เกร็ดน่ารู้จาก Taking Woodstock

เกร็ดน่ารู้
  • ฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานน์ส ปี 2009 ประเทศฝรั่งเศส
  • ดัดแปลงจากชีวิตจริงของ เอลเลียต ไทเบอร์ ที่เป็นผู้ริเริ่มจัดงานมหกรรมดนตรีกลางแจ้ง วูดสต็อก ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15-19 สิงหาคม 1969 ที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ตลอดงาน 3 วันมีแฟนเพลงเข้าชมมากกว่า 4.5 แสนคน ทำให้นับจากนั้น มีการจัดคอนเสิร์ตนี้เป็นประจำต่อเนื่องมาทุกปี
  • ในภาพยนตร์มีเพลงจากวงดนตรีดังในยุค 60 หลายวง อาทิ เดอะ เกรตฟุล เดด, เดอะ ดอร์ส, เจฟเฟอร์สัน แอร์เพลน และ คันทรี โจ แอนด์ เดอะ ฟิช นอกจากนี้ยังมีเพลงใหม่ชื่อ Freedom จาก ริชี ฮาเวนส์ ด้วย
  • เคยมีผู้นำเรื่องราวเกี่ยวกับมหกรรมดนตรีวูดสต็อกไปสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว นั่นคือสารคดียาว 3 ชั่วโมงเรื่อง Woodstock (1970) กำกับโดย ไมเคิล วอดลีห์ ซึ่งชนะรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมด้วย
  • เจมส์ ชามุส รับหน้าที่ทั้งอำนวยการสร้างและดัดแปลงบทภาพยนตร์เรื่องนี้จากหนังสือของ เอลเลียต ไทเบอร์ และ ทอม มอนที ที่ชื่อ Taking Woodstock: A True Story of a Riot, A Concert, and A Life
  • จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มจากเมื่อเดือนตุลาคมปี 2007 เมื่อผู้กำกับ อัง ลี บังเอิญได้พบ เอลเลียต ไทเบอร์ ในรายการทอล์กโชว์ของซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เอลเลียต จึงมอบหนังสือ Taking Woodstock: A True Story of a Riot, a Concert and a Life ของเขาให้แก่ อัง ลี จากนั้น 2-3 วันต่อมา แพต คูโป เพื่อนจากโรงเรียนภาพยนตร์ของ อัง ลี โทรศัพท์มาคะยั้นคะยอให้เขาอ่านหนังสือเล่มนั้น และในที่สุดมันก็กลายมาเป็นโครงเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้
  • หนึ่งในเหตุผลที่ผู้กำกับ อัง ลี ตัดสินใจสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ คือเขาสร้างภาพยนตร์สะเทือนอารมณ์มาแล้วหลายเรื่อง จึงอยากหันมาสร้างภาพยนตร์ตลกบ้าง โดย อัง ลี วางเงื่อนไขว่าต้องเป็นภาพยนตร์ตลกที่ไม่แฝงทัศนคติแง่ลบ รวมทั้งต้องบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการปลดปล่อย ความสัตย์ซื่อ การเปิดใจยอมรับความแตกต่าง และจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์
  • เป็นภาพยนตร์ที่ผู้อำนวยการสร้างและผู้เขียนบท เจมส์ ชามุส ร่วมงานกับผู้กำกับ อัง ลี เป็นเรื่องที่ 11 แล้ว
  • เซเลีย ดี. คอสตาส์ ตกลงเข้าร่วมอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องยุคสมัยที่เธอเริ่มเป็นสาว อีกทั้งยังเป็นเรื่องราวในบ้านเกิดของเธอด้วย
  • ผู้อำนวยการสร้าง เซเลีย ดี. คอสตาส์ ซึ่งเป็นคนร่วมสมัยกับตัวละครในภาพยนตร์เล่าว่า ในช่วงปลายยุค 60 นั้น ใครๆ ก็ทำอะไรได้ตามใจชอบ ไม่ว่าจะเรื่องการเมืองหรือสังคม แม้จะอยู่ในระหว่างสงคราม แต่ทุกคนมองโลกในแง่บวก และคิดว่าหากรวมพลังกัน ทุกอย่างจะสำเร็จได้
  • เป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของ ดีมีทรี มาร์ติน ผู้รับบท เอลเลียต ไทเบอร์ ก่อนหน้านี้เขาแสดงเดี่ยวไมโครโฟนในรายการโทรทัศน์ Important Things with Demetri Martin
  • ผู้เขียนบทและผู้อำนวยการสร้าง เจมส์ ชามุส เรียกตัว ดีมีทรี มาร์ติน มาทดสอบบทเป็น เอลเลียต ไทเบอร์ หลังจากที่ลูกสาววัยรุ่นของเขารบเร้าให้เขาดูวิดีโอตลกประจำวันของ ดีมีทรี ที่ชื่อ The Jokes with Guitar ในอินเตอร์เน็ต แล้วในที่สุด ดีมีทรี ก็เอาชนะใจคณะผู้สร้างได้สำเร็จ
  • ผู้กำกับ อัง ลี ไม่เคยทำงานกับนักแสดงตลกมาก่อน แต่เขาชอบการแสดงตลกของ ดีมีทรี มาร์ติน อีกทั้งยังคิดว่า ดีมีทรี คล้ายกับ เอลเลียต ไทเบอร์ ตัวละครที่เขาแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอย่างมาก
  • ดีมีทรี มาร์ติน ฝึกซ้อมบท เอลเลียต ไทเบอร์ อย่างจริงจังเป็นเวลา 3 สัปดาห์ก่อนถ่ายทำจริง รวมทั้งแวะไปหา เอลเลียต ตัวจริงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเรียนรู้รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ เพิ่มเติม
  • ราวๆ ฤดูใบไม้ผลิปี 2008 ผู้กำกับ อัง ลี พยายามจัดระเบียบข้อมูลที่ค้นคว้ามา โดยให้ เดวิด ซิลเวอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์รวบรวมทุกอย่างเข้าด้วยกันเป็นคู่มือฮิปปี ซึ่งมีทั้งบทคัดย่อเกี่ยวกับฮิปปี ลำดับเวลา บทความต่างๆ และศัพทานุกรมภาษาฮิปปี เช่น คำว่า freak out หรือ roach clip เป็นต้น
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ประจำกองถ่าย เดวิด ซิลเวอร์ อธิบายว่า กลุ่มฮิปปีกลุ่มแรกคือชาวเยอรมันที่อพยพมาอยู่ทางตอนเหนือของแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงศตวรรษที่ 19 พวกเขามีวิถีชีวิตติดดิน ทำไร่ทำสวนหาเลี้ยงชีพ จากนั้นราวทศวรรษถัดมา จึงเกิดคำว่า ฮิปปี (hippie) โดยมีรากศัพท์มาจาก hipster และ hip ซึ่งสื่อถึงความเท่ของฮิปปีกลุ่มแรก
  • ผู้กำกับ อัง ลี กล่าวถึงเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ข้อหนึ่งว่า มหกรรมดนตรีวูดสต็อกนั้น ไม่เคยจัดในเมืองวูดสต็อกเลย แต่ไม่มีใครคิดจะเรียกมันว่า ไวต์เลก หรือ แบเธิล ตามสถานที่จัด แต่ยังคงเรียกมันว่า วูดสต็อก มาตลอด
  • ถ่ายทำฉากส่วนใหญ่ที่เมืองโคลัมเบียและเรนซีเลเออร์ในมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และถ่ายทำอีก 2 วันในตัวเมืองนิวยอร์ก ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกๆ ที่ได้ใช้ประโยชน์จากนโยบายใหม่ของมหานครนิวยอร์ก เกี่ยวกับการปรับปรุงสิทธิพิเศษต่างๆ และการลดหย่อนภาษีกองถ่ายภาพยนตร์ นอกจากนี้ การถ่ายทำยังกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยเม็ดเงินแพร่สะพัดหลายล้านเหรียญสหรัฐ
  • ไมเคิล แลง หนึ่งในผู้จัดมหกรรมดนตรีวูดสต็อกตัวจริง เดินทางมาเยี่ยมกองถ่ายด้วยตัวเอง โดยเขาได้พูดคุยกับผู้สร้าง และใช้เวลาเป็นส่วนตัวกับ โจนาธาน กรอฟฟ์ ที่รับบทเป็นตัวเขาในภาพยนตร์เรื่องนี้
  • ทุกๆ วันก่อนเข้าฉาก โจนาธาน กรอฟฟ์ ผู้รับบท ไมเคิล แลง หนึ่งในผู้จัดมหกรรมดนตรีวูดสต็อก จะนั่งดู ไมเคิล ในฉากต่างๆ ของภาพยนตร์สารคดีซ้ำไปซ้ำมา
  • ดีมีทรี มาร์ติน ผู้รับบท เอลเลียต ไทเบอร์ รู้สึกทึ่งที่ได้เห็นการแสดงของ ยูจีน เลวี ผู้รับบท แมกซ์ ยาสเกอร์ อย่างใกล้ชิด เพราะเขาชื่นชอบ ยูจีน มาตั้งแต่เป็นเด็ก
  • ผู้กำกับ อัง ลี ให้ ดีมีทรี มาร์ติน ที่รับบท เอลเลียต ไทเบอร์ และผู้ที่แสดงเป็นคุณพ่อคุณแม่ของเขา เฮนรี กูดแมน และ อิเมลดา สทอนตัน ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอดสัปดาห์ ซึ่งนอกจากจะทำให้ อัง ลี คิดบทสนทนาสำหรับพวกเขาได้แล้ว ยังทำให้พวกเขาสนิทสนมกัน จนสามารถแสดงเข้าขากันได้เป็นอย่างดี
  • อิเมลดา สทอนตัน รู้สึกว่าตัวเองเคลื่อนไหวเร็วไป ไม่เหมาะกับบท ซอนยา ที่น่าจะเป็นผู้หญิงอวบ อิเมลดา จึงโทรศัพท์ไปขอความช่วยเหลือจาก โจเซฟ จี. ออลิซี ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย โจเซฟ จึงออกแบบถุงเพิ่มขนาดตัวขึ้นมา โดยบรรจุเมล็ดพืชไว้แน่นภายใน แล้วประยุกต์เข้ากับชุดแม่บ้านสมัยต้นยุค 60 ของจริงที่หามาได้ จากนั้นจึงให้ อิเมลดา สวมชุดนี้พร้อมกับผมปลอม
  • เลียฟ ชไรเบอร์ เล่าว่าเขาไม่หนักใจที่ต้องแสดงเป็น วิลมา เพราะเคยรับบทที่ต้องสวมกระโปรงมาก่อนแล้ว แต่กังวลว่าจะแต่งออกมาแล้วดูไม่สวยมากกว่า
  • ผู้สร้างจงใจเลือกนักแสดงสูงใหญ่อย่าง เลียฟ ชไรเบอร์ ที่สูงถึง 6 ฟุต 3 นิ้ว มารับบท วิลมา ที่ต้องแต่งกายเป็นผู้หญิง เพื่อเน้นให้เกิดการขัดแย้ง ซึ่งจะสื่อถึงความเป็นอิสระและการเป็นตัวของตัวเองของตัวละครออกมาได้เป็นอย่างดี

advertisement

วันนี้ในอดีต

เกร็ดภาพยนตร์

  • 2538 อัลเทอร์มาจีบ - ใบเฟิร์น - พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ ผู้รับบท ส้ม จับไมค์ร้องเพลงเป็นครั้งแรก เพลงที่เธอร้องชื่อเพลงว่า สายตา อ่านต่อ»
  • Home - สร้างมาจากหนังสือเรื่อง The True Meaning of Smekday อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

สุขสันต์วันเกิด...ครับพ่อ สุขสันต์วันเกิด...ครับพ่อ เรื่องราวจากเหตุการณ์จริงที่เคยเกิดขึ้น เนื่องจากผู้ก่อเหตุมีอายุแค่เพียง 8 ปี ซึ่งสาเหตุเกิดขึ้นมามาจาก 2 เพื่อนรัก ที...อ่านต่อ»