สถานี 4 ภาค สะท้อนปัญหาและวัฒนธรรมของคนไทยตัวเล็ก
"สถานี 4 ภาค" ภาพยนตร์อิสระแนวสะท้อนชีวิตของมนุษย์ 4 ปัญหา 4 วัฒนธรรม ผลงานการกำกับของ "สืบ - บุญส่ง นาคภู่" ที่เคยฝากฝีมือการกำกับไว้ในภาพยนตร์ "คนจนผู้ยิ่งใหญ่" "191 1/2 มือปราบทราบแล้วป่วน" และเรื่อง "หลอน" ในตอน ปอบ ซึ่ง สืบ นำเรื่องสั้น 4 เรื่องอย่าง "ตุ๊ปู่" ผลงานการเขียนของ "มาลา คำจันทร์" เรื่อง "สงครามชีวิตส่วนตัวของทู-ทา" ที่เขียนโดย "วัฒน์ วรรลยางกูร" เรื่อง "ลมแล้ง" งานเขียนของ "ลาว คำหอม" และ "บ้านใกล้เรือนเคียง" เขียนโดย "ไพฑูรย์ ธัญญา" นำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียว โดยใช้รถไฟเป็นจุดเชื่อมโยงในแต่ละเรื่อง
สถานี 4 ภาค เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับงบสนับสนุนจากสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง ปี 2554 ซึ่งได้มีการจัดงานเปิดตัวรอบสื่อมวลชนไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ โรงภาพยนตร์ลิโด้ โดยมี "กนกวรรณ คุ้มวงศ์" ตัวแทนจากสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และหนึ่งในนักเขียน "ธัญญา สังขพันธานนท์" เจ้าของนามปากกา ไพฑูรย์ ธัญญา มาร่วมงานเปิดตัว
ผู้กำกับได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการหยิบ 4 เรื่องสั้นมาสร้างเป็นภาพยนตร์ว่า "ก่อนทำหนังผมก็อ่านหนังสือ ทุกครั้งที่อ่านหนังสือก็รู้สึกว่ามองเห็นชีวิต มองเห็นโลก มองเห็นประเทศ มองเห็นสังคมมากขึ้น แล้วก็อยากจะหยิบเอามาทำหนังสักวันนึง 4 เรื่องสั้นก็คือ 4 ภาค 4 วัฒนธรรม 4 ภาษา 4 ปัญหา 4 ชีวิตผู้คนซึ่งทุกคนเป็นคนไทยแล้วเป็นคนตัวเล็กๆ ผมอยากจะพูดถึงประเทศไทยแต่ว่าไม่ใช่พูดในรูปแบบที่ดาษดื่น อยากจะพูดอีกรูปแบบนึง ซึ่งสะท้อนผ่านคนตัวเล็กๆ ที่ไม่สำคัญได้ไหม แล้วเขามีแง่มุมชีวิตอย่างไร ผมมีอะไรซ่อนไว้เยอะ อยากให้คนดูไปสัมผัสเอง"
ในส่วนเนื้อหา สืบ ได้มีการเชื่อมให้เป็นเรื่องเดียวกัน "เป็นหนังยาว เป็นหนัง 4 เรื่องที่เชื่อมด้วยรถไฟ รถไฟในเรื่องสั้นไม่มี คิดเข้ามาเพิ่ม เป็นหนังยาวเต็มรูปแบบ เรื่องสั้นแต่ละเรื่องก็งดงาม ทำเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้ เราต้องคิดรูปแบบอะไรบางอย่างที่สามารถสื่อสารอะไรบางอย่างได้ครับ ผมว่ารถไฟมันเป็นเส้นเรื่องของประเทศไทย เชื่อมโยงทุกสิ่งเข้าด้วยกัน สมัยก่อนคนเราเดินทางด้วยรถไฟ ความเจริญในเมืองเข้ามาจากรถไฟ ความดีความชั่วอยู่ในรถไฟหมด เป็นสะพานไปสู่ความเจริญ สมัยนี้ไม่ใช่แล้วล่ะ มันอาจจะเป็นซิมโบลิกที่โบราณ แต่รถไฟก็ยังมีอยู่ รถไฟไม่ได้หายไปไหนตอนนี้ยังมีอยู่"
สำหรับวิธีการเลือกนักแสดงก็หาจากคนในพื้นที่ที่เดินทางไปถ่ายทำ "วิธีการง่ายๆ เลยผมไปปักโลเกชันที่ไหนหานักแสดงที่นั่น สมมติผมไปหาวัดที่ตุ๊ปู่อยู่ วัดสวยมาก ได้ตามที่คิดไว้เลย ปั๊บตุ๊ปู่เดินมา มาทำอะไรกันเหรอ ผมก็มองนี่ตัวละครตัวนี้เลย ติดต่อเล่นเลย ท่านกว่าจะยอมก็นานเหมือนกัน พอถ่ายทำก็เกิดความอยากลองดู ทุกคนมีความสุขอยากเล่นเต็มที่ ผมขอแค่ว่าคนเล่นอยากเล่นเท่านั้น ผมกำกับได้"
สืบ เล่าถึงเสน่ห์ในภาพยนตร์ว่า "เสน่ห์ของเรื่องนี้คือเป็นหนังที่หาดูได้ยาก ผมจะเอาชาวบ้านเล่นหมดเลย ชาวบ้านเล่นดีมากเลย ไม่ต้องฝึกเลย ผมกำกับแบบง่ายๆ เล่นได้ดีมาก เสน่ห์คือหาดูแบบนี้ไม่ได้แล้ว หาดูในหนังไทยไม่ได้ รสชาติแบบนี้ไม่มีในหนังไทยทั่วๆ ไป เป็นรสชาติพิเศษ เป็นรสชาติที่ให้เกียรติคนดู ดูง่ายสบายหูสบายตา มีอะไรให้คิด เป็นรสชาติที่ไม่บังคับให้คนดูรู้สึก แต่คนดูจะรู้สึกเอง เป็นรสชาติแปลก ไม่ใช่หนังตลกดาษดื่น ไม่ใช่หนังดราม่าตื้นๆ ไม่ใช่หนังแอ็กชัน ไม่ใช่หนังผี ไม่ใช่หนังรัก หนังชีวิตที่พูดถึงชีวิตบนโลกมนุษย์ใบนี้ ผมว่าถ้าเราเกิดมาชาตินึงเราต้องรู้จักชีวิตมาก ผมว่าเป็นทางเลือกที่ดีท่ามกลางกระแสแบบนี้ น่าจะมาสัมผัส ดูแล้วดีไม่ดีก็ไม่เป็นไร"
ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีจุดเด่นอยู่ที่ฉากซึ่งหลากหลาย "การถ่ายทำก็ยากลำบากอยู่เพราะว่าทุนไม่เยอะ แต่ผมถ่ายทำสุดกำลังนะครับ ทำดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ก็เดินทางไปทั่ว 4 ภาคเลย เหนือ กลาง อีสาน ใต้ เต็มที่เลย พาคนดูไปทุกที่ เปลี่ยนฉากเปลี่ยนโลเกชัน คงไม่มีหนังแบบไหนที่ทำ หนังทุนน้อย เปลี่ยนฉากเปลี่ยนโลเกชัน 100 ฉาก 100 ที่ หนังเคลื่อนที่ตลอดเวลา ไม่อยู่กับที่เลย จะเร้าไปเรื่อยๆ จะเร้าคนดูแบบพิเศษอีกอย่างนึง ไม่ใช่แบบทั่วๆ ไปนะครับ"
ส่วนสิ่งที่ต้องการจะสื่อผ่านภาพยนตร์ สืบ กล่าวว่า "สิ่งที่ผมอยากจะสื่อผมอยากให้คนดูพิจารณาเอาเอง ผมไม่อยากจะบอกอะไรมาก บอกเพียงแค่ว่าผมมีอะไรบางอย่างที่พูดเกี่ยวกับประเทศ สังคมนี้ เกี่ยวกับมนุษยชาติ เรื่อง คนจนผู้ยิ่งใหญ่ เรื่องแรก ผมพูดถึงคนในชนบทหมู่บ้านเดียว เรื่องนี้ผมขยับออกไปจากตัวผมมากขึ้นเป็นคน 4 ภาคเลย เป็นคนที่ผมไม่คุ้นเคย เล่าเรื่องมนุษย์มากขึ้น แต่ว่าเป็นมนุษย์แบบไหนพิจารณาเอาเอง เป็นมนุษย์ตัวเล็กๆ หนังของผมจะพูดถึงพุทธศาสนา จะพูดถึงหลักธรรมะ ผมไม่บอกตรงๆ นะครับ ต้องพิจารณาเอาเอง มีนัยหลายๆ อย่างด้วยกัน ก็อยากให้คนดูไปท้าทายตัวเองว่าจะเข้าใจถึงไหม ไม่ถึงก็พิจารณาต่อไป ถ้าชอบก็ชมแล้วบอกต่อ ตัวผมจะได้มีกำลังใจทำงานต่อไปนะครับ"
สืบ ฝากถึงภาพยนตร์ว่า "อยากให้คนดูมาลองเสพสิ่งใหม่ๆ ดูนะ ก็ดีกว่าปล่อยให้ตัวเองซ้ำซากจำเจกับรสนิยมเดิมๆ หนังเดิมๆ เราไม่เคยฟังหัวใจตัวเองเลย เพราะฉะนั้นดูหนังผมจะได้นั่งฟังเสียงหัวใจตัวเอง กลับเข้าสู่โลกของตัวเองแล้วค่อยๆ ทวนรายละเอียดของชีวิต หนังผมทำให้คนเราละเอียดมากขึ้น จิตใจต้องดีขึ้นแน่ๆ ความคิดก็มีรอยหยักมากขึ้น หนังดูง่ายๆ แต่มีอะไรให้คิดนะครับ หนังจะฉายวันที่ 14-20 มิถุนายน รอบ 18.30 น. เท่านั้นวันละรอบ 7 วัน ที่โรงหนังลิโด้ที่เดียว เฉพาะฉะนั้นมาให้ทัน มีรอบเดียวนะครับ"
ติดตามภาพยนตร์สะท้อนชีวิตของคนต่างภาษาต่างถิ่นต่างเรื่องราวได้ใน สถานี 4 ภาค ฉายวันละ 1 รอบ เวลา 18.30 น. เป็นเวลา 1 สัปดาห์ วันที่ 14-20 มิถุนายน นี้ เฉพาะโรงภาพยนตร์ลิโด้เท่านั้น