เกร็ดน่ารู้จาก ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่

เกร็ดน่ารู้
  • ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่ คือฉบับปรับปรุงใหม่ของ ครูบ้านนอก (1978) ภาพยนตร์ที่เมื่อ 31 ปีที่แล้ว ทำรายได้ถึง 9 ล้านบาท และได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมและภาพยนตร์สร้างสรรค์ดีเด่นในเทศกาลภาพยนตร์ที่รัสเซีย พร้อมแจ้งเกิด ปิยะ ตระกูลราษฎร์ และ วาสนา สิทธิเวช ให้กลายเป็นดาราดังประดับวงการ ครูบ้านนอก เป็นผลงานการกำกับเรื่องแรกของ สุรสีห์ ผาธรรม ผู้ย้อนกลับมากำกับฉบับใหม่นี้ด้วยตัวเอง หลังจากห่างหายจากวงการไปนาน
  • ป๊อป - ฟ้อนฟ้า ผาธรรม ที่มารับบทนางเอก ครูแสงดาว เป็นหลานสาวของผู้กำกับ สุรสีห์ ผาธรรม ด้าน แคน - อสงไขย ผาธรรม ที่มารับบท ครูสมชาติ เป็นลูกชายของผู้กำกับ ส่วนผู้อำนวยการสร้าง สุชาติ ผาธรรม เป็นน้องชายของผู้กำกับ
  • ปา - คำปาณี วงทองคำ ที่รับบท ลำดวน เป็นนักแสดงเพียงคนเดียวในเรื่องที่มาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปา เป็นลูกสาวของเพื่อนของผู้กำกับ สุรสีห์ ผาธรรม เธอมีความสามารถด้านนาฏศิลป์ตามแบบแผนของลาว จนได้เป็นตัวแทนไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมลาวในหลายประเทศ นอกจากนี้เธอยังเป็นนักร้องและนักแสดงมิวสิกวิดีโอด้วย
  • นอกจาก พันนา ฤทธิไกร จะรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาภาพยนตร์คู่กับ ปรัชญา ปิ่นแก้ว แล้ว ยังร่วมแสดงในบทที่ผู้กำกับและผู้เขียนบท สุรสีห์ ผาธรรม เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่สำหรับภาพยนตร์ฉบับใหม่นี้ นั่นคือบท อาจารย์พัน
  • เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา หรือ หม่ำ จ๊กมก ได้ชมภาพยนตร์ ครูบ้านนอก (1978) ฉบับเก่าตอนอายุประมาณ 11-12 ปี และจำได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่โด่งดังมาก และเป็นผลงานแปลกใหม่สำหรับยุคที่เต็มไปด้วยภาพยนตร์รักกุ๊กกิ๊ก บท ครูใหญ่ชาลี ที่ หม่ำ แสดงในเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากบท ครูใหญ่คำเม้า ที่ นพดล ดวงพร แสดงไว้ในฉบับดั้งเดิม
  • ที่มาของภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มมาจาก พันนา ฤทธิไกร ได้รู้จักกับ สุชาติ ผาธรรม น้องชายของผู้กำกับ สุรสีห์ ผาธรรม จึงถามไถ่และชักชวนให้ สุรสีห์ กลับมาสร้างภาพยนตร์อีกครั้ง พวกเขาได้ปรึกษากับ ปรัชญา ปิ่นแก้ว และ เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา หรือ หม่ำ จ๊กมก รวมถึง เสี่ยเจียง - สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ทั้งหมดเห็นตรงกันว่าควรนำ ครูบ้านนอก (1978) กลับมาสร้างใหม่อีกครั้ง
  • มีการนำบทภาพยนตร์ดั้งเดิมของ ครูบ้านนอก (1978) มาให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ข้อดีและข้อด้อย เพื่อพัฒนาบทใหม่ให้ยังคงความประทับใจ แต่การเล่าเรื่องไม่เชยเหมือนเก่า จากนั้นจึงมีการเพิ่มฉากใหม่ๆ เข้าไป เช่น ฉากที่ ครูใหญ่ชาลี ที่รับบทโดย เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา หรือ หม่ำ จ๊กมก ขี่ม้าบักจ้อนพร้อมสวมแว่นตากันแดด
  • ผู้กำกับ สุรสีห์ ผาธรรม ตั้งใจให้ผู้รับบท ครูพิเชษฐ์ เป็นนักแสดงหน้าใหม่เพื่อให้ดูสมจริงที่สุด เขาจึงประกาศรับสมัครผู้ชายชาวอีสานอายุระหว่าง 19-22 ปี สูงไม่ต่ำกว่า 170 ซ.ม. ผิวสีดำแดง พูดภาษาอีสานได้ เล่นกีตาร์และร้องเพลงได้ จากนั้นมีคนส่งใบสมัครเข้ามา 100 กว่าคน รวมถึง ตุ๊ก - พิเชษฐ์ กองการ ผู้ซึ่งได้รับเลือกเพราะมีรูปร่างหน้าตาคมเข้มและทำได้ดีตอนทดสอบการแสดง
  • ก่อนเปิดกล้อง เหล่านักแสดงหน้าใหม่ต้องเข้าค่ายเรียนการแสดง โดยกินนอนกันอยู่ที่กองถ่ายเฮือนสวนดอนธรรม จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นเวลาร่วม 1 เดือน พวกเขาต้องฝึกออกเสียงภาษาอีสานและภาษากลาง ฝึกสื่ออารมณ์ด้วยสีหน้าและแววตา ฝึกการแสดงท่าทางให้เหมือนคุณครู และศึกษาจากภาพยนตร์เรื่องอื่น นอกจากนี้ ตุ๊ก - พิเชษฐ์ กองการ ผู้รับบท ครูพิเชษฐ์ และ ป๊อป - ฟ้อนฟ้า ผาธรรม ผู้รับบท ครูแสงดาว ยังต้องเรียนร้องเพลง ส่วน ตุ๊ก ได้ไปจัดรายการวิทยุ เพื่อฝึกออกเสียงอีกด้วย
  • ถ่ายทำร้อยละ 70 ของฉากทั้งหมดที่เฮือนสวนดอนธรรม จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ซึ่งได้รับการขนานนามว่าว่าฮอลลีวูดอีสาน เพราะมีพื้นที่ใช้สอยกว่า 50 ไร่ และมีสถาปัตยกรรมอีสานแบบดั้งเดิม เจ้าของพื้นที่ โชฎึก คงสมของ คอยอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้เป็นอย่างดี เช่น ติดตั้งไฟฟ้าเพิ่มเติม และอนุญาตให้สร้างโรงเรียนบ้านหนองฮีใหญ่ในพื้นที่
  • ภาพยนตร์หยิบยกเอาผญาภาษิตอีสานบทหนึ่งมาเป็นคติประจำใจของ ครูพิเชษฐ์ ตัวละครเอกที่รับบทโดย ตุ๊ก - พิเชษฐ์ กองการ ผญาบทนั้นกล่าวไว้ว่า ขุนหาญห้าวครองเมืองจั่งเฮืองฮุ่ง ขุนขี้ย่านครองบ้านบ่ฮุ่งเฮือง แปลว่า ผู้นำที่ห้าวหาญปกครองบ้านเมืองจึงเรืองรุ่ง ผู้นำที่ขี้ขลาดปกครองบ้านเมืองไม่รุ่งเรือง
  • เหตุผลที่ผู้กำกับ สุรสีห์ ผาธรรม อยากนำ ครูบ้านนอก (1978) กลับมาสร้างใหม่เป็นเพราะฉบับเก่าที่อยู่ในรูปแบบวีซีดี ดีวีดี หรือที่จัดฉายทางโทรทัศน์มีเนื้อหาที่ถูกตัดทอนออกไป และขาดอรรถรสเนื่องจากยังเป็นระบบพากย์เสียง และขอบภาพขาดหายเพราะถ่ายทำด้วยระบบเลนส์สโคป นอกจากนี้ยังเป็นเพราะภาพยนตร์ที่พูดถึงการพัฒนาสังคมนั้นห่างหายจากวงการไปนานแล้ว
  • มีฉากหนึ่งที่ ครูชาลี ที่รับบทโดย เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา หรือ หม่ำ จ๊กมก ต้องขี่ม้า ผู้กำกับ สุรสีห์ ผาธรรม คิดว่า หม่ำ ซึ่งไม่เคยขี่ม้ามาก่อนอาจไม่ยอมแสดงฉากนี้ด้วยตัวเอง เพราะเขาเป็นคนระวังตัวและม้าที่ใช้เข้าฉากก็ค่อนข้างดื้อ แต่เมื่อ หม่ำ เดินเข้าไปจับม้า มันกลับหายดื้อและยอมให้ขี่ได้หลายเทก จนผู้กำกับได้ภาพที่พอใจ
  • ภาพยนตร์สอดแทรกวิถีการทำมาหากินและประเพณีของชาวบ้านอีสาน เช่น งานคลอดบุตรหรือ งันกรรม ซึ่งมีการผูกแขนให้เด็กและแม่ลูกอ่อน และดื่มสังสรรค์กัน นอกจากนี้ยังมีงานศพที่เรียกว่า เฮินดี และประเพณีลงข่วงเข็ญฝ้ายอีกด้วย
  • เพลงประกอบภาพยนตร์ที่เด่นๆ ได้แก่ เพลงที่พูดถึงสังคมชนบทและอุดมการณ์ของนักต่อสู้เพื่อประชาชนชื่อ แสงลำสุดท้าย ซึ่งเล่นกีตาร์และขับร้องโดย พิเชษฐ์ กองการ ที่รับบท ครูพิเชษฐ์ เพลงสอนให้เด็กทำความดีชื่อ จ-อำ จำ เพลงกายบริหารชื่อ บุญคุณของป่า นอกจากนี้ยังมีเพลง เด็กเอ๋ยเด็กน้อย และเพลง แม่พิมพ์ของชาติ ซึ่งเดิมเป็นของ วงจันทร์ ไพโรจน์ แต่ในฉบับนี้ ป๊อป - ฟ้อนฟ้า ผาธรรม ที่รับบท ครูแสงดาว เป็นผู้ขับร้องใหม่
  • มีฉากหนึ่งที่ ป๊อป - ฟ้อนฟ้า ผาธรรม ผู้รับบท ครูแสงดาว ต้องรับประทานฮวกหรือลูกอ๊อด ซึ่งเธอไม่เคยรับประทานมาก่อน ป๊อป จึงต้องทำใจโดยกลั้นหายใจก่อนที่จะรับประทานเข้าไปเพียงเล็กน้อย ป๊อป บรรยายความรู้สึกว่าไม่ได้กลิ่นแต่ได้รสชาติคล้ายกบที่เธอเคยรับประทาน
  • ฉากกายบริหารประกอบเพลง อย่าเกียจคร้าน หลังเคารพธงชาติ มีนักเรียนอายุไม่เกิน 10 ปีเข้าฉากกว่า 80 คน ซึ่งเป็นนักเรียนจริงๆ จากโรงเรียนใกล้สถานที่ถ่ายทำ สมทบกับเด็กจากที่อื่นเพราะบางคนไปหาผู้ปกครองที่กรุงเทพฯ ในช่วงปิดภาคการเรียน ปัญหาสำคัญของฉากนี้คือเด็กๆ ชอบมองกล้อง ทีมงานจึงต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจ และคอยแจกขนมให้เด็กๆ ไม่ดื้อ แต่ ตุ๊ก - พิเชษฐ์ กองการ ที่รับบท ครูพิเชษฐ์ กลับเห็นว่าการเป็นผู้นำกายบริหารในฉากนี้ไม่ยากเท่าไร เพราะเขาเคยสอนเด็กๆ แถวบ้านให้เล่นฟุตบอลมาก่อน

advertisement

วันนี้ในอดีต

เกร็ดภาพยนตร์

  • Unbroken - เดน ดีฮาน เกือบได้แสดงบท หลุยส์ แต่สุดท้ายแล้วบทนี้ตกเป็นของ แจ็ก โอ'คอนเนลล์ อ่านต่อ»
  • Focus - เป็นภาพยนตร์เรต R เรื่องแรกของ วิลล์ สมิธ ผู้รับบท นิกกี หลังจาก Bad Boys II (2003) อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

หลวงตามหาเฮง หลวงตามหาเฮง เรื่องราวของหลวงตา (ค่อม ชวนชื่น) ใจดีแห่งโคกอีรวย ที่ให้โชคลาภด้วยเลขเด็ดเลขดีแก่ญาติโยม...อ่านต่อ»