โซนี่ รวมตัวกับ บีอีซี เพิ่มโอกาสหรือดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด
จับตามองการลงทุนระหว่างโซนี่ฯ และเทโรฯ ในนามของบริษัท โซนี่ บีอีซี เทโร มิวสิค เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด เพื่อเพิ่มการลงทุน หรือการดิ้นรนเอาตัวรอด หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการนำข้อด้อยของแต่ละฝ่ายมารวมกันมากกว่า ทางด้านไบรอัน มาร์การ์ นั่งแท่นประธานบริษัทใหม่ ส่วน ปีเตอร์ กัน ที่รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเผย ด้านการตลาดจะเน้นเรื่องของการดูแลศิลปินเป็นหลัก
สำหรับเหตุผลของการร่วมลงทุนด้วยกันของทั้งคู่นี้ หลายฝ่ายอาจจะมองว่าเป็นการร่วมมือกันทำธุรกิจธรรมดาเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดทางด้านเสียงเพลงของทั้งคู่ให้มากยิ่งขึ้น แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้วเบื้องหลังของการลงทุนร่วมกันนั้นหลายๆ ฝ่ายต่างก็มองกันว่าน่าจะเกิดจากการดิ้นรนหาทางรอดของบริษัทโซนี่ ที่เกิดการขาดทุนมาโดยตลอดมากกว่า
เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ว่าบรรดาศิลปินเพลงไทยของบริษัทโซนี่ฯ ไม่ว่าจะเป็น โน้ต ตูน รวมทั้งซาร่านั้น งานเพลงของพวกเธอล้วนแล้วแต่ขายได้น้อยจนถึงน้อยมาก รวมทั้งศิลปินเพลงที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นตัวทำเงินอย่าง อัยย์ ทีโบน ก็ล้วนแล้วแต่ไม่ได้สังกัดอยู่ที่โซนี่อีกแล้ว แต่ทั้งนี้สาเหตุที่ทางโซนี่พอที่จะอยู่ได้จนถึงตอนนี้นั้น เพราะการได้ร่วมการลงทุนกับบริษัทอื่นๆ นั่นเอง เช่นในรายของโน้ต ตูน นั้นก็ได้ AIS ผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบจีเอสเอ็ม 2 วัตต์ที่ได้ขนเงินจำนวนมากมาร่วมลงทุนในการโปรโมทด้วย เป็นต้น
นอกจากในส่วนของศิลปินเพลงไทยจะไม่สามารถทำเงินให้กับทางโซนี่ได้เป็นกอบเป็นกำแล้ว ในส่วนของการจัดจำหน่ายศิลปินเพลงจากต่างประเทศ ซึ่งว่ากันว่าเป็นจุดแข็งของโซนี่ฯ เองก็ไม่สามารถสร้างผลกำไรให้เห็นได้เด่นชัดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ไมเคิล แจ็คสัน, ซีลิน ดิออน, ริคกี้ มาร์ติน หรือแม้กระทั่ง ทอมโจนส์ ซึ่งโด่งดังในต่างประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบกับค่ายเพลงอย่างวอร์นเนอร์ฯ ที่มีศิลปินอย่าง สกอร์เปี้ยนส์ เดอะ คอร์ส แล้ว ทางวอร์เนอร์นยังขายได้มากกว่าเสียอีก
เพราะฉะนั้นงานนี้จึงน่าจะเป็นเรียกว่าเป็นอาการของการยุบแล้วรวม เพื่อความอยู่รอดของทางโซนี่ฯ ในภาวะเศรษฐกิจที่ตกสะเก็ดเช่นนี้ ซึ่งก็คงจะคล้ายๆ กับการร่วมกันระหว่างบริษัทบีเอ็มจี และทางค่ายเพลงอย่างเบเกอรี่ นั่นเอง
ทั้งนี้ในการร่วมทุนของทั้งสองนั้น บริษัทโซนี่ฯ โดยนาย ริชาร์ด เดนาแคมป์ ประธานของบริษัท โซนี่ มิวสิค เอเชีย ได้เป็นฝ่ายเข้าไปเจรจากับทางบีอีซีฯ ก่อน ซึ่งนายไบรอันได้เปิดเผยว่าการเจรจากันก่อนที่จะมีการรวมกันนั้นมีมานานกว่า 1 ปีแล้ว ส่วนนายริชาร์ดเองก็ได้ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ทางโซนี่เองฯ ก็ได้เจรจากับบริษัทอื่นๆ มาก่อน
สำหรับบริษัท โซนี่ บีอีซี เทโร มิวสิค เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด นั้นจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 มกราคมนี้ โดยที่คนที่จะมานั่งแท่นเป็นประธานบริษัทนั้นก็คือนายไบรอัน มาร์การ์ ส่วนตำแหน่งกรรมการผู้จัดการนั้นตกเป็นของนายปีเตอร์ กัน ประธานบริษัท โซนี่ ประเทศไทย โดยสัดส่วนของการถือหุ้นนั้นจะเป็นของโซนี่ฯ 60% และบีอีซีเทโรฯ 40%
"เพราะเราอยากให้โซนี่ดูแลเรื่องงานเพลงทั้งหมด ศิลปินเรา เรายกให้โซนี่หมดเลย ส่วนของเราที่ทำเพลงอยู่ที่เทโรกี่คนเราก็ย้ายไปที่โซนี่หมด แต่เรื่องสื่อหรือว่าการโปรโมทเราทำงานเก่งกว่า ที่ผ่านมาเรามีอุปสรรคเยอะมาก เพราะเราไม่มีศิลปินวัยรุ่น ทั้งๆ ที่วัยรุ่นเป็นตลาดใหญ่มาก เรื่องที่ 2 ก็คือเรื่องของของเถื่อนมันมาก เราต้องการที่จะกำจัดในจุดนี้ด้วย"
ต่อคำถามที่ว่าการรวมตัวกันครั้งนี้จะว่าไปแล้วน่าจะเป็นการนำข้อด้อยของแต่ละคนมารวมกันหรือเปล่า เพราะศิลปินเพลงไทยของทั้งสองค่ายนั้น ว่าไปแล้วแทบจะไม่มีใครที่จะเป็นศิลปินทำเงินเลย
"ไม่หรอกครับ ตอนนี้ทาทา ยัง ขายดีมากเลย เป็นการนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมารวมกันมากกว่า ด้านการจำหน่ายเขาจะชำนาญกว่า แต่ในเมืองไทยเราน่าจะดูแลได้ดีกว่า มันจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เรานำจุดแข็งมารวมกัน เราได้ศิลปินที่เพิ่มขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น โน้ต ตูน ออดี้ ซาร่า พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ทาทา ยัง ฯ ซึ่งเราก็ยังคงเน้นที่ตลาดในประเทศไทยอยู่ และอาจจะมีการส่งไปนอกด้วย แต่คงจะไม่ใช่การทำเพลงไทยส่งออกนอก อาจจะเป็นศิลปินไทยร้องเพลงสากลแทน" นายไบรอันกล่าว
ส่วนทางด้านนายปีเตอร์ กัน ซึ่งในอีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะได้ไปนั่งเก้าอี้ตัวใหม่แล้ว ได้กล่าวว่าในตอนนี้เขายังไม่มีแผนการอะไรเป็นที่ชัดเจนมากนัก เพราะต้องดูรายละเอียดทั้งหมดก่อน
"ยังไม่มีแผนเลย ตอนนี้เรามีแผนยาว 5 ปี แต่ว่าจาก 5 ปีนี้เราก็ต้องดูรายละเอียดแผนต่างๆ แล้วรวบรวมสรุปให้ได้ ในสิ้นเดือนนี้ ส่วนหนึ่งที่เราไม่สามารถประมาณการได้ในตอนนี้ เพราะว่าเรื่องของเถื่อนมันเยอะมาก ซึ่งจะมีผลกระทบจากการลงทุน"
ในส่วนของเรื่องปัญหาเรื่องของลิขสิทธิ์รวมทั้งการจัดเก็บค่าเผยแพร่ ที่แน่นอนว่าทางบริษัทจะต้องเจออย่าแน่นอนนั้น เรื่องนี้นายปีเตอร์กล่าวว่าทางบริษัทโซนี่ บีอีซีฯ จะอิงกับทางราชการเป็นหลัก
"การจัดเก็บ อันนี้เป็นอีกแผนกหนึ่งเรากำลังเตรียมการณ์กันอยู่หลายๆ อย่าง ซึ่งเราก็จะรอดูการตกลงของทางราชการว่าเอายังไงแน่ จะแยกจะเก็บหรือว่าจะเป็นองค์การเดียว ขณะนี้ในฐานะที่ผมเป็นกรรมการของสมาคมเทปและแผ่นเสียง เราประกาศอยู่แล้วว่าเราอยู่ทางด้าน เอ่อ รูปแบบของสมาคม ความคิดของสมาคมรวมทั้งรายละเอียดต่างๆ เสร็จครบสมบูรณ์เมื่อไหร่ เราก็จะนำเอาเรื่องนี้เสนอกับทางราชการต่อไป" นายปีเตอร์กล่าว