เกร็ดน่ารู้จาก The Chronicles of Narnia: The Voyage of the Dawn Treader
เกร็ดน่ารู้
- เป็นภาพยนตร์คนแสดงผสมแอนิเมชันคอมพิวเตอร์กราฟฟิก 3 มิติ และเป็นภาพยนตร์ภาคที่ 3 ต่อจาก The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe (2005) และ The Chronicles of Narnia: Prince Caspian (2008) โดยสร้างจากหนังสือ The Voyage of the Dawn Treader ซึ่งเป็นเล่มที่ 3 ในหนังสือความยาว 7 เล่มจบชุด The Chronicles of Narnia ของ ซี. เอส. ลิวอิส ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกระหว่างปี 1950-1956
- แอนดรูว์ อดัมสัน ที่กำกับ The Chronicles of Narnia 2 ภาคแรก สละเก้าอี้ผู้กำกับในภาคนี้ให้แก่ ไมเคิล แอปเทด แต่ยังคงรับหน้าที่เป็นหนึ่งในผู้อำนวยการสร้างเช่นเดิม
- หนึ่งในผู้อำนวยการสร้างบริหาร คือ ดักลาส เกรแชม ลูกเลี้ยงของ ซี. เอส. ลิวอิส ผู้เขียนหนังสือนิยายชุด The Chronicles of Narnia ที่เป็นต้นแบบของภาพยนตร์เรื่องนี้
- ถ่ายทำทั้งหมด 90 วัน โดยเปิดกล้องเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2009 โดยถ่ายทำในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ทั้งในโรงถ่าย วอร์เนอร์ โรดโชว์ ในเมืองโกลด์ โคสต์ และในสถานที่สำคัญต่างๆ รวมถึงคาบสมุทรทางตะวันออกเฉียงเหนือของโรงถ่ายที่เรียกว่า คลีฟแลนด์ พอยต์ จากนั้นก็ปิดกล้องในเดือนพฤศจิกายน 2009 แล้วทำงานเบื้องหลังกันต่อเป็นเวลา 1 ปีเต็ม โดยเฉพาะงานส่วนคอมพิวเตอร์กราฟฟิกที่ใช้ผู้เชี่ยวชาญ 380 คน
- ความท้าทายในการดัดแปลงหนังสือนิยายมาเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ของผู้เขียนบท สตีเวน แมกฟีลี คือการรักษาความเฉพาะตัวของฉากผจญภัยแต่ละฉากเอาไว้ แต่ไม่ให้ภาพยนตร์มีฉากมากเกินไป และการทำให้ภาพยนตร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับ 2 ภาคก่อนหน้า แม้จะมีการเพิ่มดินแดนและเหตุการณ์ใหม่ๆ เข้ามา ในหนังสือนั้นเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับการค้นหาลอร์ดทั้งเจ็ดของ แคสเปี้ยน แต่ในภาพยนตร์ สตีเวน หันไปเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับภารกิจดาบทั้งเจ็ดและการคุกคามของหมอกสีเขียว
- มาร์ก จอห์นสัน ที่อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชุดนี้มาทุกภาคอธิบายว่า พวกเขาต้องการให้ภาพยนตร์ยังคงใจความสำคัญที่ผู้เขียนนิยาย ซี. เอส. ลิวอิส ต้องการสื่อไว้ในหนังสือแต่ละเล่ม โดยในภาคแรก The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe (2005) มีแนวคิดหลักเกี่ยวกับความศรัทธาเชื่อมั่น ภาคต่อมา The Chronicles of Narnia: Prince Caspian (2008) เกี่ยวกับการสูญเสียและการนำศรัทธากลับคืน ส่วนในภาคนี้นั้นเกี่ยวกับการเอาชนะต่อสิ่งยั่วใจของตัวละครหลายๆ ตัว
- ในภาคนี้หัวหน้าแผนกวิชวลเอฟเฟกต์ อดัม วัลเดซ สร้างตัวละครคอมพิวเตอร์กราฟฟิกอย่างหนู รีพิชี้บ ให้ดูมีอายุมากขึ้นกว่าภาคก่อน และสร้างให้เขาดูอ่อนโยนมากขึ้น เพราะในภาคนี้ รีพิชี้บ สร้างสายสัมพันธ์สำคัญกับ ยูซดาส คราเรนซ์ สครับบ์ ที่รับบทโดย วิลล์ โพลเตอร์
- ผู้ออกแบบงานสร้าง แบร์รี โรบินสัน ใช้เวลาสร้างผลงานสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้นานกว่า 2 ปี นับตั้งแต่ในฤดูใบไม้ผลิปี 2008 สำหรับช่วงก่อร่างสร้างตัวของเรือ ดอว์น เทรดเดอร์ ตั้งแต่เริ่มออกแบบจนถึงสร้างแบบจำลองด้วยดินน้ำมันเพื่อให้คณะผู้อำนวยการสร้างอนุมัติการออกแบบนั้นนับเป็นเวลาเกือบ 18 เดือน และเริ่มสร้างจริงๆ ในเดือนมีนาคม 2009 โดยใช้เวลา 21 สัปดาห์จึงเสร็จสิ้น
- ผู้ออกแบบงานสร้าง แบร์รี โรบินสัน ร่วมกับกลุ่มช่างเขียนแบบจากเม็กซิโก กำหนดสัดส่วนเรือ ดอว์น เทรดเดอร์ โดยมีต้นแบบเป็นเรือ ดิ เอ็นเดเวอร์ ของกัปตัน เจมส์ คุก ซึ่งจอดอยู่ที่ท่าเรือในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย หลังจากผู้กำกับ ไมเคิล แอปเทด ขอให้เพิ่มระยะห่างของดาดฟ้าขึ้นจากที่ออกแบบไว้อีก 20 ฟุต เรือลำนี้จึงมีความสูง 140 ฟุต หนัก 125 ตัน และมีชิ้นส่วนกว่า 50 ชิ้น สร้างขึ้นโดยช่างก่อสร้างเกือบ 400 คน และใช้องค์ประกอบสำคัญเป็นเหล็ก ไม้โพลีสเตอรีน และไฟเบอร์กลาส เสริมด้วยทองเหลือง ปูนปลาสเตอร์ และเชือก รวมมูลค่าจากการสร้างทั้งหมดประมาณ 2.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ผู้ออกแบบงานสร้าง แบร์รี โรบิสัน ให้ทีมงานสลักข้อความอุทิศไว้บนฐานเสากระโดงเรือดอว์น เทรดเดอร์ ที่พวกเขาสร้างขึ้น ข้อความนั้นคือ "ชาวนาร์เนียทั้งหลาย พร้อมด้วยจิตที่สำนึกบุญคุณ เราขอมอบคำขอบคุณให้แก่ทีมงานของเรือ ดอว์น เทรดเดอร์ ผู้ทรงพลัง สำหรับจิตที่เข้มแข็งและฝีมือที่ชำนาญ" ส่วนด้านล่างบทจารึกนั้นเป็นรายชื่อทีมงานที่ร่วมกันสร้างเรือลำนี้
- ผู้กำกับภาพ ดันเต สปินอตตี และผู้กำกับ ไมเคิล แอปเทด เห็นตรงกันว่าแม้เรือ ดอว์น เทรดเดอร์ ที่สร้างขึ้นจะแล่นในน้ำไม่ได้ แต่พวกเขาก็ต้องนำเรือไปไว้ในสถานที่จริง เพื่อถ่ายทำฉากภายนอกกับสภาพแวดล้อมจริง ทั้งลม แสงแดด เมฆ และมหาสมุทร เมื่อสร้างเรือขึ้นที่โรงถ่าย วอร์เนอร์ โรดโชว์ ในประเทศออสเตรเลีย เสร็จแล้ว พวกเขาจึงรีบถ่ายทำฉากดาดฟ้าเรือที่ต้องถ่ายทำกับฉากสีเขียวเสียก่อน จากนั้นก็แยกชิ้นส่วนเรือแล้วขนย้ายด้วยรถเทรลเลอร์ไปยังคลีฟแลนด์ พอยต์ ซึ่งอยู่ห่างจากโรงถ่ายประมาณ 50 กิโลเมตร
- เนื่องจากเรือ ดอว์น เทรดเดอร์ ที่สร้างขึ้นไม่สามารถแล่นในน้ำได้ หัวหน้าแผนกควบคุมเอฟเฟกต์พิเศษด้านเครื่องจักร ไบรอัน คอกซ์ จึงสร้างวงแหวน 6 ชิ้นที่ใช้กำลังน้ำ เพื่อทำให้เรือสามารถเอียงและหมุนได้เหมือนกำลังแล่นในทะเล แรกเริ่ม ไบรอัน นำแบบจำลองเรือขนาด 2 ฟุตมายึดไว้กับโต๊ะ โดยวางสปริงไว้ข้างใต้เพื่อจำลองการหมุนและเอียงของไฮดรอลิกและโครงเหล็ก จากนั้นเขาทดลองสร้างเข็มทิศขึ้น ก่อนจะเคลื่อนย้ายเรือจริงๆ ที่เชื่อมกับล้อเหล็ก 2 ชุดที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งแยกกัน 180 องศา ไปยังสถานที่ถ่ายทำที่ต้องการ
- ช่างแต่งหน้าเทียม โฮเวิร์ด เบอร์เกอร์ เป็นผู้แปลงโฉมให้นักแสดงกลายเป็นตัวละครแปลกๆ ที่เรียกว่า ดัฟเฟิลพัดส์ และเนื่องจาก ดัฟเฟิลพัดส์ เดินด้วยขาเพียงข้างเดียว โฮเวิร์ด จึงให้นักแสดงเหล่านั้นสวมชุดสีเขียวตั้งแต่ช่วงเอวลงไป เพื่อให้แผนกคอมพิวเตอร์กราฟฟิกใช้เทคนิคซ้อนภาพบริเวณส่วนล่างของร่างกายของตัวละคร
- ฉากที่น้ำทะลักออกมาจากภาพวาดจนท่วมห้องนอนของ ยูซดาส คราเรนซ์ สครับบ์ ที่รับบทโดย วิลล์ โพลเตอร์ จนถึงเพดานนั้น แท้จริงแล้วถ่ายทำโดยลดฉากหรือจุ่มฉากลงในที่เก็บน้ำ โดยใช้เครื่องจักรของทีมงานเอฟเฟกต์พิเศษ ในฉากนี้นักแสดงต้องว่ายน้ำออกจากห้องนอนมาสู่ที่เก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อถ่ายทำออกมาแล้วจะดูเหมือนอยู่ในมหาสมุทร
- หลังจาก The Chronicles of Narnia: Prince Caspian (2008) ทำรายได้ไม่ดีนัก บริษัท วอลท์ ดิสนีย์ ก็ตัดสินใจเลิกสร้าง รวมถึงงดให้ทุนสนับสนุนภาพยนตร์ชุด The Chronicles of Narnia ภาคที่เหลือทั้งหมด
- ในภาคที่แล้ว The Chronicles of Narnia: Prince Caspian (2008) ผู้พากย์ เสียงหนู รีพิชี้บ คือ เอ็ดดี อิซซาร์ด แต่ในภาคนี้มีการเปลี่ยนตัวมาเป็น ไซมอน เพกก์
- ละครโทรทัศน์ Prince Caspian and the Voyage of the Dawn Treader เมื่อปี 1989 ผู้รับบทเจ้าชาย แคสเปี้ยน คือ จีน มาร์ก เพอร์เรต แต่เมื่อเจ้าชายขึ้นเป็นกษัตริย์ มีการเปลี่ยนตัวนักแสดงเป็น แซมมวล เวสต์ แม้ตัวละครจะมีอายุต่างจากเดิมเพียง 3 ปีเท่านั้น ส่วนในภาพยนตร์ชุดนี้ เบน บาร์นส์ รับหน้าที่แสดงเป็น แคสเปี้ยน เพียงคนเดียว ทั้งตอนที่เป็นเจ้าชายและกษัตริย์
advertisement
วันนี้ในอดีต
- แจ๋วเข้าฉายปี 2004 แสดง พรชิตา ณ สงขลา, จารุภัส ปัทมศิริ, จารุณี บุญเสก
- TRON: Legacyเข้าฉายปี 2010 แสดง Garrett Hedlund, Olivia Wilde, Jeff Bridges
- รักที่รอคอยเข้าฉายปี 2009 แสดง รัชวิน วงศ์วิริยะ, พิษณุ นิ่มสกุล, ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ
เกร็ดภาพยนตร์
เปิดกรุภาพยนตร์
ช่องส่องผี ความน่าสะพรึงกลัวเกิดขึ้นจากคนกลุ่มหนึ่งที่ชอบความท้าทาย และต้องการค้นหาความจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาชีวิต ผ่านทาง...อ่านต่อ»