เกร็ดน่ารู้จาก Fast & Furious
เกร็ดน่ารู้
- เป็นภาพยนตร์ภาคที่สี่ ต่อจาก The Fast and the Furious (2001) 2 Fast 2 Furious (2003) และ The Fast and the Furious: Tokyo Drift (2006)
- หลังจาก วิน ดีเซล ในบท ดอม และ พอล วอล์กเกอร์ ในบท ไบรอัน ได้แสดงร่วมกันในภาคแรก The Fast and the Furious (2001) แล้ว ในภาคถัดมา 2 Fast 2 Furious (2003) มีเพียง พอล แสดงนำในบทเดิม ส่วนภาคสาม The Fast and the Furious: Tokyo Drift (2006) ไม่มี พอล ร่วมแสดง ส่วน วิน ปรากฏตัวในฐานะนักแสดงรับเชิญในช่วงท้ายเรื่อง ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก ในภาคสี่นี้ ผู้สร้างจึงตัดสินใจให้ วิน และ พอล ได้กลับมาประชันบทบาทกันดังเช่นในภาคแรกอีกครั้ง
- คณะผู้สร้างใช้เวลาในประชุมวางแผนการสร้างและจัดการประสานงานเป็นเวลานานเกือบๆ หนึ่งทศวรรษ กว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้เริ่มเปิดกล้อง
- นอกจาก วิน ดีเซล จะกลับมารับบท ดอม อีกครั้งแล้ว เขายังทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
- ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้หลายคน เคยร่วมงานกันมาแล้วจากภาพยนตร์ภาคที่สาม The Fast and the Furious: Tokyo Drift (2006) ได้แก่ ผู้กำกับ จัสติน หลิน, ผู้เขียนบท คริส มอร์แกน, ผู้ออกแบบงานสร้าง ไอดา แรนดอม, ผู้ลำดับภาพ เฟรด รัสกิน, ผู้แต่งดนตรีประกอบ ไบรอัน ไทเลอร์, ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ซานยา มิลโกวิก เฮย์ส, ผู้ประสานงานด้านรถ เดนนิส แมกคาร์ธี, ผู้อำนวยการสร้างบริหาร อแมนดา ลิวอิส และ ผู้อำนวยการสร้าง นีล เอช. มอริตซ์
- หลังจาก วิน ดีเซล ตกลงกลับมารับบท ดอม แล้ว ผู้สร้างก็ให้ คริส มอร์แกน เริ่มเขียนบทโดยใช้ตัวละครหลัก 4 ตัวจากภาคแรกทันที พร้อมๆ กับที่ผู้สร้างรีบไปทาบทาม พอล วอล์กเกอร์, มิเชล ร็อดริเกวซ และ จอร์ดาน่า บรูสเตอร์ ให้กลับมารับบท ไบรอัน, เล็ตตี และ มีอา ตามลำดับ
- จอร์ดาน่า บรูสเตอร์ ผู้รับบท มีอา เคยร่วมงานกับผู้กำกับ จัสติน หลิน มาแล้วในภาพยนตร์ชีวิตเรื่อง Annapolis (2006)
- ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานเปิดตัวการแสดงชิ้นแรกของนักแสดงชาวอิสราเอล กาล กาด็อต ในบท จีเซล สาวคนกลางที่ทำให้เหล่าตัวละครเอกของเรื่องเข้ามาพัวพันกับกลุ่มพ่อค้ายา
- ซุง กัง ที่รับบท ฮาน ในภาค The Fast and the Furious: Tokyo Drift (2006) กลับมารับบทเดิมนี้อีกครั้งในภาคนี้
- เพื่อให้เกียรติแก่อิทธิพลแบบลาตินที่แฝงอยู่ในภาพยนตร์ ผู้สร้างจึงเลือกใช้เพลงประกอบภาพยนตร์แนวเร็กเกตัน ซึ่งเป็นแนวดนตรีที่ วิน ดีเซล ผู้รับบท ดอม ชื่นชอบมาก และยังเลือกนักร้องแร็ปแนวเร็กเกตันอย่าง ดอน โอมาร์ และ เทโก คัลเดอรอน มารับบทเป็นสมาชิกของทีมปล้นรถขนน้ำมันด้วย
- ผู้กำกับ จัสติน หลิน เคยร่วมงานกับนักร้องแร็ปแนวเร็กเกตัน ดอน โอมาร์ และ เทโก คัลเดอรอน ที่มารับบทเป็นสมาชิกของทีมปล้นรถขนน้ำมันในภาคนี้มาก่อนแล้ว เนื่องจาก ดอน และ เทโก เคยทำเพลงประกอบให้ The Fast and the Furious: Tokyo Drift (2006) ทั้งนี้ จัสติน และผู้อำนวยการสร้าง นีล เอช. มอริตซ์ ได้รู้จักพวกเขาทั้งสองเพราะแฟนเพลงอย่าง วิน ดีเซล ผู้รับบท ดอม เป็นผู้แนะนำมาอีกที
- ดอน โอมาร์ ที่มารับบทเป็นสมาชิกของทีมปล้นรถขนน้ำมันนั้น ชื่นชอบรถแต่งมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เขามีรถกระบะเชฟวีปี 1941 อยู่คันหนึ่ง และ ดอน ยังชื่นชอบรถอเมริกันอีกด้วย เพราะสมัยเป็นเด็กเขาเคยร่วมปรับแต่งรถอเมริกันกับคุณพ่อของเขา
- ในวงการนักแต่งรถ แบ่งรถออกเป็นสองประเภท คือรถสัญชาติอเมริกันที่ดูแรงและหนักแน่น และรถที่นำเข้าจากญี่ปุ่นและยุโรปซึ่งสวยงามแต่ต้องนำมาปรับแต่งอีกครั้ง นักแสดงอย่าง วิน ดีเซล ที่รับบท ดอม, มิเชล ร็อดริเกวซ ที่รับบท เล็ตตี, จอร์ดาน่า บรูสเตอร์ ที่รับบท มีอา, จอห์น ออร์ติส ที่รับบท แคมโปส และ ลาซ อาลอนโซ ที่รับบท ฟีนิกซ์ ล้วนชื่นชอบรถอเมริกันมากกว่า ขณะที่ พอล วอล์กเกอร์ ชอบรถยุโรปและรถญี่ปุ่น เช่นเดียวกับตัวละคร ไบรอัน ที่เขาแสดง
- รถยนต์ทั้งหมดในเรื่องมีรวมแล้วมากกว่า 250 คัน
- ในภาคนี้ตัวละคร ดอม ที่รับบทโดย วิน ดีเซล ได้ขับรถหลายคัน ได้แก่ ด็อดจ์ ชาร์เจอร์ ปี 1970 และเชฟโรเลต เอสเอส เชฟเวลล์ ปี 1970 ซึ่งทั้งสองคันเคยอวดโฉมมาแล้วใน The Fast and the Furious (2001) นอกจากนี้ ดอม ยังขับรถบูอิก จีเอ็นเอ็กซ์ แกรนด์ เนชันแนล ปี 1987 และเอฟ-บอมบ์ คามาโร ปี 1973
- ตัวละคร ไบรอัน ที่รับบทโดย พอล วอล์กเกอร์ ขับทั้งรถอเมริกันและรถนำเข้าอย่างรถนิสสัน สกายไลน์ จีทีอาร์ ปี 1998 รวมไปถึงรถใหม่ล่าสุดของปี 2009 อย่างซูบารุ ดับเบิลยูอาร์เอ็กซ์ เอสทีไอ
- รถของนักแสดงสมทบที่โดดเด่น ได้แก่ รถพลีเมาธ์ โรดรันเนอร์ ปี 1970 ของ เล็ตตี ที่รับบทโดย มิเชล ร็อดริเกวซ รถฟอร์ด แกรนด์ โทริโน ปี 1972 ของ ฟีนิกซ์ ที่รับบทโดย ลาซ อาลอนโซ รถอาคูรา เอ็นเอสเอ็กซ์ ปี 2000 ของ มีอา ที่รับบทโดย จอร์ดาน่า บรูสเตอร์ และรถปอร์เช เคย์แมน ปี 2007 ของ จีเซล ที่รับบทโดย กาล กาด็อต
- ผู้ชื่นชอบและเชี่ยวชาญด้านรถแต่งอย่าง เดนนิส แมกคาร์ธี ได้มาทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้ทั้งกับนักแสดงและผู้สร้าง และยังเป็นคนออกตามหารถที่ผู้สร้างต้องการ ซึ่งหลายๆ คันเป็นรถรุ่นหายาก หลังจากนี้ เดนนิส ยังต้องปรับแต่งรถเหล่านั้นให้เหมาะกับการถ่ายทำอีกด้วย
- ผู้เชี่ยวชาญด้านรถแต่ง เดนนิส แมกคาร์ธี ต้องหารถด็อดจ์ ชาร์เจอร์ ปี 1970 ทั้งหมด 7 คันมาเข้าฉาก ซึ่งถือเป็นงานที่ยากมาก เพราะไม่มีรถรุ่นนี้จากภาพยนตร์ภาคแรก The Fast and the Furious (2001) เหลืออยู่ให้นำมาใช้งานได้เลย อีกทั้งรถรุ่นนี้เป็นรุ่นที่หายากมาก ไม่ว่าจะในสภาพดีหรือไม่ก็ตาม เดนนิส จึงแก้ปัญหาด้วยการสร้างแม่แบบจากไฟเบอร์กลาส
- ผู้สร้างสร้างรถเอฟ-บอมบ์ คามาโร จำลองขึ้นมา เพื่อใช้เข้าฉากถ่ายทำ รถเอฟ-บอมบ์ คามาโร ของจริงนั้นสร้างโดย เดวิด ไฟรเบอร์เกอร์ บุคคลซึ่งเป็นที่รู้จักดีในวงการรถ
- หนึ่งในรถจำนวนมากที่เข้าฉาก คือรถคามาโรปี 1969 สีแดงสด ที่มีชื่อเล่นว่า บิกเรด เป็นรถที่เร็วติดอันดับต้นๆ ของโลก คือมากกว่า 220 ไมล์ต่อชั่วโมง
- นับแต่ร่วมแสดงในภาพยนตร์ภาคแรก The Fast and the Furious (2001) พอล วอล์กเกอร์ ผู้รับบท ไบรอัน ก็เริ่มเก็บสะสมทั้งรถอเมริกันและรถนำเข้าสวยๆ เขาจึงเสนอว่าจะนำรถของเขามาใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ภาคนี้ด้วย ซึ่งรวมถึงรถเชฟวี โนวา ปี 1967 ซึ่งปรากฏในฉากงานงานเลี้ยงในสาธารณรัฐโดมินิกัน
- มิเชล ร็อดริเกวซ ผู้รับบท เล็ตตี ชอบรถอเมริกัน และชอบรถสีเขียวมากเป็นพิเศษ เธอขับรถพริอุส และกำลังคิดจะซื้อรถเทสลา ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน
- เมื่อได้รับเลือกให้แสดงเป็น มีอา ใน The Fast and the Furious (2001) จอร์ดาน่า บรูสเตอร์ ยังขับรถไม่เป็น เธอจึงต้องเรียนขับรถและสอบใบขับขี่ เมื่อได้มารับบทเดิมในภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอจึงขับรถได้อย่างเชี่ยวชาญแล้ว แต่การแสดงภาพยนตร์ชุดนี้กลับไม่ได้ทำให้เธอคลั่งไคล้รถแต่งขึ้นมา จอร์ดาน่า จึงยังคงไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับรถมากนัก
- ภาพยนตร์สามภาคแรก มีฉากหลักๆ เป็นลอสแอนเจลิส ประเทศอเมริกา และไมอามี ประเทศอเมริกา และโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตามลำดับ ส่วนในภาคสี่นี้ เรื่องราวสำคัญเกิดในประเทศเม็กซิโก ทำให้ภาพยนตร์อบอวลไปด้วยบรรยากาศแบบลาติน
- วิน ดีเซล ผู้รับบท ดอม เป็นผู้เสนอให้เรื่องราวบางส่วนเกิดขึ้นในสาธารณรัฐโดมินิกัน ซึ่งมีลักษณะทางธรรมชาติที่หลากหลาย ผู้สร้างจึงต้องเดินทางไปเก็บภาพในสถานที่หลายแห่งในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ ของประเทศอเมริกา
- ถ่ายทำฉากงานฉลองกันที่เมืองซานเปโดร เมืองริมชายหาดทางตอนใต้ของลอสแอนเจลิส ประเทศอเมริกา
- ผู้กำกับกองถ่ายย่อยที่สอง เทอร์รี ลีโอนาร์ด รับหน้าที่กำกับการถ่ายทำฉากขับรถอันบ้าบิ่น โดยร่วมงานกับผู้ประสานงานฉากผาดโผน เฟร็ดดี ไฮซ์ นอกจากนี้ผู้กำกับกองถ่ายย่อยที่สองอีกคนหนึ่ง มิก ร็อดเจอร์ส เป็นผู้ออกแบบและทดสอบการติดตั้งกล้องไว้กับรถปอร์เช คาเยนน์, เอ็ม 1 ออฟโรด บักกี และเอ็มไอซี ริก จนใช้งานได้จริง
- ยางล้อรถที่ใช้เป็นยางที่เหมาะกับถนนลาดยางที่ไร้ฝุ่น เมื่อใช้ถ่ายทำบนถนนที่มีฝุ่นมาก จึงทำให้รถยึดเกาะถนนไม่ค่อยดีนัก และยิ่งอันตรายมากขึ้นในฉากผาดโผนโหดๆ เช่น ฉากที่ พอล วอล์กเกอร์ ผู้รับบท ไบรอัน ต้องขับรถด้วยความเร็ว 80 ไมล์ต่อชั่วโมง แล้วหยุดรถอย่างกะทันหันในจุดที่กำหนดไว้ ซึ่งห่างจากรถคันหนึ่งที่จอดอยู่ไม่ถึง 10 ฟุต
- ในฉากปล้นรถขนน้ำมัน มิเชล ร็อดริเกวซ ผู้รับบท เล็ตตี และตัวแสดงแทนของเธอ ไฮดี มันนีเมกเกอร์ ต้องแสดงท่าผาดโผนที่อันตรายมาก คือห้อยโหนตัวอยู่บนรถขนน้ำมันที่วิ่งด้วยความเร็ว 25 ไมล์ต่อชั่วโมง
advertisement
วันนี้ในอดีต
- Quantum of Solaceเข้าฉายปี 2008 แสดง Daniel Craig, Olga Kurylenko, Mathieu Amalric
- The Matrix Revolutionsเข้าฉายปี 2003 แสดง Keanu Reeves, Carrie-Anne Moss, Laurence Fishburne
- สวย ซามูไรเข้าฉายปี 2009 แสดง โสภิตา ศรีบาลชื่น, แจ็คเกอลิน อภิธนานนท์, เกศริน เอกธวัชกุล
เกร็ดภาพยนตร์
- The Hobbit: The Battle of Five Armies - นักแสดงหลายคนเก็บอุปกรณ์การแสดงกลับบ้านไปด้วยหลังจากถ่ายทำเสร็จ อาทิ มาร์ติน ฟรีแมน ผู้สวมบท บิลโบ เก็บดาบและหูปลอมของตัวเองกลับไป ริชาร์ด อาร์มิเทจ ผู้รับบท ธอริน นำดาบออร์คริสต์กลับ ส่วน ลี เพซ ผู้รับบท ธรันดูอิล นำดาบเอล์ฟไป อ่านต่อ»
- Stonehearst Asylum - สร้างจากเรื่องสั้นเมื่อปี 1844 เรื่อง The System of Doctor Tarr and Professor Fether เขียนโดย เอดการ์ แอลลัน โพ อ่านต่อ»