เกร็ดน่ารู้จาก Land of the Lost
เกร็ดน่ารู้
- นับตั้งแต่ผู้อำนวยการสร้าง ซิด ครอฟต์ และคุณพ่อของเขาได้ชมภาพยนตร์เรื่อง One Million B.C. (1940) ในโรงภาพยนตร์ด้วยกัน ซิด ก็อยากจะสร้างผลงานเกี่ยวกับไดโนเสาร์มาโดยตลอด จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้างละครโทรทัศน์ Land of the Lost และภาพยนตร์เรื่องนี้
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงจากละครโทรทัศน์ Land of the Lost ที่สร้างโดยพี่น้อง ซิด ครอฟต์ และ มาร์ตี ครอฟต์ ออกอากาศครั้งแรกในปี 1974 เป็นเวลา 3 ปี รวมทั้งหมด 43 ตอน
- ผู้อำนวยการสร้าง จิมมี มิลเลอร์ ทาบทาม คริส เฮนชี และ เดนนิส แมกนิโคลัส ให้ดัดแปลงบทละครโทรทัศน์ Land of the Lost มาเป็นบทภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยหมายตา วิลล์ แฟร์เรลล์ ให้มารับบทนำเป็น ริก มาร์แชลล์ ตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว
- ก่อนหน้าจะมาร่วมงานกันในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้เขียนบท เดนนิส แมกนิโคลัส เคยร่วมงานกับ วิลล์ แฟร์เรลล์ ผู้รับบท ริก มาร์แชลล์ มากว่า 1 ทศวรรษแล้ว โดย เดนนิส เคยเขียนบทให้ วิลล์ แสดงในรายการโทรทัศน์ Saturday Night Live รวมทั้งเคยเขียนบทร่วมกับ วิลล์ ในรายการดังกล่าวด้วย
- ผู้เขียนบท เดนนิส แมกนิโคลัส เคยมีกล่องข้าว Land of the Lost สมัยที่เรียนหนังสืออยู่ชั้นอนุบาล
- ผู้เขียนบท เดนนิส แมกนิโคลัส และ คริส เฮนชี ดัดแปลงบทภาพยนตร์เรื่องนี้โดยคงความเคารพต่อต้นฉบับซึ่งเป็นละครโทรทัศน์ แต่ก็ปรับเรื่องราวบางส่วนให้ทันสมัยขึ้น เช่น เปลี่ยนตัวละครหลักที่เป็นคนในครอบครัวเดียวกันมาเป็นคนแปลกหน้า 3 คนที่จำเป็นต้องมาร่วมผจญภัยด้วยกัน
- เมื่อตอนเป็นเด็ก วิลล์ แฟร์เรลล์ ผู้รับบท ริก มาร์แชลล์ และผู้กำกับ แบรด ซิลเบอร์ลิง ต่างก็ติดตามชมละคร Land of the Lost เป็นประจำทุกเช้าวันเสาร์
- ละครแบบคนแสดง Land of the Lost ได้รับความนิยมในยุค 70 ซึ่งเป็นยุคเดียวกับที่การ์ตูนชุด Bugs Bunny และการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ที่คล้ายกันได้รับความนิยมทั่วไป
- วิลล์ แฟร์เรลล์ ผู้รับบท ริก มาร์แชลล์ เป็นผู้ทาบทาม แบรด ซิลเบอร์ลิง ให้มากำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ขณะพวกเขารับประทานอาหารร่วมกันมื้อหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ ปี 2007
- ผู้กำกับ แบรด ซิลเบอร์ลิง ต้องการใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกให้น้อยที่สุด และใช้ฉากที่สร้างขึ้นจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งผู้บริหารที่ออกเงินทุนก็เห็นด้วย พวกเขาจึงรีบจับจองพื้นที่ถ่ายทำทรงกลม 6 แห่งภายในโรงถ่ายยูนิเวอร์แซล สตูดิโอส์ ทันที เพื่อให้ผู้ออกแบบงานสร้าง โบ เวลช์ เริ่มสร้างฉากในช่วงฤดูร้อนปี 2007
- ผู้สร้างกำหนดให้ตัวละคร ริก มาร์แชลล์ ที่รับบทโดย วิลล์ แฟร์เรลล์ เป็นนักชีววิทยาโบราณคดีควอนตัม ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสาขาวิชาที่ไม่มีอยู่จริง โดยผู้สร้างผสมผสานเรื่องของฟิสิกส์อนุภาคเข้ากับการศึกษาไดโนเสาร์ เพื่อช่วยให้ภาพยนตร์มีลักษณะของภาพยนตร์วิทยาศาสตร์มากขึ้น
- ผู้สร้างเปลี่ยนตัวละคร ฮอลลี ที่ในฉบับละครโทรทัศน์เป็นเด็กหญิงอเมริกันตัวน้อยที่ไว้ผมเปียสีทอง มาเป็นหญิงสาวชาวอังกฤษที่จบจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และย้ายไปทำงานที่ลอสแอนเจลิสในสหรัฐอเมริกา และผู้ที่มารับบทนี้ คือ แอนนา ฟรีล
- ผู้กำกับ แบรด ซิลเบอร์ลิง และ วิลล์ แฟร์เรลล์ ผู้รับบท ริก มาร์แชลล์ ตั้งใจเอาไว้ว่าจะต้องใช้นักแสดงหญิงชาวอังกฤษมารับบท ฮอลลี และจากนั้นพวกเขาก็เลือก แอนนา ฟรีล มารับบทนี้ พร้อมยืนกรานให้เธอพูดด้วยสำเนียงแมนเชสเตอร์ของเธอเอง
- แอนนา ฟรีล เคยแสดงด้วยสำเนียงอเมริกันในละครโทรทัศน์ Pushing Daisies และแสดงด้วยสำเนียงอังกฤษที่ชัดเจนแบบสำเนียงคนเมืองในการแสดงอื่นๆ เกือบทั้งหมด จนกระทั่งบทบาท ฮอลลี ในภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดโอกาสให้เธอได้ใช้สำเนียงอังกฤษแบบแมนเชสเตอร์ ซึ่งเป็นสำเนียงตามธรรมชาติของเธอจริงๆ
- แอนนา ฟรีล เคยฝึกแสดงละครแบบเน้นการด้นสดมาก่อน เธอจึงสามารถแสดงแบบด้นสดกับเพื่อนนักแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี แต่ปัญหาของเธอคือต้องพยายามไม่หลุดหัวเราะออกมาขณะแสดง เธอจึงต้องฝึกหายใจแบบโยคะ
- วิลล์ แฟร์เรลล์ และผู้อำนวยการสร้าง อดัม แมกเคย์ ชอบ แดนนี แมกไบรด์ จากเรื่อง The Foot Fist Way (2006) มาก จนเซ็นสัญญาซื้อภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมาฉายผ่านทางแกรี ซานเชซ โปรดักชันส์ บริษัทของพวกเขา จากนั้นก็ทาบทาม แดนนี มารับบท วิลล์ สแตนตัน ในเรื่องนี้
- ผู้กำกับ แบรด ซิลเบอร์ลิง ยอมรับว่าตอนเด็กๆ เขาเคยกลัวตัวละครครึ่งคนครึ่งลิงที่ชื่อ ชากา ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้รับบทโดย จอร์มา ทักโคนี
- จอร์มา ทักโคนี ที่รับบท ชากา ในเรื่องนี้ เคยแสดงและเขียนบทในรายการโทรทัศน์ Saturday Night Live เช่นเดียวกับ วิลล์ แฟร์เรลล์ ที่รับบทนำเป็น ริก มาร์แชลล์ แต่พวกเขาไม่เคยได้พบกันในรายการดังกล่าว
- จอร์มา ทักโคนี ผู้รับบทครึ่งคนครึ่งลิง ชากา เล่าว่าในสมัยเด็ก เมื่อเล่นสมมติกับเพื่อนๆ ว่าอยู่ในดินแดนมหัศจรรย์ เขามักได้รับบท ชากา เสมอๆ เพราะเขาตัวเตี้ยที่สุดในกลุ่มเพื่อนและมีลักษณะบางอย่างคล้ายลิง
- ในทุกวันที่ต้องเข้าฉาก จอร์มา ทักโคนี ผู้รับบท ชากา ต้องใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่งในการแต่งหน้าแต่งตัว โดยเขาต้องติดชิ้นส่วนอวัยวะเทียมที่หน้า และสวมชุดขนฟูที่ทำจากขนตัวจามรี แพะอังโกรา และผมมนุษย์ที่เย็บติดกับสายยางยืด จากนั้นก็สวมมือและเท้าที่ทำจากยางลาเทกซ์ และสวมฟันปลอม
- ทีมงานจากสเป็กทรัล โมชัน เป็นผู้ทำชุดและสร้างอวัยวะเทียมให้ตัวละคร ชากา ที่รับบทโดย จอร์มา ทักโคนี พวกเขา 5 คนตัดเย็บชุดขึ้นมา 2 ชุด โดยตัดให้พอดีกับรูปร่างผอมเพรียวของ จอร์มา แต่ละชุดใช้เวลาในการตัดเย็บ 6 สัปดาห์
- นักภาษาศาสตร์ วิกตอเรีย ฟรอมคิน บัญญัติภาษาปากูนี 400 คำขึ้นเพื่อใช้เป็นภาษาของตัวละคร ชากา ในละครโทรทัศน์ Land of the Lost โดยเฉพาะ และเมื่อ จอร์มา ทักโคนี ได้มารับบท ชากา ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาเห็นว่าตนไม่มีบทพูด มีเพียงแนวทางการแสดงคร่าวๆ เช่น ชากา บ่นงึมงำ เขาจึงเริ่มศึกษาภาษาปากูนีต้นฉบับ รวมทั้งคิดคำใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยตัวเอง
- 4 เดือนก่อนเปิดกล้อง บริษัท สเป็กทรัล โมชัน สร้างชุดตัวละคร สลีสแตก 30 ชุดขึ้นจากยางลาเทกซ์ แต่ละชุดมีน้ำหนักประมาณ 30 ปอนด์ และก่อนที่นักแสดงจะสวมชุดนี้ จะต้องทาตัวด้วยสารหล่อลื่นเค-วายก่อน นอกจากนี้พวกเขายังต้องสวมรองเท้าบูตส้นสูง 5 นิ้วไว้ภายใน และสวมหัวที่สร้างขึ้นจากรูปหล่อศีรษะของนักแสดงแต่ละคน สลีสแตกมีดวงตากลมโปนดำทมิฬ และกรงเล็บเป็นพังผืดที่มองเห็นเส้นเลือดและเนื้อเยื่อ
- เมื่อนักแสดงที่รับบท สลีสแตก ซึ่งล้วนตัวสูงอยู่แล้ว แต่งตัวเป็นสลีสแตกเรียบร้อยแล้ว พวกเขาจะสูงถึง 7 ฟุต และส่วนเล็บเท้าของชุดยังทำให้ความยาวของเท้านักแสดงเพิ่มขึ้นเป็น 12 นิ้ว ผู้ออกแบบงานสร้าง โบ เวลช์ จึงต้องขยายความยาวของขั้นบันไดในฉากไพลอน พลาซา และฉากสลีสแตก เทมเพิล พลาซา ให้เหมาะสมกับขนาดตัวของตัวละครด้วย
- ชุดตัวละคร สลีสแตก ทำให้การถ่ายทำเป็นไปอย่างเชื่องช้า นักแสดงที่รับบท สลีสแตก แต่ละคนจะมีผู้ช่วย 2 คนคอยดูแลระหว่างถ่ายทำ เช่น ช่วยแต่งตัว และช่วยเพิ่มความชื้น เพราะชุดดังกล่าวทำให้นักแสดงแทบมองไม่เห็นอะไร และอุณหภูมิภายในชุด โดยเฉพาะใต้แสงไฟ ก็ร้อนมาก นอกจากนี้ นักแสดงยังไม่สามารถสวมส่วนหัวของชุดได้เกินกว่าครั้งละ 10 นาที
- การเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ของตัวละคร สลีสแตก เช่น อ้าปาก ปิดปาก เดิน และเงื้อกรงเล็บ ล้วนเกิดจากการเคลื่อนไหวของนักแสดง แต่การเคลื่อนไหวบางอย่าง เช่น โก่งตัวขึ้น และกระดิกนิ้วเท้า เป็นการบังคับด้วยรีโมตหรือเป็นการเชิดจากนอกจอ
- บริษัท สเปกทรัล โมชัน สร้างชุดตัวละคร อีนิก ตัวสลีสแตกที่พูดภาษาอังกฤษได้ โดยใช้โครงอะลูมิเนียมติดมอเตอร์แอนิเมโทรนิกที่ใช้ควบคุมการขมวดคิ้ว หรี่ตา และการขยับริมฝีปากแบบซับซ้อน มอเตอร์นี้ทำให้ส่วนหัวมีน้ำหนักเกินกว่า 13 ปอนด์ แกนกลางหัวทำจากไฟเบอร์กลาสที่หล่อแบบมาจากศีรษะของ จอห์น บอยแลน ผู้รับบท อีนิก นอกจากนี้ยังมีพัดลมภายในปาก เพื่อรักษาความเย็นให้กลไกและตัวนักแสดง ส่วนดวงตาของ อีนิก นั้นมีรัศมีกว้าง 4 นิ้ว เคลือบด้วยฟิล์มสะท้อนโฮโลกราฟฟิกตรงกลาง
- หนึ่งในเหตุผลที่ผู้กำกับ แบรด ซิลเบอร์ลิง อยากถ่ายทำในโรงถ่ายให้มากที่สุด ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กำกับภาพ ดิออน บีบี ได้ควบคุมเรื่องของแสงได้อย่างเต็มที่
- แผนกศิลป์และแผนกก่อสร้างใช้เวลา 1 เดือน ตกแต่งพื้นที่สเตจ 27 ในโรงถ่ายยูนิเวอร์แซล สตูดิโอส์ ให้กลายเป็น 3 ฉากที่ใหญ่ที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ นั่นคือฉากป่า ฉากไพลอน พลาซา และฉากสลีสแตก เทมเพิล พลาซา พวกเขาซื้อดิน ต้นไม้ และตะไคร่น้ำ มาใช้ในฉากนี้ รวมทั้งสร้างกำแพงหิน พื้นหิน ต้นไม้สูง 40 ฟุต และหลังคามุงกระเบื้องขึ้นมาด้วย
- ผู้สร้างใช้สเตจ 12 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโรงถ่ายยูนิเวอร์แซล สตูดิโอส์ ในหลายๆ ฉาก ได้แก่ ฉากถ้ำผนังสีแดงที่ตัวละครใช้หลบไดโนเสาร์ทีเรกซ์ที่ชื่อ กรัมปี ฉากถ้ำคริสตัลที่ปกคลุมด้วยตะไคร่น้ำ ฉากสถานีอาหารที่ กรัมปี รอคอยอาหารมื้อต่อไปของมัน และฉากรอยแยกที่ซึ่งหินรูปทรงเหมือนขนมปังบาแกตต์ถูกใช้เป็นสะพาน
- ผู้สร้างสร้างหน้าผาหินสีแดงขนาดสูงใหญ่ 32 ฟุตขึ้นในพื้นที่สเตจ 12 ในโรงถ่ายยูนิเวอร์แซล สตูดิโอส์ ช่างแกะสลัก 28 คนแกะทุกซอกมุมของหน้าผาที่ทำจากสไตโรโฟมทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่นี้ด้วยมือ โดยใช้เลื่อย สิ่ว และขดลวดร้อนๆ จากนั้นใช้กระดาษทรายขัด แล้วพ่นทับด้วยปูนปลาสเตอร์และสี
- ผู้สร้างสร้างฉากอุโมงค์ภายในถ้ำ เดวิลส์ แคนยอน มิสเทอรี เคฟ ขึ้นในพื้นที่สเตจ 29 ในโรงถ่ายยูนิเวอร์แซล สตูดิโอส์ อุโมงค์คดเคี้ยวนี้มีเพดานสูง 13 ฟุต ยาว 200 ฟุต บรรจุน้ำสีขุ่นสูง 3 ฟุตครึ่งหรือ 40,000 แกลลอน ผู้สร้างพ่นพื้นฉากด้วยเคลือบยางที่เรียกว่าไรโน ไลเนอร์ เพื่อให้มันมีคุณสมบัติกันน้ำ และมีการสร้างรางทับลงไปเพื่อใช้เป็นแนวร่องสำหรับแพ
- สำหรับฉากแผ่นดินไหวในถ้ำ เดวิลส์ แคนยอน มิสเทอรี เคฟ นั้น หัวหน้าแผนกสเปเชียล เอฟเฟกต์ส ไมเคิล แลนเทียรี ต้องสูบน้ำด้วยความเร็ว 10,000 แกลลอนต่อนาที เพื่อทำให้เกิดกระแสน้ำไหลเชี่ยวระดับ 5 ไมเคิล เล่าว่าเครื่องสูบน้ำที่พวกเขาใช้มีกำลังแรงมากจนสามารถทำให้สระว่ายน้ำว่างเปล่าได้ภายในเวลาเพียงแค่นาทีเดียว
- ฉากแอ่งภูเขาไฟถูกสร้างขึ้นเป็นฉากทรงกลม 360 องศาบนพื้นที่สเตจ 28 ในโรงถ่ายยูนิเวอร์แซล สตูดิโอส์ ฉากนี้มีผนังที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ มีพื้นเรืองแสงเคลือบด้วยลาวาหลอมละลายสีเหลือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของไข่ไดโนเสาร์ที่ประดิษฐ์ด้วยมือกว่า 100 ฟอง และขณะถ่ายทำฉากนี้จะเต็มไปด้วยควันไฟ
- ผู้สร้างสร้างฉากภายในของไพลอน พลาซา ขึ้นมาในพื้นที่สเตจ 42 ในโรงถ่ายยูนิเวอร์แซล สตูดิโอส์ โดยให้มีลักษณะเหมือนกล่องสีดำ ที่มีแผงคริสตัลและกระดานควบคุมอันซับซ้อน พวกเขาใช้ผ้าสีดำคลุมห้อง แล้วยกฉากขึ้นไปบนแท่นเพล็กซิกลาส 2 ชั้นที่สูง 5 ฟุต เพล็กซิกลาสชั้นหนึ่งเป็นชั้นที่แข็งแรง ส่วนอีกชั้นมีรอยแตก จากนั้นพวกเขาใช้หลอดไฟส่องสว่างด้านล่าง 800 ดวง ทำให้แผงควบคุมดูลึกลับ แต่แสงนี้ทำให้เกิดความร้อนจำนวนมหาศาล จึงต้องใช้พัดลมขนาดใหญ่รักษาระดับความเย็นใต้แท่นเอาไว้
- ผู้อำนวยการสร้าง ซิด ครอฟต์ และ มาร์ตี ครอฟต์ ซึ่งเป็นผู้สร้างละครที่เป็นต้นฉบับของภาพยนตร์เรื่องนี้ แวะมาเยี่ยมกองถ่ายทุกวันด้วยความตื่นเต้น ซึ่งกลายเป็นกำลังใจในการทำงานให้แก่ผู้กำกับ แบรด ซิลเบอร์ลิง
- แผนกออกแบบงานสร้างใช้เวลา 1 เดือนครึ่งสร้างภายนอกของปากถ้ำ เดวิลส์ แคนยอน มิสเทอรี เคฟ บนที่ราบแลนคาสเตอร์ แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ปากถ้ำที่ใช้ล่องแพนี้เป็นรูปหัวปีศาจที่มีตาโปนสีแดงฉานและเขี้ยวโง้ง และมีฉากย่อยเป็นร้านขายของที่ระลึกเล็กๆ อุปสรรคสำคัญในการสร้างฉากนี้คือลมแรง 60 ไมล์ต่อชั่วโมงที่พัดผ่านที่ราบบริเวณนั้นเป็นประจำ
- ถ่ายทำฉากการมาเยือนดินแดนมหัศจรรย์ของเหล่าตัวละครหลักกันในใจกลางภูเขาทรายดูมอนต์ ดูนส์ ในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ภูเขาทรายที่สูง 400 ฟุตนี้เกิดจากกระแสลมที่มีความเร็วสูงถึง 50 ไมล์ต่อชั่วโมง ทุกคนต้องเดินทางเข้าไปในฉากด้วยรถลุยทราย และขณะถ่ายทำ แผนกจัดหาพันธุ์ไม้มีหน้าที่ต้องลบรอยเท้าที่ไม่ใช่ของนักแสดงด้วยการใช้คราดและเครื่องดูดใบไม้
- ผู้สร้างถ่ายทำบางฉากบนยอดเขาทรอนา ในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษของอุทยานแห่งชาติ กรมที่ดินจึงจับตามองอย่างใกล้ชิด และกำชับให้พวกเขาถ่ายทำโดยไม่รบกวนสิ่งแวดล้อม และหากเต่าทะเลทรายที่ใกล้สูญพันธุ์บังเอิญเดินเข้ามาในฉาก พวกเขาจะต้องหยุดถ่ายทำทันที แต่โชคดีสำหรับผู้สร้างที่เรื่องนั้นไม่เกิดขึ้น
- ผู้สร้างใช้ที่ราบทะเลเกลือใกล้กับยอดเขาทรอนา ในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา สร้างโรงแรมเล็กแบบเก่าขึ้นมา โดยให้โรงแรมโผล่ออกมาจากพื้นแค่ครึ่งเดียว ฉากนี้มีพร้อมสรรพทั้งป้ายไฟนีออนและสระว่ายน้ำขนาด 40x15x7 ฟุต ซึ่งเดิมผู้สร้างตั้งใจจะฝังสระว่ายน้ำลงไปในพื้นครึ่งหนึ่ง แต่เมื่อขุดลงไปในที่ราบทะเลเกลือ น้ำที่มีปริมาณเกลือสูงก็ผุดออกมา แม้กระทั่งตอนที่สระว่ายน้ำเต็มไปด้วยน้ำจืดและถูกฝังลงไปในดิน น้ำก็มักจะผุดเป็นฟองขึ้นมาเพราะความเค็ม
- ในฉบับละครโทรทัศน์ ผู้สร้างสร้างตัวละครไดโนเสาร์ด้วยเทคนิคแอนิเมชันสต็อปโมชัน แต่ในเรื่องนี้สร้างไดโนเสาร์ขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ โดยได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก Jurassic Park (1993)
- เมื่อนักแสดงต้องเข้าฉากร่วมกับไดโนเสาร์ทีเรกซ์ กรัมปี ซึ่งเป็นตัวละครคอมพิวเตอร์กราฟฟิก ช่างเทคนิคดิจิตอลคนหนึ่งจะถือเสาขนาด 16 ฟุต เพื่อใช้บอกตำแหน่งของ กรัมปี เสานี้มีลูกบอลสีสดใสอยู่ตรงปลายเพื่อให้นักแสดงมีจุดดึงดูดสายตา ทีมงานตั้งชื่อเล่นให้เครื่องมือตัวช่วยนี้ว่า กรัมปีเสียบไม้
- ฉากลานทิ้งอเนกประสงค์ในพื้นที่กว้างใหญ่ของยอดเขาทรอนา ในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้ถ่ายทำฉากไดโนเสาร์ไล่ล่าเหยื่อ
- ผู้สร้างใช้เวลาถึง 1 เดือนในการเตรียมถ่ายทำฉากที่ ริก มาร์แชลล์ ที่รับบทโดย วิลล์ แฟร์เรลล์ กระโดดขึ้นขี่หลังไดโนเสาร์ทีเรกซ์ กรัมปี ฉากนี้เป็นฉากที่ผสมผสานทั้งสต็อปโมชันและกลไก โดย วิลล์ ต้องอยู่บนอานกลไกที่ถูกกำหนดให้ขยับไปในทิศทางต่างๆ ทีมงานจากริธึม แอนด์ ฮิวส์ 9 คนรับหน้าที่ควบคุมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์กล้อง โดยมีการวางภาพพรีวิชวลของ กรัมปี ทับซ้อนลงไปบนภาพเหตุการณ์สดๆ ที่กำลังถ่ายทำอยู่ เพื่อให้ผู้สร้างเห็นภาพได้คร่าวๆ ในทันที
- ใช้เวลาถ่ายทำทั้งสิ้น 84 วัน ซึ่งเมื่อการถ่ายทำหลักเสร็จสิ้นลง ทีมงานแผนกวิชวล เอฟเฟกต์ จากบริษัท ริธึม แอนด์ ฮิวส์ ประมาณ 150 คน ก็ได้ใช้เวลา 1 สัปดาห์จัดการกับฉากที่ถ่ายทำด้วยฉากสีเขียวหรือฉากคอมพิวเตอร์กราฟฟิก เช่น ฉากที่มีไดโนเสาร์ ฉากสิ่งแวดล้อมต่างๆ และรายละเอียดอื่นๆ ที่พวกเขาต้องเพิ่มเติมเข้าไป
- กองกระดูกที่ใช้ประกอบฉากเป็นกระดูกที่ผู้สร้างทำขึ้นด้วยมือจำนวนกว่า 300 ชิ้น
- ก่อนหน้าการถ่ายทำที่ดูมอนต์ ดูนส์ ในแคลิฟอร์เนีย ประเทศอเมริกา ผู้สร้างหล่อแบบก้นของนักแสดงขึ้น แล้วสร้างแบบนั้นออกมาด้วยพลาสติก เพื่อให้นักแสดงสวมไว้ใต้เสื้อผ้า พวกเขาจึงสามารถแสดงฉากลื่นไถลตัวลงมาตามเนินทรายลาดชัน 45 องศาได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วโดยไม่เจ็บก้น
- ในฉากที่ ริก มาร์แชลล์ ลอยขึ้นสูงจากพื้นเพราะไดโนเสาร์ กรัมปี เอาฟันเกี่ยวกับกระเป๋าสะพายหลังของเขาเอาไว้นั้น ถ่ายทำกันในทะเลทรายบนยอดเขาทรอนา ในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผู้สร้างติดตั้งกลไกกับเครนและลูกรอกเพื่อยกตัว วิลล์ แฟร์เรลล์ ที่รับบท ริก ให้สูงขึ้นจากพื้นดิน 30 ฟุต วิลล์ ได้สวมบังเหียนและซักซ้อมกับนักแสดงผาดโผนมาเป็นอย่างดี แต่ก็ยังยอมรับว่ารู้สึกกลัว และโล่งใจที่ถ่ายทำผ่านได้ภายในครั้งเดียว
- จอร์มา ทักโคนี รับบทเป็นตัวละครครึ่งคนครึ่งลิง ชากา เขาจึงศึกษาท่าทางของลิงจากดีวีดีของเนชันแนล จีโอกราฟฟิก จากนั้นจึงฝึกเดินด้วยหลังงองุ้ม และวิ่งด้วยการใช้มือและเท้าไปพร้อมๆ กัน แต่เมื่อสวมชุดเป็น ชากา แล้ว เขาก็รู้สึกว่าการเคลื่อนไหวเช่นนั้นยิ่งยากมากขึ้นกว่าปกติ
- ในฉากแผ่นดินไหว หัวหน้าแผนกสเปเชียล เอฟเฟกต์ส ไมเคิล แลนเทียรี นำชิ้นส่วนจากฉากกำแพงหินซึ่งมีน้ำหนักเบา มาตัดเป็นชิ้นขนาด 20x30 ฟุต จากนั้นก็ติดเครื่องยนต์และบานพับเข้าไปที่ชิ้นส่วนเหล่านั้น เพื่อให้พวกมันสั่นและเคลื่อนไหวอย่างไม่เป็นจังหวะ เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวในแผ่นดินไหวของจริง และควบคุมให้มันร่วงใส่ฉากตามจังหวะเวลาที่กำหนด
- แผนกสเปเชียล เอฟเฟกต์ สร้างน้ำมูกของไดโนเสาร์ทีเรกซ์ขึ้นจากสารหนืดเมธิลเซลลูโลส ส่วนปัสสาวะของไดโนเสาร์นั้นจริงๆ แล้วคือน้ำชาเขียว
- ระหว่างที่ผู้กำกับ แบรด ซิลเบอร์ลิง เตรียมงานสร้างเรื่องนี้ เขาบังเอิญพบนักประพันธ์เพลง ไมเคิล จิอักชิโน เพื่อนเก่าของเขาซึ่งชื่นชอบละคร Land of the Lost มากเช่นกัน อีกทั้งยังชอบดนตรีของ เจอร์รี โกลด์สมิธ ที่ประกอบละครโทรทัศน์ The Planet of the Apes เหมือนกันอีกด้วย แบรด จึงเชิญ ไมเคิล มาแต่งดนตรีประกอบให้ภาพยนตร์เรื่องนี้
- ซิด ครอฟต์ และ มาร์ตี ครอฟต์ ผู้สร้างละครโทรทัศน์ Land of the Lost เลือกเสียงแบนโจที่ฟังดูเหนือจริงมาใช้ประกอบละคร โดยได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง Deliverance (1972) ผู้กำกับ แบรด ซิลเบอร์ลิง และผู้แต่งดนตรี ไมเคิล จิอักชิโน จึงเลือกใช้แบนโจสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน แต่เสริมเสียงเครื่องให้จังหวะเพิ่มเข้าไปด้วย
- ผู้กำกับ แบรด ซิลเบอร์ลิง และผู้แต่งดนตรี ไมเคิล จิอักชิโน ได้รับแรงบันดาลใจจากเพลงประกอบภาพยนตร์ดังๆ ในวัยเด็กของพวกเขา ผสมผสานกับดนตรีจากยุคอื่นๆ เช่น เพลง I Hope I Get It จากภาพยนตร์เพลง A Chorus Line (1985) และเพลง Boogie Woogie Bugle Boy ของ เดอะ แอนดรูว์ส ซิสเตอร์ส ซึ่งอยู่ในฉากที่ ชากา ที่รับบทโดย จอร์มา ทักโคนี เต้นรำ
- ฉากที่ วิลล์ สแตนตัน ที่รับบทโดย แดนนี แมกไบรด์ เกาะอยู่บนเสาสูงและเข้าใกล้สถานที่ที่เรียกว่า ไพลอน พลาซา เป็นครั้งแรก เขาร้องเพลงหนึ่งออกมา เพลงนั้นคือ Believe ของนักร้องหญิงรุ่นใหญ่ แชร์
- วิลล์ แฟร์เรลล์ ที่รับบท ริก มาร์แชลล์ ในเรื่องนี้ เคยแสดงเป็นตัวละครชื่อ มาร์แชล วิลเลนฮอลลี ใน Jay and Silent Bob Strike Back (2001) ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งจากเนื้อร้องท่อนแรกของเพลงประกอบละครโทรทัศน์ Land of the Lost ฉบับดั้งเดิม ที่กล่าวถึงชื่อของตัวละครหลักทั้ง 3 คน คือ มาร์แชลล์ วิลล์ และ ฮอลลี
- ละครโทรทัศน์ Land of the Lost ฉบับดั้งเดิมที่เริ่มฉายในปี 1974 นั้น มีตัวละครนำชื่อ วิลล์ มาร์แชลล์ ส่วนในละครที่นำมาสร้างใหม่ในยุค 90 นั้น ตัวละครนำถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ทอม พอร์เตอร์ ส่วนในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัวละครนำถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น ริก มาร์แชลล์ รับบทโดย วิลล์ แฟร์เรลล์
- เคธี โคลแมน และ เวสลีย์ ยัวร์ ซึ่งรับบทนำใน Land of the Lost ฉบับละครโทรทัศน์ชุดดั้งเดิม ได้เข้ามาถ่ายทำบทรับเชิญพิเศษในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย แต่ฉากที่พวกเขาแสดงถูกตัดออกไป เพราะผู้สร้างตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตอนจบของภาพยนตร์
- เดิมภาพยนตร์ได้รับเรตอาร์ แต่ผู้สร้างตัดต่อใหม่จนกระทั่งได้รับเรตพีจี-13
advertisement
วันนี้ในอดีต
เด็กหอเข้าฉายปี 2006 แสดง จินตหรา สุขพัฒน์, ชาลี ไตรรัตน์, ศิรชัช เจียรถาวร
Constantineเข้าฉายปี 2005 แสดง Keanu Reeves, Rachel Weisz, Shia LaBeouf
Million Dollar Babyเข้าฉายปี 2005 แสดง Clint Eastwood, Hilary Swank, Morgan Freeman
เกร็ดภาพยนตร์
เปิดกรุภาพยนตร์
The Bridge Curse
ว่ากันว่า เคยมีผู้หญิงมาจบชีวิตตัวเองที่สะพานแห่งนี้ และนับตั้งแต่นั้น ในเวลาเที่ยงคืน บันไดของสะพานจะเพิ่มขึ้นมา 1 ขั้...อ่านต่อ»