เกร็ดน่ารู้จาก 2012
เกร็ดน่ารู้
- ผู้ริเริ่มสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นคนแรก คือ ฮารัลด์ โคลเซอร์ ซึ่งภายหลังเขาได้ร่วมเขียนบทกับผู้กำกับ โรแลนด์ เอ็มเมอริช โดยให้เนื้อเรื่องของภาพยนตร์อ้างอิงจากความเชื่อของอินเดียนแดงเผ่ามายาที่ว่า ปฏิทินจะสิ้นสุดวงจรที่ 13 ในวันที่ 21 ธันวาคม 2012 ซึ่งคนบางกลุ่มเชื่อว่าหลังจากนั้นโลกจะเหลือแต่ความว่างเปล่า
- ฮารัลด์ โคลเซอร์ ผู้เขียนบท ผู้อำนวยการสร้าง และผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบ ยอมรับว่าตัวละคร แจ็กสัน เคอร์ติส ที่รับบทโดย จอห์น คูแซก คล้ายกับตัวเขาเองมาก คือเป็นพ่อม่ายจากการหย่าร้างที่มีลูก 2 คน และเป็นนักเขียน
- เดิมผู้สร้างไม่ต้องการให้มีตัวละครที่เป็นผู้ปกครองประเทศ เพราะผู้กำกับ โรแลนด์ เอ็มเมอริช เคยทำเช่นนั้นมาแล้วในภาพยนตร์เกี่ยวกับวิบัติภัยเรื่องอื่นๆ ของเขา แต่หลังจากปรึกษากัน พวกเขาก็เปลี่ยนใจ เพราะต้องการเน้นให้ผู้ชมเห็นความยิ่งใหญ่ในการทำงานของรัฐบาลในภาพยนตร์เรื่องนี้
- โรแลนด์ เอ็มเมอริช และ ฮารัลด์ โคลเซอร์ เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีขั้นต้นของประเทศสหรัฐอเมริกา เดิมพวกเขากำหนดให้ประธานาธิบดีในภาพยนตร์เป็นผู้หญิง แต่เมื่อเห็นผลการเลือกตั้งจากรัฐไอโอวา ฮารัลด์ ก็คิดว่าประธานาธิบดีหญิงยังไม่เป็นที่นิยมนัก พวกเขาจึงเปลี่ยนเป็นตัวละครประธานาธิบดีชาย โธมัส วิลสัน แล้วเลือก แดนนี โกลเวอร์ มารับบทนี้
- แธนดี นิวตัน ที่รับบท ลอรา วิลสัน เคยร่วมแสดงกับ แดนนี โกลเวอร์ ผู้รับบทประธานาธิบดี โธมัส วิลสัน มาก่อนแล้วใน Beloved (1998) และ แธนดี ยังเคยร่วมแสดงกับ ชิวีเทล เอจิโอฟอร์ ที่รับบท เอเดรียน เฮล์มสลีย์ มาแล้วใน It Was an Accident (2000)
- ถ่ายทำเป็นเวลา 5 เดือน ที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา โดยถ่ายทำในพื้นที่สร้างฉาก 13 แห่งที่อยู่ในโรงถ่ายภาพยนตร์ 5 แห่ง และถ่ายทำในฉากกลางแจ้งบนพื้นที่สั่นได้ขนาดใหญ่ สำหรับฉากเมืองลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นใช้เวลา 1 สัปดาห์ถ่ายทำที่คัมลูปส์ ประเทศแคนาดา สำหรับฉากอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศทิเบต แล้วการถ่ายทำหลักก็ไปสิ้นสุดลงที่ลอสแอนเจลิสด้วยช็อตภายนอก 2-3 ช็อต
- ผู้ร่วมอำนวยการสร้างและหัวหน้าแผนกวิชวล เอฟเฟกต์ โวลเกอร์ เอนเกล รู้จักกับผู้กำกับ โรแลนด์ เอ็มเมอริช ตั้งแต่ปี 1988 ในสตุตการ์ต ประเทศเยอรมนี ที่ซึ่ง โรแลนด์ จ้าง โวลเกอร์ ซึ่งยังเป็นนักเรียนสาขาภาพยนตร์ให้มาทำงานกับเขาใน Moon 44 (1990) จากนั้นพวกเขาได้ร่วมงานกันอีกใน Universal Soldier (1992) Independence Day (1996) Godzilla (1998) และเรื่องนี้ นอกจากนี้ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังทำให้ โวลเกอร์ ได้กลับมาร่วมงานกับ มาร์ก ไวเกิร์ต ผู้ซึ่งทำงานในตำแหน่งเดียวกับเขา หลังจากเคยร่วมงานด้วยกันใน Independence Day
- ในการถ่ายทำฉากแผ่นดินไหว ผู้สร้างสร้างกรีนสกรีนขนาดใหญ่ ยาวกว่า 600 ฟุตและสูงกว่า 40 ฟุตขึ้น แล้วนำมาตั้งข้างๆ ฉากเมืองลอสแอนเจลิสซึ่งอยู่บนพื้นที่สั่นได้ แต่ก็ยังมีบางอย่างที่ไม่สามารถนำมาวางบนพื้นนั้นได้ จึงต้องใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกเข้าช่วย โดยผู้สร้างจำลองการสั่นในคอมพิวเตอร์จากการสั่นจริงๆ ที่ถ่ายทำได้
- หัวหน้าแผนกสเปเชียล เอฟเฟกต์ ไมก์ เวซินา เป็นผู้ออกแบบพื้นที่สั่นได้ขนาดใหญ่ เพื่อใช้ถ่ายทำฉากแผ่นดินไหว พื้นนี้สั่นด้วยระบบไฮดรอลิก ระบบแรงอัดอากาศ และระบบวาล์วที่ควบคุมด้วยไฟฟ้า ซึ่ง ไมก์ ต้องใช้เหล็ก 500,000 ตันสร้างกลไกชิ้นใหญ่ขึ้นมา คนคนเดียวสามารถใช้จอยสติกอันเดียวควบคุมฐานขนาดประมาณ 8,000 ตารางฟุตที่ลอยได้ด้วยระบบอากาศนี้ ให้สั่นไปมาได้หลายระดับตามความต้องการ
- ผู้สร้างต้องร่วมงานกับบริษัทวิชวลเอฟเฟกต์ 12 แห่งทั่วโลก โดยแต่ละแห่งมีพนักงานประมาณ 60-100 คน รวมทั้งหมดแล้วมากกว่า 1,000 คน รวมถึงทีมงานของ โซนี่ พิคเจอร์ส ที่ดูแลฉากเอฟเฟกต์ 2 ฉากใหญ่ โดยใช้พื้นที่เก็บข้อมูลหลายเทราไบต์ และใช้เรนเดอร์ฟาร์ม 250 เครื่องที่ตั้งค่าขึ้นเพื่อ 2 ฉากนี้เท่านั้น
- ลอว์เรนซ์ อี. โจเซฟ เขียนไว้ในหนังสือ Apocalypse 2012: An Investigation into Civilization's End ว่าวันสิ้นสุดรอบที่ 13 ของปฏิทินของชาวอินเดียนแดงเผ่ามายานั้น บังเอิญตรงกับการคาดการณ์ของนักฟิสิกส์ระบบสุริยะสมัยใหม่ที่ว่า ปี 2012 อาจเป็นปีที่เกิดหายนะต่อโลก และหายนะนี้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของระบบสุริยะ การเปลี่ยนแปลงขั้วแม่เหล็กโลก และการเกิดภูเขาไฟระเบิดที่อุทยานเยลโลว์สโตน ประเทศสหรัฐอเมริกา
- จอห์น เมเจอร์ เจนกินส์ ผู้เขียนหนังสือ Maya Cosmogenesis 2012: The True Meaning of the Maya Calendar End-Date และ The 2012 Story: The Myths, Fallacies, and Truth Behind the Most Intriguing Date in History อธิบายเชื่อมโยงวันสิ้นสุดปฏิทินรอบที่ 13 ของอินเดียนแดงเผ่ามายาเข้ากับหลักดาราศาสตร์ โดยกล่าวถึงการเรียงตัวของจักรวาลในปี 2012 ทำให้เขาได้รับยกย่องจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ ว่าเป็นผู้วางรากฐานด้านวิชาการให้กับทฤษฎี 2012
- แดเนียล พินช์เบก ผู้เขียนหนังสือ 2012: The Return of Quetzalcoatl และบรรณาธิการของเว็บไซต์นิตยสารเรียลิตี แซนด์วิช เชื่อว่าวันสิ้นสุดปฏิทินรอบที่ 13 ของอินเดียนแดงเผ่ามายาอาจผสมผสานกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เพราะอาจเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อม แดเนียล ใช้ เควตซัลโคตล์ เทพงูมีปีกตามตำนานเมโซอเมริกัน ซึ่งเป็นตัวแทนของการรวมสวรรค์ โลก วิญญาณ และสสารเป็นหนึ่งเดียว เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อนี้
- อินเดียนแดงชนเผ่ามายาคำนวณไว้ว่าทุกๆ 25,800 ปี ดวงอาทิตย์และดวงดาวในระบบสุริยะจะเรียงกันเป็นเส้นตรงในวันโซลสทิซ และวันนั้นจะเวียนมาถึงอีกครั้งในวันที่ 21 ธันวาคม 2012 วันเดียวกับที่ปฏิทินลองเคานต์ของชาวมายาสิ้นสุดรอบที่ 13 พอดี ทั้งนี้ความเชื่อเรื่องจุดจบของโลกเป็นของชาวตะวันตก และไม่มีการยืนยันด้วยหลักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ ชาวมายาไม่ได้กล่าวถึงจุดจบของโลกตามที่ผู้คนทั่วไปเข้าใจ เนื่องจากแท้จริงแล้วปฏิทินลองเคานต์เก็บข้อมูลวันที่ได้ตั้งแต่ประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาลถึงประมาณ 40 อ็อกทิลเลียนปีในอนาคต
- เป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 3 ที่ จอห์น คูแซก ผู้รับบท แจ็กสัน เคอร์ติส และ อแมนดา พีต ผู้รับบท เคต ได้ร่วมงานกัน ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยแสดงร่วมกันใน Martian Child (2007) และ Identity (2003)
- ชื่อของตัวละครประธานาธิบดีที่รับบทโดย แดนนี โกลเวอร์ คือ โธมัส วิลสัน ซึ่งตรงกับชื่อของ วูดโรว์ วิลสัน ประธานาธิบดีคนที่ 28 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีชื่อจริงๆ ว่า โธมัส
advertisement
วันนี้ในอดีต
- โหดหน้าเหี่ยว 966เข้าฉายปี 2009 แสดง จตุรงค์ มกจ๊ก, นุ้ย เชิญยิ้ม, ค่อม ชวนชื่น
- Red Cliff: Part IIเข้าฉายปี 2009 แสดง Tony Leung Chiu Wai, Takeshi Kaneshiro, Zhao Wei
- High School Musical 3: Senior Yearเข้าฉายปี 2009 แสดง Zac Efron, Vanessa Hudgens, Ashley Tisdale
เกร็ดภาพยนตร์
- Jurassic World - เป็นภาพยนตร์ชุด Jurassic Park ภาคแรกที่ แซม นีลล์, ลอรา เดิร์น และ เจฟฟ์ โกลด์บลัม ไม่ได้ร่วมแสดง เนื่องจากผู้กำกับและผู้เขียนบท โคลิน ทรีวอร์โรว์ คิดว่าเขาเคารพตัวละครที่เป็นที่จดจำเหล่านั้นเกินกว่าจะนำกลับมาโลดแล่นในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะกับตัวละคร อ่านต่อ»
- Hamari Adhuri Kahaani - เป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 3 ที่ เอมราน ฮาชมี ผู้รับบท อาราฟ แสดงร่วมกับ วิดยา บาลัน นักแสดงบท วาสุดา เรื่องก่อนหน้านี้คือ The Dirty Picture (2011) และ Ghanchakkar (2013) อ่านต่อ»