลั่นกรองทางความคิดเยอะมากๆ กว่าจะมาถึงจุดๆ นี้ งานนี้เป็นงานคุณภาพจริงๆ ขอบคุณนักร้องทุกๆ ท่านที่มาร้องให้โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสังกัด ทุกคนใส่กำลังและฝีมือให้อย่างเต็มที่ ต้องขอขอบคุณมากๆ
เราเองก็หวังว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี จุดประสงค์ก็คือการนำเพลงเก่าที่เป็นเพลงอมตะไปสานต่อให้กับรุ่นใหม่ๆ จะได้รับการตอบรับที่ดี หวังว่าจะโอกาสทำชุดต่อๆ ไป ยังไงก็ขอฝากทุกคนท่านไว้ด้วยแล้วกัน อัลบั้มนี้อยากจะบอกว่าเป็นงานศิลป์ แล้วก็พาณิชย์ตามมาเป็นเรื่องที่สอง"
เมื่อฟังรายละเอียดที่มาที่ไปของ สยามซองบุ๊ก หนังสือเพลงสยาม กันแล้ว ก็ถึงเวลาที่คนเบื้องหน้ามาถ่ายทอดบางส่วนของบทเพลงไพเราะให้ฟังกัน เริ่มจาก "ปาน - ธนพร แวกประยูร" กับเพลง "ลมหวน" ตามด้วยเพลง "เรือนแพ" จาก "เบน - ชลาทิศ ตันติวุฒิ" "ฟ้าแดง" โดย "แอนดี้ เขมพิมุข" ทางด้าน "เปียโน - สุพัณณดา พลับทอง" มาพร้อมบทเพลง "ฆ่าฉันให้ตายดีกว่า" "บี - พีระพัฒน์ เถรว่อง" ในเพลง "รอ"
จากนั้นมาต่อที่เพลง "ดวงใจ" จากเสียงร้องของ "อิน - อินทิรา ยืนยง" "กุหลาบในมือเธอ" โดย "เฟิร์ส - ศริส หอมหวล" ต่อกับ "ฟอร์ด - สบชัย ไกรยูรเสน" ในเพลง "คอย" "วิน ศิริวงศ์" มาขับร้องในเพลง "หยาดน้ำฝน หยดน้ำตา" ปิดท้ายที่ "ดัง - พันกร บุณยะจินดา" ในเพลง "เย้ยฟ้าท้าดิน" ขาด "จิดา - จิดาภา นิยมศรีสกุล" และ "แก๊ป - เจษฎา ธีระภินันท์" หรือ "แก๊ป ทีโบน" ที่ไม่สามารถมาร่วมงานได้
ฟอร์ด เริ่มต้นเล่าถึงเพลงในอัลบั้มชุดนี้ว่า "เพลงในอัลบั้มนี้มีอายุตั้งแต่ 30-40 ปี ด้วยภาษาที่สละสลวย บรรยากาศของเพลงบ่งบอกว่าคนในสมัยนั้นใจเย็น และมีศิลปะแค่ไหน คำแต่ละคำของเขา ผมต้องยอมรับเลยว่าต้องไปเปิดพจนานุกรมดูว่าแปลว่าอะไร เพื่อที่จะให้เข้าใจสิ่งที่ครูเพลงคิดกันจริงๆ เลยกลายเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ สำหรับเด็กอย่างพวกเรา ด้วยองค์ประกอบที่ยาก ในที่นี้คือภาษาที่สละสลวย เพลงเหล่านี้เมื่อถูกส่งต่อโดยที่พวกเราเป็นผู้ถ่ายทอดก็รู้สึกดีใจมากๆ ต้องขอบคุณทีมงานทุกคนที่ให้โอกาส"
ส่วน แอนดี้ พูดว่า "เป็นเพลงที่คลาสสิกมาก ตัวผมเองได้ร้องเพลงฟ้าแดง ตอนได้ฟังเวอร์ชั่นออริจินอลก็รู้สึกเป็นฉันต้องร้องจริงๆ เหรอ พอได้ร้องแล้วก็รู้ว่าควรค่าแก่การอนุรักษ์มาก ยิ่งนับวันแฟชั่นใหม่เข้ามาภาษาไทยที่สละสลวยเริ่มหายไปแล้ว เลยขอเป็นตัวแทนที่ดึงภาษาไทยที่ผมคิดว่าสวยที่สุดในโลกแล้ว ดึงกลับมาให้น้องๆ ได้ฟัง ลองหยิบกลับมาแล้วร้องกันดู"
วิน บอกความแตกต่างที่ต้องมาร้องเพลงในอัลบั้มชุดนี้ว่า "ในเรื่องการร้องเพลงสมัยนี้กับสมัยก่อนค่อนข้างต่างกันที่ชัดๆ มากก็เป็นในเรื่องของการเอื้อนเสียง ผมได้ฟังออริจินอลแล้วรู้สึกว่าถ้าจะต้องชัดมากขนาดนี้จะแปลกมากสำหรับผม จะเขินๆ มากตัวเอง ก็ทำออกมาได้เท่าที่เป็น ก็หวังว่าจะพอฟังกันได้"
ด้าน ปาน เล่าว่า "ถึงแม้ว่าเรามีเพลงของเราเองเป็นภาษาไทย แต่ก็จะไม่คลาสสิกเท่ากับยุคนั้น เพลงไทยเป็นอะไรที่ละเอียดและต้องใจเย็น ในหนึ่งประโยคต้องค่อยๆ เรียบเรียง ถึงแม้ว่าดนตรีอาจจะเอามาทำใหม่แล้ว แต่ด้วยโครงสร้างเพลงไทยในยุคนั้น เป็นเพลงไทยของคนรุ่นนั้นที่ตกผลึกและซาบซึ้ง เป็นภาษากวีซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าได้ฟังจะเห็นการเปรียบเปรยที่ล้ำลึกกว่าสมัยนี้มาก คนในยุคก่อนจะร้องเสียงสูงมากๆ เราไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เราก็แค่ทำได้ให้มีกลิ่นของความเป็นไทย"
เฟิร์ส เผยถึงความรู้สึกว่า "ตื่นเต้นและภูมิใจนิดๆ ที่ได้เป็นตัวแทนส่งทอดเพลงของคนรุ่นก่อนมาถ่ายทอดให้วัยรุ่นยุคนี้ เพลงสมัยก่อนจะร้องเนิบๆ เย็นๆ แต่เพลงเราเป็นเพลงร็อกก็ต้องลดตัวเองลดนิดนึง พยายามเต็มที่ อัลบั้มนี้ถือว่าเป็นคุณค่าทางวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่น่าจะเก็บเอาไว้ เป็นมากกว่าซีดีเพลง เป็นเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์ที่เรามาทำใหม่ในเวอร์ชั่นที่ร่วมสมัยมากขึ้น นอกจากจะได้ฟังภาษาสวยๆ แล้ว จะสัมผัสได้ถึงสภาพแวดล้อมหรือว่าการใช้ชีวิตของคนสมัยก่อน ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความใจเย็น ใจดี เมืองไทยเมืองยิ้ม บ้านเมืองสงบสุขรื่นรมย์"
ฟากหนุ่ม ดัง กล่าวว่า "ต้องขอบคุณทุกท่านที่ให้โอกาสดังมาเป็นส่วนร่วมของอัลบั้มนี้ รู้สึกภูมิใจมาก ขอฝากถึงคุณผู้ฟังทุกท่านต้องไปฟัง เพราะทั้ง 10 เพลงเลย" สุดท้ายกับ ฟอร์ด ที่ฝากเอาไว้ว่า "ชื่ออัลบั้ม สยาม ซองบุ๊ก นะครับจำไว้เลย เพราะว่าเกือบจะเป็นซองบุ๊กที่หายไปแล้วตามกาลเวลา พวกเรารู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสนำซองบุ๊กเล่มเล็กๆ นี้ให้กลับมา เพื่อให้เพลงเหล่านี้ส่งต่อออกไปให้ได้เยอะที่สุด"
สัมผัสความไพเราะของ 12 เพลงอมตะจาก 12 ศิลปินคุณภาพ กับอัลบั้ม สยาม ซองบุ๊ก ได้แล้วตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป