เกร็ดน่ารู้จาก The Wolfman
เกร็ดน่ารู้
- แอนดรูว์ เควิน วอล์กเกอร์ และ เดวิด เซลฟ์ เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้โดยดัดแปลงจากบทภาพยนตร์ของ เคิร์ต ซิออดแมก เรื่อง The Wolf Man (1941) ซึ่งกำกับโดย จอร์จ แวกเนอร์ และมี ลอน เชนีย์ จูเนียร์ รับบท ลอว์เรนซ์ ทัลบอต หรือมนุษย์หมาป่า ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวทำให้มนุษย์หมาป่าเป็นที่นิยมในวงการภาพยนตร์ และโด่งดังกว่าภาพยนตร์มนุษย์หมาป่าเรื่องแรกๆ อย่าง Werewolf of London (1935) ของผู้กำกับ สจวร์ต วอล์กเกอร์
- ตัวละคร ลอว์เรนซ์ ทัลบอต ที่ เบนิซิโอ เดล โทโร แสดงในเรื่องนี้ มีต้นกำเนิดมาจากเรื่อง The Wolf Man (1941) และยังได้ไปปรากฏตัวในภาพยนตร์ของยูนิเวอร์แซลอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Frankenstein Meets the Wolf Man (1943) House of Frankenstein (1944) House of Dracula (1945) และ Bud Abbott Lou Costello Meet Frankenstein (1948)
- ก่อนจะมีการนำเรื่องราวของมนุษย์หมาป่ามาสร้างเป็นภาพยนตร์ มีการเล่าขานตำนานความน่ากลัวของมนุษย์ที่กลายร่างเป็นสัตว์ร้ายในคืนพระจันทร์เต็มดวงในหลายวัฒนธรรมมานานหลายร้อยปีแล้ว เช่น ในตำนานกรีกโบราณ และในบันทึก Otia Imperialia เมื่อปี 1212 ของ เกอร์เวสแห่งทิลเบรี
- เบนิซิโอ เดล โทโร ชื่นชอบภาพยนตร์มนุษย์หมาป่ามานานแล้ว ที่บ้านของเขามีโปสเตอร์ภาพยนตร์สยองขวัญยุค 40 และมีหุ่นจำลองมนุษย์หมาป่าเป็นของสะสม และหนึ่งในโปสเตอร์ของเขา ซึ่งเป็นภาพใกล้ของ ลอน เชนีย์ จูเนียร์ ตอนแสดงเป็นมนุษย์หมาป่า ก็เป็นแรงบันดาลใจให้ ริก ยอร์น ผู้จัดการของ เบนิซิโอ และผู้อำนวยการสร้าง แนะนำให้ เบนิซิโอ ซึ่งในตอนนั้นไว้เคราดก ริเริ่มนำ The Wolf Man (1941) มาสร้างใหม่เป็นภาพยนตร์เรื่องนี้
- เบนิซิโอ เดล โทโร ผู้อำนวยการสร้างและผู้รับบท ลอว์เรนซ์ ทัลบอต ไม่ต้องการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เหมือน The Wolf Man (1941) ต้นฉบับแบบฉากต่อฉาก แต่ต้องการทำให้ภาพยนตร์ทันสมัยขึ้น เบนิซิโอ ร่วมกับผู้อำนวยการสร้าง ริก ยอร์น และ สก็อตต์ สตูเบอร์ จึงช่วยกันใส่จุดหักมุมเข้าไปในภาพยนตร์ โดยที่ยังคงให้เกียรติต้นฉบับ
- ก่อนจะมาอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ฌอน แดเนียล เคยนำภาพยนตร์สยองขวัญยุคภาพยนตร์สัตว์ประหลาดมาสร้างใหม่มาก่อนแล้ว นั่นคือเรื่อง The Mummy (1999)
- โจ จอห์นสตัน เข้ามารับหน้าที่กำกับ หลังจาก มาร์ก โรมาเนก ถอนตัวออกไปก่อนเริ่มถ่ายทำ เพราะความเห็นไม่ตรงกับผู้สร้างคนอื่นๆ ในเรื่องงบประมาณ
- ตัวละคร จอห์น ทัลบอต ใน The Wolf Man (1941) ซึ่งรับบทโดย คล็อด เรนส์ นั้นมีบทบาทเพียงน้อยนิด แต่ในเรื่องนี้ ผู้สร้างต้องการให้ จอห์น ทัลบอต ที่รับบทโดย แอนโธนี ฮอปกินส์ มีความสำคัญต่อเรื่องราว นอกจากนี้ พวกเขายังเน้นความสำคัญของตัวละครอย่าง เกว็น คอนลิฟฟ์ ที่รับบทโดย เอมิลี บลันต์ และหัวหน้ายิปซี มาเลวา ที่รับบทโดย เจอรัลดีน แชปลิน อีกด้วย
- ผู้กำกับ โจ จอห์นสตัน พยายามตัดคำพูดของ เกว็น คอนลิฟฟ์ ที่รับบทโดย เอมีลี บลันต์ ออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะต้องการให้ เอมิลี ถ่ายทอดเรื่องราวโดยใช้เพียงสีหน้าที่เปี่ยมอารมณ์อย่างเต็มที่
- ตัวละคร ของ ฮิวโก วีฟวิง สร้างขึ้นจากนักสืบตัวจริง เฟร็ดเดอริก จอร์จ อเบอร์ลีน ซึ่งเป็นผู้นำในการสืบสวนคดีฆาตกรรมของ แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ หลังจากมีการพิจารณาว่าคดีนี้ใหญ่เกินกว่าแผนกสืบสวนคดีอาชญากรรมไวต์ชาเพลของลอนดอน ประเทศอังกฤษ จะรับมือไหว
- ช่างแต่งหน้าเทคนิคพิเศษ ริก เบเกอร์ ต้องการให้ตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ดูใกล้เคียงกับใน The Wolf Man (1941) ฉบับดั้งเดิมมากที่สุด เพื่อแสดงความคารวะต่อช่างแต่งหน้า แจ็ก เพียร์ซ แต่ ริก ก็ต้องการให้งานของเขาดูทันสมัย และต้องการให้มนุษย์หมาป่าของเขาดิบเถื่อนและมีความสามารถที่น่ากลัวกว่าเดิมด้วย เขากับ เดฟ เอลซีย์ ผู้ดูแลสเปเชียลเอฟเฟกต์ที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต จึงช่วยกันออกแบบมนุษย์หมาป่าฉบับที่สดใหม่ที่สุดออกมา
- ในขั้นตอนการแต่งหน้ามนุษย์หมาป่า ชิ้นส่วนที่จะนำมาติดบนใบหน้าของนักแสดง เบนิซิโอ เดล โทโร นั้นจะมีหลายชิ้นแยกออกจากกัน ไม่ใช่หน้ากากชิ้นเดียวใหญ่ๆ เพื่อให้ เบนิซิโอ สามารถขยับใบหน้าและถ่ายทอดอารมณ์ของตัวเองได้ เนื่องจากผู้กำกับ โจ จอห์นสตัน ต้องการถ่ายทำให้สมจริงที่สุดก่อน แล้วจึงค่อยใช้คอมพิวเตอร์เข้าช่วยเฉพาะในฉากที่ถ่ายทำไม่ได้
- ช่างแต่งหน้าเทคนิคพิเศษ ริก เบเกอร์ ทดสอบการแต่งหน้ามนุษย์หมาป่ากับตัวเอง ก่อนที่จะแต่งให้นักแสดง เบนิซิโอ เดล โทโร โดยเขาใช้กาวติดที่ผม พ่นแอร์บรัชใส่หน้า เทเลือดปลอมลงไปในปาก แล้วถ่ายภาพตัวเองตอนเป็นมนุษย์หมาป่าเอาไว้ สุดท้ายแล้ว เขาสามารถลดทอนขั้นตอนลงได้ จนเหลือเวลาที่ต้องใช้ในการแต่งหน้า 3 ชั่วโมง ส่วนตอนถอดและลบการแต่งหน้าออกนั้นใช้เวลา 1 ชั่วโมง
- ช่างแต่งหน้าเทคนิคพิเศษ ริก เบเกอร์ แปลงโฉมให้ เบนิซิโอ เดล โทโร กลายเป็นมนุษย์หมาป่าโดยติดชิ้นส่วนที่ทำจากโฟมและลาเท็กซ์รอบคิ้วและจมูกของเขา ส่วนขอบของชิ้นส่วนนั้นบางเฉียบจึงสามารถเชื่อมต่อกับผิวหนังของนักแสดงได้อย่างกลมกลืน จากนั้น เบนิซิโอ ต้องเสริมคางเทียม ใส่ฟันแหลมๆ พร้อมเขี้ยวคมกริบ และสวมผมปลอมกับเคราปลอม
- หลังจากการแต่งหน้ามนุษย์หมาป่าของช่างแต่งหน้าพิเศษ ริก เบเกอร์ ได้รับการอนุมัติ แผนกเอฟเฟกต์สิ่งมีชีวิตของเขาก็เริ่มสร้างชุดมนุษย์หมาป่าที่เข้ากันกับการแต่งหน้านั้น ชุดเหล่านั้นตัดเย็บจากขนจามรี แบบเดียวกับที่ช่างแต่งหน้า แจ็ก เพียร์ซ เคยใช้ในภาพยนตร์ต้นฉบับ The Wolf Man (1941) นอกจากนี้ ริก ยังใช้ขนสัตว์แผ่นบางซึ่งนุ่มกว่า สำหรับส่วนขอบขนบนใบหน้าของ เบนิซิโอ ซึ่งทำให้ขนที่ตัวกลมกลืนกับใบหน้าได้ดียิ่งขึ้น
- เดิมทีช่างแต่งหน้าพิเศษ ริก เบเกอร์ ได้รับคำสั่งว่า ไม่ต้องหาเสื้อผ้าให้มนุษย์หมาป่ามากเกินไปนัก แต่ ริก ให้ความเห็นว่า พวกเขาจะต้องใช้ชุดมนุษย์หมาป่าอย่างน้อย 3 ชุดสำหรับนักแสดงหลัก และอีก 3 ชุดสำหรับนักแสดงแทนที่ต้องปีนหลังคาหรือสู้ในไฟ
- แผนกแต่งหน้าต้องคอยแก้ปัญหา หลังจากที่ เบนิซิโอ เดล โทโร ผู้รับบท ลอว์เรนซ์ ทัลบอต หรือมนุษย์หมาป่า แสดงฉากกัดเหยื่อที่ต้องสะบัดศีรษะไปมา เพราะครึ่งหนึ่งของคางปลอมของเขามักจะหลุดห้อยร่องแร่งออกมา
- เมื่อตัวละคร ลอว์เรนซ์ ทัลบอต กลายร่างเป็นมนุษย์หมาป่าแล้ว เขาจะมีความสูงเพิ่มขึ้นด้วย เบนิซิโอ เดล โทโร ผู้แสดง จึงต้องสวมส่วนต่อขาที่ช่างแต่งหน้าเทคนิคพิเศษ ริก เบเกอร์ สร้างขึ้นจากเทคโนโลยีแขนขาเทียม โดยออกแบบให้เรียบง่ายและมีน้ำหนักเบา ส่วนต่อขาพวกนี้อาจเห็นได้ในฉากที่มีความเคลื่อนไหวช้า ส่วนฉากกระโจนหรือวิ่งนั้น ผู้ชมจะเห็นเท้ามนุษย์หมาป่าที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษด้วยหลากหลายวิธี
- นักแสดงแทนในบทมนุษย์หมาป่าต้องสวมเท้าแบบสุนัขที่มีลักษณะเหมือนส้นสูง พร้อมห้อยตัวบนสายเคเบิลที่ช่วยให้พวกเขาแสดงฉากวิ่ง กระโดด หรือจู่โจมได้ และบางครั้งในฉากเหล่านี้มีการใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกแบบแอนิเมชันด้วย เช่น ภาพนิ้วเท้ามนุษย์หมาป่าจิกเข้าไปในพื้น ภาพเท้ามนุษย์หมาป่าถีบตัวขึ้นจากพื้น และภาพการขยับกล้ามเนื้อขา เป็นต้น
- เนื่องจากมนุษย์หมาป่าจะปรากฏร่างในช่วงกลางคืนยามแสงจันทร์สาดส่องเท่านั้น จึงต้องถ่ายทำตอนกลางคืนหลายครั้ง ทุกคนในกองถ่ายจึงต้องใช้เวลาช่วง 6 สัปดาห์แรกห้อมล้อมไปด้วยเต็นท์กันน้ำ ขณะที่พวกเขาสวมชุดสำหรับอากาศชื้นแฉะ
- ภาพยนตร์ The Wolf Man (1941) ต้นฉบับถ่ายทอดยุคสมัยนั้นๆ ในแคว้นเวลส์ของสหราชอาณาจักร ส่วนภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวในอังกฤษ ยุควิกตอเรียนปี 1890 เนื่องจากผู้สร้างต้องการบรรยากาศสยองขวัญของเมืองลอนดอนที่สกปรก มืดหม่น มีแสงสว่างเพียงจากตะเกียงแก๊ส และเต็มไปด้วยหมอก
- ผู้ออกแบบงานสร้าง ริก ไฮน์ริกส์ ต้องการให้คฤหาสน์ตระกูลทัลบอตเป็นแบบโกธิก แต่ก็อยากหลีกเลี่ยงคฤหาสน์ที่ตรงตามแบบฉบับภาพยนตร์สยองขวัญ หลังจากเสาะหาไปทั่วอังกฤษ พวกเขาพบ แชตส์เวิร์ธ เฮาส์ หรือปราสาทยอด ในเดอร์บีไชร์ ซึ่งสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16 ปัจจุบันเป็นของท่านดุกและดัชเชสแห่งเดวอนไชร์ ผู้ซึ่งยินยอมให้แผนกศิลป์เปลี่ยนแปลงคฤหาสน์ชั่วคราว เช่น ทำให้ด้านหน้าคฤหาสน์รวมทั้งสวนมีลักษณะรกร้าง และมีการใช้ขนสัตว์เพื่อสื่อถึงความเป็นสัตว์ร้าย
- ผู้สร้างเห็นว่าเมืองเล็กๆ ของประเทศอังกฤษที่มีอายุเก่าแก่เกือบ 900 ปีอย่าง คาสเทิล คูมบ์ สามารถดัดแปลงให้เป็นเมืองในยุควิกตอเรียนได้ง่าย เพราะมีโครงสร้างอาคารที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมของอังกฤษยุคเริ่มแรก บ้านหลายหลังที่นั่นถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และเวลาที่ผ่านไปก็ทำให้อาคารเหล่านั้นโน้มเอียงเข้าหากันอย่างงดงาม พวกเขาจึงดัดแปลงเมืองนี้ให้เป็นฉากเมืองแบล็กมัวร์ หมู่บ้านสุดสยองที่เต็มไปด้วยผู้เชื่อถือโชคลางที่ใช้ชีวิตอยู่กันในบ้านมืดๆ
- ผู้จัดการฝ่ายสถานที่ถ่ายทำ เอ็มมา พิลล์ เป็นผู้เจรจาให้ชาวบ้านยินยอมให้กองถ่ายเข้าไปถ่ายทำในเมืองคาสเทิล คูมบ์ ประเทศอังกฤษ จากนั้นก็ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ออกแบบงานสร้าง ริก ไฮน์ริกส์ และแผนกศิลป์ ในการถอดสิ่งของยุคปัจจุบันอย่างสายไฟ เสาอากาศ กริ่ง และล็อกแบบทันสมัยออกไปจากฉาก ส่วนตู้ไปรษณีย์รอยัลเมลนั้นเป็นสมบัติของพระราชินีซึ่งไม่สามารถถอดออกได้ แผนกศิลป์จึงสร้างสิ่งอำพรางมาติดไว้ขณะถ่ายทำ โดยสามารถถอดสิ่งอำพรางออกได้เมื่อต้องการส่งจดหมาย
- ถ่ายทำฉากสถานบำบัดจิตกันที่วิทยาลัย โอลด์ รอยัล นาวัล คอลเลจ ที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งแม่น้ำเธมส์ ในกรีนวิช ของลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งใช้เป็นโรงพยาบาลและศูนย์ฝึกของทหารเรือ อาคารนี้ออกแบบโดย คริสโตเฟอร์ เรน ร่วมด้วยสถาปนิก นิโคลัส ฮอว์กสมัวร์, จอห์น แวนบรูห์ และ เจมส์ สจวร์ต
- ในตอนแรก ผู้สร้างออกแบบเสียงหมาป่าหอนโดยนำเสียงเลียนแบบสัตว์ เสียงเด็กร้องไห้ และเสียงประดิษฐ์ มาดำเนินการทางดิจิตอล แต่พวกเขาไม่พอใจกับผลลัพธ์ จนกระทั่งผู้ออกแบบเสียง ฮาวเวลล์ กิบเบนส์ แนะนำให้ใช้เสียงนักร้องอุปรากร พวกเขาจึงคัดตัวนักร้องอุปรากรหลายคนในลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา และเลือกนักร้องที่มีระดับเสียงเบสบาริโทนมาบันทึกเสียงหอนเป็นสิบๆ เสียง จากนั้นพวกเขานำเสียงเหล่านั้นมาลดระดับเสียงด้วยกระบวนการดิจิตอลประมาณร้อยละ 40 จนได้เป็นเสียงหมาป่าหอนดังที่ได้ยินภาพยนตร์
- เครื่องแต่งกายส่วนใหญ่ตัดเย็บด้วยมือ และหากเป็นเครื่องแต่งกายที่ใช้ในฉากแปลงร่างและฉากต่อสู้ โดยเฉพาะฉากที่มีเลือดและไฟ ก็จะต้องตัดเย็บชุดสำรองขึ้นมาถึง 20 ชุด และบางชุดต้องใช้เนื้อผ้ากันไฟเพื่อความปลอดภัยของนักแสดงด้วย
- เบนิซิโอ เดล โทโร ที่รับบท ลอว์เรนซ์ ทัลบอต มีโอกาสได้ถือแบบจำลองไม้เท้าหัวหมาป่า แบบเดียวกับที่ ลอน เชนีย์ จูเนียร์ ผู้รับบทเดียวกันนี้เป็นผู้ถือในภาพยนตร์ต้นฉบับ The Wolf Man (1941)
- ริก เบเกอร์ เลือกทำอาชีพช่างแต่งหน้าพิเศษเพราะภาพยนตร์หลายเรื่องรวมถึง The Wolf Man (1941) เมื่อรู้ว่าจะมีการนำภาพยนตร์ดังกล่าวมาสร้างใหม่ ริก ซึ่งกำลังทำงานในกองถ่าย Norbit (2007) ของยูนิเวอร์แซลเช่นกัน จึงรีบเข้าไปบอกผู้บริหารว่าเขาอยากรับหน้าที่แต่งหน้าในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้บริหารตอบว่า ริก เป็นตัวเลือกเดียวของผู้สร้างเช่นกัน แต่ผู้สร้างไม่ได้ติดต่อมาเพราะ ริก ไม่มีตัวแทนสำหรับติดต่อ
- ก่อนหน้าจะมารับบทมนุษย์หมาป่าในเรื่องนี้ เบนิซิโด เดล โทโร เคยรับบทที่ต้องแต่งหน้าคล้ายกันมาก่อนในเรื่อง Big Top Pee-wee (1988) ที่เขาแสดงเป็นคนที่มีใบหน้าคล้ายสุนัข
- ตัวละคร โอฟีเลีย ที่รับบทโดย อลิซาเบธ ครอฟต์, โฮเรชิโอ ที่รับบทโดย แซม เฮเซลดีน และ เกอร์ทรูด ที่รับบทโดย บริดเจตต์ มิลลาร์ ล้วนเป็นชื่อตัวละครที่มาจากวรรณกรรมเรื่อง Hamlet
- เดิมมีกำหนดฉายในโรงภาพยนตร์ปี 2007 แต่การหาตัวผู้กำกับนั้นล่าช้า จนทำให้ต้องเลื่อนวันฉายเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2009 จากนั้นเลื่อนเป็นเดือนพฤศจิกายน 2009 และเลื่อนอีกครั้งเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2010
- นักแสดงหลายคน รวมถึง จีน ซิมมอนส์ และ เดวิด ลี ร็อธ ถูกเรียกตัวเข้ามาช่วยสร้างเสียงมนุษย์หมาป่าหอน
- แดนนี เอลฟ์แมน แต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้โดยได้รับแรงบันดาลใจจากดนตรีประกอบภาพยนตร์ Dracula (1992) ของผู้กำกับ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ที่แต่งโดย วอยจีช์ คิลาร์ แต่หลังจากมีการถ่ายซ่อมหลายครั้ง ภาพยนตร์ก็แตกต่างไปจากเดิมจนไม่เข้ากับดนตรีที่บันทึกเสร็จแล้ว ผู้สร้างจึงคิดจะให้ พอล แฮสลินเจอร์ เข้ามาแต่งดนตรีใหม่ แต่ผู้บริหารของยูนิเวอร์แซลตัดสินใจให้ปรับปรุงดนตรีของ แดนนี ใหม่แทน
advertisement
วันนี้ในอดีต
- รักแห่งสยามเข้าฉายปี 2007 แสดง มาริโอ้ เมาเร่อ, วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล, กัญญา รัตนเพชร์
- Harry Potter and the Chamber of Secretsเข้าฉายปี 2002 แสดง Daniel Radcliffe , Emma Watson , Rupert Grint
- ตีสาม 3Dเข้าฉายปี 2012 แสดง กาญจน์เกล้า ด้วยเศียรเกล้า, โทนี่ รากแก่น, ชาคริต แย้มนาม
เกร็ดภาพยนตร์
- The Age of Adaline - แองเจลา แลนส์บูรี คือนักแสดงที่ถูกวางตัวให้รับบท เฟลมมิง เมื่อปี 2010 แต่ท้ายสุดแล้ว เอลเลน เบอร์สตีน คือผู้ที่ได้แสดงบทนี้ อ่านต่อ»
- Skin Trade - ดอล์ฟ ลันด์เกรน ผู้รับบท นิก เขียนบทเรื่องนี้ในปี 2006-2007 โดยตั้งใจว่าจะกำกับเอง แต่ภายหลังตัดสินใจมอบหน้าที่กำกับให้แก่ เอกชัย เอื้อครองธรรม โดย ดอล์ฟ จะได้ทำหน้าที่ควบคุมงานสร้างได้อย่างเต็มที่ อ่านต่อ»
เปิดกรุภาพยนตร์
Show Me The Way To The Station ซายากะ (จิเสะ นิอิตสึ) เด็กหญิงวัย 8 ขวบ อาศัยอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ที่เมืองริมชายหาดซึ่งมีรถไฟสีแดงวิ่งผ่าน ระหว่างที่ไปค...อ่านต่อ»