เกร็ดน่ารู้จาก Cloudy with a Chance of Meatballs
เกร็ดน่ารู้
- สร้างจากหนังสือสำหรับเด็กชื่อเรื่องเดียวกันที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1978 เขียนโดย จูดี บาร์เรตต์ และวาดภาพประกอบโดย รอน บาร์เรตต์ ปัจจุบันมียอดตีพิมพ์กว่า 1 ล้านเล่ม
- ผู้สร้างไม่ได้ใช้ภาพจากหนังสือต้นฉบับที่วาดโดย รอน บาร์เรตต์ เป็นต้นแบบในการสร้างตัวละคร แต่ใช้ภาพวาดในหนังสือชุดในยุค 50 ของ มิโรสลาฟ ซาเซก ซึ่งเป็นแนวภาพกราฟฟิกสมัยใหม่แทน นอกจากนี้ยังใช้ตุ๊กตาหุ่นเชิดมาเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้ตัวละครมีดวงตากลมโต ปากใหญ่ และมีสีหน้าและการเคลื่อนไหวที่เกินจริง ช่วยขับเน้นอารมณ์ของเรื่องให้รุนแรงยิ่งขึ้น
- ผู้สร้างแสดงความเคารพต่อหนังสือต้นฉบับด้วยการจำลองฉากเด่นๆ จากหนังสือ เช่น ฉากเยลลียักษ์ ฉากแพนเค้กยักษ์บนตึกโรงเรียน ฉากแซนด์วิชบนเรือ และอื่นๆ อีกหลายฉาก อย่างไรก็ตาม พวกเขาสร้างเรื่องราวใหม่ขึ้นมาจากภาพต่างๆ เหล่านั้น รวมทั้งคิดตัวละครใหม่ขึ้นมาด้วย เช่น ฟลินต์ ล็อกวูด พระเอกของเรื่องที่พากย์เสียงโดย บิลล์ เฮเดอร์
- บรูซ แคมป์เบลล์ พากย์เป็น นายกเทศมนตรีเชลบอร์น โดยต้องเอากระดาษชำระใส่เข้าไปในปากเพื่อให้เสียงคล้ายคนอ้วน และขณะที่เขาบันทึกเสียงในช่วงแรก เขาเพิ่งบาดเจ็บที่เอ็นร้อยหวายเพราะอุบัติเหตุ จึงต้องพากย์เสียงขณะที่นั่งเก้าอี้ และมีก้อนน้ำแข็งวางอยู่ใต้ขา
- มิสเตอร์ที ที่พากย์เสียงเป็นตำรวจ เอิร์ล เดอเวอโรซ์ ขึ้นชื่อเรื่องการเตรียมพร้อมก่อนแสดง และถึงแม้การพากย์เสียงแอนิเมชันจะไม่ต้องออกแรงเหมือนการแสดงบทบู๊ แต่ มิสเตอร์ที ก็ยังอบอุ่นร่างกายก่อนเริ่มงานอยู่เสมอ
- เป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของผู้กำกับและผู้เขียนบท ฟิล ลอร์ด และ คริสโตเฟอร์ มิลเลอร์ ที่เคยมีประสบการณ์สายโทรทัศน์มาก่อน พวกเขาอธิบายว่างานโทรทัศน์จะเน้นการสร้างสรรค์ตัวละคร มุกตลก และจังหวะเดินเรื่อง ในขณะที่ภาพยนตร์จะเน้นการสร้างสรรค์เรื่องราว และงานสายโทรทัศน์ ผู้อำนวยการสร้างและมือเขียนบทจะมีอำนาจที่สุด แต่ในการทำภาพยนตร์แอนิเมชัน จะมีการระดมความคิดเห็นจากทีมงานทุกคน
- ก่อนที่เหล่าแอนิเมเตอร์จะใช้คอมพิวเตอร์สร้างภาพอาหารต่างๆ ร่วงหล่นจากท้องฟ้าลงมาบนพื้น หัวหน้าฝ่ายวิชวลเอฟเฟกต์ ร็อบ บรีโดว์ ต้องทำการทดลองปล่อยอาหารจริงๆ ให้ร่วงลงมาหน้ากล้อง เพื่อศึกษาลักษณะการเคลื่อนไหวของอาหาร นอกจากนี้ยังต้องศึกษาลักษณะของสภาพอากาศแบบต่างๆ เช่น ฝน หิมะ และทอร์นาโด เพื่อนำมารวมกับภาพอาหารอีกด้วย
- โดยปกติแล้วในภาพยนตร์แอนิเมชันจะใช้วิธีส่องแสงไปที่ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นในเฟรมโดยแยกกัน ก่อนจะเรนเดอร์เข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ต้องอาศัยความอดทนอย่างสูง แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ระบบแสงอาร์โนลด์ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในแอนิเมชัน Monster House (2006) ซึ่งเป็นการให้แสงโดยเลียนแบบการถ่ายภาพจริงๆ จึงไม่ต้องกำหนดจุดแสง แต่สาดแสงไปทั่วภาพได้เลย และแทนที่จะบันทึกภาพภายใต้แสงสว่างโดยตรง พวกเขาสามารถบันทึกแสงที่สะท้อนจากวัตถุอีกทีหนึ่ง กระบวนการให้แสงครอบจักรวาลนี้ทำให้สามารถสร้างฉากที่ซับซ้อนขึ้นได้มาก
- ฉากภายนอกห้องทดลองของ ฟลินต์ ล็อกวูด ที่พากย์เสียงโดย บิลล์ เฮเดอร์ จำลองมาจาก วอร์เดนคลิฟฟ์ ทาวเวอร์ ซึ่งเป็นห้องทดลองการสื่อสารแบบไร้สายของ นิโคลา เทสลา
- มีการใช้เสียงกรีดร้องวิลเฮล์มอันโด่งดังในฉากที่อ่างปลาซาร์ดีนยักษ์ตกลงมาในสวนสนุก
- เป็นภาพยนตร์ของ โคลัมเบีย พิคเจอร์ส ร่วมกับ โซนี่ พิคเจอร์ส แอนิเมชัน เรื่องแรกที่มีสัญลักษณ์ค่ายที่ต่างไปจากปกติ ตอนที่สัญลักษณ์ของ โคลัมเบียร์ พิคเจอร์ส ปรากฏขึ้นมา มีกล้วยผลหนึ่งมาชนหญิงสาวถือคบไฟจนเธอกระเด็นออกไปจากจอภาพ และเมื่อสัญลักษณ์ของ โซนี่ พิคเจอร์ส แอนิเมชัน ปรากฏขึ้นมา มีเมฆครึ้มปกคลุมอยู่ตอนท้ายของสัญลักษณ์
- ในตอนใกล้ฉากจบ ตัวละคร เอิร์ล เดอเวอโรซ์ กระโดดผ่านข้าวโพดแผ่นหรือตอร์ติยาชิป แล้วมีตัวอักษร T ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง เป็นการเอ่ยเป็นนัยๆ ถึง มิสเตอร์ที ผู้พากย์เสียง เอิร์ล เดอเวอโรซ์
- มิสเตอร์ที มีทรงผมเด่นเป็นทรงโมฮอว์กรูปตัว T ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับ เอิร์ล เดอเวอโรซ์ ตัวละครที่เขาพากย์เสียง ซึ่งมีศีรษะโล้นเป็นรูปตัว T
- ขณะพากย์เสียงให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ บิลล์ เฮเดอร์ ที่พากย์เสียงเป็น ฟลินต์ ล็อกวูด ไม่เคยได้พบ บรูซ แคมป์เบลล์ ที่พากย์เสียงเป็น นายกเทศมนตรีเชลบอร์น เลย บิลล์ มีโอกาสได้พบเขาเป็นครั้งแรกในวันฉายภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์ คือวันที่ 12 กันยายน 2009
advertisement
วันนี้ในอดีต
- Sherlock Holmes: A Game of Shadowsเข้าฉายปี 2011 แสดง Robert Downey Jr., Jude Law, Noomi Rapace
- โลกทั้งใบให้นายคนเดียวเข้าฉายปี 1995 แสดง สมชาย เข็มกลัด , ปราโมทย์ แสงศร , สุทธิดา เกษมสันต์ ณ อยุธยา
- Arthur Christmasเข้าฉายปี 2011 แสดง James McAvoy, Jim Broadbent, Bill Nighy
เกร็ดภาพยนตร์
- The Last Five Years - ใช้เวลา 21 วันในการถ่ายทำ และถ่ายทำฉากเพลง Goodbye Until Tomorrow ในวันสุดท้าย อ่านต่อ»
- Mad Max: Fury Road - ฉากเทคนิคพิเศษประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ช่วย แต่เป็นของจริงโดยใช้นักแสดงแทน ฉาก และการแต่งหน้าช่วย ส่วนที่ใช้คอมพิวเตอร์ก็ใช้เพียงลบเชือก ตกแต่งพื้นที่ทะเลทรายนามิบ และสร้างแขนปลอมข้างซ้ายของ ชาร์ลีซ เธอรอน ผู้รับบท ฟิวริโอซา เท่านั้น อ่านต่อ»
เปิดกรุภาพยนตร์
Why Cheat India เรื่องราวเน้นที่การทุจริตในระบบการศึกษาของประเทศ แนวคิดของการใช้เงินเพื่อซื้ออนาคตไม่ว่าจะเป็นการศึกษา งาน และรายได้ แม...อ่านต่อ»