เทศกาลหนังญี่ปุ่น เรื่องตลกบนแผ่นฟิล์ม ชมฟรี 16 เรื่อง
มูลนิธิญี่ปุ่น กรุงเทพฯ ร่วมกับเซ็นทรัล โรงหนังเอสเอฟเอ็กซ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และชมรมนักเรียนเก่าญี่ปุ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมใจกันจัดเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่นให้ชมกันตลอดเดือนนี้
ภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่เลือกมาจะเป็นแนวชวนหัวนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยแต่ละเรื่องนั้นแม้จะชวนหัว แต่ว่าก็ให้อารมณ์ที่แตกต่าง คือ มีทั้งแบบตลกโปกฮา ตลกซาบซึ้งตรึงใจ ตลกร้าย ไปจนถึงตลกเสียดสี ที่ได้ผ่านการคัดสรรมาเป็นอย่างดี จำนวน 16 เรื่อง
ในจำนวนนั้น 10 เรื่องจะลงโรงฉายที่เอสเอฟเอ็กซ์ เซ็นทรัลลาดพร้าว ชั้น 6 ส่วนอีก 6 เรื่องจะฉายที่ห้องประชุมสายสุรี จุติกุล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เรื่องที่จะลงโรงเอสเอฟเอ็กซ์ ระหว่าง 16-25 มกราคม เวลา 19.30 น. คือ
วันที่ 16 ม.ค. Happiness of Katakuris โดย มิอิเขะ ทาคาชิ ภาพยนตร์ตลกร้ายใช้แนวภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง "The Quiet Family" ในเรื่องเต็มไปด้วยฉากการเต้นรำด้วยลีลาชวนหัว ควบคู่ไปกับเพลงสนุกสุดยอด ตรงข้ามกับเหตุการณ์น่าเศร้าที่เกิดขึ้นกับครอบครัวคาตาคุริเหตุการณ์แล้วเหตุการณ์เล่า
วันที่ 17 ม.ค. Vengeance is Such a Great Business โดย โอคาโมโตะ คิฮาจิ ภาพยนตร์ตลกแอ็กชั่น เรื่องของเด็กกำพร้าที่มีชีวิตอยู่ในสมัยเอโดะซึ่งต้องเข้าไปพัวพันกับงานรับจ้างล้างแค้น
วันที่ 18 ม.ค. Carmen Comes Home คิโนชิตะ เคอิซึเขะ สร้างขึ้นในปี 2494 เป็นตลกแบบเซ็กซี่เกี่ยวกับสาวๆ ที่กลับมาจากเมืองกรุง ท่าเต้นของพวกเธอซึ่งจริงๆแล้วเรียนมาจากระบำโป๊ทำความประหลาดใจมาสู่พวกชาวบ้าน เรื่องนี้ถือเป็นภาพยนตร์สีล้วนเรื่องแรกของญี่ปุ่นด้วย
วันที่ 19 ม.ค. Waterboys โดย ยางุจิ ชิโนบุ ภาพยนตร์ชวนหัวใสๆ เกี่ยวกับกลุ่มนักเรียนชายในโรงเรียนมัธยมฯ ปลายที่พยายามแสดงระบำใต้น้ำ แม้ว่ากีฬาดังกล่าวจะเป็นกีฬาของผู้หญิงก็ตาม
วันที่ 20 ม.ค. Three Resurrected Drunkards โดย โอซิมะ นางิสะ ภาพยนตร์ชวนหัวที่ใช้วิธีทดลอง โดยให้ตัวละครที่เป็นนักศึกษาระดับวิทยาลัยสามคนเป็นตัวเดินเรื่อง พวกเขาถูกเข้าใจผิดว่าลักลอบออกมาจากประเทศเกาหลี
วันที่ 21 ม.ค. Boiling Point โดย คิทาโนะ ทาเคชิ เรื่องตลกเงียบของชายธรรมดาคนหนึ่งที่ถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของเหล่าอันธพาลเป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองของคิทาโนะ เจ้าของรางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เวนิช ปี 2541
วันที่ 22 ม.ค. A Gentle Twelve โดย นาคาฮาระ ชุน เรื่องสมมุติตลกๆ ว่าถ้าประเทศญี่ปุ่นมีการไต่สวนความโดยใช้ระบบลูกขุนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น สร้างจากบทละครของมิทานิ โคะขิ หนึ่งในยอดฝีมือนักเขียนเรื่องตลกของญี่ปุ่น
วันที่ 23 ม.ค. The Elegant Life of Mr.Everyman โดย โอคาโมโตะ คิฮาจิ สร้างจากนวนิยายชวนขันชนะรางวัลของยามางูจิ ฮิโตมิ หยิบยกเอาจุดอันน่าชวนหัวเราะของชีวิตในวันหนึ่งๆ ของมนุษย์เงินเดือนมานำเสนอ
วันที่ 24 ม.ค. Leave it to the Nurse โดย โมโรซาวะ คาซูยูกิ เรื่องตลกบ้าๆ บอๆ ของเหล่านางพยาบาลในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่หยิบยกภาพยนตร์ชุดสุดฮิตที่ออกอากาศทางโทรทัศน์มาสร้างเป็นภาพยนตร์
วันที่ 25 ม.ค Hush ! กำกับโดย ฮางุชิ เรียวซึเขะ ภาพยนตร์ตลกสุดประทับใจเรื่องราวรักสามเศร้า ระหว่างหนุ่มรักร่วมเพศสองคน กับหญิงสาวคนหนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเชิญไปฉายอย่างเป็นทางการในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองคานน์ ปี 2544
ภาพยนตร์ทุกเรื่องนั้นมีคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ยกเว้น Leave it to the Nurse ที่พากย์ไทย
ภาพยนตร์ที่จะฉายที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นอีก 6 เรื่อง ระหว่าง 27-28 มกราคมนั้น
วันที่ 27 ม.ค. 13.00 น. สู้ สู้ ซูโม่ โดย มาซายูกิ ซึโอะ เรื่องสนุกสนานเฮฮาเกี่ยวกับนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ต้องการนำพาชมรมซูโม่ของพวกเขาให้อยู่รอด การฝึกฝนประกอบกับประสบการณ์การแข่งขัน ทำให้พวกเขาสามารถก้าวขึ้นมาเป็นทีมซูโม่ที่แข่งแกร่งได้ทีละน้อยอย่างน่าประหลาดใจ
วันที่ 27 ม.ค. 15.00 น. หลวงพ่อมาแล้ว โดย โคชิโร เทมมะ หนังตลกเสียดสีสร้างจากนวนิยายขายดีของทาเคชิ คิตาโนะ เรื่องศาสนาน้องใหม่ที่กลายเป็นศาสนาที่กำลังไปได้สวยในญี่ปุ่น
วันที่ 28 ม.ค. 08.30 น. ขับแบบคึกคัก โดย ชิโนบุ ยะงูจิ ตลกที่จะพาให้ใจหายใจคว่ำไปกับคู่พระคู่นางที่พากันเชิดเงินหนีจากยากูซ่า และเหล่าวายร้าย
วันที่ 28 ม.ค. 10.45 น. ขุมทรัพย์ของฉัน โดยชิโนบุ ยะงูจิ ตลกน่ารักน่าเอ็นดูของสาวที่รักและหวงแหนความโสด และยอมแลกทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินล้านที่หล่นหายอยู่ในป่าลึก
วันที่ 28 ม.ค. 13.00 น. บันทึกไอ้บ้าตกปลา โดย อาซูมะ โมริซากิ สร้างจากการ์ตูนยอดฮิตของจูโร ยามาซากิ และ เคนอิจิ คิตามิ เรื่องของลูกจ้างผู้โชคดี เขาชอบตกปลาและรักครอบครัวมาก และต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดหลายต่อหลายเรื่อง
วันที่ 28 ม.ค. 15.00 น. โนะโดะ-ยิมัง โดย คะซึยุกิ อิทซึศึ ซึ่งเสนอแง่มุมของหลายชีวิตที่พยายามจะชนะการประกวดนักร้องสมัครเล่นในรายการดังของสถานีโทรทัศน์
ภาพยนตร์ทุกเรื่องเปิดให้ชมฟรี แต่ต้องสำรองที่นั่งคนละไม่เกิน 2 ที่นั่งที่ โยชิโอกะ, คะยาโนะ, ดวงใจ หรือ อัมพุชินี ที่ศูนย์วัฒนธรรมญี่ปุ่น กรุงเทพฯ โทร.0-2260-8560-4
เพื่อให้รู้จักภาพยนตร์ตลกของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ในวันที่ 18 มกราคม 14.00 น. โคโย อูดางาวะ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดังจะมาคุยถึงเรื่องภาพยนตร์ตลกให้ฟังที่ศูนย์วัฒนธรรมญี่ปุ่นด้วย
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.jfbkk.or.th/