อสรพิษ อุปสรรคความฝันที่ตัดตอนด้วยความเชื่อของสังคม
"อสรพิษ" ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมไทยชื่อดัง "อสรพิษ" ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศถึง 8 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี สเปน โปรตุเกส คาตาลัน และกรีก ผลงานการประพันธ์ของ "เฟิ้ม - เสน่ห์ สังข์สุข" เจ้าของนามปากกา แดนอรัญ แสงทอง รางวัลศิลปินดีเด่นศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2553 นักเขียนชาวไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้รับอิสริยาภรณ์ในลำดับชั้นอัศวิน ด้านศิลปะและอักษร จากกระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสารของประเทศฝรั่งเศส โดย "โป๊ะ - จารุณี ธรรมยู" ผู้กำกับของเรื่องได้หยิบเรื่องราวมาดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ และได้นักแสดงเด็ก "เวฟ - นนท์พิเชฐ วงศ์ชนกศิริกุล" มารับบทเด่นเด็กชาย แป ผู้มีความฝันอยากเป็นนายหนังตะลุง
บรรยากาศในงานเปิดตัวภาพยนตร์เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา ณ โรงภาพยนตร์ลิโด้ ได้รับเกียรติจาก "นาถนิศา สุขจิตต์" ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายสัมพันธ์และแหล่งทุน สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม "ยศ - วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์" ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์มาร่วมงาน ซึ่งก่อนจะเริ่มฉายภาพยนตร์ "ชัยชนะ บุญนะโชติ" ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ปี 2541 หนึ่งในนักแสดงของเรื่องก็ได้มาร้องเพลง "ล่องใต้" ให้ฟังกันก่อน
ผู้กำกับได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการนำวรรณกรรมชื่อดังมาสร้างเป็นภาพยนตร์ว่า "ตอนอ่านมันเหมือนกับมีพลัง ทำให้เรารู้สึกว่าน่าจะเป็นหนังได้ มีฉากอะไรบ้างที่เราชอบเราก็ลองเขียนสเก็ตออกมาดู สิ่งที่ประทับในหนังสือก็คือเป็นเรื่องของคนที่รักงานศิลปะ เราก็เป็นคนชอบงานศิลปะ เด็กคนนี้อยากเป็นนายหนังตะลุง เขารักงานศิลปะ เขาพยายามสร้างงานศิลปะ โชคชะตาสิ่งแวดล้อมมันไม่เอื้อ เราเห็นมุมมองอันนี้จากหนังสือ ซึ่งคนอื่นอาจจะคิดอย่างอื่นได้นะ เพราะว่าคนเขียนเขียนแล้วคิดได้หลายแง่ แต่แง่มุมที่รู้สึกมากก็คือเรื่องของนักสร้างศิลปะที่ไม่สามารถไปตามชะตากรรม มันถูกตัดตอน"
ส่วนการดัดแปลงมาเป็นบทภาพยนตร์ก็ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบทประพันธ์ให้ทำได้อย่างเต็มที่ ซึ่ง เฟิ้ม ให้คำปรึกษาโดยตลอด "มีปรึกษา เราคุยกันตลอด จริงๆ พี่เฟิ้มเป็นคนชอบดูหนังด้วย เราก็ชอบดู ก็โทรคุยกัน พอเราทำหนังเราก็โทรคุยกับเขา เขาก็ให้แง่มุมแง่คิดบางอย่างมา แต่ว่าสิ่งนึงที่ประทับใจทึ่สุดที่เขามาเป็นที่ปรึกษาให้เราคือเขาพูดว่า หนังกับหนังสือมันไม่เหมือนกันนะ คุณเต็มที่เลย เพราะหน้าที่ของผมคือเขียนเสร็จแล้ว แต่ว่าหน้าที่ของคุณคือสร้างหนัง เขาให้สิทธิ์เราเต็มที่ในการดัดแปลง"
โป๊ะ เผยถึงกระแสตอบรับจากการนำภาพยนตร์ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ว่า "เราไปที่คานส์คนมาชี้โปสเตอร์หลายคนมาก บางคนมาชี้แล้วบอกว่าผมรู้จักนักเขียนคนนี้ ผมชอบนักเขียนคนนี้มาก เขาดังมากในฝรั่งเศส คนฝรั่งเศสรู้จัก เขาบอกชอบคุณเสน่ห์ สังข์สุข เคยอ่านเรื่อง เงาสีขาว เจ้าการะเกด ที่แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส เขาอ่านแล้วเขารู้จักแล้วทำให้ส่วนนึงคนที่รู้จักบทประพันธ์มาดู อีกส่วนนึงก็คือคนที่ชอบดูหนังที่ดูแล้วไม่ใช่หนังแบบฮอลลีวูด ซึ่งเขาก็แปลกตาเขาไม่เคยเห็น มีหนังตะลุง ต้นตาล ก็เลยทำให้เขาสนใจมาดูกัน ก็ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี พวกโปรแกรมเมอร์เฟสติวัลต่างๆ ก็ขอหนังเรา แต่ว่ายังไม่ได้ให้ใครเพราะว่าตอนที่ไปฉายเรารีบๆ ทำ ยังไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไร"
ผู้กำกับหญิงรับรู้สึกกดดันกับการกำกับภาพยนตร์เต็มตัวเป็นเรื่องแรก "กดดันตรงที่ว่ามันมีหลายอย่างที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคิด มีปัจจัยเยอะมาก เพราะว่าทำหนังทำคนเดียวไม่ได้ แม้แต่ลม ฟ้า อากาศ เป็นอุปสรรคเยอะ ตั้งแต่เขียน ถ่ายทำ หรือแม้แต่เรื่องเงินทุน มีทุกอย่างให้เครียดไปหมด เหมือนสร้างบ้านใหญ่ๆ หลังนึงเลยนะ ถามว่ากดดันไหมก็กดดันด้วยแต่ก็มีความสุขอย่างนึงที่ว่าเราได้ทำตามความฝันของเรา ก็เลยบาลานซ์กัน"
ส่วนแนวของภาพยนตร์นั้น โป๊ะ บอกว่ายากที่จะระบุให้เป็นแนวไหน แต่ก็มีเพื่อนชาวฝรั่งเศสช่วยนิยามแนวของภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าเป็นการสะท้อนมุมมืดของวัฒนธรรม "เป็นสิ่งที่เรียกยากมากเลย เพื่อนโปรแกรมเมอร์เขาบอกว่าหนังนี่มันเรียกยาก ไม่รู้จะเรียกว่าทริลเลอร์ ฮอร์เรอร์ หรืออะไร มันไม่เข้าเลยสักอย่างนึง แต่เขาพูดว่ามันมีลักษณะพิเศษเหมือนเป็นคัลเจอรัลทริลเลอร์ เป็นแนวสยองขวัญด้านวัฒนธรรม"
โป๊ะ กล่าวถึงสิ่งที่ต้องการสื่อในภาพยนตร์ว่า "สิ่งที่ต้องการนำเสนอก็คือเรื่องราวของชีวิตคนชนบท ชีวิตคนบ้านนอก ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีเงิน คนจนๆ อย่างตัวเอกเป็นชาวนา อาหารการกินก็ไม่ได้อุดมสมบูรณ์อะไร เป็นเด็กพิการด้วย ซึ่งคนเหล่านี้การที่เขาอยากจะสร้างงานศิลปะก็ค่อนข้างจะยาก เพราะว่ามีอะไรจำกัดอยู่ โดยเฉพาะสิ่งที่มีปัญหาที่สุดคือเรื่องของความเชื่อของสังคม สิ่งที่เราอยากจะพูดมากๆ คือเรื่องความเชื่อของสังคมมันมีผลกับการสร้างงานศิลปะนะ คนเขาเชื่อกันอย่างนึง ถ้าเราเชื่อไม่เหมือนเขา เรานอกคอกเราเป็นแกะดำ ทำให้เราอยู่ในสังคมก็ยากแล้ว ยิ่งถ้าเราอยากจะทำอะไรที่ต้องได้รับการยอมรับก็คงยาก
หนังเรื่องนี้ไม่ได้พูดแค่ชีวิตตรงนั้น ยังพูดถึงคนที่อยู่ในปัจจุบัน สิ่งที่เราคิดถึงก็คือปัจจุบันคนพูดถึงแต่เรื่องมาร์เก็ตติง คำนวณเป็นเรื่องเงินเรื่องทองไปหมด แต่สังคมแบบนี้ศิลปะมันเกิดยาก เหมือนในเรื่องอยู่ในสังคมที่คนเขาเชื่อเรื่องเจ้าแม่เข้าทรง ทุกคนก็แห่กันไปทางนั้น ตัวเขาอยู่ในสังคมอย่างนี้แล้วกลายเป็นเหยื่อของความเชื่อด้วย เพียงแต่เขาคิดต่างทำให้ชีวิตเขาไม่ราบรื่น ยากที่เด็กคนนึง จนแล้วก็พิการ ไม่มีอิทธิพลอะไร ทำอะไรก็ไปถึงความฝันลำบาก" พร้อมฝากถึงภาพยนตร์ว่า "เป็นหนังที่ไม่ได้มีบรรยากาศแบบนี้มานานแล้ว พูดถึงชนบทแล้วก็มีเรื่องของวัฒนธรรมชีวิตของคนไทย ถ้าคิดถึงกลิ่นอายของความเป็นไทยหนังไทยแบบนี้ถ้ามาดูก็คงจะหายคิดถึงกันบ้าง"
ติดตามเรื่องราวของการตามหาความฝันที่ต้องต่อสู้กับความเชื่อทางสังคมได้ใน อสรพิษ เข้าฉายเฉพาะในโรงภาพยนตร์ลิโด้ วันละ 1 รอบ เวลา 18.00 น. ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2555 เป็นต้นไป