เกร็ดน่ารู้จาก When in Rome

เกร็ดน่ารู้
  • ผู้กำกับ มาร์ก สตีเวน จอห์นสัน เป็นที่รู้จักดีจากผลงานภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากการ์ตูน เช่น Ghost Rider (2007) และ Daredevil (2003) แต่จริงๆ แล้ว การสร้างภาพยนตร์ตลกเรื่องนี้ ถือเป็นการหวนคืนสู่รากเหง้าเดิมของเขา นั่นคือการเขียนบทเรื่อง Grumpy Old Men (1993) และเนื่องจากเขาไม่ชอบภาพยนตร์รักเท่าไรนัก เขาจึงอยากให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เน้นส่วนที่เป็นตลกมากกว่า แล้วค่อยให้ความรักเป็นส่วนประกอบของเรื่อง
  • ในการสวมบท เกล นายแบบผู้หลงตัวเอง แดกซ์ เชปเพิร์ด จะต้องรับประทานอาหารสำหรับควบคุมน้ำหนักแบบเดียวกับที่ เกล รับประทานในภาพยนตร์ด้วย
  • ผู้กำกับ มาร์ก สตีเวน จอห์นสัน ปล่อยให้นักแสดงแสดงแบบด้นสด แต่ก็คอยควบคุมให้การด้นสดนั้นเป็นเพียงตัวเสริมแต่งเรื่องราวที่เตรียมเอาไว้ ไม่ให้นักแสดงแข่งกันสร้างเสียงหัวเราะจนเลยเถิดออกจากกรอบของเรื่องราว
  • ผู้อำนวยการจัดการพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ คาเรน เมเยอร์ฮอฟฟ์ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการให้ยืมพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ถ่ายทำ เพราะเธอชื่นชมความสมจริงในบทภาพยนตร์ โดยเฉพาะฉากที่ เบธ ตัวละครของ คริสเตน เบลล์ พา นิก ตัวละครของ จอช ดูฮาเมล มาชมพิพิธภัณฑ์ที่ปิดทำการแล้วในตอนกลางคืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ภัณฑารักษ์มักทำกันจริงๆ นอกจากนี้เธอยังชอบที่มีการเล่าเรื่องจริงเกี่ยวกับอักษรย่อที่ศิลปิน ปาโบล ปิกัสโซ แอบแทรกลงในภาพ มารี-เธอเรซ วอลเตอร์ เด็กสาวอายุ 17 ปีที่มีความสัมพันธ์ลับๆ กับเขา
  • แม้ผู้สร้างจะได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำในพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ แต่ก็ไม่มีสิทธิ์เคลื่อนย้ายผลงานในนั้น ผู้กำกับ มาร์ก สตีเวน จอห์นสัน จึงตั้งใจจะถ่ายทำกับผลงานชิ้นใดก็ได้ที่จัดแสดงอยู่ แล้วเขาก็พบว่ามีการแสดงภาพ I Want to Believe โดยศิลปิน ไคกัวเชียง ที่เขาชื่นชอบอยู่พอดี ทำให้เขารู้สึกดีใจมาก
  • ถ่ายทำที่พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์สำหรับฉากเปิดเรื่อง และฉากงานกาลา เซอร์เคิล ออฟ โกลด์ ซึ่งใช้พื้นที่บริเวณห้องโถงชั้นแรกที่โด่งดังของพิพิธภัณฑ์และบริเวณทางเข้า ส่วนฉากสำนักงานภายในกุกเกนไฮม์และห้องแสดงภาพ แทนน์เฮาเซอร์ แกลเลอรี นั้นถูกสร้างขึ้นใหม่ในโรงถ่ายภาพยนตร์ในบรูกลิน ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • แผนกศิลปะต้องวาดภาพเลียนแบบผลงานจริงที่โด่งดังเพื่อใช้ในฉากห้องแสดงภาพ เช่น งานของ พอล โกแกง, ตูลูส โลเทรก, วินเซนต์ แวน โกห์, จอร์จส์ ปิแอร์ เซอราต์, โคลด โมเนต์, เอดูอาร์ด มาเนต์ ไปจนถึงงานแนวคิวบิสต์และแอ็บสแทร็ก รวมถึงภาพ Woman with Yellow Hair ของ ปาโปล ปิกัสโซ นอกจากนี้พวกเขายังต้องวาดภาพเขียนแบบใหม่ขึ้นสำหรับฉากงานแสดงภาพ เดอะ เพน ของตัวละคร อันโตนิโอ ที่รับบทโดย วิลล์ อาร์เนตต์ และวาดภาพแนวเรอเนซองส์เพื่อประดับตามพาลาซโซ ในฉากงานเลี้ยงฉลองแต่งงานของ โจน ที่รับบทโดย อเล็กซิส ดซีนา
  • ศิลปิน สเลเตอร์ แบรดลีย์ ผู้เคยร่วมงานกับพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ เป็นผู้มาวาดภาพสำหรับฉากงานแสดงผลงานชุด เดอะ เพน ทั้งหมด เพื่อให้ภาพทุกชิ้นมาจากมุมมองของศิลปินคนเดียวกัน ราวกับเป็นผลงานของตัวละคร อันโตนิโอ ที่รับบทโดย วิลล์ อาร์เนตต์ จริงๆ
  • ถ่ายทำหลายฉากในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ได้แก่ ที่เปียซซา เดลลา แมดดาเลนา, โบสถ์แมดดาเลนา, โรมัน ฟอรา, สแปนิช สเต็ปส์, หอพักที่มีระเบียงสวยๆ ใกล้เปียซซา เวเนเซีย, โคลอสเซียม, วิหารแพนธีออน และน้ำพุเทรวี โดยพวกเขาจะต้องทำงานกันตอนตี 3 เพื่อหลีกเลี่ยงฝูงชนที่อาจมาแวะชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เหล่านี้
  • ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงภาพยนตร์อิตาเลียนชาว 83 ปี จิอันนี จิอานิส ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพักฟื้นจากอาการป่วย รับหน้าที่สร้างน้ำพุฟอนทานา ดิ อามอเร ให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยใช้ผลงานของประติมากร แจมโบลอญญา เป็นแรงบันดาลใจในการปั้นรูปเทพีวีนัสที่มีความสูงเกือบ 7 ฟุต เขาเริ่มสร้างร่างเปลือยของเธอก่อน แล้วจึงปั้นส่วนเครื่องแต่งกาย จากนั้นผู้ออกแบบงานสร้าง เคิร์ก เพทรูเชลลี เสริมรายละเอียดโดยให้มีเทวดาตัวน้อยห้อมล้อมตัววีนัส
  • ใช้เวลาสร้างน้ำพุฟอนทานา ดิ อามอเร ประมาณ 40 วัน และใช้เวลาติดตั้ง 6 วัน พร้อมใส่ระบบปั๊มน้ำเข้าไปเพื่อให้มันทำหน้าที่เหมือนน้ำพุจริงๆ ผู้สร้างนำน้ำพุไปจัดวางไว้ตรงกลางเปียซซา บอร์กิส ในกรุงโรม อิตาลี พร้อมขั้นบันไดหลายขั้นที่นำขึ้นไปสู่ตัวน้ำพุ จากนั้นการถ่ายทำเกิดขึ้นในตอนกลางคืน ดังนั้นนักท่องเที่ยวในตอนกลางวันจำนวนมากจึงคิดว่าน้ำพุนี้เป็นของจริง
  • ผู้ควบคุมงานสร้าง เอซรา สเวิร์ดโลว์ เล่าว่า คืนหนึ่งตอนตี 3 มีนักเรียนสเปนจำนวนเป็นพันคนกระโดดลงไปในน้ำพุฟอนทานา ดิ อามอเร ของกองถ่าย เพื่อเฉลิมฉลองในช่วงสอบเสร็จ โดยมีตำรวจพยายามจะควบคุมพวกเขาให้อยู่ แล้วการเฉลิมฉลองนั้นก็สิ้นสุดลงเมื่อถึงเวลาถ่ายทำพอดี
  • คริสเตน เบลล์ ผู้รับบท เบธ และ อเล็กซิส ดซีนา ผู้รับบท โจน ได้สวมชุดแต่งงานจากฝีมือของนักออกแบบชุดเจ้าสาว แอมเซล และเนื่องจากมีฉากที่ เบธ ลงไปในน้ำพุทั้งที่สวมชุดแต่งงานอยู่ ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ซาราห์ เอ็ดเวิร์ดส์ จึงต้องเตรียมชุดแต่งงานแบบเดียวกันถึง 5 ชุด ซึ่ง แอมเซล ก็ให้ความร่วมมืออย่างดี อีกทั้งยังตัดเย็บชุดสำหรับเพื่อนเจ้าสาวทั้งหมดให้ด้วย
  • ในบรรดาเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้มีเพลงเด่นชื่อ Starstrukk ซึ่งร้องโดย ทรีโอ!ทรี ร่วมกับ เคที เพอร์รี และเพลง Fox On The Run ของวง สวีต ที่นำกลับมาร้องใหม่โดยวง ดิ อคาเดมี อิส... นอกจากนี้ยังมีเพลงของศิลปินอย่าง แมตช์บ็อกซ์ ทเวนตี, นีดทูบรีธ, ลอรา อิซิบอร์, เปาโล นูตินี, แมตต์ ไฮเรส และ เจสัน มราซ ส่วนดนตรีประกอบภาพยนตร์นั้น มีเพลงอิตาเลียนที่โด่งดังอย่าง Tarantella และ Ave Maria รวมอยู่ด้วย

advertisement

วันนี้ในอดีต

เกร็ดภาพยนตร์

  • Big Game - ผู้กำกับ ยาลมารี เฮแลนเดอร์ มองว่าสถานที่จริงที่ตอนเหนือของประเทศฟินแลนด์ ไม่เหมือนภาพที่เขานึกไว้ในหัว จึงถ่ายทำที่เทือกเขาแอลป์แทน อ่านต่อ»
  • When Marnie Was There - เป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายก่อนที่ค่ายจิบลิจะพักการสร้างภาพยนตร์ อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

Made in China Made in China เรื่องราวความล้มเหลวของนักธุรกิจชาวคุชราตผู้หนึ่ง ซึ่งกล้าเข้าไปในโลกที่ไม่รู้จักอย่างประเทศจีน เพื่อจะทำธุรกิจสักครั้ง...อ่านต่อ»