เกร็ดน่ารู้จาก Inception
เกร็ดน่ารู้
- ผู้กำกับ ผู้เขียนบท และผู้อำนวยการสร้าง คริสโตเฟอร์ โนแลน มีโครงความคิดเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้มานานเกือบ 1 ทศวรรษก่อนที่จะสร้างเป็นภาพยนตร์ เขาสนใจเรื่องความมหัศจรรย์ของความฝันมาตลอด และมองว่าแก่นเรื่องนี้เป็นทั้งเรื่องสากลของคนทั้งโลก เพราะเราทุกคนต่างก็ฝัน และเป็นทั้งเรื่องส่วนตัว เพราะความฝันนั้นแตกต่างกันไปตามกระบวนการในสมองของแต่ละคน
- เคน วาตานาเบ ที่รับบท ไซโตะ เคยร่วมงานกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน ใน Batman Begins (2005) ซิลเลียน เมอร์ฟี ที่รับบท โรเบิร์ต ฟิสเชอร์ จูเนียร์ เคยร่วมงานกับ คริสโตเฟอร์ ใน Batman Begins เช่นกัน ส่วน ไมเคิล เคน ที่รับบท ไมลส์ เคยร่วมงานกับ คริสโตเฟอร์ ใน Batman Begins, The Prestige (2006) และ The Dark Knight (2008)
- ผู้สร้างตั้งฉายาให้ตัวละครสำคัญดังนี้ คอบบ์ ที่รับบทโดย ลีโอนาร์โด ดิคาพริโอ เป็นนักล้วง (หมายถึงล้วงข้อมูล) อาเธอร์ ที่รับบทโดย โจเซฟ กอร์ดอน-ลีวิตต์ เป็นผู้เบิกทาง (เนื่องจากเป็นผู้ช่วยของ คอบบ์) แอเรียดนี ที่รับบทโดย เอลเลน เพจ เป็นสถาปนิก เอเมส ที่รับบทโดย ทอม ฮาร์ดี เป็นนักปลอมแปลง (เพราะสามารถปลอมตัวได้ในความฝัน) มัล ที่รับบทโดย มาริยอง คอติยาร์ เป็นผู้กำบัง ไซโตะ ที่รับบทโดย เคน วาตานาเบ เป็นนักท่องเที่ยว (เพราะไม่มีความเชี่ยวชาญแต่มีอำนาจทางการเงิน) โรเบิร์ต ฟิสเชอร์ จูเนียร์ ที่รับบทโดย ซิลเลียน เมอร์ฟี เป็นเป้าหมาย และ ยูซุฟ ที่รับบทโดย ดิลีป ราโอ เป็นนักเคมี
- ผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน สร้างบทบาทของ ไซโตะ ขึ้นมาเพื่อให้ เคน วาตานาเบ แสดงโดยเฉพาะ เพราะ คริสโตเฟอร์ อยากร่วมงานกับ เคน อีกครั้ง หลังจากที่เคยกำกับเขาใน Batman Begins (2005) ซึ่งในตอนนั้นบทบาท ราส อัล กูล ของ เคน ค่อนข้างเล็ก จนพวกเขาไม่ได้ทำงานด้วยกันมากเท่าไร คราวนี้ คริสโตเฟอร์ จึงตั้งใจให้บทของ ไซโตะ สำคัญพอสมควร
- แม้ภาพยนตร์จะเกี่ยวข้องกับภาพเหนือจริงในความฝัน แต่ผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน มองว่าความฝันนั้นดูสมจริงในขณะที่เราฝัน เขาจึงต้องการถ่ายทำสิ่งที่จับต้องได้จริงให้มากที่สุด และใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกให้น้อยที่สุด การถ่ายทำหลักจึงเกิดขึ้นในสถานที่จริงของ 6 ประเทศใน 4 ทวีป ได้แก่ โมรอกโค แคนาดา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา
- เปิดกล้องในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่ซึ่งผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน อยากถ่ายทำมานานแล้ว ที่นี่มีฉากบนลานจอดเฮลิคอปเตอร์บนดาดฟ้าตึกสูง ซึ่งต้องเก็บภาพทางอากาศจากเฮลิคอปเตอร์ด้วย และแม้โตเกียวจะมีกฎเข้มงวดเรื่องระดับความสูงของเฮลิคอปเตอร์ แต่กองถ่ายก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยราชการท้องถิ่น
- ผู้สร้างสร้างฉากทางเดินในโรงแรมที่หมุนได้ 360 องศาขึ้นในโรงเก็บเครื่องบินคาร์ดิงตัน ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในตอนต้นพวกเขากำหนดให้ทางเดินยาว 40 ฟุต แต่ระหว่างพัฒนางาน พวกเขาเพิ่มความยาวเป็น 100 ฟุต ทางเดินนี้ถูกแขวนไว้ด้วยห่วงยักษ์ 8 ห่วง ที่มีระยะห่างเท่าๆ กันด้านนอกกำแพง และทำงานด้วยเครื่องยนต์ไฟฟ้า 2 ตัว ที่ทำให้ฉากหมุนได้เร็วถึง 8 รอบต่อนาที นอกจากฉากที่หมุนได้นี้ ยังมีการสร้างฉากทางเดินอีกฉากที่เหมือนกัน แต่พลิกให้เป็นแนวตั้งจนความยาวกลายเป็นความสูง
- ผู้สร้างสร้างฉากห้องพักโรงแรมที่หมุนได้รอบขึ้นในโรงเก็บเครื่องบินคาร์ดิงตัน ในประเทศอังกฤษ โดยใช้ห่วงรับน้ำหนัก 2 ห่วงซึ่งสามารถหมุนฉากได้ด้วยเครื่องยนต์ไฟฟ้า และเพื่อความปลอดภัยของนักแสดง สิ่งของภายในห้องจึงทำจากวัสดุนุ่มๆ โดยเน้นหนังและผ้า และมีการดูแลที่จับประตูและที่ยึดหลอดไฟที่อาจแตกได้เมื่อถูกกระแทก
- โจเซฟ กอร์ดอน-ลีวิตต์ ผู้รับบท อาเธอร์ ซึ่งต้องเข้าฉากโรงแรมที่ไร้แรงดึงดูด ใช้เวลาหลายสัปดาห์ฝึกซ้อมกับผู้ประสานงานฉากผาดโผน ทอม สทรัตเธอร์ส โดย โจเซฟ ต้องพัฒนาร่างกายส่วนบนและกล้ามเนื้อหลักให้แข็งแรงและยืดหยุ่น และต้องควบคุมสมองให้ไม่คิดว่าเพดานเป็นเพดาน แต่คิดว่าส่วนที่เขาต้องเหยียบนั้นเป็นพื้น ขณะถ่ายทำ เขาต้องสวมสายรัดและโยงลวดสลิงไว้กับตัว และสวมเครื่องแต่งกายที่ เจฟฟรีย์ เคอร์แลนด์ ออกแบบมาเป็นพิเศษ เช่น เชือกผูกรองเท้าที่ถูกทำให้ตั้งตรง และเนกไทที่ยึดเอาไว้ไม่ให้พับไปมาได้
- ผู้สร้างสร้างฉากลิฟต์ของโรงแรมโดยสร้างช่องลิฟต์ในแนวนอน ขนานไปกับกำแพงยาวของโรงเก็บเครื่องบินคาร์ดิงตัน ในประเทศอังกฤษ จากนั้นผู้กำกับภาพ วอลลี ฟิสเตอร์ จะเคลื่อนกล้องให้ดูเหมือนลิฟต์วิ่งขึ้นและลง โดยผู้สร้างต้องดึงสายเคเบิลที่โยงลิฟต์ให้ตึงตลอด เพื่อให้การลวงตานี้สมจริง
- หัวหน้าแผนกสเปเชียลเอฟเฟกต์ คริส คอร์บุลด์ และผู้อำนวยการสร้าง กาย ไดแอส สร้างฉากบาร์ของโรงแรมในกล่องขนาดยักษ์ ที่สามารถควบคุมให้เอียงและค่อยๆ กลับมาเป็นปกติด้วยตัวเองได้แบบไม้กระดก โดยลูกสูบ 2 อันจะถูกยกขึ้นลงเพื่อให้แผ่นรองเอียง ทำให้ทั้งฉากเอียงไปราว 20 องศา จนมุมเครื่องดื่มและโคมไฟที่ห้อยลงมาเคลื่อนที่ไปทางเดียวกัน
- ในฉากบาร์ของโรงแรม ลีโอนาร์โด ดิคาพริโอ ในบท คอบบ์ และ ซิลเลียน เมอร์ฟี ในบท โรเบิร์ต ฟิสเชอร์ จูเนียร์ ต้องคุยกันอย่างเข้มข้น ขณะที่ทั้งฉากถูกยกให้เอียง พวกเขาต้องยึดตัวไว้ไม่ให้ลื่นไถล แต่ต้องตั้งสมาธิให้แสดงออกเหมือนไม่มีอะไรเช่นนั้นเกิดขึ้น
- ผู้ออกแบบงานสร้าง กาย ไดแอส ดัดแปลงร้านเบเกอรีเล็กๆ ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส ให้กลายเป็นร้านกาแฟริมทาง ฉากนี้จะต้องถูกระเบิด แต่หน่วยงานท้องถิ่นไม่ยินยอมให้ใช้ระเบิดจริง หัวหน้าแผนกสเปเชียลเอฟเฟกต์ คริส คอร์บุลด์ จึงใช้ไนโตเจนแรงดันสูงแทน นอกจากนี้ คริส ยังดูแลสิ่งของในฉากให้ทำมาจากวัสดุน้ำหนักเบามาก และผ่านการทดสอบความปลอดภัยอยู่หลายสัปดาห์ เพื่อให้ ลีโอนาร์โด ดิคาพริโอ ผู้รับบท คอบบ์ และ เอลเลน เพจ ผู้รับบท แอเรียดนี เข้าฉากด้วยกันได้อย่างปลอดภัย
- สำหรับฉากระเบิดร้านกาแฟในประเทศฝรั่งเศสนั้น ผู้กำกับภาพ วอลลี ฟิสเตอร์ ใช้กล้อง 6 ตัวจับภาพจากมุมต่างๆ และถ่ายทำด้วยอัตราความเร็วสูงสุดเท่าที่จะทำได้ นั่นคือราว 1,000 เฟรมต่อวินาที มากกว่าความเร็วปกติที่ 24 เฟรมต่อวินาทีถึง 40 เท่า เพราะผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน อยากได้ภาพที่ช้าที่สุด เพื่อให้แผนกวิชวลเอฟเฟกต์ของ พอล เจ. แฟรงคลิน ใส่ภาพขี้เถ้าและสิ่งอื่นๆ เพิ่มลงไป โดยเฉพาะเศษอิฐ กระจก และวัตถุอื่นๆ ที่อันตรายเกินกว่าจะถ่ายทำจริง
- ฉากสะพานที่ผู้สร้างใช้วิชวลเอฟเฟกต์ทำให้สมบูรณ์ และมี เอลเลน เพจ ในบท แอเรียดนี เข้าฉาก คือสะพานชื่อ ปองต์ เดอ เบียร์-ฮาเกม ที่ใช้ข้ามแม่น้ำเซน ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส
- ผู้สร้างถ่ายทำฉากเมืองมอมบาซา ที่แทงเจียร์ส เมืองชายฝั่งของประเทศโมรอกโค โดยพวกเขาเดินทางมาถึงสถานที่ถ่ายทำในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีคลื่นความร้อนสุดโหดของฤดูร้อนที่นั่น แต่ข้อดีของโมรอกโคคือทิวทัศน์และสถาปัตยกรรมที่สวยงาม และผู้คนที่คุ้นเคยและชำนาญกับการทำงานกับกองถ่ายภาพยนตร์ใหญ่ๆ
- หลายฉากที่ถ่ายทำในเมืองแทงเจียร์ส ประเทศโมรอกโค โดยเฉพาะฉากไล่ล่า ต้องใช้วิธีการถ่ายทำที่สมบุกสมบันหลายวิธี มีทั้งการที่ตากล้องถือกล้องไว้ขณะซ้อนรถเอทีวีที่ขับไปตามถนน โดยมี ลีโอนาร์โด ดิคาพริโอ ที่รับบท คอบบ์ วิ่งตามหลังรถ มีการใช้สเตดีแคมหรือเครื่องพยุงกล้องที่ยึดไว้กับตัวตากล้องเล็กน้อย มีการถ่ายช็อตเหนือหัวจำนวนมาก และมีการถ่ายขณะที่ตากล้องเดิน หรือแม้กระทั่งวิ่งถอยหลังโดยแบกกล้องไว้บนบ่า
- ผู้สร้างสร้างฉากห้องแนวปราสาทญี่ปุ่นขึ้นในโรงถ่ายของ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ในลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ฉากดังกล่าวรวมถึงห้องอาหารหรูหรา ที่มาพร้อมเพดานที่เต็มไปด้วยโคมไฟ และผนังลวดลายขลิบทองที่มีรูปต้นสนกับเหยี่ยว ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากปราสาท นิโจ ที่สร้างขึ้นในปี 1603 ผสานกับสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นรูปแบบอื่นๆ รวมทั้งอิทธิพลตะวันตก นอกจากนี้ยังมีห้องใหญ่ 2 ชั้นที่มีเพดานส่องสว่าง หน้าต่างภาพบานใหญ่ และบันไดไม้หนาหนักที่นำไปสู่แท่นชมทิวทัศน์
- คริส คอร์บุลด์ หัวหน้าแผนกสเปเชียลเอฟเฟกต์ เล่าว่า แม้จะน่าเสียดาย แต่จำนวน 9 ใน 10 ของฉากอันสวยงามที่แผนกของผู้ออกแบบงานสร้าง กาย ไดแอส สร้างขึ้น จะลงเอยด้วยการถูกแผนกของ คริส ทำลายเสีย เพื่อถ่ายทำฉากการทำลายล้างที่ตระการตาในภาพยนตร์
- ตามบทภาพยนตร์ ฉากในลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องถูกโจมตีด้วยพายุฝน แต่ในลอสแอนเจลิสจริงๆ ที่ผู้สร้างไปถ่ายทำกลับมีแดดออกจ้า สุดท้ายแล้วผู้กำกับภาพ วอลลี ฟิสเตอร์ ได้รับความช่วยเหลือจาก เรย์ การ์เซีย ผู้ซึ่งจดการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ แล้วให้ทีมงานบนยอดตึกใช้เครื่องเก็บเชอร์รี่ติดธงดำจำนวนมาก เพื่อใช้กันแสงแดดตามจุดที่กองถ่ายเคลื่อนที่
- จุดถ่ายทำฉากรถไฟบรรทุกสินค้าวิ่งกลางถนนเมืองลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น อยู่ห่างจากทางรถไฟที่ใกล้ที่สุดหลายไมล์ จึงไม่สามารถขับรถไฟจริงมาตามถนนได้ ผู้สร้างจึงคิดจะนำเครื่องจักรรถไฟใส่ลงไปบนเพลารถพ่วงแทรกเตอร์ แต่ฐานล้อขนาดใหญ่ที่สุดที่หาได้ก็ยังสั้นเกินไป พวกเขาจึงยืดโครงออก และเพิ่มแท่นเหล็กกับตัวยึดเพื่อรับน้ำหนัก ซึ่งรวมแล้วหนักถึง 25,000 ปอนด์ พวกเขาสร้างส่วนต่างๆ ของรถไฟจากแม่พิมพ์ไฟเบอร์กลาสที่ได้มาจากรถไฟจริง ทำให้ได้รถไฟที่เหมือนจริงทั้งรูปร่าง ขนาด และสี
- รถไฟที่ผู้สร้างประกอบขึ้นเพื่อใช้เข้าฉากรถไฟวิ่งบนถนนนั้น มีความยาว 60 ฟุต กว้าง 10 ฟุต และสูง 14 ฟุต จึงขับยากมาก อีกทั้งในห้องคนขับยังมีสิ่งต่างๆ มากมายที่ทำลายทัศนวิสัยของคนขับ คนขับจึงต้องมองทางจากจอภาพในห้องคนขับ ที่ฉายภาพจากกล้องที่ติดไว้ด้านหน้า ด้านหลัง และสองข้างของรถไฟ และผู้ที่มารับหน้าที่ขับยานพาหนะนี้ คือ จิม วิลกี ผู้ซึ่งเคยขับรถบรรทุกที่พลิกหมุนในภาพยนตร์ The Dark Knight (2008) มาแล้ว
- ในภาพยนตร์ มีรถตู้สีขาวคันหนึ่งที่โดดเด่นในฉากบู๊ดุเดือด แต่จริงๆ แล้ว ผู้สร้างต้องใช้รถตู้แบบเดียวกันถึง 13 คันในการถ่ายทำ แต่ละคันถูกปรับแต่งให้แตกต่างกันออกไปตามการใช้งาน บางคันใช้ถ่ายทำด้านนอกรถ บางคันใช้ถ่ายทำด้านในรถ บางคันใช้ถ่ายทำใต้น้ำ และบางคันใช้ในฉากที่รถพลิกคว่ำ
- ฉากที่รถตู้สีขาวพลิกคว่ำนั้น ผู้สร้างใช้เครนยกให้รถหมุนรอบ โดยที่นักแสดงถูกยึดติดอยู่ข้างในด้วยสายรัด 5 จุดซึ่งอยู่ใต้เสื้อผ้าของพวกเขา เหมือนสายรัดของนักขับรถแข่งนาสคาร์ ซึ่งทำให้นักแสดงปลอดภัยและรู้สึกสบาย
- เนื่องจากผู้สร้างคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม พวกเขาจึงนำรถตู้คันที่จะใช้ถ่ายทำใต้น้ำมากำจัดสารพิษ ด้วยการถอดเครื่องยนต์ สายพาน และสิ่งที่เป็นน้ำออกจากรถจนหมด แล้วใช้ไอน้ำทำความสะอาดทุกส่วน
- มีการถ่ายทำในสถานตากอากาศสำหรับเล่นสกี ฟอร์เทรสส์ เมาน์เทน บนภูเขาใกล้เมืองบานฟ์ ในเมืองคัลการี ประเทศแคนาดา สถานตากอากาศนี้เดินทางเข้าถึงง่าย แต่ไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้า ทำให้เป็นที่ที่เหมาะแก่การถ่ายทำภาพยนตร์ และยังมีทิวทัศน์เป็นภาพภูเขาที่ตระการตา
- หลายเดือนก่อนถ่ายทำที่สถานตากอากาศ ฟอร์เทรสส์ เมาเทน ในเมืองคัลการี ประเทศแคนาดา ผู้สร้างสร้างอาคารขึ้นเป็นฉากที่นั่น อากาศหนาวเย็นเป็นอุปสรรคทำให้สีจับตัวแข็งทันทีที่ออกจากกระป๋อง พวกเขาจึงต้องหาวิธีทำให้บริเวณนั้นอุ่นพอที่จะทาสีได้ และเนื่องจากข้อจำกัดของสถานที่ ทำให้ไม่มีอุปกรณ์หนักช่วย พวกเขาจึงต้องสร้างอาคารเกือบทั้งหมดด้วยมือ โดยใช้ไม้สนที่ไม่ได้ถูกแปรรูปและไม่ใช้คอนกรีตเลย เพื่อไม่ให้มีผลกระทบยาวนานต่อสิ่งแวดล้อม
- หลังจากสร้างฉากที่ประเทศแคนาดาเรียบร้อยแล้ว พวกเขายังขาดเพียงรอให้หิมะตกตามธรรมชาติ แต่หิมะก็ไม่ตกเสียที จนเหลือเวลาเพียง 1 สัปดาห์ก่อนที่กองถ่ายจะเดินทางไปถ่ายทำ ผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน จึงต้องเตรียมแผนฉุกเฉินไว้ใช้ในกรณีที่หิมะไม่ยอมตกจริงๆ แต่แล้วในที่สุดหิมะก็ตกในช่วง 2 วันก่อนหน้าที่กองถ่ายจะมาถึง และหลังจากนั้นก็ตกหนักมากเป็นเวลายาวนาน
- ทอม ฮาร์ดี ซึ่งเล่นสกีไม่เป็น จำเป็นต้องมีความสามารถในการเล่นสกีพอที่จะเคลื่อนตัวไปตามไหล่เขาได้ระดับหนึ่ง เพื่อถ่ายทำฉากบู๊ในเมืองคัลการี ประเทศแคนาดา ทอม จึงเดินทางไปที่แคนาดาล่วงหน้าก่อนถ่ายทำ เพื่อฝึกเล่นสกีจนทำได้ค่อนข้างดีในที่สุด
- เกือบร้อยละ 85 ของการถ่ายทำในเมืองคัลการี ประเทศแคนาดา เป็นการถือกล้องถ่ายด้วยมือเปล่า ผู้กำกับภาพ วอลลี ฟิสเตอร์ ได้ถ่ายเองบางส่วน แต่เนื่องจากเขาเป็นเพียงนักสกีสมัครเล่น จึงต้องมอบหน้าที่ถ่ายทำส่วนใหญ่ให้แก่ คริส แพตเตอร์สัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพขณะเล่นสกีสำหรับงานด้านภาพยนตร์และโฆษณา
- การถ่ายทำจากเฮลิคอปเตอร์ในสภาพอากาศที่เลวร้ายและหนาวเหน็บในคัลการี ประเทศแคนาดา ลุล่วงไปได้ด้วยความช่วยเหลือจากนักบินเฮลิคอปเตอร์ เครก ฮอสกินส์ และผู้กำกับภาพทางอากาศ ฮันส์ บเจอร์โน ทั้งคู่เคยร่วมงานกับผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน มาแล้วใน Insomnia (2002) Batman Begins (2005) และ The Dark Knight (2008)
- ผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน ร่วมงานกับผู้ตัดต่อ ลี สมิธ อย่างใกล้ชิดในห้องตัดต่อ และการที่ คริสโตเฟอร์ จำสิ่งที่เคยถ่ายไว้ได้ทั้งหมดอย่างแม่นยำนั้น ช่วยให้งานส่วนนี้ง่ายขึ้นมาก ส่วนการคัดเลือกภาพที่ดีที่สุดจากบรรดาวัตถุดิบจำนวนมากนั้น ลี ใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจโดยพยายามไม่วิเคราะห์อะไรมากนัก เพราะเขาเชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้เข้าถึงหัวใจของเรื่องได้มากกว่า
- ฮานส์ ซิมเมอร์ ประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ตามแนวทางที่เขาพูดคุยไว้กับผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน นั่นคือเรียบเรียงเสียงออเคสตราที่เน้นคลื่นเสียงขนาดใหญ่ ด้วยการเน้นเสียงเครื่องเป่ามากกว่าเครื่องสาย เขาบันทึกเสียงเครื่องดนตรีทั้ง 2 ประเภทแยกกัน และเครื่องสายชิ้นหนึ่งที่ ฮานส์ เน้นให้เด่นเป็นพิเศษคือกีตาร์ ซึ่งเล่นโดย จอห์นนี มาร์ จากวง เดอะ สมิธส์
- ผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน เลือกเพลงของ อีดิธ เพียฟ มาประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยมอบให้ ฮานส์ ซิมเมอร์ เป็นผู้นำเพลง ดนตรี และเสียงประกอบฉากมาประสานให้กลมกลืนกัน
- เจมส์ ฟรังโก เคยเข้ามาเจรจากับผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน เรื่องการรับบทเป็น อาเธอร์ แต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องตารางงานไม่ลงตัว บทนี้จึงตกเป็นของ โจเซฟ กอร์ดอน-ลีวิตต์
- ตราสัญลักษณ์ของชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้มีลักษณะเหมือนเขาวงกต ซึ่งคล้ายกับสัญลักษณ์ของ ซินคอพี ฟิล์มส์ บริษัทสร้างภาพยนตร์ที่ก่อตั้งโดยผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน เอง
- อีวาน เรเชล วูด เป็นตัวเลือกแรกของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน สำหรับบท แอเรียดนี แต่ อีวาน ตอบปฏิเสธ คริสโตเฟอร์ จึงหันไปพิจารณานักแสดงอย่าง เอมิลี บลันต์, ราเชล แมกอดัมส์ และ เอ็มมา โรเบิร์ตส์ แต่สุดท้ายแล้ว เขาตัดสินใจเลือก เอลเลน เพจ มารับบทนี้แทน
- มีเพียงภาพยนตร์เรื่องนี้และ Following (1998) ภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน เท่านั้นที่เป็นผลงานดั้งเดิมจริงๆ นอกจากนี้แล้ว ล้วนแต่เป็นผลงานที่ คริสโตเฟอร์ นำต้นฉบับมาสร้างใหม่ หรือเป็นผลงานที่อ้างอิงจากหนังสือการ์ตูน นิยาย หรือเรื่องสั้น
- ผู้สร้างเคยพิจารณาว่าจะให้ ไอศวรรยา ราย มารับบท มัล แต่สุดท้ายบทนี้ก็ตกเป็นของ มาริยอง คอติยาร์
- ลีโอนาร์โด คิคาพริโอ เป็นตัวเลือกเดียวของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน และผู้อำนวยการสร้าง เอ็มมา โธมัส สำหรับบท คอบบ์
- ชื่อตัวละคร คอบบ์ ที่รับบทโดย ลีโอนาร์โด ดิคาพริโอ เป็นชื่อเดียวกับหนึ่งในตัวละครหลักใน Following (1998) ภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน
- เดิมผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน เสนอแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้กับบริษัท วอร์เนอร์ บราเธอร์ส หลังจากถ่ายทำ Insomnia (2002) เสร็จสิ้น ซึ่งบริษัทก็อนุมัติการสร้าง แต่แล้ว คริสโตเฟอร์ ก็เปลี่ยนใจ ไม่ต้องการเขียนบทให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งอย่างตายตัว แต่จะเขียนบทให้เสร็จก่อน แล้วจึงประกาศขายในตลาด จากนั้นเขาจึงเริ่มเขียนบทโดยคิดว่าน่าจะใช้เวลาไม่กี่เดือน แต่สุดท้ายแล้วเขาใช้เวลานานถึงเกือบ 8 ปี
advertisement
วันนี้ในอดีต
- โหดหน้าเหี่ยว 966เข้าฉายปี 2009 แสดง จตุรงค์ มกจ๊ก, นุ้ย เชิญยิ้ม, ค่อม ชวนชื่น
- Red Cliff: Part IIเข้าฉายปี 2009 แสดง Tony Leung Chiu Wai, Takeshi Kaneshiro, Zhao Wei
- High School Musical 3: Senior Yearเข้าฉายปี 2009 แสดง Zac Efron, Vanessa Hudgens, Ashley Tisdale
เกร็ดภาพยนตร์
- Pitch Perfect 2 - รีเบล วิลสัน ผู้รับบท แฟต เอมี อยากให้นักร้อง เดมี โลวาโต มารับบทสมาชิกวง เบลลาส์ แต่ตอนนั้น เดมี อยากทุ่มเทให้กับผลงานเพลงและการเดินทางแสดงคอนเสิร์ตมากกว่า อ่านต่อ»
- A Little Chaos - เคต วินสเล็ต นักแสดงบท มาดามซาบีน เดอ บาร์รา ตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน ขณะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้เสร็จ อ่านต่อ»
เปิดกรุภาพยนตร์
Shock Wave 2 การวางระเบิดต่อเนื่องในฮ่องกงนั้นทำให้ทั้งเมืองต้องตกอยู่ในความหวาดกลัว พานเฉิงฟง (แอนดี้ หลิว) อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยเก็...อ่านต่อ»