เกร็ดน่ารู้จาก Trail of the Panda
เกร็ดน่ารู้
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากศูนย์อนุรักษ์และวิจัยแพนด้ายักษ์แห่งประเทศจีน (ซีซีอาร์ซีจีพี) และองค์กรบริหารวนอุทยานแห่งชาติวู่หลง มณฑลเสฉวน
- เริ่มถ่ายทำในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2008 ในหุบเขาของมณฑลเสฉวน ประเทศจีน ลึกเข้าไปในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของแพนด้ายักษ์ ที่นี่มียอดเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะของหุบเขาซื่อกูเหนียง และป่าที่เขียวขจีของวนอุทยานแห่งชาติวู่หลง
- ศูนย์อนุรักษ์และวิจัยแพนด้ายักษ์แห่งประเทศจีนช่วยให้ผู้สร้างได้ร่วมงานกับแม่แพนด้า 2 ตัวและลูกๆ 14 ตัว โดยมี เมาเมา รับบทแม่แพนด้า และมีลูกแพนด้าวัย 6 เดือน 6 ตัวสับเปลี่ยนกันรับบทแพนด้าตัวหลักของเรื่อง พ่างพ่าง แพนด้าน้อยทั้ง 6 ได้แก่ อู๋จุน อู๋เจี๋ย ฮัวหลง ฮัวโอ ซิงเตียน และ จูหลิน
- ในบรรดาลูกแพนด้า 6 ตัวที่รับบทเป็น พ่างพ่าง มีเพียง อู๋จุน ที่ได้รับชื่อเล่นว่า เสี่ยวชุ่ย ที่แปลว่า หนูน้อยรูปหล่อ เพราะรูปลักษณ์ภายนอกและนิสัยที่ร่าเริงเป็นมิตรของมัน มันจึงเป็นดาราแพนด้าที่มีเวลาบนหน้าจอมากที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้
- หลังจากแผ่นดินไหวเสฉวนในประเทศจีนเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2008 ในบรรดาลูกแพนด้า 6 ตัวที่รับบทเป็น พ่างพ่าง มีเพียง อู๋จุน ที่ยังคงอยู่ที่วู่หลงในสถานพักพิงชั่วคราว ในขณะที่ลูกแพนด้าตัวอื่นๆ ถูกเคลื่อนย้ายไปที่หย่าอานทั้งหมด
- ในบรรดา 140 ฉากของภาพยนตร์เรื่องนี้ มีแพนด้าจริงๆ ปรากฏตัวถึง 120 ฉาก เนื่องจากผู้สร้างใช้ภาพจากคอมพิวเตอร์เฉพาะในฉากที่หากถ่ายทำจริงแล้วอาจเกิดอันตรายต่อแพนด้าได้ เช่น ฉากที่ลูกแพนด้าจะร่วงลงจากหน้าผา
- ผู้สร้างต้องเผชิญภัยพิบัติแผ่นดินไหวเสฉวนในประเทศจีน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2008 เวลา 14:28 น. ซึ่งวัดความรุนแรงได้ 8.0 ริกเตอร์ ทีมงาน 28 คนที่กำลังถ่ายภาพทิวทัศน์ในวู่หลงติดอยู่ในภูเขาบาลางกันนาน 4 วัน พวกเขาต้องเดินเท้าไปเรื่อยๆ และค้างแรมบนเขา จนไปถึงหมู่บ้านที่เขาซื่อกูเหนียงในวันรุ่งขึ้น พวกเขารอดตายจากความหนาวและความหิว เพราะความช่วยเหลือจากชายที่ชื่อ เหล่าฉี และภรรยา ที่กำลังเก็บของเตรียมลี้ภัย
- เมาเมา ที่รับบทแม่แพนด้า เกิดในป่าเมื่อปี 1999 และในปีถัดมาทีมงานของวนอุทยานแห่งชาติวู่หลงรับมาเลี้ยงดูในศูนย์วิจัย โดยตั้งชื่อ เมาเมา ตามชื่อผู้อุปถัมภ์ เมาอามิน นักร้องชาวจีนแผ่นดินใหญ่ เมาเมา เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเสฉวนในประเทศจีน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2008 ร่างของมันถูกพบเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2008 และทีมงานที่ศูนย์วิจัยก็จัดพิธีฝังศพให้มันใกล้ๆ กับแม่น้ำในวู่หลง
- ผู้สร้างเบื้องหลังส่วนใหญ่เป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็ยังมีผู้ร่วมงานจากนานาชาติหลายคน ได้แก่ ผู้กำกับภาพชาวฮ่องกง โตลินเหยา, กลุ่มครูฝึกสัตว์จากฝรั่งเศส, ศิลปินวิชวลเอฟเฟกต์ จอห์น ชีลส์ จากนิวซีแลนด์ และวิศวกรเสียง ริชาร์ด ไพรก์ ชาวอังกฤษ
- ผลจากแผ่นดินไหวเสฉวนในประเทศจีน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2008 ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียวที่ได้บันทึกภาพของวนอุทยานแห่งชาติวู่หลงที่บัดนี้เหลือเพียงซากปรักหักพัง ผู้สร้างจึงอุทิศภาพยนตร์ให้กับชาวเสฉวน ทีมงานและแพนด้าในศูนย์วิจัยวู่หลง และทุกคนที่มีส่วนช่วยในการบูรณะมณฑลเสฉวนให้กลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง
- ผู้อำนวยการสร้าง เจนนิเฟอร์ ลิว ชื่นชอบแพนด้ามาตั้งแต่ปี1984 ซึ่งเธอยังเป็นเด็ก ในตอนนั้นเมืองกวางโจวของประเทศจีนกำลังผูกสัมพันธ์กับเมืองลอสแอนเจลิสของสหรัฐอเมริกา คุณลุงของ เจนนิเฟอร์ เป็นตัวตั้งตัวตีในการนำแพนด้าคู่หนึ่งไปมอบเป็นของขวัญแก่ลอสแอนเจลิส
- ในปี 2007 ผู้อำนวยการสร้าง เจนนิเฟอร์ ลิว ได้ยินเรื่องราวของทีมงานที่วนอุทยานแห่งชาติวู่หลงคนหนึ่ง ที่เคยช่วยเหลือลูกแพนด้าจากในภูเขา ทำให้เขาอุทิศชีวิตให้กับการศึกษาและคุ้มครองแพนด้านับแต่นั้นมา เรื่องราวนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ เจนนิเฟอร์ วางแผนการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมา
- 5 เดือนก่อนเปิดกล้อง ผู้อำนวยการสร้าง เจนนิเฟอร์ ลิว ทาบทาม อี๋จง มากำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื่องจากเห็นว่า อี๋จง มีความสามารถในการกำกับนักแสดงเด็ก ส่วน อี๋จง ตอบตกลงรับงานนี้เพราะคิดว่ายังไม่มีภาพยนตร์ที่ถ่ายทำแพนด้าตัวจริง มีแต่แอนิเมชันหรือการใช้หุ่นกล รวมทั้งเขารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำงานกับสัตว์ที่เป็นสมบัติแห่งชาติของจีน
- ผู้สร้างสัมภาษณ์นักแสดงเด็กหลายคนจาก ปักกิ่ง ชุงกิง และ เฉิงตู ในประเทศจีน ในที่สุดพวกเขาก็เลือก ไดจิ ฮาราชิมะ ลูกครึ่งจีนและญี่ปุ่นมารับบท เสี่ยวหลู ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญที่ก่อนหน้านี้ ไดจิ เคยร่วมงานกับผู้กำกับ อี๋จง มาแล้วในละครโทรทัศน์เรื่อง Pan Ni Wei Ji หรือ Rebellion Crisis
- ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2008 ที่ผู้สร้างถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ในเสฉวน ประเทศจีน ตรงกับฤดูหนาวที่หนาวเย็นที่สุดในรอบ 50 ปีของจีนพอดี
- ความท้าทายของผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้คือธรรมชาติที่คาดเดาไม่ได้ของแพนด้า ด้วยความที่แพนด้าเหล่านี้ยังมีอายุน้อยและไม่ได้รับการฝึก พวกมันจึงเล่น กิน และหลับเมื่อไรก็ตามที่มันพอใจ อีกทั้งยังไม่เข้าใจคำสั่งมนุษย์ ผู้สร้างจึงต้องรอให้พวกมันแสดงพฤติกรรมที่พวกเขาต้องการ การถ่ายทำจึงมักจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน
- แพนด้าแต่ละตัวที่ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีพี่เลี้ยงจากศูนย์อนุรักษ์และวิจัยแพนด้ายักษ์แห่งจีนอย่างน้อย 2 คนคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา
- สถิติระบุไว้ว่า โดยทั่วๆ ไปแล้วแพนด้าใช้เวลาร้อยละ 55 ในแต่ละวันไปกับการกิน ร้อยละ 43 ไปกับการพักผ่อน และร้อยละ 2 ไปกับการเล่น กิจวัตรประจำวันของมันเริ่มต้นด้วยอาหารเช้าตอน 8 โมง พวกมันจะนอนหลับหลังบ่ายสอง และนอนหลับหลังมื้ออาหารครั้งละอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ดังนั้นแพนด้าแต่ละตัวจึงแสดงในภาพยนตร์ได้ไม่ถึง 2 ชั่วโมงในแต่ละวัน
- ผู้สร้างต้องจัดตารางการทำงานของตนตามตารางการให้อาหารและการนอนของแพนด้า โดยเริ่มต้นทำงานแต่เช้าตรู่
- ในฉากที่ลูกแพนด้าจะต้องวิ่ง ไม่ว่าผู้สร้างจะพยายามดันหลังลูกแพนด้าอย่างไร มันก็ไม่ยอมขยับเขยื้อนแม้แต่น้อย พวกเขาจึงต้องเปลี่ยนไปใช้ลูกแพนด้าอีกตัวหนึ่งซึ่งชอบวิ่งมากกว่า
- ในฉากหนึ่งที่ลูกแพนด้าจะต้องปีนต้นไม้ ลูกแพนด้าตัวแรกที่ผู้สร้างใช้ไม่ยอมให้ความร่วมมือ พี่เลี้ยงสัตว์จึงพาแพนด้าอีกตัวเข้ามาแทนที่ แล้วลูกแพนด้าตัวนี้ก็ปีนป่ายขึ้นต้นไม้ทันทีก่อนที่กล้องจะเริ่มเดิน จากนั้นไม่ว่าจะเกลี้ยกล่อมอย่างไรมันก็ไม่ยอมลงมา จนพวกเขาต้องเอาบันไดมาพาดเพื่อนำมันลงมาจากต้นไม้
- เนื่องจากเหล่าแพนด้าที่แสดงในภาพยนตร์ได้รับการประคบประหงมอย่างดี พวกมันจึงขาดประสบการณ์ชีวิต ทำให้ไม่ตื่นกลัวหรือตื่นเต้นง่าย ผู้สร้างต้องปรับเปลี่ยนบทภาพยนตร์หลายครั้ง เพราะแพนด้าไม่ตอบสนองสิ่งเร้ามากเท่าที่พวกเขาคิดไว้ในตอนแรก
- ผู้สร้างเตรียมหุ่นกลแพนด้าเอาไว้ก่อนหน้าการถ่ายทำ เพื่อใช้เป็นแผนสำรองในตอนที่ไม่สามารถกำกับลูกแพนด้าจริงๆ ได้ แต่ด้วยความที่ขนและอากัปกิริยาของหุ่นกลแตกต่างจากของจริงมากเกินไป จึงไม่มีการใช้แพนด้าปลอมในเรื่องเลย
- ในช่วงเริ่มแรกของการถ่ายทำ ผู้สร้างหมดเวลาไปกับการรอและทำความรู้จักนิสัยใจคอของแพนด้าแต่ละตัว เพื่อจะได้รู้ว่าจะใช้ตัวไหนในฉากใด
- ครูฝึกสัตว์จากฝรั่งเศสเข้ามาช่วยควบคุมแพนด้าในเรื่องด้วยการใช้นกหวีด ใช้นมและน้ำผึ้งเป็นรางวัลในการฝึก
- ในฉากที่ลูกแพนด้า พ่างพ่าง จะต้องจูบเด็กชาย เสี่ยวหลู ผู้สร้างใช้วิธีทาน้ำผึ้งลงบนใบหน้าของ ไดจิ ฮาราชิมะ ผู้รับบท เสี่ยวหลู ลูกแพนด้าจึงเข้ามาเลียใบหน้าของเขาในทันที
- ผู้สร้างต้องรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนในวู่หลงและภูเขาซื่อกูเหนียงของประเทศจีน ที่ซึ่งมีหิมะตก มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส และพระอาทิตย์ตกตอน 4 โมงเย็นทุกวัน
- ในฉากที่แพนด้า พ่างพ่าง ตกหน้าผาหมดสติ ผู้สร้างต้องรอให้ลูกแพนด้าที่แสดงในเรื่องผล็อยหลับไป จากนั้นก็โรยใบไม้และฝุ่นผงลงบนตัวมัน แต่ลูกแพนด้าไม่ยอมนอนง่ายๆ และบ่อยครั้งแสงอาทิตย์ก็หายไปหมดแล้ว ทำให้ถ่ายทำต่อไม่ได้ ผู้สร้างจึงใช้เวลาถ่ายทำฉากนี้นานกว่า 10 วัน
- ไดจิ ฮาราชิมะ ผู้รับบท เสี่ยวหลู ต้องถ่ายทำฉากอุ้มลูกแพนด้าข้ามแม่น้ำ ซึ่งอุณหภูมิของน้ำในวันนั้นต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และกระแสน้ำจากหิมะที่ละลายจากภูเขาก็ค่อนข้างแรง ไดจิ ที่ก้าวพลาดถูกกระแสน้ำพัดไป เขาน้ำตาซึมเพราะความหนาวเย็นและความลำบากที่ต้องแบกลูกแพนด้าที่หนักเกือบเท่าตัวของเขาเอง ฉากนี้ทำให้ ไดจิ ได้รับเสียงปรบมือจากทีมงานทุกคน
- บริษัท วอลท์ ดิสนีย์ และบริษัท อิ๋ง ตง มีเดีย ประกาศร่วมกันสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ในงานเทศกาลภาพยนตร์เซี่ยงไฮ้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2008 โดย วอลท์ ดิสนีย์ รับหน้าที่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือระหว่างเตรียมงานสร้างและระหว่างถ่ายทำ และดูแลการจัดจำหน่ายและการตลาดในต่างประเทศ ถือเป็นการร่วมงานกันครั้งที่ 2 ระหว่างจีนและอเมริกา หลังจากความสำเร็จจากภาพยนตร์เรื่อง Secret of the Magic Gourd (2007)
advertisement
วันนี้ในอดีต
คู่กรรมเข้าฉายปี 2013 แสดง ณเดชน์ คูกิมิยะ, อรเณศ ดีคาบาเลส, นิธิศ วารายานนท์
สังหรณ์เข้าฉายปี 2003 แสดง อภิเชษฐ์ กิตติกรเจริญ, วรเวช ดานุวงศ์, กวี ตันจรารักษ์
Tears of the Sunเข้าฉายปี 2003 แสดง Bruce Willis, Monica Bellucci, Cole Hauser
เกร็ดภาพยนตร์
- The Last Five Years - ใช้เวลา 21 วันในการถ่ายทำ และถ่ายทำฉากเพลง Goodbye Until Tomorrow ในวันสุดท้าย อ่านต่อ»
- Mad Max: Fury Road - ฉากเทคนิคพิเศษประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ช่วย แต่เป็นของจริงโดยใช้นักแสดงแทน ฉาก และการแต่งหน้าช่วย ส่วนที่ใช้คอมพิวเตอร์ก็ใช้เพียงลบเชือก ตกแต่งพื้นที่ทะเลทรายนามิบ และสร้างแขนปลอมข้างซ้ายของ ชาร์ลีซ เธอรอน ผู้รับบท ฟิวริโอซา เท่านั้น อ่านต่อ»
เปิดกรุภาพยนตร์
สีดา ตำนานรักโลงคู่
เรื่องจริงของโศกนาฎกรรมความรักของ ประโนตย์ (กฤษฎิ์สพล สุทธิหิรัญดำรงค์) ผู้ชายที่มีจิตใจเป็นหญิง หน้าตาสะสวยที่เติบโตมา...อ่านต่อ»