เกร็ดน่ารู้จาก Transformers: Revenge of the Fallen
เกร็ดน่ารู้
- เริ่มเปิดกล้อง 1 วันหลังจาก Transformers (2007) ซึ่งเป็นภาคก่อนหน้า ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในงาน เอ็มทีวี มูฟวี อวอร์ดส์
- ผู้เขียนบท โรแบร์โต ออร์ซี เปิดเผยว่า โจนาห์ ฮิลล์ ได้รับการเสนอให้รับบทเป็น ลีโอ และได้รับบทภาพยนตร์แล้วด้วย แต่สุดท้ายการเจรจาก็ล้มเหลว บทนี้จึงตกเป็นของ รามอน ร็อดริเกวซ
- ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2008 ไชอา ลาบัฟ ที่รับบท แซม และ อิซาเบล ลูคัส ที่รับบท อลิซ ประสบอุบัติเหตุรถชนด้วยกัน ไชอา บาดเจ็บที่มือและต้องเข้ารับการผ่าตัด จึงต้องพักการถ่ายทำ ถัดจากนั้น 2 วัน ผู้กำกับ ไมเคิล เบย์ หันไปถ่ายทำฉากของกองถ่ายย่อยที่ 2 ก่อน หลังจากนั้น ไชอา ที่อาการดีขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ 2-3 สัปดาห์ก็กลับมาร่วมแสดง ไมเคิล แนะนำให้เพิ่มบทภาพยนตร์เกี่ยวกับอาการบาดเจ็บที่มือของ แซม แต่ผู้เขียนบท โรแบร์โต ออร์ซี กล่าวว่าเขาเขียนบทใหม่เสร็จแล้ว เพื่อช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บของ ไชอา ไม่ให้กระทบกระเทือนมากขึ้น
- ผู้เขียนบท อเล็กซ์ เคิร์ตซ์แมน เป็นผู้คิดชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า Transformers: Revenge of the Fallen
- ขณะถ่ายทำมีคนเห็นรถยนต์แนวสปอร์ตรุ่น พอนทิแอก โซลสทิซ จอดอยู่ในกองถ่าย รถคันนี้คืออีกร่างหนึ่งของหุ่น แจ๊ส พากย์เสียงโดย ดาริอุส แมกครารี เช่นเดียวกับในภาคแรก Transformers (2007)
- แมตธิว มาร์สเดน ผู้รับบท เกรแฮม ชอบหนังสือการ์ตูน Transformers มาตั้งแต่เด็ก และชอบภาพยนตร์ภาคแรก Transformers (2007)
- หุ่นยนต์ วีลลี ในเรื่องเป็นตัวละครที่ผู้สร้างอุทิศให้ภาพยนตร์ WALL-E (2008) หุ่นยนต์จากภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องนี้ต่างมีลำคอที่ยืดยาวขึ้น มีตาเป็นกล้องสองตา และต่างเป็นผู้รับใช้ที่ภายหลังเลือกที่จะตัดสินใจด้วยตัวเอง
- ถ่ายทำฉากเรือดำน้ำกันที่ฐานเรือดำน้ำ พอยน์ต โลมา ในซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา นักแสดงประกอบในฉากนี้บางคนเป็นทหารเรือเกาหลีเหนือจริงๆ
- เดิมหุ่น อาร์ซี จะได้ปรากฏตัวในภาพยนตร์ภาคแรก Transformers (2007) แต่ผู้สร้างเลือก ไอรอนไฮด์ แทน เนื่องจากคิดว่าเพศของหุ่นยนต์ตัวนี้อธิบายยากเกินไป หลังจากนั้นพวกเขาคิดว่าอยากเอาใจผู้ที่ชื่นชอบ อาร์ซี จึงให้เธอได้ปรากฏตัวในภาพยนตร์เรื่องนี้ และเนื่องจากพวกเขาคิดว่า อาร์ซี ตัวเล็กเกินไป จึงเพิ่มคู่หูให้ อาร์ซี อีก 2 ตัว คือ โครเมีย และ มูนเรเซอร์ เพื่อให้ทั้ง 3 รวมกันเป็น คอมไบเนอร์ส
- มาร์ก ไรอัน รับหน้าที่เป็นตัวแสดงแทน และเป็นผู้พากย์เสียงให้หุ่น บัมเบิลบี เช่นเดียวกับที่เขาเคยทำใน Transformers (2007)
- ผู้สร้างกำหนดให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายในวันครบรอบ 25 ปีหลังจากฉายการ์ตูนโทรทัศน์ Transformers ตอนแรกเมื่อปี 1984
- เรื่องราวในภาพยนตร์เกิดขึ้นที่อียิปต์ แต่ถ่ายทำกันในฐานทัพอากาศ ฮอลโลแมน และแนวพิสัยจรวดมิสไซล์ ไวต์ แซนด์ส ในรัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา สถานที่ทั้ง 2 แห่งนี้เคยใช้ถ่ายทำเป็นฉากประเทศกาตาร์มาแล้วในภาพยนตร์ภาคแรก Transformers (2007)
- ผู้สร้างเตรียมถ่ายทำฉากต่อสู้ที่ ไวต์ แซนด์ส ในรัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสร้างสิ่งก่อสร้างบนทรายและผูกโยงระเบิดไว้ในภายใน รวมทั้งเตรียมเครื่องบิน เอฟ-16 ทั้งหมด 6 ลำไว้บินเหนือพื้นที่ดังกล่าว
- ผู้สร้างนำเสียงคำรามของ ราวาจ ฉบับดั้งเดิมที่ แฟรงก์ เวลเคอร์ พากย์ไว้ใช้ในการ์ตูนโทรทัศน์ Transformers มาใช้อีกครั้งในภาพยนตร์เรื่องนี้
- ไม่มีการใส่เพลงประกอบหลักของการ์ตูนโทรทัศน์ Transformers ซึ่งแต่งโดยวงร็อก มิวต์ แมธ ไว้ในภาพยนตร์ภาคแรก Transformers (2007) ทำให้ผู้ชื่นชอบ Transformers ไม่พอใจ ผู้สร้างจึงต้องนำเพลงดังกล่าวมาใช้ประกอบภาพยนตร์ภาคนี้
- ผู้สร้างอนุญาตให้ จอห์น เทอร์ทูโร ผู้รับบท ซิมมอนส์ ได้ปีนพีระมิดขณะที่ถ่ายทำในประเทศอียิปต์
- ผู้สร้างใช้กล้องระบบไอแมกซ์ ถ่ายทำฉากต่อสู้ 3 ฉาก ความละเอียดที่เพิ่มขึ้นมากจากการใช้เทคโนโลยีนี้ ทำให้แผนกแอนิเมชันจากบริษัท ไอแอลเอ็ม ต้องใช้เวลาถึง 5 วันในการเรนเดอร์ภาพระบบไอแมกซ์ 1 เฟรม
- อีกร่างหนึ่งของหุ่น ไซด์สไวป์ ในการ์ตูนโทรทัศน์ Transformers คือรถสปอร์ต แลมบูร์กินี แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้สร้างเปลี่ยนเป็นรถสปอร์ตของ เชฟโรเลต คอร์เวตต์ (เซนเทนเนียล คอนเซปต์)
- หุ่น เจตไฟร์ ที่ปรากฏในการ์ตูนโทรทัศน์ Transformers และที่เป็นของเล่นฉบับดั้งเดิม มีลักษณะเป็นเครื่องบินไอพ่นสำหรับต่อสู้รุ่น วีเอฟ-1เอส หรือ ซูเปอร์ วัลคีรี ซึ่งมีที่มาจากการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง Chojiku Yosai Macross และบริษัทของเล่นจากญี่ปุ่น ทาคาโตกุ ดังนั้นการออกแบบ เจตไฟร์ จึงเป็นปัญหาอย่างมากต่อบริษัทของเล่น ทาคาระ ซึ่งเป็นบริษัทหลักในการผลิตของเล่น Transformers ในญี่ปุ่น ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้สร้างตัดปัญหาด้วยการออกแบบ เจตไฟร์ ใหม่ทั้งหมดโดยอ้างอิงจากเครื่องบินไอพ่นรุ่น เอสอาร์-71 หรือ แบล็กเบิร์ด
- อ้างอิงจากการ์ตูนโทรทัศน์ Transformers หุ่นยนต์ ราวาจ ของ ดีเซปติคอนส์ มีอีกร่างหนึ่งเป็นเทปคาสเซตต์ ซึ่งผู้สร้างเห็นว่าล้าสมัยเกินไปสำหรับปัจจุบัน ในภาพยนตร์เรื่องนี้เขายังมีรูปลักษณ์เหมือนหุ่นเสือดำ แต่ได้รับการออกแบบให้ดูดิบเถื่อนและดูเหมือนมาจากนอกโลกมากขึ้น
- ในภาคแรก Transformers (2007) ผู้สร้างเลือกนักพากย์ชุดเก่าจากการ์ตูนโทรทัศน์ Transformers มาร่วมงานด้วยเพียง 2 คนคือ ปีเตอร์ คัลเลน พากย์เป็น ออปติมัส ไพรม์ และ ชาร์ลส์ แอดเลอร์ พากย์เป็น สตาร์สครีม แต่เมื่อได้รับฟังเสียงตอบรับจากผู้ชมแล้ว ผู้สร้างตัดสินใจดึงตัวนักพากย์ชุดเก่าเข้ามาร่วมงานมากขึ้นในภาค 2 นี้ ได้แก่ ซูซาน บลู, ไมเคิล เบลล์, ร็อบ พอลเซน และ แฟรงก์ เวลเคอร์ ที่นอกจากจะพากย์เป็น ซาวนด์เวฟ เช่นเคยแล้วยังรับงานพากย์เพิ่มเป็น ดีวาสเตเตอร์ ด้วย
- หุ่นยนต์ไดโนเสาร์ หรือ ไดโนบอต ที่ปรากฏในการ์ตูนโทรทัศน์ Transformers ไม่ได้ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะผู้เขียนบท อเล็กซ์ เคิร์ตซ์แมน คิดว่าพวกมันดูแตกต่างจากแนวคิดหุ่นยนต์จากนอกโลกมากเกินไป อย่างไรก็ตาม เขาตั้งใจจะเก็บไดโนบอตไว้ใช้ในภาคอื่นต่อไป
- ถ่ายทำฉากเรือบรรทุกเครื่องบินกันที่เรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ ยูเอสเอส จอห์น ซี. สเตนนิส ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังปฏิบัติงานอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลของแคลิฟอร์เนียใต้ ประเทศสหรัฐอเมริกา นักแสดงประกอบฉากบางคนเป็นทหารเรือของสหรัฐอเมริกาจริงๆ และหลังจากถ่ายทำเสร็จ ไทรีส กิบสัน ผู้รับบท เอปป์ส จัดการแสดงร้องเพลงขึ้นที่อ่าวเก็บเรือ โดยมีผู้ฟังเป็นทหารเรือที่ทำงานอยู่ที่นั่น
- ฉากในวิทยาลัยถ่ายทำในมหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนียและมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันซึ่งเป็นคู่แข่งกัน นักศึกษาของเพนซิลเวเนียโกรธมากเมื่อได้ยินข่าวว่าผู้กำกับ ไมเคิล เบย์ จะถ่ายทำที่พรินซ์ตัน อีกทั้งยังจะใช้ชื่อมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันในภาพยนตร์ด้วย แต่สุดท้ายทั้ง 2 สถาบันต่างก็ไม่ยอมให้ใช้ชื่อสถาบันในภาพยนตร์ เนื่องจากคิดว่าฉากของ จูดี ซึ่งรับบทโดย จูลี ไวต์ จะทำลายภาพลักษณ์ของสถาบันได้
- ขณะใกล้ปิดกล้อง ไชอา ลาบัฟ ผู้รับบท แซม ประสบอุบัติเหตุชนเข้ากับอุปกรณ์ประกอบฉาก จนบาดเจ็บที่ตา และต้องเย็บถึง 7 เข็ม คุณหมอกล่าวว่าแผลอยู่ห่างจากจุดสำคัญที่จะทำให้ตาบอดเพียง 1 นิ้วเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ไชอา กลับมาแสดงต่อทันทีในอีก 2 ชั่วโมงถัดมา
- อีกร่างหนึ่งของหุ่น บัมเบิลบี ที่พากย์เสียงโดย มาร์ก ไรอัน คือรถยนต์ เชฟโรเลต คามาโร ซึ่งร่างแบบขึ้นในปี 2006 และเตรียมสร้างและจำหน่ายในปี 2010 โดยผู้สร้างภาพยนตร์นำแบบร่างดังกล่าวมาดัดแปลงให้ดูแข็งแรงทนทานขึ้นกว่าเดิม หลังจากที่ บัมเบิลบี มีบทบาดเจ็บเสียหายไปในภาพยนตร์ภาคแรก Transformers (2007)
- เดิมผู้สร้างจะถ่ายทำฉากเซี่ยงไฮ้ สเคอร์มิช ในประเทศญี่ปุ่นเพื่ออุทิศให้แก่ประเทศผู้ให้กำเนิด Transformers แต่พวกเขาเปลี่ยนใจย้ายไปถ่ายทำที่ เบธเลเฮม สตีล ในเพนซิลเวเนีย และในลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาแทน เพราะไม่ต้องการให้ดูคล้ายภาพยนตร์แนวก็อดซิลลามากเกินไป
- ร่างเดิมของหุ่น วีลลี ใน Transformers: The Movie (1986) คือ ไซเบอร์โทรเนียน โมไบล์ แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้สร้างเปลี่ยนเป็นรถบรรทุกที่บังคับด้วยคลื่นวิทยุ
- ผู้กำกับ ไมเคิล เบย์ เห็นว่ารถยนต์เล็กๆ อย่าง เชฟโรเลต แทรกซ์ และ บีต ดูเข้ากันดี และสามารถรวมตัวกันให้แข็งแกร่งเหมือนรถบรรทุกใหญ่ๆ ได้ ไมเคิล จึงนำ ไซด์สไวป์ และ ซันสตรีเกอร์ รถสปอร์ตจากการ์ตูนโทรทัศน์ Transformers มาดัดแปลงโดยอ้างอิงตามรถยนต์ 2 คันดังกล่าว แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น สคิดส์ ซึ่งตั้งตามชื่อหุ่นในหนังสือการ์ตูน Transformers กับ มัดแฟลป ซึ่งตั้งตามหุ่นในการ์ตูนโทรทัศน์ Transformers: Cybertron และให้ สคิดส์ กับ มัดแฟลป เข้าคู่กันเป็น ออโตโบ ทวินส์ ทั้ง 2 ตัวพากย์เสียงโดย ทอม เคนนี
- หุ่นยนต์ของฝ่ายคอนสตรักติคอนส์ประกอบไปด้วยหุ่น 7 ตัวจากการ์ตูนโทรทัศน์ Transformers ได้แก่ สแคปเปอร์, มิกซ์มาสเตอร์, ลอง ฮอล, แรมเพจ, ดีวาสเตเตอร์ และยังมี ไฮห์ทาวเวอร์ จากการ์ตูนโทรทัศน์ Transformers: Robots in Disguise และหุ่น โอเวอร์โลด จากการ์ตูนโทรทัศน์ฉบับภาษาญี่ปุ่น Transformers: Armada ในบรรดาหุ่นเหล่านี้ แรมเพจ เป็นหุ่นพรีดาคอน ส่วน ไฮห์ทาวเวอร์ กับ โอเวอร์โลด เป็นออโตบอต
- บริษัทก่อสร้าง คาเตอร์พิลลาร์ มอบยานพาหนะ 3 คัน ได้แก่ รถตักบรรทุกรุ่น 992จี รถบรรทุกเทท้ายรุ่น 773บี และรถดันดินรุ่น ดี9 เพื่อให้ผู้สร้างนำไปใช้เป็นอีกร่างหนึ่งของหุ่น สแครปเปอร์, ลอง ฮอล และ แรมเพจ ตามลำดับ
- อีกร่างหนึ่งของหุ่นคอนสตรักติคอน มิกซ์มาสเตอร์ ที่พากย์เสียงโดย ไมก์ แพตตัน คือรถผสมคอนกรีต แมก ทรักส์
- อีกร่างหนึ่งของหุ่น ไฮห์ทาวเวอร์ ของคอนสตรักติคอน คือรถเครนตีนตะขาบ โคเบลโก ซีเค2500
- อีกร่างหนึ่งของ เดโมลิเชอร์ และ สกาเวนเจอร์ ของ ดีเซปติคอนส์ คือเครื่องขุดอุโมงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รุ่นทีเรกซ์ โอแอนด์เค อาร์เอช -400 พลังน้ำ
- นักออกแบบ จอช นิซซี ออกแบบหุ่นยนต์ ลอง ฮอล ขึ้นในฐานะผู้ชื่นชอบ Transformers เท่านั้น แต่ผู้กำกับ ไมเคิล เบย์ เห็นผลงานแล้วรู้สึกประทับใจ จึงจ้าง จอช มาร่วมงานด้วย และใช้งานออกแบบของเขาสร้างหุ่นยนต์ ลอง ฮอล ในภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นจริงๆ
- อีกร่างหนึ่งของหุ่น โจลต์ ที่พากย์เสียงโดย แอนโธนี แอนเดอร์สัน ในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ เชฟโรเลต โวลต์ ซึ่งเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ที่ออกแบบโดยบริษัท เจเนรัล มอเตอร์ส
- ร่างเดิมของหุ่น ไซด์เวย์ ของ ดีเซปติคอนส์ ในการ์ตูนโทรทัศน์ฉบับญี่ปุ่น Transformers: Armada คือรถจักรยานยนต์และเครื่องบินไอพ่น แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้สร้างเปลี่ยนเป็นรถยนต์ ออดี อาร์8
- แผนกแอนิเมชันออกแบบท่าทางของหุ่น ดีวาสเตเตอร์ ที่พากย์เสียงโดย แฟรงก์ เวลเคอร์ มาจากท่าทางของกอริลลา
- ผู้เขียนบท โรแบร์โต ออร์ซี เปิดเผยว่าหลักสำคัญในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้คือ รักษาความสมดุลระหว่างความขัดแย้งของหุ่นยนต์และมนุษย์ กับอารมณ์ขันที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นฉากสงครามจึงเข้มข้นมากขึ้น ขณะเดียวกับที่มุกตลกเด่นชัดมากขึ้นด้วย
- เจ้าหน้าที่รัฐของประเทศอียิปต์ ซาฮี ฮาวาสส์ เป็นนักโบราณคดีที่ชื่นชอบภาพยนตร์ Transformers (2007) มาก เขาจึงช่วยให้ผู้สร้างได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำในประเทศอียิปต์ได้ อย่างไรก็ตาม เขามีเงื่อนไขว่าห้ามไม่ให้ผู้สร้างทำลายสิ่งปลูกสร้างใดๆ เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์
- ผู้สร้างใช้เวลาถ่ายทำในประเทศอียิปต์ 3 วัน เริ่มจากที่พีระมิดกีซา และเมืองลุกซอร์ ผู้อำนวยการสร้าง โลเรนโซ ดิ โบนาเวนทูรา เปิดเผยภายหลังว่าการถ่ายทำดำเนินไปอย่างเป็นความลับสุดยอดเพื่อรักษาความปลอดภัย โดยมีผู้ร่วมงานเป็นชาวอเมริกัน 150 คนและชาวอียิปต์ในท้องถิ่นอีกหลายสิบคน
- ผู้สร้างได้รับอนุญาตจากฐานทัพอากาศ โรยัล จอร์แดเนียน ให้สามารถถ่ายทำในประเทศจอร์แดนเป็นเวลา 4 วัน ในเมือง เพตรา, วาดิ รัม และ ซอลต์
- ถ่ายทำบางฉากกันในปลาสเดอลาคองคอร์ด ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส และก่อนหน้านั้น ผู้สร้างเคยถ่ายทำฉากปารีส โดยจัดฉากขึ้นในเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกามาแล้ว
- หุ่นยนต์ในภาพยนตร์เรื่องนี้เกือบทั้งหมดเป็นภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิก เนื่องจากถ่ายทำได้ง่ายกว่า แต่ก็มีการใช้วัสดุที่จับต้องได้เข้ามาผสมผสานเป็นบางส่วนด้วย ได้แก่ หุ่น บัมเบิลบี ขนาดเท่าของจริง คานและเฟืองสำหรับร่อนลงจอดของ เจตไฟร์ หุ่นชักของ ราวาจ กับ เลเซอร์บีก กรงเล็บของ เมกาตรอน และใบหน้าของ ฟอลเลน
- มีชื่อ สคิดส์ ติดอยู่บนป้ายทะเบียนของหุ่น สคิดส์ ที่พากย์เสียงโดย ทอม เคนนี ด้วย
- นอกจาก ปีเตอร์ คัลเลน จะพากย์เสียงเป็น ออปติมัส ไพรม์ แล้ว ยังแสดงบทรับเชิญเป็น ออโตบอต โฮโลแกรม ด้วย
- เดิม เทเรซา พาลเมอร์ มาทดสอบบทเป็น อลิซ แต่สุดท้าย บทนี้ตกเป็นของ อิซาเบล ลูคัส
- ผู้กำกับ ไมเคิล เบย์ อยากให้ อามัวรี โนลาสโก กลับมารับบท จอร์เก ฟิกูเอโรอา อีกครั้ง แต่ อามัวรี ติดถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องอื่น
- ขณะที่ เลนนาร์ด นิมอย กำลังถ่ายทำ Star Trek (2009) ผู้เขียนบท โรแบร์โต ออร์ซี และ อเล็กซ์ เคิร์ตซ์แมน เข้ามาทาบทามให้เขาพากย์เสียงเป็น ฟอลเลน ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ขณะที่ผู้กำกับ ไมเคิล เบย์ รู้สึกกังวลที่จะต้องออกปากขอให้ เลนนาร์ด ซึ่งแต่งงานกับลูกพี่ลูกน้องของเขามาร่วมงาน เพราะเกรงว่าจะจ่ายค่าตอบแทนได้ไม่มากเท่าที่ควร แม้ เลนนาร์ด จะเคยพากย์เสียงเป็น กาลเวตรอน มาแล้วใน Transformers: The Movie (1986) แต่สุดท้ายผู้ที่ได้พากย์เสียง ฟอลเลน กลับเป็น โทนี ทอดด์
- ใบหน้าของ ฟอลเลน ซึ่งพากย์เสียงโดย โทนี ทอดด์ นั้น เหมือนกับใบหน้าของหุ่น ดีเซปติคอนส์ แต่มีมงกุฎแบบอียิปต์สวมอยู่ นอกจากนี้ เขายังมีเส้นแมกมาสีแดงพาดผ่านร่างกาย ซึ่งผู้สร้างตั้งใจให้ดูคล้ายรูปลักษณ์ดั้งเดิมของเขาในหนังสือการ์ตูน ซึ่งถูกห่อหุ้มด้วยไฟ
- นักดนตรีร็อก สแตน บุช ที่แต่งเพลง The Touch สำหรับ Transformers: The Movie (1986) นำเพลงเก่าเพลงนี้มาปรับปรุงใหม่ เพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้
- ฉากที่หุ่น ราวาจ กระโดดข้ามหาดทราย เป็นฉากประจำตัวของ ราวาจ ที่พบเห็นได้เสมอเวลาที่เขาปรากฏตัว โดยเฉพาะในหนังสือการ์ตูนของมาร์เวล และในหนังสืออื่นๆ
- จอห์น เทอร์ทูโร ผู้พากย์เสียง ซิมมอนส์ เสนอตัวว่าจะพากย์เสียงเป็นหุ่น เจตไฟร์ ด้วย เนื่องจากเขาคิดว่าเป็นบทที่น่าสนุก ซึ่งเขาก็ได้รับหน้าที่ดังกล่าว
- นักดนตรีร็อก ไมก์ แพตตัน ที่เคยพากย์เสียงในวิดีโอเกม The Darkness ได้รับเลือกให้มาพากย์เสียงเป็นหุ่น มิกซ์มาสเตอร์ และหุ่นยนต์ไม่ทราบชื่ออีกตัวหนึ่ง
- ในบรรดาหุ่นยนต์ทั้งหมดที่ปรากฏตัวในเรื่องนี้ ผู้กำกับ ไมเคิล เบย์ ชอบหุ่น ออโตโบ ทวินส์ เป็นพิเศษ แต่ไม่ค่อยชอบหุ่น อาร์ซี และ ออโตบอต ซิสเตอร์ส
- ผู้สร้างออกแบบให้หุ่น แรมเพจ มีรูปร่างคล้ายปู นั่นคือมี 4 ขา มี 2 ก้าม และมีกระดองแข็งด้านนอก ทำให้ แรมเพจ ดูคล้ายกับ พรีดาคอน แรมเพจ ในการ์ตูนโทรทัศน์ Beast Wars: Transformers ซึ่งมีอีกร่างเป็นแมงดาทะเล
- ผู้กำกับ ไมเคิล เบย์ ภูมิใจมากที่ฉากหุ่น ดีวาสเตเตอร์ ซึ่งพากย์เสียงโดย แฟรงก์ เวลเคอร์ ในฉากการรบแบบกองโจรในกีซา สามารถทำให้ผู้มีมารยาทดีอย่างผู้กำกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก สบถออกมาด้วยความประทับใจได้
- ในฉากการรบแบบกองโจรในกีซา ประเทศอียิปต์ รามอน ร็อดริเกวซ ผู้รับบท ลีโอ ต้องทนกับลมที่มีความแรง 100 ไมล์ต่อชั่วโมง ซึ่งทำให้ไหล่ของเขาหลุด และทำให้ทรายเข้าไปในตาของเขา หลังจากนั้นเขาต้องใช้เวลาถึง 45 นาทีในการทำให้ตาของเขากลับมาสะอาดดังเดิม
- เมแกน ฟ็อกซ์ รับบทเป็น มิคาเอลลา สาวนักขี่รถจักรยานยนต์ แต่ตัวจริงของ เมแกน ไม่สามารถขี่รถจักรยานยนต์ได้ จึงต้องให้คนมาช่วยผลักให้เธอสามารถออกรถได้ในขณะถ่ายทำ รวมทั้งมีคนคอยจับรถให้หยุดได้อย่างปลอดภัยหลังจากถ่ายทำเสร็จ แต่ก็ไม่สำเร็จด้วยดีเสมอไป เพราะเธอขับขี่ด้วยความเร็วสูง
- ผู้แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ สตีฟ จาบลอนสกี ดึงตัวที่ปรึกษาของเขา ฮานส์ ซิมเมอร์ และวงร็อก ลินคิน พาร์ก เข้ามาร่วมงานด้วย โดยพวกเขาร่วมกันนำเพลง New Divide ของ ลินคิน พาร์ก มาประยุกต์ใหม่ให้กลายเป็นเพลงดนตรีบรรเลง
- รถจักรยานยนต์ 3 คันที่ใช้เป็นอีกร่างหนึ่งของหุ่น ออโตบอต ซิสเตอร์ส เป็นรถจักรยานยนต์ที่ออกแบบและสร้างโดยบริษัทผลิตรถจักรยานยนต์ประเภทสปอร์ตไบก์ เรโทรเอสบีเค
- หัวหน้าแผนกสเปเชียลเอฟเฟกต์ จอห์น ฟราซิเออร์ ใช้เวลา 7 เดือนในการติดตั้งระเบิดที่ใช้น้ำมันเบนซิน 1,000 แกลลอน เพื่อใช้ในฉากระเบิดการรบแบบกองโจรที่กีซา ประเทศอียิปต์
- ต้องใช้พื้นที่ในคอมพิวเตอร์ทั้งหมด 140 เทราไบต์ ในการทำให้ภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิกของหุ่นยนต์ทั้งหมดในภาพยนตร์เรื่องนี้เคลื่อนไหวตามที่กำหนด
- หุ่น สตาร์สครีม ที่พากย์เสียงโดย ชาร์ลส์ แอดเลอร์ แต้มร่างกายของเขาด้วยลวดลายไซเบอร์โทรเนียนสีม่วง ซึ่งสีม่วงนี้จัดเป็นสีนำโชคของ ดีเซปติคอนส์
- ก่อนเริ่มถ่ายทำ เมแกน ฟ็อกซ์ น้ำหนักตัวลด เธอจึงต้องรับประทานเค้กจำนวนมากเพื่อให้รูปร่างกลับมาเหมาะสมกับบท มิคาเอลลา ผลก็คือเธอมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 10 ปอนด์ภายใน 3 สัปดาห์
- ภาพยนตร์เรื่อง Transformers (2007) กินพื้นที่ความจุของคอมพิวเตอร์เท่ากับ 20 เทราไบต์ ส่วนภาค Transformers: Revenge of the Fallen (2009) ใช้พื้นที่มากถึง 145 เทราไบต์ ซึ่งเท่ากับความจุของแผ่นดีวีดี 35,000 แผ่น หากวางแผ่นดีวีดีเหล่านั้นเรียงกันขึ้นไปโดยไม่มีแผ่นใดบรรจุใส่กล่อง จะได้ความสูงทั้งสิ้น 145 ฟุต
- ภาพที่ถ่ายจากระบบกล้องไอแมกซ์ 1 ภาพมีขนาดใหญ่มาก หากใช้เพียงคอมพิวเตอร์ตามบ้านธรรมดาในการเรนเดอร์ จะต้องใช้เวลาถึงเกือบ 3 ปีติดต่อกันโดยไม่หยุดพัก และหากต้องการเรนเดอร์ภาพยนตร์ทั้งเรื่องโดยใช้คอมพิวเตอร์ตามบ้านที่เป็นรุ่นทันสมัย จะต้องเริ่มเรนเดอร์ตั้งแต่ 16,000 ปีก่อน (ซึ่งเพิ่งมีการวาดภาพ ฮอลล์ ออฟ บุลล์ส ขึ้นในผนังถ้ำ) จึงจะทันวันเข้าฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในปี 2009
- หุ่น ดีวาสเตเตอร์ ที่พากย์เสียงโดย แฟรงก์ เวลเคอร์ มีชิ้นส่วนมากกว่ารถยนต์ทั่วไปถึงมากกว่า 10 เท่า
advertisement
วันนี้ในอดีต
- รักแห่งสยามเข้าฉายปี 2007 แสดง มาริโอ้ เมาเร่อ, วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล, กัญญา รัตนเพชร์
- Harry Potter and the Chamber of Secretsเข้าฉายปี 2002 แสดง Daniel Radcliffe , Emma Watson , Rupert Grint
- ตีสาม 3Dเข้าฉายปี 2012 แสดง กาญจน์เกล้า ด้วยเศียรเกล้า, โทนี่ รากแก่น, ชาคริต แย้มนาม
เกร็ดภาพยนตร์
- Cinderella - ชุดราตรีที่ ซินเดอเรลลา รับบทโดย ลิลี เจมส์ สวมไปงานเต้นรำ ตัดเย็บจากผ้ายาวกว่า 270 หลา ด้ายยาวกว่า 3 ไมล์ และคริสตัลจากสวารอฟสกีกว่า 10,000 เม็ด อ่านต่อ»
- Everly - เดิมที เคต ฮัดสัน ถูกวางตัวให้แสดงบท เอเวอร์ลี แต่ภาพยนตร์อยู่ในขั้นตอนพัฒนาเรื่องนานจน เคต ถอนตัว และภายหลัง ซัลมา ฮาเยก จึงเข้ามารับบทแทน อ่านต่อ»
เปิดกรุภาพยนตร์
The Art of Racing in the Rain หมาแสนรู้ที่ชื่อว่า เอ็นโซ (เควิน คอสต์เนอร์) กับเรื่องราวชวนประทับใจของมิตรภาพระหว่างมันและเจ้านายที่รัก เดนนี สวิทต์ ...อ่านต่อ»