เกร็ดน่ารู้จาก G.I. Joe: The Rise of Cobra

เกร็ดน่ารู้
  • G.I. Joe ถือกำเนิดครั้งแรกในรูปแบบของเล่นประเภทตุ๊กตุ่นนักต่อสู้ ผลิตโดยบริษัท แฮสโบร เมื่อปี 1964 ซึ่งถือเป็นของแปลกใหม่ในยุคนั้น เนื่องจากก่อนหน้านั้น เด็กผู้ชายไม่มีของเล่นประเภทตุ๊กตุ่นตุ๊กตา หลังจากนั้น ของเล่นนี้ก็ได้รับความนิยมเรื่อยมา โดยเฉพาะหลังจากดัดแปลงจากขนาด 12 นิ้วมาเป็น 3 3/4 นิ้ว และเพิ่มตัวละครออกมาหลากหลายขึ้น
  • ไบรอัน โกลด์เนอร์ ประธานและผู้บริหารระดับสูงของบริษัท แฮสโบร บริษัทซึ่งให้กำเนิด G.I. Joe มาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างเรื่องนี้ด้วย
  • G.I. Joe ถูกสร้างเป็นการ์ตูนโทรทัศน์ครั้งแรกในปี 1985
  • G.I. Joe ในรูปแบบหนังสือการ์ตูนนั้นตีพิมพ์โดย มาร์เวล คอมิกส์ โดยมีผู้ริเริ่มโครงการเป็นบรรณาธิการ แลร์รี ฮามา ที่รับงานนี้อย่างไม่เต็มใจนัก เพราะมองว่าในยุคนั้น หนังสือการ์ตูนที่สร้างจากของเล่นมีอายุอยู่ได้ไม่เกิน 3 ปี แต่หลังจากเขาพัฒนาตัวละครให้มีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะฝ่ายศัตรูที่เรียกว่า คอบร้า ทำให้หนังสือการ์ตูนเรื่องนี้ได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน
  • ผู้อำนวยการสร้างบริหาร เอริก ฮาวแซม ชื่นชอบ G.I. Joe มาตั้งแต่ยังเด็ก ตอนอายุ 4 ปี เขาเล่นตุ๊กตุ่นขนาด 12 นิ้ว ตอนอายุ 11 ปี เขาติดตามชมการ์ตูนทางโทรทัศน์ทุกวันหลังโรงเรียนเลิก รวมทั้งซื้อหนังสือการ์ตูน และซื้อของเล่น
  • ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง Transformers (2007) เป็นตัวผลักดันให้โครงการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้คืบหน้าต่อไป เนื่องจากเป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากของเล่นของบริษัท แฮสโบร ทั้งคู่ Transformers จึงทำให้ผู้สร้างเห็นแนวทางในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น
  • ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ในตอนแรกเริ่ม คือ ไมเคิล กอร์ดอน ร่วมกับผู้กำกับ สตีเวน ซอมเมอร์ส ต่อมาพวกเขาดึงตัว เดวิด เอลเลียต และ พอล โลเวตต์ เข้ามาช่วย หลังจากนั้นพวกเขาติดต่อ สจวร์ต บีตตี เข้ามาร่วมเขียนบทด้วยเป็นคนที่ 5
  • สจวร์ต บีตตี มาจากออสเตรเลียและไม่ได้โตมาพร้อม G.I. Joe แต่เขาตกลงรับเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเชื่อมั่นในการทำงานร่วมกับผู้อำนวยการสร้าง ลอเรนโซ ดิ โบนาเวนทูรา ผู้ที่โทรศัพท์มาทาบทามเขา
  • ผู้เขียนบท สจวร์ต บีตตี ได้ศึกษาคำศัพท์ สแลง และวลีที่ทหารในทีม จีไอโจ ใช้ นอกจากนี้เขายังรู้เรื่องอาวุธนาโนเทคโนโลยีที่เป็นอาวุธลับของทีมเป็นอย่างดี จึงส่งผลดีต่อการเขียนบทภาพยนตร์ของเขา
  • ผู้กำกับ สตีเวน ซอมเมอร์ส และผู้อำนวยการสร้าง ลอเรนโซ ดิ โบนาเวนทูรา พยายามเน้นความสนิทสนมในหมู่นักแสดง รวมทั้งคัดเลือกนักแสดงให้มีหลายเชื้อชาติ เช่นเดียวกับตัวละครในหนังสือการ์ตูน เช่น ซาอิด ทาจ์มาวี ชาวปารีส รับบท เบรกเกอร์, อเดวาเล อคินนูโอเย-แอ็กบาเจ ชาวอังกฤษสายเลือดไนจีเรีย รับบท เฮฟวี ดิวตี, ลีบุงฮุน ชาวเกาหลี รับบท สตอร์ม ชาโดว์, คาโรไลนา เคอร์โควา ชาวเชก รับบท คัฟเวอร์เกิร์ล และ อาร์โนลด์ วอสลู ชาวแอฟริกาใต้ รับบท ซาร์ทาน
  • แชนนิง เททัม ชอบเล่นตุ๊กตุ่น G.I. Joe ตั้งแต่ตอนที่เขาอายุประมาณ 4 ปี ดังนั้นในบางวันเมื่ออยู่ในกองถ่าย เขารู้สึกทึ่งที่ตัวเองได้มารับบทเป็น ดุก จนรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง
  • แชนนิง เททัม ผู้รับบท ดุก มักเสนอตัวที่จะเล่นฉากผาดโผนด้วยตัวเอง ซึ่งผู้ประสานงานฉากผาดโผน อาร์.เอ. รอนเดลล์ ให้ความเห็นว่า แชนนิง สามารถแสดงได้ดี เพราะเขาเป็นนักกีฬาอยู่แล้ว
  • มาร์ลอน เวย์นส์ ผู้รับบท ริปคอร์ด เติบโตมาอย่างยากจนในบ้านการเคหะกับพี่น้อง 9 คน ตอนเด็กๆ เขาจึงไม่มีตุ๊กตุ่น G.I. Joe เล่นเหมือนเด็กคนอื่นๆ
  • เมื่อสมัยเด็ก เรย์ ปาร์ก ผู้รับบท สเนก อายส์ เคยเล่นตุ๊กตุ่นต่อสู้ แอกชันแมน ซึ่งเป็นเสมือนกลุ่มของเล่น G.I. Joe ของประเทศอังกฤษ นอกจากนี้น้องชายของเขายังมีตุ๊กตุ่น G.I. Joe หลายตัว รวมทั้ง สเนก อายส์ ตัวละครที่ เรย์ แสดง แต่ตุ๊กตุ่นตัวโปรดของ เรย์ ในตอนนั้นกลับเป็น สตอร์ม ชาโดว์ คู่ปรับของ สเนก อายส์
  • ผู้มาร่วมงานชุมนุมสาวก Star Wars ที่พบกับ เรย์ ปาร์ก ผู้รับบท ดาร์ธ โมล มักจะบอกกับ เรย์ ว่า เขาคือคนที่เหมาะสมกับบท สเนก อายส์ ที่สุด ทำให้ เรย์ ตัดสินใจซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับ สเนก อายส์ เพื่อนำมาบันทึกเทปการแสดงในบทนี้ แล้วส่งมาให้ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้พิจารณา หลังจากนั้นเขาถูกเรียกตัวให้ไปทดสอบหน้ากล้อง เขาจึงค้นคว้าเรื่อง สเนก อายส์ อย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนจะก้าวเข้าไปคว้าบทนี้มาได้ในที่สุด
  • เนื่องจากในตอนเริ่มคัดเลือกตัวนักแสดงที่จะมารับบท สการ์เลตต์ โครงการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นความลับ ผู้สร้างจึงให้ ราเชล นิโคลส์ ทดสอบบทด้วยการอ่านบทจากเรื่อง Van Helsing (2004) แทน
  • เป็นผลงานภาพยนตร์ต่อสู้เรื่องแรกของ ซาอิด ทาจ์มาวี ผู้รับบท เบรกเกอร์
  • ในตอนแรก ผู้สร้างไม่สามารถหานักแสดงที่เหมาะกับบทนายพล ฮอว์ก ได้ จนกระทั่งผู้อำนวยการสร้าง บ็อบ ดักเซย์ ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง The Express (2008) ซึ่งมี เดนนิส เควด ร่วมแสดงด้วย บ็อบ เห็นว่า เดนนิส เหมาะกับบท ฮอว์ก มาก จึงทาบทามเขามารับบทนี้
  • เดนนิส เควด ตกลงรับบทเป็นนายพล ฮอว์ก เนื่องจากลูกชายของเขาเป็นแฟนตัวยงของหนังสือการ์ตูนและภาพยนตร์การ์ตูน G.I. Joe
  • โจนาธาน ไพรซ์ ออกตัวว่าการที่เขาเป็นคนอังกฤษนั้น ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการรับบทเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเลย เพราะเขารู้ว่าจุดเด่นของประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคือวิธีการเดินที่องอาจ นอกจากนี้นักแสดงประกอบที่จะมายืนล้อมหน้าล้อมหลังตัวเขา พร้อมใส่แว่นตากันแดดและพูดใส่แขนเสื้อของตนเองนั้น จะทำให้เขาดูเหมือนประธานาธิบดีได้ในทันที
  • ผู้สร้างเพิ่มเนื้อหาที่ไม่เคยมีในหนังสือการ์ตูนเข้าไปด้วย นั่นคือเรื่องราวที่ย้อนอดีตไปดูความเป็นมาของตัวละครอย่าง เดสโทร หรือ แมกคัลเลน ที่รับบทโดย คริสโตเฟอร์ เอกเคลสตัน และ บาโรเนสส์ หรือ อนา ที่รับบทโดย เซียนนา มิลเลอร์
  • ในตอนแรก ลีบุงฮุน ไม่เคยรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ G.I. Joe มาก่อนเลย เขาจึงต้องค้นคว้าหาข้อมูล เพื่อเตรียมตัวรับบทเป็นนินจา สตอร์ม ชาโดว์
  • เมื่อตอนเป็นเด็ก โจเซฟ กอร์ดอน-ลีวิตต์ ที่รับบท เดอะ ด็อกเตอร์ ไม่มีตุ๊กตุ่น G.I. Joe เป็นของตัวเอง และต้องแอบเล่นตุ๊กตุ่นของเพื่อนตอนที่คุณพ่อคุณแม่ไม่อยู่ เพราะคุณพ่อคุณแม่ของเขาเป็นนักรณรงค์เพื่อสันติภาพ จึงไม่สนับสนุนให้ โจเซฟ เล่นของเล่นที่เกี่ยวข้องกับอาวุธและความรุนแรง
  • โจเซฟ กอร์ดอน-ลีวิตต์ ต้องนั่งนิ่งๆ เป็นเวลาถึง 4 ชั่วโมงทุกๆ เช้า เพื่อให้ช่างแต่งหน้าสเปเชียลเอฟเฟกต์ คาสึฮิโระ สึจิ ศิษย์เอกของ ริก เบเกอร์ ติดชิ้นส่วนอวัยวะปลอมเพื่อแปลงโฉมให้ โจเซฟ กลายเป็นตัวละคร เดอะ ด็อกเตอร์
  • ขณะนั่งรอแต่งหน้าเป็นเวลา 4 ชั่วโมง โจเซฟ กอร์ดอน-ลีวิตต์ ใช้เวลานั้นเข้าถึงบทบาท เดอะ ด็อกเตอร์ ด้วยการฟังละคร Richard III อันเป็นบทประพันธ์ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ ด้วยเครื่องไอพ็อดของเขา เพื่อใช้เป็นแรงบันดาลใจในการแสดงลักษณะท่าทางของ เดอะ ด็อกเตอร์
  • อาร์โนลด์ วอสลู เป็นชาวแอฟริกาใต้ และไม่ได้เติบโตมาพร้อม G.I. Joe ตอนที่ผู้กำกับ สตีเวน ซอมเมอร์ส ทาบทามให้เขามารับบท ซาร์ทาน ขณะเดินไปออกกำลังกายที่ วิลล์ โรเจอร์ ปาร์ก ด้วยกัน อาร์โนลด์ จึงยังไม่รู้เลยว่า G.I. Joe คืออะไร
  • ใช้เวลาถ่ายทำ 82 วัน โดยสร้างฉากมากถึง 160 ฉาก ในโรงถ่ายในย่านชานเมืองดาวนีย์ ในลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา และโรงถ่ายในกรุงปราก สาธารณรัฐเชก นอกจากนี้พวกเขายังต้องเดินทางไปถ่ายทำในสถานที่ต่างๆ ในย่านเดียวกับโรงถ่าย และประเทศอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส นอร์เวย์ และทวีปอเมริกาเหนือ
  • ภาพยนตร์ต่อสู้แฟนตาซีเรื่องอื่นๆ มักใช้เวลาเตรียมงานสร้างประมาณ 24-30 สัปดาห์ แต่ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้มีเวลาเพียง 12 สัปดาห์เท่านั้น โดยพวกเขาต้องเริ่มถ่ายทำกันทันที หลังจากสมาคมนักเขียนบทยกเลิกการหยุดงานประท้วงในลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2008 อย่างไรก็ตาม พวกเขาสามารถปิดกล้องได้ก่อนกำหนดถึง 2 วัน
  • นักแสดงทุกคนต้องผ่านการสแกนร่างกาย เพื่อให้แผนกเครื่องแต่งกายผลิตเสื้อผ้าชุดพิเศษขึ้นมาเพื่อพวกเขาโดยเฉพาะ
  • ผู้อำนวยการสร้างและผู้ตัดต่อ บ็อบ ดักเซย์ พบกับผู้กำกับ สตีเวน ซอมเมอร์ส มาตั้งแต่ตอนที่ บ็อบ เป็นผู้ช่วยอาจารย์อยู่ที่แผนกเสียงของโรงเรียนภาพยนตร์ยูเอสซี เขาเข้าวงการพร้อมๆ กับ สตีเวน และทำหน้าที่ลำดับภาพให้กับภาพยนตร์ของ สตีเวน ทุกเรื่อง
  • เกร็ก ไมเคิล ผู้กำกับกองถ่ายย่อยที่สองของภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้พบผู้กำกับ สตีเวน ซอมเมอร์ส ครั้งแรกตอนที่ สตีเวน กำลังเก็บเงินไปเรียนโรงเรียนภาพยนตร์ เกร็ก จึงได้ทำงานเป็นตากล้องของ สตีเวน สมัยเรียนหนังสือ และได้ร่วมงานด้วยกันมาตลอดนับจากนั้น
  • เอลเลน มิรอจนิก ต้องออกแบบเสื้อผ้าและเครื่องประดับให้แก่ตัวละครหลักๆ ถึง 11 ตัว ภายในเวลาเพียง 3 เดือน โดย เอลเลน พยายามยึดมั่นกับงานออกแบบจากในหนังสือการ์ตูน แต่ปรับให้ทันสมัยขึ้นสำหรับผู้ชมยุคใหม่
  • ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย เอลเลน มิรอจนิก ออกแบบชุดเกราะน้ำเพื่อใช้ในฉากต่อสู้ของตัวละครกลุ่ม จีไอโจ โดย เอลเลน เน้นให้ผู้สวมใส่ดูมีกล้ามเนื้อสมส่วน นักแสดงจึงไม่จำเป็นต้องสวมชุดเสริมกล้ามเนื้อไว้ใต้เสื้อผ้าอีก ทำให้นักแสดงชายหลายคนชื่นชอบชุดนี้มาก
  • ผู้กำกับ สตีเวน ซอมเมอร์ส เป็นผู้ริเริ่มความคิดเกี่ยวกับชุดเร่งความเร็วขึ้น โดยจินตนาการว่าชุดนี้มีเครื่องยนต์กลไกที่ช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 30-40 ชั่วโมง รวมถึงสามารถวิ่งทะลุกำแพงหรือพังประตูได้ ผู้อำนวยการสร้างบริหาร เดวิด วูมาร์ก อ้างว่าตัวแทนของกระทรวงกลาโหมที่เดินทางมาชมแนวคิดนี้ในกองถ่าย ก็กำลังวางแผนพัฒนาชุดคล้ายๆ แบบนี้อยู่ เพื่อให้ทหารได้ใช้ในชีวิตจริง
  • ผู้สร้างต้องการให้ แชนนิง เททัม ผู้รับบท ดุก และ มาร์ลอน เวย์นส์ ผู้รับบท ริปคอร์ด สวมชุดเร่งความเร็วให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งในฉากภาพกลาง ภาพใกล้ และฉากผาดโผน พวกเขาจึงพยายามออกแบบให้นักแสดงสามารถเดิน วิ่ง นั่ง หรือเคลื่อนไหวได้ทุกอย่างขณะสวมชุดนี้ แต่นักแสดงทั้งสองยืนยันตรงกันว่า แม้จะเป็นชุดที่ใส่แล้วดูดีมาก แต่ก็ทำให้ไม่สบายตัวเอาเสียเลย
  • เครื่องแต่งกายของตัวละคร บาโรเนสส์ ที่รับบทโดย เซียนนา มิลเลอร์ นั้นทำจากขนนกและจระเข้ และเป็นชุดที่รัดมากเสียจน เซียนนา ไม่สามารถนั่งได้ ระหว่างพักจากการถ่ายทำ เธอจึงต้องพักด้วยการยืนพิงไม้
  • ผู้ดูแลงานผลิตของประกอบฉาก แบรด อินฮอร์น เคยเตรียมงานให้ภาพยนตร์เรื่อง Batman Forever (1995) และ Batman & Robin (1997) โดยใช้เวลาภาคละ 6 เดือน แต่สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งมีจำนวนงานพอๆ กัน แบรด กลับมีเวลาเตรียมงานเพียง 9 สัปดาห์เท่านั้น
  • ของประกอบฉากที่ซับซ้อนที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ หัวรบนาโนไมต์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ชิ้นแรกที่ทีมงานเริ่มสร้างเพราะเป็นงานที่ใช้เวลามากที่สุด นั่นคือ 3 เดือน โดยต้องประสานงานกับแผนกแก้วเพื่อสร้างชิ้นส่วนที่เป็นแก้วด้วย
  • ราเชล นิโคลส์ ชื่นชอบอาวุธที่ผู้สร้างออกแบบให้ตัวละคร สการ์เลตต์ ของเธอเป็นอย่างมาก มันคือปืนหน้าไม้ล้ำสมัย ที่ตกแต่งด้วยหลอดไฟแอลอีดี ทำให้ดูเหมือนภาพลวงตาหรือมายากล แต่แท้จริงแล้ว ไม่สามารถใช้ยิงได้จริง
  • อาวุธที่ผู้ดูแลงานผลิตของประกอบฉาก แบรด อินฮอร์น ชื่นชอบมากที่สุดคือดาบของ สเนก อายส์ ที่รับบทโดย เรย์ ปาร์ก เนื่องจากเป็นอาวุธที่เขาชอบมาตั้งแต่เด็กๆ ส่วน เรย์ ก็ชื่นชอบอาวุธชิ้นนี้ไม่แพ้กัน โดยยอมรับว่าเหตุผลข้อหนึ่งที่ทำให้เขาฝึกศิลปะการป้องกันตัวก็คือดาบ
  • ฉากไล่ล่าฉากหนึ่งที่ถ่ายทำในกรุงปราก สาธารณรัฐเชก หัวหน้าแผนกสเปเชียล เอฟเฟกต์ แดเนียล ซูดิก ต้องเหวี่ยงรถฮัมวีให้กระเด็นไปตามถนนที่มีความกว้างเพียง 30 ฟุตอีกทั้งยังมีรถราหนาแน่น แดเนียล ใช้ปืนใหญ่ 2 กระบอกร่วมกับสายเคเบิลในการควบคุมทิศทางรถให้แม่นยำที่สุด ฉากนี้ถ่ายทำด้วยกล้อง 9 ตัวเป็นจำนวน 2 เทก ทำให้ได้ภาพทั้งหมด 18 ชอต
  • ผู้อำนวยการสร้างบริหาร เดวิด วูมาร์ก เล่าว่าพวกเขาซื้อและทำลายรถไป 112 คัน เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้
  • ในฉากต่อสู้ระหว่างสองสาว เซียนนา มิลเลอร์ ที่รับบท บาโรเนสส์ และ ราเชล นิโคลส์ ที่รับบท สการ์เลตต์ ต่างก็แสดงด้วยตัวเอง โดยประสานอย่างใกล้ชิดกับ อาร์.เอ. รอนเดลล์ ผู้ประสานงานฉากผาดโผน เพื่อฝึกฝนท่าการต่อสู้ถึง 90 ท่าทุกๆ วันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ก่อนถ่ายทำจริง
  • ผู้ประสานงานฉากผาดโผน อาร์.เอ. รอนเดลล์ ออกแบบให้ สการ์เลตต์ ที่รับบทโดย ราเชล นิโคลส์ เน้นต่อสู้ด้วยหมัด เพราะ ราเชล เป็นคนตัวสูง ขณะที่ตัวละคร บาโรเนสส์ ที่รับบทโดย เซียนนา มิลเลอร์ เน้นท่าเตะ เพราะ เซียนนา ตัวเตี้ยกว่า ราเชล เล็กน้อย
  • เรย์ ปาร์ก ที่รับบท สเนก อายส์ แสดงฉากต่อสู้ด้วยศิลปะการต่อสู้วูซู
  • มีนักแสดงเด็กอายุ 9 ปีร่วมแสดงด้วย 2 คน คือ ลีโอ โฮเวิร์ด และ แบรนดอน ซู ฮู ในบท สเนก อายส์ ในวัยเด็กและ สตอร์ม ชาโดว์ ในวัยเด็กตามลำดับ พวกเขามีความสามารถด้านศิลปะการต่อสู้เป็นอย่างมาก แต่ผู้สร้างก็ยังต้องใช้นักแสดงแทนอีก 2 ชุด เพื่อให้เด็กๆ สามารถทำงานตามกรอบเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดสำหรับเยาวชน
  • เหล่านักแสดงต้องฝึกอบรมเรื่องการใช้ปืน ทั้งวิธีบรรจุกระสุนปืน วิธีจับปืน โดยพวกเขาได้ฝึกด้วยอาวุธปืนจริง เพื่อให้รับรู้ถึงแรงถีบจริงๆ ของปืน
  • แซม เวิร์ตธิงตัน เกือบได้มารับบท ดุก แต่ติดถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Avatar (2009) บทนี้จึงตกเป็นของ แชนนิง เททัม แทน
  • เดวิด เมอร์เรย์ ได้รับเลือกให้แสดงเป็น เดสโทร แต่เขาขอถอนตัวออกไปเพราะมีปัญหาเรื่องวีซ่า คริสโตเฟอร์ เอกเคลสตัน จึงเข้ามารับบทนี้แทน อย่างไรก็ตาม เดวิด ยังมีโอกาสได้เข้ามาแสดงเป็นบรรพบุรุษของ เดสโทร ที่ชื่อ เจมส์ แมกคัลเลน ที่ 1
  • เดิมผู้อำนวยการสร้าง ลอเรนโซ ดิ โบนาเวนทูรา นึกอยากให้ มาร์ก วอห์ลเบิร์ก มารับบทเป็น ดุก แต่สุดท้ายบทนี้ก็ตกเป็นของ แชนนิง เททัม
  • นักร้องแร็ป คอมมอน ได้รับการเสนอให้แสดงเป็น โรดบล็อก ลูกพี่ลูกน้องของ เฮฟวี ดิวตี แต่เขาปฏิเสธไป ผู้สร้างจึงปรับบทของ โรดบล็อก ให้กลายมาเป็นบทของ เฮฟวี ดิวตี และให้ อเดวาเล อคินนูโอเย-แอ็กบาเจ มารับบทนี้
  • เซียนนา มิลเลอร์ เตรียมตัวรับบท บาโรเนสส์ ด้วยการใช้เวลา 4 เดือนในการยกน้ำหนักและต่อยมวย ทำให้มีกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นมา 5 ปอนด์ นอกจากยังได้หัดยิงปืนที่มีกระสุนจริงด้วย
  • เดนนิส เควด ผู้รับบท ฮอว์ก ถ่ายทำฉากทั้งหมดของเขาภายในเวลา 2 เดือนแรกของการถ่ายทำ
  • ฉากที่ทหารกระโดดข้ามจรวดมิสไซล์นั้น เป็นฉากที่ผู้สร้างสร้างขึ้นเพื่อแสดงความคารวะต่อ Transformers (2007)
  • แลร์รี ฮามา ผู้เขียนหนังสือการ์ตูนชุด G.I. Joe ได้มารับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาฝ่ายสร้างสรรค์ให้แก่ภาพยนตร์เรื่องนี้ อีกทั้งยังได้เป็นนักแสดงรับเชิญในบทนายพลคนหนึ่ง ที่ปรากฏตัวในฉากที่ ดุก ที่รับบทโดย แชนนิง เททัม กับ ฮอว์ก ที่รับบทโดย เดนนิส เควด กำลังต่อสู้กับ เดสโทร ที่รับบทโดย คริสโตเฟอร์ เอกเคลสตัน และ ซาร์ทาน ที่รับบทโดย อาร์โนลด์ วอสลู
  • ในตอนแรก แชนนิง เททัม ไม่อยากแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะคิดว่ามีเนื้อหาส่งเสริมสงคราม แต่หลังจากอ่านบทภาพยนตร์แล้ว เขาคิดว่ามันเป็นภาพยนตร์ต่อสู้แนววิทยาศาสตร์ระทึกขวัญมากกว่า นอกจากนี้ โจเซฟ กอร์ดอน-ลีวิตต์ ที่เคยร่วมแสดงกับเขาใน Stop-Loss (2008) ก็ตกลงรับบทเป็น เดอะ ด็อกเตอร์ ไปแล้ว แชนนิง จึงตัดสินใจยอมรับบทเป็น ดุก ในที่สุด
  • ในชีวิตจริง แชนนิง เททัม ผู้รับบท ดุก กับ โจเซฟ กอร์ดอน-ลีวิตต์ ผู้รับบท เดอะ ด็อกเตอร์ เป็นเพื่อนสนิทกัน แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ พวกเขารับบทเป็นศัตรูกัน
  • มาร์ลอน เวย์นส์ นักแสดงผู้ชื่นชอบการ์ตูนโทรทัศน์ G.I. Joe ได้รับเลือกให้แสดงเป็น ริปคอร์ด ในเรื่องนี้ เพราะผู้สร้างชอบฝีมือการแสดงของเขาใน Requiem for a Dream (2000)
  • ไบรอัน โกลด์เนอร์ ผู้บริหารของบริษัท แฮสโบร กล่าวว่าผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก G.I. Joe ฉบับหนังสือการ์ตูนของ แลร์รี ฮามา มากกว่า G.I. Joe ฉบับการ์ตูนโทรทัศน์
  • ฉากต่อสู้บนท้องถนนกรุงปารีสถ่ายทำเป็นเวลา 14 วันที่เมืองเดจ์วิสกา ในกรุงปราก สาธารณรัฐเชก โดยผู้สร้างสร้างร้านค้าที่มีดอกไม้ขึ้นมาหลายร้าน เปลี่ยนชื่อโรงเรียน และนำรถเก่าๆ ที่ผลิตจากบริษัทในฝรั่งเศสประมาณ 70 คันมาจอดประกอบฉาก
  • ผู้สร้างออกแบบฉากภายในเรือดำน้ำของ เดสโทร ที่รับบทโดย คริสโตเฟอร์ แอกเคลสตัน โดยอ้างอิงจากเครื่องบิน แฮนด์ลีย์ เพจ เจ็ตซรีม
  • เบรนแดน เฟรเซอร์ เป็นนักแสดงรับเชิญโดยรับบทเป็นนายสิบเอกที่ขับรถจักรยานยนต์ โดย เบรนแดน กล่าวติดตลกว่าเขาแสดงเป็นลูกหลานของ ริก โอคอนเนลล์ ตัวละครที่เขาแสดงในภาพยนตร์เรื่อง The Mummy (1999) ซึ่งกำกับโดย สตีเวน ซอมเมอร์ส เช่นกัน
  • ผู้สร้างออกแบบหน้ากากของตัวละคร คอบร้า คอมมานเดอร์ ที่รับบทโดย โจเซฟ กอร์ดอน-ลีวิตต์ ขึ้นใหม่ เพราะคิดว่ารูปแบบเดิมจากในการ์ตูนโทรทัศน์ G.I. Joe ดูคล้ายหน้ากากของกลุ่มคูคลักซ์แคลนมากเกินไป และพวกเขาก็ไม่อยากใช้วัตถุดิบเก่าในงานชิ้นนี้อยู่แล้วด้วย
  • ผู้สร้างชอบทำงานกับ เดนนิส เควด ผู้รับบท ฮอว์ก มากเสียจนผู้เขียนบท สจวร์ต บีตตี เขียนฉากเพิ่มให้ เดนนิส อีกราว 10-15 ฉาก
  • ราเชล นิโคลส์ ที่รับบท สการ์เลตต์ เป็นตัวเลือกแรกของผู้สร้างสำหรับบทบาทนี้
  • สตีเวน ซอมเมอร์ส ตัดสินใจกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะคิดว่าเป็นโอกาสที่ใกล้เคียงกับการได้กำกับภาพยนตร์ James Bond มากที่สุด ผลที่ออกมาคือเรื่องนี้มีรายละเอียดคล้าย James Bond หลายจุด เริ่มจากการมีตัวละครที่คล้ายกับหัวหน้าผู้ร้ายจอมวางแผน สาวสวยตัวร้ายชาวรัสเซีย และนักประดิษฐ์อาวุธ และการมีรถยนต์ แอสตัน มาร์ติน และฐานปล่อยจรวดมิสไซล์ลับ
  • ผู้เขียนบท สจวร์ต บีตตี บรรยายถึงชุดเร่งความเร็ว เดลตา-6 ไว้ว่า สามารถใช้ไล่ล่ารถยนต์โดยที่ผู้สวมไม่ต้องเข้าไปอยู่ในรถเสียด้วยซ้ำ (เนื่องจากชุดนี้ทำให้วิ่งได้เร็วมาก) แต่เนื่องจากชุดนี้หนักและเทอะทะมาก ผู้สร้างจึงตัดสินใจไม่ใช้มันอีกในภาพยนตร์ภาคอื่นๆ ที่จะตามมา
  • เรย์ ปาร์ก ผู้รับบท สเนก อายส์ รู้สึกกังวลที่เขาต้องสวมชุดนินจาซึ่งทำจากยาง และมีเครื่องบังตาโลหะ เขาจึงขอชุดนี้ไปใส่ทำความคุ้นเคยที่บ้านก่อน และต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะชินกับการขยับตัวอันยากลำบากขณะที่สวมชุดดังกล่าว
  • เดิมผู้สร้างวางแผนไว้ว่าหลังจากแสดงรายชื่อนักแสดงและผู้สร้างในตอนท้ายเรื่องแล้ว จะมีฉากที่นินจาใบ้ สเนก อายส์ ที่รับบทโดย เรย์ ปาร์ก พูดมุกตลกกับทีมจีไอโจ แต่ แลร์รี ฮามา ผู้เขียนการ์ตูน G.I. Joe คัดค้าน เพราะคิดว่าจะทำให้ความจริงจังของตัวภาพยนตร์เสียไป
  • เดิมผู้สร้างตั้งชื่อจริงให้ตัวละคร เฮฟวี ดิวตี ที่รับบทโดย อเดวาเล อคินนูโอเย-แอ็กบาเจ ว่า ลามอนต์ มอร์ริส แต่ภายหลังพวกเขาเปลี่ยนชื่อนั้นเป็น เฮอร์เชล ดาลตัน อย่างไรก็ตามก็ยังนำตัวย่อจากชื่อ ลามอนต์ มอร์ริส มาใส่ในรหัสประจำตัวของเขา นั่นคือ 807-46-LM65
  • ผู้สร้างให้ตัวละคร ดุก ที่รับบทโดย แชนนิง เททัม มีแผลเป็นอยู่ใต้ตาข้างขวา เพื่อเป็นการอุทิศแก่ของเล่นตุ๊กตุ่น G.I. Joe ขนาด 12 นิ้ว ที่ผลิตขึ้นครั้งแรกในปี 1964 ในตอนนั้นบริษัท แฮสโบร ตัดสินใจเติมรอยแผลเป็นนี้เข้ามาเพื่อให้ของเล่นของพวกเขามีเอกลักษณ์ ทำให้บริษัทอื่นผลิตผลงานเลียนแบบออกมายากขึ้น
  • สาวผมทอง ราเชล นิโคลส์ ต้องมารับบทเป็น สการ์เลตต์ ซึ่งมีผมสีแดงในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม เธอได้ย้อมผมเป็นสีแดงมาก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Star Trek (2009)
  • ฉากพิต ฐานทัพใต้ดินของจีไอโจ สร้างที่โรงถ่ายดาวนีย์ ในลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เพียงแค่ 2 ชั้นแรกเท่านั้น ส่วนอื่นๆ ของพิตเป็นภาพที่สร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์
  • ผู้อำนวยการสร้าง ลอเรนโซ ดิ โบนาเวนทูรา และผู้บริหารบริษัท แฮสโบร ไบรอัน โกลด์เนอร์ เลือก ไมเคิล กอร์ดอน มาเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะชอบผลงานของเขาในเรื่อง 300 (2006)
  • เควิน เจ. โอคอนเนอร์ ที่รับบทเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้สร้าง คอบร้า คอมมานเดอร์ เคยปรากฏตัวในภาพยนตร์ของผู้กำกับ สตีเวน ซอมเมอร์ส มาแล้วหลายเรื่อง ได้แก่ Deep Rising (1998) The Mummy (1999) และ Van Helsing (2004)
  • โอลยา เคียวอีเลนโก เกือบได้มารับบทเป็น บาโรเนสส์ แต่สุดท้ายผู้ที่ได้รับบทนี้ไป คือ เซียนนา มิลเลอร์
  • ในภาพยนตร์ คำว่า จีไอโจ (G.I.J.O.E.) เป็นตัวย่อของหน่วยปฏิบัติการซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันระดับนานาชาติ (Global Integrated Joint Operating Entity) แต่ในความเป็นจริง คำว่า จีไอโจ คือคำเรียกเหล่าทหารราบของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
  • ผู้สร้างสร้างอาวุธคอบร้านาโนไมต์ที่สามารถย่อยสลายโลหะได้ให้มีสีเขียว เพื่อให้คล้ายคลึงกับเชื้อราซึ่งมีความสามารถในการย่อยสลายคล้ายกัน
  • ชุดเร่งความเร็วในเรื่องถูกเรียกว่า เดลตา-6 ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงการ์ตูนโทรทัศน์ชุด G.I. Joe: Sigma 6
  • บางฉากในเรื่องถ่ายทำใกล้พีระมิดในประเทศอียิปต์ ซึ่งถือเป็นการอ้างอิงถึงภาพยนตร์ The Mummy (1999) ซึ่งเป็นผลงานของผู้กำกับ สตีเวน ซอมเมอร์ส เช่นกัน นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงถึงฉากสำคัญของ Transformers: Revenge of the Fallen (2009) ภาพยนตร์ที่สร้างจากของเล่นของบริษัท แฮสโบร อีกเรื่องหนึ่ง
  • ราเชล นิโคลส์ รับบทเป็น สการ์เลตต์ หรือชื่อจริงว่า ชานา โอฮารา ชื่อนี้อ้างอิงจากตัวละครสาวสวยขี้โมโห สการ์เลตต์ โอฮารา จาก Gone with the Wind (1939)
  • ตัวละคร เดสโทร เป็นหัวหน้าของมาร์ส (M.A.R.S.) ซึ่งเป็นตัวย่อของ กลุ่มวิจัยอาวุธทางการทหาร (Military Armaments Research Syndicate) นอกจากนี้ มาร์ส ยังอ้างอิงถึงเทพเจ้าแห่งสงครามตามตำนานของชาวโรมัน
  • ฉากที่ตัวละครฝ่ายมาร์สและฝ่ายจีไอโจโจมตีหอคอยไอเฟลนั้น คล้ายกับในการ์ตูนโทรทัศน์ชุด G.I. Joe: A Real American Hero หรือ G.I. Joe: The MASS Device ตอนแรก ซึ่งหอคอยไอเฟลเป็นสถานที่สำคัญแห่งแรกที่พวกคอบร้าโจมตี

advertisement

วันนี้ในอดีต

เกร็ดภาพยนตร์

  • Demonic - ประกาศสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยชื่อ House of Horror เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2011 โดย เจมส์ วาน รับหน้าที่อำนวยการสร้าง อ่านต่อ»
  • Child 44 - เป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 4 ที่ ทอม ฮาร์ดี ผู้รับบท เลโอ และ แกรี โอลด์แมน นักแสดงบท มิกเฮล ปรากฏตัวในภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน เรื่องก่อนหน้านี้คือ Tinker Tailor Soldier Spy (2011) Lawless (2012) และ The Dark Knight Rises (2013) อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

Rocketman Rocketman เรื่องราวการการเปลี่ยนแปลงที่น่าอัศจรรย์ใจจาก เรจินัลด์ ดไวท์ อัจฉริยะทางดนตรีขี้อายตัวน้อยๆ ไปสู่การเป็น เอลตัน จอห์น ...อ่านต่อ»