เกร็ดน่ารู้จาก Star Trek

เกร็ดน่ารู้
  • มีประโยคเปิดเรื่องที่เป็นอมตะตั้งแต่สมัยที่เป็นละครโทรทัศน์ในยุค 60 ที่ว่า "อวกาศ พรมแดนด่านสุดท้าย" หรือ "Space, the final frontier..."
  • Star Trek ถือกำเนิดครั้งแรกจากการสร้างสรรค์ของ จีน ร็อดเดนเบอร์รี ในปี 1966 เป็นละครโทรทัศน์มาแล้ว 6 ชุด และมีภาพยนตร์ออกมาแล้วก่อนหน้านี้ 10 เรื่อง ภาพยนตร์เรื่องที่ 11 นี้จะเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนหน้าภาคอื่นๆ ทั้งหมด นั่นคือยุคที่ตัวละครหลักทั้งหลายซึ่งยังเป็นวัยรุ่นมารวมตัวกันในการออกเดินทางครั้งแรกของยานอวกาศยูเอสเอส เอ็นเตอร์ไพรส์
  • ผู้กำกับ เจ.เจ. เอบรัมส์ และผู้อำนวยการสร้าง เดมอน ลินเดล็อฟ เคยร่วมงานกันมาก่อนแล้วในการสร้างละครชุด Lost ส่วนผู้อำนวยการสร้างบริหาร ไบรอัน เบิร์ก ก็เคยร่วมงานกับ เจ.เจ. เช่นกัน ในละครชุด Lost และ Alias และภาพยนตร์เรื่อง Cloverfield (2008)
  • ผู้อำนวยการสร้างบริหาร เจฟฟรีย์ เชอร์นอฟ ให้ความเห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คล้าย Star Wars (1977) ภาคแรกผสมกับ The Right Stuff (1983) เนื่องจากมีทั้งเรื่องราวข้ามจักรวาลที่สดใหม่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการ และเรื่องราวอันติดดินเกี่ยวกับหนุ่มสาวที่มีหัวใจและมิตรภาพอันดี
  • ผู้เขียนบท อเล็กซ์ เคิร์ตซ์แมน เล่าว่า สิ่งแรกๆ ที่เขาจำได้เกี่ยวกับตัวผู้ร่วมเขียนบท โรแบร์โต ออร์ซี คือเขามีโทรศัพท์รูปยานยูเอสเอส เอ็นเตอร์ไพรส์ ที่ใช้สื่อสารได้จริง เนื่องจากโรแบร์โต คลั่งไคล้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ Star Trek
  • ผู้เขียนบท อเล็กซ์ เคิร์ตซ์แมน และ โรแบร์โต ออร์ซี ยอมรับว่าไม่ได้ตอบตกลงเข้าร่วมงานชิ้นนี้ในทันที เพราะรู้สึกกดดันจากความรับผิดชอบอันใหญ่หลวง ในการดึงดูดเด็กรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจ Star Trek
  • ผู้เขียนบท อเล็กซ์ เคิร์ตซ์แมน และ โรแบร์โต ออร์ซี ออกแบบบุคลิกของตัวละคร เจมส์ เคิร์ก ในวัยหนุ่ม ซึ่งรับบทโดย คริส ไพน์ ให้เป็นเด็กเฮี้ยวจอมขบถ โดยเปรียบเทียบกับบุคลิกของนักแสดงดัง เจมส์ ดีน
  • เนโร วายร้ายชาวโรมูลันของเรื่องนี้ที่รับบทโดย อีริก บานา เป็นตัวละครใหม่ที่ไม่เคยปรากฏตัวใน Star Trek ภาคใดมาก่อน
  • ผู้สร้างติดต่อ เลนนาร์ด นิมอย ผู้รับบทเป็น สป็อก ในภาคก่อนๆ ให้มารับบท สป็อก วัยชราซึ่งมีบทบาทสำคัญในภาพยนตร์เรื่องนี้ เลนนาร์ด เคยกล่าวไว้ว่าเขาจะไม่แสดงภาพยนตร์เรื่อง Star Trek อีก แต่ในที่สุดเขาก็ตอบรับคำเชิญครั้งนี้
  • ผู้สร้างทำรายการสิ่งที่ผู้ชมซึ่งเป็นแฟนรุ่นเก่าต้องการจะได้ชมในภาพยนตร์เรื่องนี้ เอาไว้เป็นแนวทางในการเขียนบทและถ่ายทำ เช่น ลูกเรือชุดแดง สาวโอไรออนตัวสีเขียว และ สป็อก ที่กำลังเล่นพิณ เป็นต้น
  • เมื่อคณะผู้เขียนบทมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับกฎของสตาร์ฟลีต หรือประวัติของเผ่าพันธุ์ต่างดาว พวกเขาจะไปขอคำปรึกษาจากแฟนภาพยนตร์ Star Trek หรือที่เรียกว่า เทรกเกอร์ หนึ่งในนั้นคือ ฌอน เจอเรซ ผู้ค้นคว้าและเขียนรายงานเกี่ยวกับตำนานโรมูลัน นอกจากนี้เขายังชมละครต้นฉบับทั้ง 79 ตอน รวมถึงภาพยนตร์ Star Trek ทุกเรื่อง แล้วจดรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติและบุคลิกของตัวละครเอาไว้มากมาย
  • คณะผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้มีทั้งผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่อง Star Trek และผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับ Star Trek เลยอยู่ปะปนกัน เช่น ผู้เขียนบท โรแบร์โต ออร์ซี รู้ดีว่าต้องสร้างภาพยนตร์แบบไหนเพื่อไม่ให้แฟนๆ โกรธ ขณะที่ผู้อำนวยการสร้าง ไบรอัน เบิร์ก ไม่เคยดูละครต้นฉบับเลย จึงเหมาะกับทิศทางการทำงานของพวกเขา ที่ทั้งต้องการรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมของเรื่อง และสร้างจินตนาการใหม่ๆ ขึ้นมาในเวลาเดียวกัน
  • คริส ไพน์ ซึ่งผ่านการทดสอบหน้ากล้องจนได้รับบท เจมส์ เคิร์ก ต้องฝึกฝนร่างกายอย่างหนักกับกลุ่มนักแสดงผาดโผน ทั้งชกมวยและศิลปะการต่อสู้อื่นๆ
  • เลนนาร์ด นิมอย ถ่ายทอดบทบาท สป็อก มาตลอดทั้งจากภาพยนตร์ภาคเก่าๆ และละครชุด ดังนั้นในภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจาก เลนนาร์ด จะหวนมารับบท สป็อก วัยชราแล้ว เขายังเป็นที่ปรึกษาให้ แซกคารี ควินโต ผู้รับบท สป็อก วัยรุ่นอีกด้วย โดย แซกคารี ได้ซักถามข้อสงสัยกับ เลนนาร์ด มากมาย และพวกเขายังได้พูดคุยกันเรื่องสภาพจิตใจของ สป็อก และสิ่งที่เกิดขึ้นกับ สป็อก ในช่วงกลางชีวิตระหว่างวัยรุ่นกับวัยชรา
  • คาร์ล เออร์เบิน ตกลงรับบท ด็อกเตอร์ เลนนาร์ด แม็กคอย หรือ โบนส์ เนื่องจากเขาชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้มานาน และรู้สึกคุ้นเคยกับตัวละครทั้งหลายเป็นอย่างดี นอกจากนี้ คาร์ล ยังต้องการแสดงเพื่อให้เกียรติแก่ผู้รับบท โบนส์ คนเก่า นั่นคือนักแสดงตลก เดอฟอเรสต์ เคลลีย์ ผู้ล่วงลับ
  • ผู้สร้างเลือก ไซมอน เพกก์ ให้มารับบท มอนต์โกเมอรี สก็อตต์ หรือ สก็อตตี เอาไว้แล้วตั้งแต่ต้น เนื่องจากได้ชมผลงานของเขาในภาพยนตร์ตลก Shaun of the Dead (2004) และ Hot Fuzz (2007) แล้วเห็นว่าเขาเหมาะกับบทนี้ เมื่อได้รับการทาบทาม ไซมอน ส่งอีเมล์ไปบอกผู้กำกับ เจ.เจ. เอบรัมส์ ว่าเขารู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองเพราะเขาเทิดทูนภาพยนตร์เรื่องนี้มากในตอนเป็นเด็ก นอกจากนี้ยังส่งอีเมล์มาเป็นครั้งที่ 2 เพื่อขอเวลาตัดสินใจ จากนั้นไม่นาน ไซมอน ก็ตอบตกลง
  • อูฮูรา จัดเป็นตัวละครเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกๆ ของวงการโทรทัศน์ อีกทั้งยังมีฉากจูบกับตัวละครต่างสีผิวเป็นรายแรกๆ ของวงการโทรทัศน์อเมริกันอีกด้วย ผู้รับบทนี้แต่ดั้งเดิมคือ นิเชลล์ นิโคลส์ ส่วนผู้รับบทนี้ในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ โซอี ซัลดานา นักแสดงสาวเชื้อสายเปอโตริโกและโดมินิแกน
  • ซูลู จัดเป็นตัวละครลูกครึ่งเอเชียรุ่นบุกเบิกวงการภาพยนตร์ตะวันตก เดิมรับบทโดย จอร์จ ทาเคอิ นักแสดงอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ส่วนในภาคนี้รับบทโดย จอห์น โช นักแสดงชาวเกาหลีที่มีชื่อเสียงจากภาพยนตร์ตะวันตกอย่าง American Pie (1999) และละครเรื่อง Harold and Kumar จอห์น ได้รับคำแนะนำและกำลังใจจาก จอร์จ สำหรับการรับบท ซูลู นี้ด้วย
  • ตัวละครกัปตัน ไพก์ ปรากฏตัวในละครต้นฉบับเพียง 3 ตอนเท่านั้น เดิมผู้ที่รับบทนี้คือ เจฟฟรีย์ ฮันเตอร์ ต่อมาคือ ฌอน เคนนีย์ และในภาพยนตร์เรื่องนี้รับบทโดย บรูซ กรีนวูด โดย บรูซ เปิดเผยว่า เขาชอบบทนี้เพราะชอบความสัมพันธ์ที่คล้ายพ่อกับลูกระหว่าง ไพก์ กับ เจมส์ เคิร์ก ที่รับบทโดย คริส ไพน์
  • ผู้ที่มารับช่วงต่อจาก วอลเตอร์ โคนิก ในการสวมบทบาท เชคอฟ เจ้าหน้าที่ที่อายุน้อยที่สุดของยานยูเอสเอส เอ็นเตอร์ไพรส์ คือ อันตวน เยลชิน เนื่องจาก อันตวน มีหลายอย่างคล้ายกับตัวละคร เชคอฟ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อสายรัสเซีย เนื่องจาก อันตวน เกิดในเลนินกราด และความสามารถยอดเยี่ยมด้านหมากรุก
  • อันตวน เยลชิน ไม่เคยชมละคร Star Trek มาก่อน เมื่อได้รับบท เชคอฟ เขาจึงรีบศึกษาบทด้วยการหามาชมให้ครบทุกตอน จากนั้นเขาให้ความเห็นเกี่ยวกับตัวละครที่เขาต้องแสดงว่า เชคอฟ เป็นคนที่แปลกที่สุดบนยาน เป็นคนแข็งขันและมีอารมณ์ขัน ส่วน วอลเตอร์ โคนิก ผู้รับบท เชคอฟ คนก่อน แนะนำ อันตวน ว่าให้แสดงในแบบของตัวเอง โดยไม่ต้องเลียนแบบเขา
  • ตอนที่ผู้กำกับ เจ.เจ. เอบรัมส์ ติดต่อให้ อีริก บานา มารับบท เนโร นั้น อีริก กำลังอยู่ในช่วงหยุดพักจากงานแสดงพอดี แต่ อีริก อยากแสดงบทนี้มาก จึงยอมกลับคืนสู่จอภาพยนตร์อีกครั้ง
  • อีริก บานา ผู้รับบท เนโร ต้องใช้เวลาแต่งหน้าแต่งตัว รวมทั้งติดอวัยวะปลอม นานถึงวันละ 4 ชั่วโมง อีริก ให้ความเห็นว่า เนโร ดูประหลาดแต่ก็ดูดี และเมื่อเริ่มแสดงไปไม่ถึง 1 สัปดาห์ อีริก ก็เริ่มคุ้นเคยกับรูปลักษณ์ของ เนโร จนมนุษย์ปกติกลับเป็นฝ่ายดูประหลาดมากกว่าสำหรับเขา
  • อีริก บานา ผู้รับบท เนโร ชื่นชอบเครื่องยนต์กลไกมากอยู่แล้ว จึงรู้สึกตื่นเต้นกับยานรบของ เนโร ที่ชื่อ เนราดา ซึ่งมีลักษณะเปิดโล่งให้เห็นเส้นลวดสายไฟและโครงสร้างของยานทั้งลำ
  • ก่อนเปิดกล้อง นักแสดงทุกคนต้องฝึกฝนร่างกายอย่างเข้มงวด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฉากต่อสู้ ซึ่งมีตั้งแต่การวิวาทในบาร์ จนถึงการตามไล่ล่าแบบศตวรรษที่ 23 ซึ่งต้องกระโดดร่มในอวกาศ ผู้ประสานงานฉากผาดโผน โจอี บอกซ์ เป็นผู้ควบคุมการฝึกร่างกาย โดยนำเอาการต่อสู้แบบยุค 60 ของละครต้นฉบับมาผสมกับมุมมองของศตวรรษที่ 23 ที่อิงความเป็นจริงมากขึ้น
  • ผู้ประสานงานฉากผาดโผน โจอี บอกซ์ ออกแบบการต่อสู้ของตัวละครแต่ละตัวให้แตกต่างกัน โดยอ้างอิงจากบุคลิกและเผ่าพันธุ์ เช่น สป็อก ที่รับบทโดย แซกคารี ควินโต ต่อสู้แบบชาววัลแคน ซึ่งเป็นแบบไหลลื่นและตรงไปตรงมา ไม่ใช้หมัดและไม่ใช้อารมณ์ ส่วน เจมส์ เคิร์ก ที่รับบทโดย คริส ไพน์ เป็นนักสู้ข้างถนนที่ชำนาญการวิวาทและเอาตัวรอดเก่ง ส่วน เนโร ที่รับบทโดย อีริก บานา ต่อสู้แบบมวยปล้ำเกรโค-โรมัน ที่มีการจับเหวี่ยง รัด และล้มกลิ้งไปรอบๆ
  • เนื่องจากมีฉากระเบิดหลายฉาก นักแสดงหลายคนจึงต้องเข้าฉากกับเครื่องยิงอัดลม ที่สามารถดีดตัวนักแสดงขึ้นไปในอากาศได้อย่างรวดเร็วแต่ปลอดภัย
  • ถ่ายทำเกือบจะทั้งเรื่องกันในสถานที่จริงของแคลิฟอร์เนียใต้ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยไม่ใช้การถ่ายทำหน้าฉากสีเขียวในโรงถ่าย ทำให้ต้องสร้างฉากขึ้นมาจำนวนมาก เช่น ฉากห้องเครื่องยนต์ที่สร้างในโรงงานผลิตเบียร์ ฉากดาวเคราะห์น้ำแข็งที่สร้างในลานจอดรถของสนามเบสบอล เป็นต้น
  • หลังจากโต้แย้งถกเถียงกันมาหลายครั้ง ผู้สร้างตัดสินใจถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยระบบจอกว้าง เพื่อเน้นความรู้สึกอันยิ่งใหญ่ของห้วงอวกาศ
  • ผู้ออกแบบงานสร้าง สก็อตต์ แชมบลิสส์ ออกแบบหอบังคับการยานยูเอสเอส เอ็นเตอร์ไพรส์ ซึ่งมีสถานีสื่อสาร เครื่องนำวิถี และเก้าอี้ของกัปตัน โดยรักษารูปแบบดั้งเดิมเอาไว้ แต่เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันล้ำหน้าเทคโนโลยีในละครฉบับดั้งเดิมไปมากแล้ว อาทิ การใช้โทรศัพท์มือถือ สก็อตต์ จึงต้องเปลี่ยนแปลงบางจุด โดยเฉพาะหอบังคับการ ให้ดูสวยงามและมหัศจรรย์ขึ้น โดยอิงตามท้องเรื่องว่าเป็นงานออกแบบของศตวรรษที่ 23
  • ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ทั่วไปมักนำเสนอภาพของโลกอนาคตที่มืดมนน่ากลัว แต่ Star Trek ยึดถือการมองโลกในแง่ดีมาตลอด ผู้สร้างชุดนี้ตัดสินใจดำรงจุดขายนี้ไว้ต่อไป ผู้ออกแบบงานสร้าง สก็อตต์ แชมบลิสส์ จึงออกแบบเทคโนโลยีต่างๆ ในเรื่องให้ดูเหมือนใช้งานได้จริงๆ เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์อย่างแท้จริงต่อมนุษยชาติ
  • นอกจากจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้กำกับ เจ.เจ. เอบรัมส์ แล้ว ผู้ออกแบบงานสร้าง สก็อตต์ แชมบลิสส์ ยังร่วมงานกับกลุ่มนักวาดภาพ นักสร้างแบบจำลอง และนักออกแบบ นอกจากนี้ยังประสานอย่างใกล้ชิดกับหัวหน้าแผนกวิชวลเอฟเฟกต์ โรเจอร์ กายเยตต์
  • ในละครต้นฉบับ หน้าต่างของยานยูเอสเอส เอ็นเตอร์ไพรส์ มีลักษณะคล้ายโทรทัศน์จอกว้างที่เปิดปิดได้ แต่ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการเปลี่ยนแปลงให้หน้าต่างดูเหมือนหน้าต่างจริงๆ มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมที่มองเห็นนอกหน้าต่างอันเป็นผลงานของแผนกวิชวลเอฟเฟกต์นั้นดูสมจริงมากขึ้น
  • ฉากหอบังคับการถูกสร้างขึ้นมาบนแท่นทรงกลม เพื่อให้มันบิดหมุน สั่น และกระดกได้ เพื่อใช้ถ่ายทำฉากที่ยานโดนโจมตี มีการระเบิด หรือเร่งความเร็วเพื่อวาร์ป การที่ยานสั่นไหวได้จริงจะทำให้นักแสดงแสดงสีหน้าได้ดีขึ้น จากนั้นผู้สร้างจึงค่อยเพิ่มภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเข้าไปเสริมภายหลัง
  • ผู้ออกแบบงานสร้าง สก็อตต์ แชมบลิสส์ ออกแบบยานแต่ละลำให้มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน เช่น ยานยูเอสเอส เอ็นเตอร์ไพรส์ดูเย้ายวนหรูหรา คล้ายผลงานของนักออกแบบ ปิแอร์ การ์แดง และงานออกแบบจากภาพยนตร์ 2001: A Space Odyssey (1968) ยานเคลวินดูเก่าแก่เหมือนยานของทหาร ส่วนยานเนราดาดูมืดมิด คุกคาม มหึมา คล้ายมีชีวิต จึงมีโครงสร้างคล้ายโครงกระดูก มีสายไฟและท่อต่างๆ คล้ายเส้นเอ็นและเส้นประสาท ทำนองเดียวกับอาคารที่เปลือยให้เห็นโครงสร้างภายในของสถาปนิก อันโตนี เกาดี
  • นอกจากยานอวกาศหลักๆ แล้ว ผู้ออกแบบงานสร้าง สก็อตต์ แชมบลิสส์ ยังต้องออกแบบยานเล็กอีกหลายลำ ส่วนใหญ่เป็นการนำยานของสตาร์ฟลีตที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วมาปรับเปลี่ยนใหม่ เช่น ยานที่มีรูปทรงและการเคลื่อนไหวอันโดดเด่นอย่าง เจลลีฟิช ของตัวละคร สป็อก ที่รับบทโดย แซกคารี ควินโต
  • สมาชิกในแผนกศิลป์แบ่งกันดูแลรับผิดชอบงานสร้างยานแต่ละลำ เดนนิส แบรดฟอร์ด เป็นผู้สร้างยานยูเอสเอส เอ็นเตอร์ไพรส์ และยานเคลวิน ขณะที่ แกรี คอสโก ดูแลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับชาววัลแคน และ เคิร์ต บีช ดูแลงานสร้างกระสวยอากาศทั้งหมด ส่วนหัวหน้าแผนกกำกับศิลป์ คีธ พี คันนิงแฮม ดูแลภาพรวมของงานทั้งหมดดังกล่าว รวมทั้งประสานงานกับผู้ตกแต่งฉาก คาเรน แมนเดย์
  • เดิมผู้ออกแบบงานสร้าง สก็อตต์ แชมบลิสส์ จะถ่ายทำฉากดาวเดลตา เวกา ที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งที่ประเทศไอซ์แลนด์ แต่ สก็อตต์ เปลี่ยนใจมาสร้างฉากกลางแจ้งอันเวิ้งว้างนี้ขึ้นในลานจอดรถของสนามกีฬา ด็อดเจอร์ สเตเดียม ในแคลิฟอร์เนียใต้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ลานจอดรถนี้มีเนื้อที่ประมาณ 50x125 ฟุต และอยู่สูงเหนือเมืองจนมองเห็นเส้นขอบฟ้า สก็อตต์ สร้างหิมะปลอมจากกระดาษที่ย่อยสลายได้ และสร้างหน้าผาน้ำแข็งที่เคลื่อนย้ายได้ ทำให้สร้างทิวทัศน์ที่แตกต่างกันได้มากมาย เสริมด้วยพัดลมยักษ์ 8 ตัวสำหรับฉากพายุหิมะ
  • ผู้ออกแบบงานสร้าง สก็อตต์ แชมบลิสส์ สร้างฉากแท่นขุดเจาะที่ลอยอยู่กลางอากาศขึ้นที่สนามกีฬา ด็อดเจอร์ สเตเดียม ในแคลิฟอร์เนียใต้ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยยกฉากขึ้นสูง 16 ฟุต และห่อหุ้มผิวฉากเอาไว้ด้วยยาง เพื่อให้นักแสดงตกลงมาได้โดยไม่บาดเจ็บ ขณะถ่ายทำจะใช้พัดลมขนาดใหญ่สร้างบรรยากาศอันแปรปรวน และนักแสดงจะสวมเครื่องป้องกันและลวดสลิง ที่ทำให้พวกเขาสามารถกระโดดร่มและต่อสู้กับบนแท่นนี้โดยไม่ตกลงไปเบื้องล่าง
  • ผู้ออกแบบงานสร้าง สก็อตต์ แชมบลิสส์ สร้างฉากดาววัลแคนขึ้นที่อุทยานแห่งชาติวัสเควซ ร็อกส์ ในอากัว ดัลซี รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นี่มีก้อนหินขนาดใหญ่ที่เหมาะจะเป็นฉากอุโมงค์ของชาววัลแคน ซึ่งจะเชื่อมโยงกับฉากที่หลบภัยซึ่งสร้างขึ้นในโรงถ่ายของพาราเมาท์ พิคเจอร์ส อีกที นอกจากนี้ สถานที่บริเวณนี้ยังเคยใช้ถ่ายทำละคร Star Trek ในยุค 60 มาก่อนแล้ว ได้แก่ ตอน Shore Leave, Arena, The Alternative Factor และ Friday's Child
  • ฉากที่ สก็อตตี ซึ่งรับบทโดย ไซมอน เพกก์ หลงเข้าไปในท่อหล่อเย็นของยานยูเอสเอส เอ็นเตอร์ไพรส์ ถ่ายทำในโรงเบียร์บัดไวเซอร์ ในแวนนายส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากภายในโรงงานแห่งนี้มีถังสแตนเลสขนาดใหญ่และท่อสแตนเลส ดูคล้ายกับเป็นเครื่องยนต์กลไกภายในยานอวกาศ ภายในโรงงานหนาวเย็นถึง 41 องศาฟาห์เรนไฮต์ จนทุกคนต้องสวมเสื้อคลุมขนสัตว์
  • ฉากห้องเครื่องยนต์ของยานเคลวิน ถ่ายทำที่โรงงานไฟฟ้าที่สร้างขึ้นในยุค 30 ในลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • หลังจากผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ไมเคิล แคปแลน ใช้เวลา 2 ชั่วโมงพูดคุยกับผู้กำกับ เจ.เจ. เอบรัมส์ ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในรัฐเมน ประเทศสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับเรื่องโลกต่างๆ ในแกแล็กซี และเครื่องแบบของลูกเรือ จากนั้นเขาก็ตกลงรับงานนี้ แม้ ไมเคิล จะไม่เคยชมภาพยนตร์ Star Trek มาก่อน ส่วนฉบับละครก็เคยชมเพียงไม่กี่ตอนเท่านั้น แต่ เจ.เจ. มองว่านั่นเป็นข้อดี เพราะทำให้สามารถออกแบบงานได้อย่างสดใหม่จริงๆ
  • ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ไมเคิล แคปแลน ต้องออกแบบเสื้อผ้าเป็นพันๆ ชุด รวมทั้งนำเครื่องแบบของลูกเรือยูเอสเอส เอ็นเตอร์ไพรส์ ที่ทุกคนคุ้นตาดี ได้แก่ กางเกงสีดำรัดรูป เสื้อจำแนกสีตามตำแหน่งและแผนก และตราสัญลักษณ์บูมเมอแรงสตาร์ฟลีต มาสร้างสรรค์ใหม่ให้ทันสมัยและดูใช้งานได้ดีขึ้น
  • ก่อนลงมือทำงาน ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ไมเคิล แคปแลน หาข้อมูลพื้นฐานจากหนังสือ Star Trek Encyclopedia อันโด่งดัง เพื่อศึกษาวิวัฒนาการของเครื่องแบบของสตาร์ฟลีต และสังเกตองค์ประกอบหลักที่ถูกใช้ซ้ำๆ จากนั้นเขาก็ลงมือร่างภาพโดยผสมจินตนาการของตัวเองเข้าไป
  • ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ไมเคิล แคปแลน กำหนดทิศทางการทำงานโดยแบ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ออกเป็นยุคต่างๆ เช่น ยุคของพ่อแม่ของตัวละครหลัก ซึ่งจะแต่งกายแบบยุค 50 เช่น กางเกงยืด และเสื้อผ้าแนวเรโทรฟิวเจอริสติก ต่อมาคือยุคที่ตัวละครหลักเป็นวัยรุ่นและเป็นพลเรือนอยู่บนโลก และอีกหลายปีต่อมาคือยุคที่ตัวละครหลักเข้าสู่วัยหนุ่มสาวและก้าวเข้าสู่สถาบันสตาร์ฟลีต
  • ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ไมเคิล แคปแลน ปรับเปลี่ยนเสื้อผ้าดั้งเดิมของตัวละครให้ทันสมัยขึ้นด้วยการทำให้ดูเรียบง่ายขึ้น และใช้เทคโนโลยีในการผลิต ซึ่งอาจจะยังไม่มีในตอนที่ละครต้นฉบับออกฉาย เช่น เทคโนโลยีการพิมพ์ตราสัญลักษณ์สตาร์ฟลีตเล็กๆ เอาไว้บนเครื่องแบบ
  • ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ไมเคิล แคปแลน ออกแบบให้ชาวโรมูลันสวมเสื้อผ้าที่ดูเหมือนชุดสำหรับทำงานที่เลอะเทอะ เพื่อให้เข้ากับยาน เนราดา ของพวกเขาซึ่งเป็นยานขนของในเหมือง ไมเคิล พบผ้าที่ดูเก่าและดูเหมือนเลอะคราบน้ำมันในตลาดนัดแห่งหนึ่ง เขาจึงติดต่อไปหาคนผลิตผ้าดังกล่าวในบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ให้พวกเขาตัดเย็บชุดจากการออกแบบของ ไมเคิล ด้วยผ้าเหล่านั้น
  • ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ไมเคิล แคปแลน เห็นว่าชาววัลแคนควรจะดูสง่างามและเคร่งครัด เพราะเป็นสังคมของคนใช้สมอง ไมเคิล จึงพัฒนาเสื้อผ้าให้ผู้หญิงวัลแคนใหม่ทั้งหมด โดยใช้รูปทรงที่คล้ายกระโปรงสุ่ม
  • ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ไมเคิล แคปแลน ออกแบบชุดกระโดดร่มในอวกาศของลูกเรือยานยูเอสเอส เอ็นเตอร์ไพรส์ ให้ดูทนทานต่อการกระโดดระยะทางยาวๆ และมีระบบระบายอากาศที่หมวกเพื่อไม่ให้หน้ากากหมวกมีฝ้าขณะใช้งาน นอกจากนี้ ไมเคิล ยังออกแบบให้มีหลายสี เพื่อให้ผู้ชมสามารถแยกความแตกต่างระหว่างตัวละครขณะที่พวกเขาลอยอยู่กลางอากาศ
  • ละครต้นฉบับซึ่งสร้างในยุค 60 นั้น ใช้เทคโนโลยีแบบทุนต่ำมาก เช่น สร้างฉากความเร็วแสงโดยใช้ฉากที่ทำจากกระดาษแข็งและแสงไฟกระพริบ ในเวลาต่อมา กระแสตื่นตัวในวงการภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ทำให้วิชวลเอฟเฟกต์ในภาพยนตร์ Star Trek ก้าวล้ำขึ้น จนมาถึงภาคนี้ บริษัท อินดัสเทรียล ไลต์ แอนด์ เมจิก นำโดยหัวหน้าแผนกวิชวลเอฟเฟกต์ โรเจอร์ กายเย็ตต์ เป็นผู้เข้ามาทำหน้าที่สร้างภาพวิชวลเอฟเฟกต์ต่างๆ อาทิ ภาพยานอวกาศ ภาพดาวเคราะห์ต่างๆ ฉากระเบิด และภูมิศาสตร์ของแกแล็กซีต่างๆ
  • ผู้กำกับ เจ.เจ. เอบรัมส์ ต้องรักษาอารมณ์ของภาพยนตร์ที่มีมาอย่างยาวนานเอาไว้ จึงขอให้บริษัท อินดัสเทรียล ไลต์ แอนด์ เมจิก รวบรวมภาพวิชวลเอฟเฟกต์จากภาพยนตร์ภาคก่อนๆ เอาไว้ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นในเวลานี้
  • หัวหน้าแผนกวิชวลเอฟเฟกต์ โรเจอร์ กายเย็ตต์ ใช้ทั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงเทคนิคซิมูเลชันที่เขาพัฒนาขึ้นระหว่างสร้างภาพยนตร์เรื่อง Transformers (2007) แต่ก็ยังคงใช้เอฟเฟกต์หลอกตาแบบเก่าที่ใช้แบบจำลองและมุมกล้องเข้าช่วย
  • หัวหน้าแผนกวิชวลเอฟเฟกต์ โรเจอร์ กายเย็ตต์ และผู้กำกับภาพ แดเนียล มินเดล ออกแบบการนำเสนอภาพยานยูเอสเอส เอ็นเตอร์ไพรส์ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการจัดแสงธรรมชาติอันสวยงามใน 2001: A Space Odyssey (1968) และภาพถ่ายจากภารกิจยานอพอลโล เนื่องจากต้องการเน้นความสมจริง
  • แผนกสเปเชียลเอฟเฟกต์สร้างยานฮาวเวอร์ครุยเซอร์ซึ่งใช้ขับบนท้องฟ้า โดยนำจักรยานร่อนฮาวเวอร์มาติดกับปลายเครน ซึ่งเชื่อมติดกับรถที่วิ่งอยู่กับพื้น มันจึงเคลื่อนที่ไปได้อย่างปลอดภัย

advertisement

วันนี้ในอดีต

เกร็ดภาพยนตร์

  • Pitch Perfect 2 - รีเบล วิลสัน ผู้รับบท แฟต เอมี อยากให้นักร้อง เดมี โลวาโต มารับบทสมาชิกวง เบลลาส์ แต่ตอนนั้น เดมี อยากทุ่มเทให้กับผลงานเพลงและการเดินทางแสดงคอนเสิร์ตมากกว่า อ่านต่อ»
  • A Little Chaos - เคต วินสเล็ต นักแสดงบท มาดามซาบีน เดอ บาร์รา ตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน ขณะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้เสร็จ อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

Shock Wave 2 Shock Wave 2 การวางระเบิดต่อเนื่องในฮ่องกงนั้นทำให้ทั้งเมืองต้องตกอยู่ในความหวาดกลัว พานเฉิงฟง (แอนดี้ หลิว) อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยเก็...อ่านต่อ»