เกร็ดน่ารู้จาก Easy A

เกร็ดน่ารู้
  • มือเขียนบท เบิร์ต วี. รอยัล ริเริ่มเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้โดยผสมผสานวรรณกรรมอมตะ 3 เรื่องเข้ากับเรื่องราวร่วมสมัยในบรรยากาศโรงเรียนมัธยม หนึ่งในนั้นคือ The Scarlet Letter ของ นาธาเนียล ฮอว์ธอร์น ซึ่งเกี่ยวกับทัณฑ์สังคมที่หญิงชาวบอสตันในยุคศตวรรษที่ 17 ที่ชื่อ เฮสเตอร์ พรินน์ ต้องเจอจากการคบชู้สู่ชาย
  • ตอนที่ โอลีฟ ที่รับบทโดย เอ็มมา สโตน บ่นว่าตั๋วภาพยนตร์ที่มีคนให้เธอมานั้น มีแต่ภาพยนตร์ต่างประเทศที่ไม่มีชื่อเสียง ในฉากนั้นมีการถ่ายให้เห็นชื่อ Der Scharlachrote Buchstabe ซึ่งเป็นภาพยนตร์เยอรมันเมื่อปี 1973 ที่สร้างจากหนังสือ The Scarlet Letter ซึ่งถูกอ้างอิงหลายครั้งในเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์ชื่อ Vamos por las chicas ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นภาษาสเปนของ Fired Up! (2009) ภาพยนตร์ที่ผู้กำกับ วิลล์ กลัก สร้างไว้ก่อนหน้าภาพยนตร์เรื่องนี้
  • ตัวอักษร A ในชื่อเรื่องและสัญลักษณ์ตัวอักษร เอ สีแดงที่อยู่บนเครื่องแต่งกายของ โอลีฟ ที่รับบทโดย เอ็มมา สโตน อ้างอิงมาจากหนังสือ Scarlet Letter ของ นาธาเนียล ฮอว์ธอร์น ขณะที่คำว่า Easy เป็นคำแสลงหมายถึงผู้หญิงใจง่าย นอกจากนี้ Easy A ยังเป็นสำนวนอเมริกันหมายถึงวิชาเรียนหรือโรงเรียนที่ไม่ต้องใช้ความพยายามก็ได้คะแนนดีๆ ได้ง่ายๆ
  • บทภาพยนตร์เรื่องนี้ส่งไปถึงมือผู้อำนวยการสร้าง แซนน์ เดอวีน ซึ่งในตอนนั้นยังไม่รู้สึกอยากอ่านอะไรเป็นพิเศษ แต่ผู้ช่วยก็พยายามโน้มน้าวให้เธอรีบอ่านบทนี้ในทันที เธอจึงอ่านมันในคืนนั้น แล้วเช้าวันรุ่งขึ้นก็นำบทไปให้เพื่อนร่วมงานของเธอที่บริษัท สกรีน เจมส์ อ่าน แล้วพวกเขาก็ตกลงใจซื้อบทนี้กันในทันที
  • ตอนที่ผู้กำกับ วิลล์ กลัก ได้รับข้อเสนอให้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เขารู้สึกต่อต้านในใจเพราะปกติเขาจะกำกับแต่ภาพยนตร์ที่เขียนบทเอง และหลังจากเพิ่งกำกับ Fired Up! (2009) ไป เขาก็ไม่อยากกำกับภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับโรงเรียนมัธยมซ้ำอีก แต่เมื่อได้อ่านบท เขาก็เปลี่ยนใจรับงานนี้ เพราะชอบที่บทเกี่ยวข้องกับเรื่องศีลธรรม มีตัวละครเอกเป็นผู้หญิง และมีการใช้ภาษาวัยรุ่นที่สมจริง
  • แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะพูดถึงเรื่องเพศโดยตรง แต่กลับไม่มีฉากร่วมเพศเลย ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงยังคงได้รับเรต พีจี-13
  • ผู้กำกับ วิลล์ กลัก ได้รับโทรศัพท์จากนักแสดงหญิงอายุ 16-28 ปีหลายคน ที่ต้องการรับบท โอลีฟ ในเรื่องนี้ และเมื่อ เอ็มมา สโตน เสนอตัวว่าอยากแสดงเช่นกัน วิลล์ ก็ตื่นเต้นมากและรีบจัดการทดสอบหน้ากล้องอย่างรวดเร็ว และเนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้มีเรื่องราวตอนที่ โอลีฟ พูดคุยผ่านเว็บแคมอยู่หลายฉาก หลังจากทดสอบหน้ากล้องเสร็จ เอ็มมา ก็กลับบ้านไปแสดงผ่านเว็บแคมของเธอ แล้วส่งอีเมลให้ วิลล์ ดู วิลล์ จึงนำการแสดงนั้นไปเสนอกับผู้อำนวยการสร้างเพื่อโน้มน้าวให้พวกเขาเลือก เอ็มมา มาเป็นนางเอก
  • เพื่อนคนหนึ่งส่งบทภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ เอ็มมา สโตน อ่านก่อนที่จะมีการซื้อขายสิทธิในการสร้างภาพยนตร์เสียอีก เมื่อได้อ่านแล้ว เอ็มมา ติดใจตัวละคร โอลีฟ และอยากแสดงในทันที เธอคิดว่าตัวเองมีส่วนคล้าย โอลีฟ หลายอย่างจนรู้สึกผูกพัน เช่น การทำตัวงี่เง่าทั้งๆ ที่รู้ตัวแต่ก็หยุดทำไม่ได้
  • อแมนดา ไบน์ส สนุกกับการรับบท มารีแอนน์ เพราะเดิมเธอคุ้นเคยกับการแสดงเป็นตัวละครตลกๆ แต่ในเรื่องนี้เธอได้พลิกบทบาทมาเป็นสาวสวยที่เคร่งศาสนาและเคร่งธรรมเนียมเป็นครั้งแรก
  • เพนน์ แบดจ์ลีย์ ยังคงแสดงในละครโทรทัศน์ Gossip Girl พร้อมๆ กับรับบทเป็น วูดชัก ทอดด์ ในเรื่องนี้ เขาจึงต้องจัดแจงตารางการทำงานให้เอื้อต่อการถ่ายทำทั้ง 2 กองถ่าย โดยนั่งเครื่องบินไปมาระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา
  • เปิดกล้องวันที่ 9 มิถุนายน 2009 ในเมืองโอไจ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โอไจเป็นเมืองที่มีทิวทัศน์งดงาม อยู่ในหุบเขาเล็กๆ ทางตอนเหนือของลอสแอนเจลิส อีกทั้งยังเป็นเมืองเล็กๆ ซึ่งตรงกับที่ผู้กำกับ วิลล์ กลัก อยากได้ เนื่องจากบรรยากาศของเมืองเล็กจะช่วยกดดันตัวละครวัยรุ่นให้พบว่าไม่อาจหนีปัญหาไปไหนได้พ้น
  • ถ่ายทำฉากโรงเรียนที่โรงเรียนมัธยม นอร์ดฮอฟฟ์ ในเมืองโอไจ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอาณาบริเวณเปิดโล่งเพราะสภาพอากาศที่อบอุ่น พวกเขาใช้เวลาถ่ายทำที่นั่น 2 สัปดาห์ครึ่งในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ยังเป็นแหล่งข้อมูลในการสร้างความสมจริงให้ภาพยนตร์ และนักเรียนจำนวนมากก็ได้มาร่วมแสดงเป็นตัวประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนทั่วไป วงดนตรี เชียร์ลีดเดอร์ และนักบาสเก็ตบอล
  • ในฉากหนึ่ง เพนน์ แบดจ์ลีย์ ผู้รับบท วูดชัก ทอดด์ ต้องทาสีฟ้าทั่วตัวและสวมชุดหนูยักษ์ไปพร้อมๆ กัน สีที่ทาตัวนั้นปิดรูขุมขนจึงทำให้เขาอึดอัด และเนื่องจากไม่ได้สวมเสื้อ ตะเข็บจากชุดหนูยักษ์จึงครูดกับผิวหนัง อีกทั้ง เพนน์ ยังรู้สึกร้อนมากที่ต้องแสดงในฉากที่ต้องปิดเครื่องปรับอากาศ พร้อมกับวิ่งวุ่นไปทั่ว ขว้างปาสิ่งของ กรีดร้องตะโกน ถูกกระชากชุด แล้วยังต้องอุ้มเพื่อนนักแสดงและร่วมเต้นไปด้วย
  • ก่อนที่จะถ่ายทำฉากที่ โอลีฟ ที่รับบทโดย เอ็มมา สโตน ร้องเพลงและเต้นในโรงยิม เอ็มมา จะต้องซักซ้อมกับนักออกแบบท่าเต้น เจนนิเฟอร์ แฮมิลตัน และต้องบันทึกเสียงก่อน ผู้กำกับ วิลล์ กลัก เพิ่งรู้ในระหว่างนั้นเองว่า เอ็มมา เคยเต้นมา 12 ปีแล้ว และยังเคยเรียนการใช้เสียงมา 10 ปีอีกด้วย
  • เอ็มมา สโตน ยอมรับว่ารู้สึกเขินมากที่ต้องแสดงฉากร้องเพลงและเต้นในโรงยิม เพราะเธอต้องสวมชุดวาบหวิวและถุงน่องตาข่ายต่อหน้าเพื่อนๆ 500 คน และถึงแม้เธอจะบันทึกเสียงเพลงที่ต้องใช้ไว้แล้ว แต่เธอก็ขอให้เปิดเสียงเพลงที่คนอื่นร้องในขณะถ่ายทำแทน เพราะมันทำให้เธอรู้สึกเขินน้อยลง
  • มีฉากหนึ่งที่ โอลีฟ ที่รับบทโดย เอ็มมา สโตน หลอกเพื่อนที่แอบฟังอยู่ว่าเธอกำลังมีเพศสัมพันธ์กับ แบรนดอน ที่รับบทโดย แดน เบิร์ด ด้วยการทำเสียงต่างๆ และทุบกำแพง หลังจากแสดงฉากนั้นไปหลายครั้ง เอ็มมา รู้สึกว่าตัวเองหายใจไม่ออก ถึงขนาดทีมงานต้องหาอ็อกซิเจนมาให้ พอตกกลางคืน มือของเธอก็บวมเป่ง แต่โชคดีที่ฟื้นตัวได้เร็วพอที่จะแสดงต่อไปได้
  • เนื่องจากตัวละคร โอลีฟ มีบทพูดเยอะมาก เอ็มมา สโตน จึงอ่านบทกับเพื่อนของเธออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ตั้งแต่ก่อนการถ่ายทำจะเริ่มต้นขึ้น 6 สัปดาห์
  • เป็นภาพยนตร์เล็กๆ ที่ใช้ฉากใหญ่ๆ มากมาย และต้องถ่ายทำแบบเร่งด่วน คือถ่ายทำวันหนึ่งประมาณ 4-5 ฉาก ซึ่งสถานที่ถ่ายทำอย่างเมืองโอไจ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีอากาศร้อนมาก ขณะถ่ายทำส่วนใหญ่มีอุณหภูมิสูงเกือบร้อยองศาฟาเรนไฮต์
  • เอ็มมา สโตน ถอนตัวจากภาพยนตร์ Sucker Punch (2011) เพื่อมารับบท โอลีฟ ในเรื่องนี้
  • ในบทภาพยนตร์ดั้งเดิม มีการใช้คำสบถหยาบคายรวมถึง 57 ครั้ง แต่หลังจากนั้นผู้สร้างก็ตัดต่อออกไปให้น้อยลง เพื่อให้ได้เรตพีจี-13 แทนเรตอาร์
  • ป้ายประท้วงที่ปรากฏในภาพยนตร์ป้ายหนึ่งมีข้อความว่า Exodus 20:14 หมายถึงหนึ่งในบัญญัติสิบประการในคัมภีร์ไบเบิล ที่ว่าด้วยการห้ามล่วงประเวณี
  • โลแกน เลอร์แมน เคยเข้ามาทดสอบบท แบรนดอน แต่สุดท้ายบทนี้ก็ตกเป็นของ แดน เบิร์ด
  • มีฉากหนึ่งที่ โอลีฟ ที่รับบทโดย เอ็มมา สโตน พูดคำว่า เกย์ระดับคินซีย์ 6 นั่นอ้างอิงจากการวิจัยเมื่อปี 1948 ของ ดร. อัลเฟรด คินซีย์ จากมหาวิทยาลัยอินเดียนาที่ว่า เพศสภาพนั้นแบ่งออกได้ตั้งแต่ระดับ 0 (สนใจแต่เพศตรงข้ามเท่านั้น) ไปจนถึง 6 (สนใจแต่เพศเดียวกันเท่านั้น) โดย อัลเฟรด เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะอยู่ตรงกลางระหว่างระดับ 0 ถึง 6
  • ชื่อสมาชิกในครอบครัวของ โอลีฟ ที่รับบทโดย เอ็มมา สโตน ล้วนเป็นชื่ออาหารทั้งสิ้น คุณพ่อคุณแม่ของเธอที่รับบทโดย สแตนลีย์ ตุชชี และ แพทริเซีย คลาร์กสัน คือชื่อ ดิลล์ และ โรสแมรี ซึ่งเป็นสมุนไพรทั้งคู่ ส่วนพี่น้องผู้ชายของ โอลีฟ ที่รับบทโดย ไบรซ์ ไคลด์ เจนคินส์ ก็มีชื่อว่า ชิป ที่แปลว่าแผ่นมัน ขณะที่ชื่อของ โอลีฟ เองก็แปลว่า มะกอก
  • ฉากที่ แอนสัน ที่รับบทโดย เจก แซนด์วิก จีบ โอลีฟ ที่รับบทโดย เอ็มมา สโตน ด้วยบทกวี The Bell Jar ของ ซิลเวีย แพลธ ตอนนั้น โอลีฟ บอกว่าให้เลิกอ่านบทกวีแล้วเอาหัวมุดเข้าไปในเตาอบแทนจะดีกว่า ในความเป็นจริงนั้น นักกวี ซิลเวีย เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายจากพิษของคาร์บอนมอนอกไซด์ โดยพบศีรษะของเธออยู่ในเตาอบ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 1963

advertisement

วันนี้ในอดีต

  • รักแห่งสยามรักแห่งสยามเข้าฉายปี 2007 แสดง มาริโอ้ เมาเร่อ, วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล, กัญญา รัตนเพชร์
  • Harry Potter and the Chamber of SecretsHarry Potter and the Chamber of Secretsเข้าฉายปี 2002 แสดง Daniel Radcliffe , Emma Watson , Rupert Grint
  • ตีสาม 3Dตีสาม 3Dเข้าฉายปี 2012 แสดง กาญจน์เกล้า ด้วยเศียรเกล้า, โทนี่ รากแก่น, ชาคริต แย้มนาม

เกร็ดภาพยนตร์

  • Run All Night - เป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 3 ที่ผู้กำกับ ฮวม คอลเล็ต-เซอร์รา และ เลียม นีสัน ผู้รับบท จิมมี คอนลอน ทำงานร่วมกัน สองเรื่องก่อนหน้านี้คือ Unknown (2011) และ Non-Stop (2014) อ่านต่อ»
  • Insurgent - เรื่องนี้เป็นภาคต่อของภาพยนตร์เรื่อง Divergent (2014) อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

Commando 3 Commando 3 ชายลึกลับผู้หนึ่งกำลังวางแผนโจมตีประเทศ โดยมีฐานปฏิบัติการอยู่ในลอนดอน คอมมานโดออกเดินทางเพื่อตามล่าศัตรูผู้วางแผนร้ายโ...อ่านต่อ»