1. สยามโซน
  2. ภาพยนตร์
  3. ข่าววงการภาพยนตร์

ร่วมเดินทางล่องใต้ พิสูจน์น้ำใจคนไทยใน ปักษ์ใต้บ้านเรา

ร่วมเดินทางล่องใต้ พิสูจน์น้ำใจคนไทยใน ปักษ์ใต้บ้านเรา

เคยสร้างความประทับใจมาแล้ว เมื่อครั้งสร้างภาพยนตร์เรื่อง "เด็กโต๋" จนเป็นที่กล่าวขวัญถึงเมื่อ 3 ปีก่อน 2 เพื่อนซี้ "ป๊อบ - อารียา สิริโสดา" และ "นก - นิสา คงศรี" ได้ฤกษ์กลับมาอีกครั้งกันภาพยนตร์สารคดีเรื่องใหม่ "ปักษ์ใต้บ้านเรา" ที่ใช้เวลาถ่ายทำนานถึง 1 ปี 6 เดือน ครั้งนี้ 2 สาวเดินทางล่องไปยังภาคใต้ของไทย นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับน้ำใจของชาวใต้ที่ทั้งสองได้พบเจอ โดยงานเปิดตัวและฉายภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์จัดขึ้น ณ โรงภาพยนตร์สกาล่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา

งานเริ่มด้วยการแสดงมินิคอนเสิร์ตจากวง "แฮมเมอร์" วงดนตรีของพี่น้องตระกูล ประธาน เจ้าของเพลง "ปักษ์ใต้บ้านเรา" และครั้งนี้ แฮมเมอร์ ยังรับหน้าที่สร้างสรรค์เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้อีกด้วย การแสดงเริ่มด้วยเพลง "บินหลา" ซึ่งถือเป็นเพลงแรกที่แจ้งเกิดวง แฮมเมอร์ ต่อด้วยเพลง "ปักษ์ใต้บ้านเรา" และ "น้ำใจ" ซึ่งเป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่เพื่อภาพยนตร์เรื่องนี้

จากนั้นเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นมาของ ปักษ์ใต้บ้านเรา โดย นก ได้เล่าว่า "จริงๆ ก็เริ่มมาจากเรื่องเด็กโต๋ ที่พาเราไปยังภาคใต้ และได้เจอคนใต้ ซึ่งจริงๆ แล้วคนใต้ใจดีมาก" ส่วน ป๊อบ บอกว่า "พ่อป๊อบเป็นคนใต้ค่ะ เป็นคนจังหวัดตรัง ก็เลยรู้สึกคุ้นเคยกับคนใต้อยู่แล้วค่ะ"

"หนังเรื่องนี้ไม่ได้มีเนื้อเรื่องแบบเด็กโต๋ อย่างเด็กโต๋เป็นเรื่องของเด็กที่มีความฝันอยากจะไปทะเล หนังเรื่องนี้ตอนที่ดู อาจจะไม่รู้ว่าตัวละครตัวนี้ ต่อไปเค้าจะไปไหน ทำอะไรต่อ แต่ชี้ให้เห็นถึงเรื่องน้ำใจและการให้ มันเป็นการสะท้อนสังคมออกมาว่า ถ้าเมื่อไหร่แล้วเรายังมีความเอื้ออาทรกัน เราจะรอด" นก กล่าวเสริม

นกกล่าวถึงที่มาของตัวละครที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า "ตอนเราไปทัวร์เด็กโต๋ที่ภาคใต้ เราไปกับบริษัทหาดทิพย์ ก็เลยได้คลุกคลีกับพนักงานหาดทิพย์ ซึ่งรักเจ้านายมากๆ เปรียบเหมือนพ่อ เจ้านายให้ทำอะไรก็จะทำสุดชีวิต อยู่กับเป็นครอบครัว ก็เลยเกิดความแปลกใจ ทำให้เรานึกถึงตอนเด็กๆ ที่อยู่ต่างจังหวัด คนทำงานเป็นครอบครัว เพื่อนร่วมงานก็เหมือนพี่น้องกัน จากบริษัทหาดทิพย์นี้ ก็เลยแตกแขนงออกมาอีก 3 ครอบครัวค่ะ"

ส่วนอุปสรรคในการทำงาน นก ได้เล่าปนหัวเราะว่า "ป๊อบค่ะ มีอยู่วันนึง พี่ก้อย (ตัวละครในเรื่อง) ไปถ่ายที่ตลาด คนมาเห็นป๊อบก็ตลาดแตกค่ะ" ส่วน ป๊อป เสริมว่า "คนใต้รักแรงเกลียดแรงค่ะ อย่างเค้ารักเรามาก เวลาไปไหนเค้าก็จะประกาศทั่วเลยว่าป๊อบมาแล้ว ป๊อบมาแล้ว" นก ได้บอกถึงวิธีแก้ไขว่า "ป๊อบไม่ต้องไปค่ะ อย่างฉากงานรับปริญญาที่มหาวิทยาลัย ป๊อบก็ไม่ได้ไป ทั้งที่อยากไปมาก จะให้ป๊อบนอนอยู่ที่โรงแรม เล่นโยคะไป แต่ป๊อบจะมีประโยชน์ตอนไปติดต่อขอถ่ายในสถานที่ราชการค่ะ เพราะจะได้รับอนุญาตทันทีเลย"

ป๊อบ ได้เฉลยถึงที่มาของชื่อภาพยนตร์ว่า "ตอนขับรถอยู่ ก็ร้องเพลงหนึ่งขึ้นมา แล้วก็คิดได้ เลยรีบบอกนกว่า นี่ไงชื่อหนังของเรา ป๊อบว่าเพลงนี้เป็นเพลงชาติของคนภาคใต้เลยนะ และเพลงท่อน โอ่ โอ ปักษ์ใต้บ้านเรา ก็มาจากเพลงกล่อมเด็กค่ะ ตอนนี้คนภาคใต้ต้องการการกล่อม การปลอบขวัญมากๆ ค่ะ"

จากนั้นพิธีกรได้เชิญ 2 พี่น้องจากวง แฮมเมอร์ ได้แก่ "อารี ประธาน" และ "อนุชา ประธาน" ผู้รับหน้าที่แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ มาร่วมพูดคุยกับ 2 ผู้กำกับ โดย อารี นักร้องนำของวง ได้เล่าถึงความรู้สึกที่เพลงของตัวเองได้นำมาเป็นชื่อเรื่องว่า

"ตกใจครับ เพราะไม่รู้ว่าเค้าเข้าใจหรือเปล่าว่า ปักษ์ใต้บ้านเรา หมายความว่าอย่างไร เรื่องของภาคใต้นั้นหลากหลายมากและมีหลายมุมมอง เราก็ไม่รู้ว่าน้องๆ เค้าจะเอามุมมองไหนออกมามา แล้วพอมีโอกาสได้พูดคุยกัน ก็พอรู้แล้วว่าเค้าอยากจะเสนอสารคดีตรงส่วนของน้ำใจของชาวใต้ แต่เพลงปักษ์ใต้บ้านเรานั้น ที่บอกว่าเป็นเพลงชาติของภาคใต้ และเค้าเลือกชื่อนี้มาใช้ เราเลยเข้ามาขอมีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างน้อยที่สุด เราต้องได้รู้ว่าเค้ามีความรู้สึกยังไงกับภาคใต้ก่อน เมื่อเค้าเข้าใจและรู้จักภาคใต้แล้ว ก็ถึงมาทำเพลงประกอบครับ"

อนุชา เพิ่มเติมว่า "ตอนแรกทั้งสองคนอยากจะนำเพลงเก่าๆ ของแฮมเมอร์มาประกอบ แต่ผมบอกว่าถ้าแบบนั้นผมไม่ยอม เพราะเพลงเก่าๆ ก็จะไม่เข้ากับเหตุการณ์ในตอนนี้ ผมก็เลยบอกว่าผมต้องทำเพลงใหม่ เพราะเพลงที่เราเคยสร้างมา ไม่ได้เกิดขึ้นจากอารมณ์ตรงนี้ อารมณ์ของเพลงจะต้องตามภาพไป ก็เลยขอป๊อบและนก ขอให้ผมได้ทำเพลงใหม่ครับ"

"ผมอยากให้คนที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ติดตามคำพูดของตัวละครให้ดี เพราะเค้าให้ความหมายมากมาย อย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกหลังได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ ปักษ์ใต้บ้านเรา มีมิตรไมตรี มีความจริงใจในส่วนลึกของหัวใจคนใต้ ดังนั้นอยากให้ชมแล้วคิดตามไปด้วยครับ" อารี กล่าวทิ้งท้าย

มาที่ 2 ผู้กำกับฝากถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ เริ่มจาก ป๊อบ บอกว่า "อย่างที่นักข่าวถามว่าเราคาดหวังอะไรจากภาพยนตร์เรื่องนี้หรือเปล่า แต่สำหรับเรา เราคิดว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว เพราะว่าได้เจอคนที่น่ารักมาก และจริงใจมากทั้งพี่ๆ วงแฮมเมอร์ และทุกคนที่อยู่ในเรื่อง นี่เป็นกำไรชีวิตที่มหาศาลเลยค่ะ เราไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นผู้กำกับค่ะ เราเป็นแค่นักเดินทาง และได้ประสบการณ์มา"

ส่วน นก กล่าวว่า "ปักษ์ใต้บ้านเราเป็นหนังไดอะล็อกนะคะ จะมีคำพูดเยอะ และคำพูดนั้นสำคัญ ฉะนั้นฟังและไหลตามคำพูดนั้นไป เนื้อเพลงที่เอาเข้ามา ไม่ใช่แค่เพลงประกอบอย่างเดียว แต่เนื้อเพลงก็เล่าเรื่องด้วยค่ะ เราเลยจำเป็นต้องแปลเพลงออกมาด้วย เพราะเพลงก็เปรียบเหมือนส่วนหนึ่งของปักษ์ใต้บ้านเราค่ะ สิ่งที่อยากจะฝากกับคนดูคือ นี่คือการบันทึกการเดินทางของเราใน ณ ปัจจุบันนี้ค่ะ"

และ ป๊อบ ยังได้พูดทิ้งท้ายไว้ว่า "อย่าให้มองคนใต้ตามสื่อที่ออกมาค่ะ อยากให้มองในส่วนของน้ำใจ จากความรู้สึกของเรา คนใต้น่ารักมากและจริงใจค่ะ" ส่วน นก บอกว่า "ถ้าไปเที่ยวปักษ์ใต้คราวหน้า อย่ามัวแต่ถ่ายรูปกับวิวนะคะ ลองไปพูดคุยกับคนใต้ดูนะคะ แล้วจะรู้ว่าเค้ามีความน่ารักอยู่ในตัวเยอะเลยค่ะ"

ร่วมพิสูจน์น้ำใจชาวใต้ ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ปักษ์ใต้บ้านเรา ที่โรงภาพยนตร์ลิโด้ ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายนนี้ เป็นต้นไป

สงวนลิขสิทธิ์ © ห้ามคัดลอก ตัดต่อ
ดัดแปลงหรือเผยแพร่ในสื่อใดๆ ก่อนได้รับอนุญาต
กดเพื่อดูรูปใหญ่ ปัดซ้าย-ขวาเพื่อดูรูปถัดไป
  • รูปภาพ 1
  • รูปภาพ 2
  • รูปภาพ 3
  • รูปภาพ 4
  • รูปภาพ 5
  • รูปภาพ 6
  • รูปภาพ 7
  • รูปภาพ 8
  • รูปภาพ 9
  • รูปภาพ 10
  • รูปภาพ 11
  • รูปภาพ 12
  • รูปภาพ 13
  • รูปภาพ 14
  • รูปภาพ 15
  • รูปภาพ 16
  • รูปภาพ 17
  • รูปภาพ 18
  • รูปภาพ 19
  • รูปภาพ 20
  • รูปภาพ 21
  • รูปภาพ 22
  • รูปภาพ 23
  • รูปภาพ 24
  • รูปภาพ 25
  • รูปภาพ 26
  • รูปภาพ 27

ความคิดเห็น

ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ในอดีต

เกร็ดภาพยนตร์

  • Birdman - ไมเคิล คีตัน ผู้รับบท ริกแกน และนักแสดงคนอื่นๆ ต้องปรับตัวให้เข้ากับการกำกับที่เข้มงวดของผู้กำกับ อเลฮันโดร กอนซาเลซ อินาร์ริตู ที่ให้นักแสดงแสดงแต่ละฉากความยาว 15 หน้าก่อนจะตัดฉากต่อไป อ่านต่อ»
  • Unbroken - เดน ดีฮาน เกือบได้แสดงบท หลุยส์ แต่สุดท้ายแล้วบทนี้ตกเป็นของ แจ็ก โอ'คอนเนลล์ อ่านต่อ»
เกร็ดจากภาพยนตร์สามารถดูได้ในหน้าข้อมูลภาพยนตร์แต่ละเรื่อง

เปิดกรุภาพยนตร์

เรื่องราวของสองสามีภรรยาที่ไม่สามารถมีลูกได้เอง และเด็กหญิงอายุ 14 ที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ จนต้องยกลูกให้คนอื่น อันนำม...อ่านต่อ»