เกร็ดน่ารู้จาก 20th Century Boys: Chapter Two - The Last Hope
เกร็ดน่ารู้
- สร้างมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นความยาว 24 เล่ม เรื่อง 20th Century Boys หรือชื่อภาษาไทยว่า แก๊งนี้มีป่วน เขียนโดย นาโอกิ อุราซาวะ เปิดตัวครั้งแรกในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ บิก คอมิก สปิริต ของสำนักพิมพ์ โชงาคุคัน ปี 1999-2007 เป็นการ์ตูนที่ได้รับรางวัลมากมาย และเป็นที่นิยมในหลายประเทศทั่วโลก
- มีทุนสร้างทั้งหมดรวมกัน 3 ภาค มากถึง 6 พันล้านเยน หรือ 1,800 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่ลงทุนสร้างมากที่สุดในปี 2008
- ถ่ายทำในสถานที่จริงถึง 7 ประเทศ ได้แก่ นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา, ลอนดอน ประเทศอังกฤษ, ปารีส ประเทศฝรั่งเศส, ปักกิ่ง ประเทศจีน, โรม ประเทศอิตาลี, ริโอ เดอ จาไนโร ประเทศบราซิล และกรุงเทพฯ ของประเทศไทย
- นาโอกิ อุราซาวะ เขียนการ์ตูนที่เป็นต้นแบบภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิยายของ สตีเวน คิง เรื่อง It และ The Stand
- เนื่องจากภาพยนตร์ต้องถ่ายทอดเรื่องราวที่กินเวลายาวนานกว่า 50 ปี ตั้งแต่ยุค 60, 70, ปลายยุค 90 จนถึงปี 2014 จึงมีนักแสดงรวมแล้วมากกว่า 300 ชีวิต และต้องแบ่งออกเป็น 3 ภาค แต่ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมเรื่องราวในหนังสือการ์ตูนทั้ง 24 เล่มได้ ผู้สร้างจึงจำต้องตัดหลายๆ ฉากออกไป
- ในงาน อเมริกัน ฟิล์ม มาร์เกต ปี 2007 มี 42 บริษัทจาก 34 ประเทศมาแย่งกันซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ไปจัดจำหน่าย
- ขณะที่เขียนการ์ตูน 20th Century Boys นาโอกิ อุราซาวะ และผู้ร่วมเขียนเนื้อเรื่อง ทากาชิ นางาซากิ ปฏิเสธข้อเสนอจากค่ายภาพยนตร์ต่างๆ ไปหมด เพราะต้องการให้การ์ตูนเรื่องนี้จบสมบูรณ์เสียก่อน ทว่าหลังจากนั้นกลับเป็นช่วงที่ไม่นิยมสร้างภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวสลับซับซ้อน กระทั่งสิ้นปี 2004 บริษัท นิปปอน เทเลวิชัน เนตเวิร์ก คอร์เปอเรชัน จึงเข้ามายื่นข้อเสนอการสร้างภาพยนตร์ไตรภาค โดยแสดงความกระตือรือร้นด้วยจดหมาย 10 หน้ากระดาษ ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่ นาโอกิ และ ทากาชิ เป็นอย่างยิ่ง
- ผู้สร้างประกาศอย่างเป็นทางการว่าผู้ที่จะมากำกับภาพยนตร์ชุดนี้ คือ ยูกิฮิโกะ ซึซึมิ โดยผ่านบทสัมภาษณ์ของผู้ร่วมกันสร้างสรรค์การ์ตูนต้นฉบับ นาโอกิ อุราซาวะ และ ทากาชิ นางาซากิ ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ บิก คอมิก สปิริตส์
- ผู้เขียนการ์ตูน 20th Century Boys นาโอกิ อุราซาวะ เกิดในปี 1960 ผู้ร่วมเขียนเรื่องราวในการ์ตูนและผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์ ทากาชิ นางาซากิ เกิดในปี 1956 ส่วนผู้กำกับ ยูกิฮิโกะ ซึซึมิ เกิดในปี 1955 จึงกล่าวได้ว่าทั้งสามเป็นบุคคลร่วมยุคเดียวกันกับเหล่าตัวละครหลักในเรื่อง
- ก่อนหน้านี้ ผู้กำกับ ยูกิฮิโกะ ซึซึมิ เคยสร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์จากหนังสือการ์ตูนมาแล้ว นั่นคือ Crime Files of Kindaichi, the Boy Detective (1995) และ Happily Ever After (2007)
- อาอิริ ทาอิระ ได้รับบทเป็น คันนะ ตัวละครเด่นในภาคนี้ หลังจากผู้สร้างคัดตัวนักแสดงหญิงกว่า 300 คน
- ฉากฐานทัพกลางทุ่งของเด็กๆ ถ่ายทำที่สถานีรถไฟใต้ดินขนาด 7 หมื่นตารางเมตรในเมืองกิบะ จังหวัดโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยสร้างฐานทัพขึ้นในมุมๆ หนึ่งบนที่โล่งกว้าง ด้วยโครงสร้างแบบชั่วคราวและใช้วัสดุที่หาได้ง่าย
- ก่อนจะเริ่มถ่ายทำในแต่ละวัน ผู้กำกับ ยูกิฮิโกะ ซึซึมิ จะนำภาพการถ่ายทำของวันก่อนหน้าที่ตัดต่อแล้วมาให้นักแสดงดู รูปแบบการตัดต่อของ ยูกิฮิโกะ นั้นจะตัดออกให้เหลือเฉพาะสิ่งที่ต้องการจริงๆ อันเป็นรูปแบบที่ใช้กันทั่วไปในฮอลลีวูดและเกาหลีใต้ แต่ยังไม่แพร่หลายในญี่ปุ่น
- ถ่ายทำภาคที่ 2 นี้ควบคู่ไปพร้อมกับภาคแรก จึงมีคณะผู้สร้างและนักแสดงนำจากภาคที่แล้วอย่างครบถ้วน
- มีตารางการถ่ายทำที่แน่นทุกวัน บางวันต้องถ่ายทำหลายๆ ฉากจาก 2 ภาคแรกไปพร้อมๆ กัน วันหนึ่ง โทชิอากิ คาราซาวะ ต้องแสดงเป็น เคนจิ ในปี 1997 ต่อด้วย เคนจิ ในวันส่งท้ายปี 2000 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ เคนจิ เปลี่ยนไปมาก โทชิอากิ จึงต้องเปลี่ยนทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและการแสดงให้เป็นไปตามบท
- ระบบถ่ายทำไปตัดต่อไปช่วยทุ่นเวลาในการทำงานได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังช่วยให้นักแสดงและผู้ทำงานเบื้องหลังตรวจสอบความต่อเนื่องได้ในทันที
- งาน เอ็กซ์โป ซึ่งมีความสำคัญกับเรื่องราวในภาพยนตร์ มีชื่อเต็มว่า เจแปน เวิลด์ เอ็กโปซิชัน ซึ่งจัดขึ้นในปี 1970 ถือเป็นงานนิทรรศการระดับโลกครั้งแรกในญี่ปุ่น มีคำขวัญประจำงานว่า "เพื่อความก้าวหน้าและความเป็นหนึ่งเดียวกันของมวลมนุษยชาติ" จุดสังเกตของงานคือ หอคอยสุริยัน ที่ออกแบบโดย ทาโระ โอกาโมโตะ และสิ่งที่เรียกผู้ชมได้อย่างล้นหลามในงานนี้คือหินจากดวงจันทร์ในซุ้มจากสหรัฐอเมริกา
- หน้ากากที่ตัวละคร เพื่อน สวมในตอนเด็ก เป็นหน้ากาก นินจาฮัตโตริ ตัวละครจาก Ninja Hattori-kun การ์ตูนเรื่องดังของ ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารการ์ตูนรายเดือนของสำนักพิมพ์ โคบุงชะ ในปี 1964-1968 และในนิตยสารของสำนักพิมพ์ โชงาคุคัง ในปี 1981-1988
- ที่มาของตัวละคร ยันโบ และ มาโบ ซึ่งรับบทโดย ชิโระ ซาโนะ คือตัวการ์ตูนฝาแฝดชายที่ปรากฏตัวตอนเปิดรายการพยากรณ์อากาศทางโทรทัศน์ของญี่ปุ่นในปี 1959 ชื่อแฝดพี่ ยันโบ และแฝดน้อง มาโบ ได้มาจากชื่อผู้สนับสนุนหลักของรายการ คือเครื่องยนต์ดีเซลยันมาร์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็น บริษัท ยันมาร์ จำกัด ทุกวันนี้ รายการดังกล่าวยังคงใช้เพลงประจำตัว ยันโบ และ มาโบ เป็นเพลงประกอบ
- ตัวละคร เคนจิ ซึ่งรับบทโดย โทชิอากิ คาราซาวะ ใช้ชื่อในฐานะนักดนตรีว่า บ็อบ เลนนอน ชื่อนี้มาจากนักดนตรีที่มีอยู่จริง 2 คน คือ จอห์น เลนนอน จากวง เดอะ บีเทิลส์ และ บ็อบ ดีแลน นักร้องและนักแต่งเพลงโฟล์กจากอเมริกา ผู้เขียนการ์ตูน 20th Century Boys นาโอกิ อุราซาวะ ชื่นชอบ บ็อบ เป็นอย่างมาก และเคยตีพิมพ์หนังสือชื่อ Dylan o Kataro หรือ Let's talk about Dylan ร่วมกับ โคจิ วาคุอิ ด้วย
- ชื่อของการ์ตูนและภาพยนตร์เรื่องนี้มีที่มาจากชื่อเพลง 20th Century Boy ของ ที. เร็กซ์ วงดนตรีแกลมร็อกจากอังกฤษ ที่เข้ามาเป็นสร้างกระแสความนิยมที่เรียกว่า ที.เร็กซ์ตาซี ในประเทศญี่ปุ่นในช่วงยุค 70 พวกเขาบันทึกเพลง 20th Century Boy กันที่ห้องบันทึกเสียงของ โตชิบา มิวสิก อินดัสทรี ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็น อีเอ็มไอ มิวสิก เจแปน เมื่อครั้งมาเยือนญี่ปุ่นในปี 1972
advertisement
วันนี้ในอดีต
คู่กรรมเข้าฉายปี 2013 แสดง ณเดชน์ คูกิมิยะ, อรเณศ ดีคาบาเลส, นิธิศ วารายานนท์
สังหรณ์เข้าฉายปี 2003 แสดง อภิเชษฐ์ กิตติกรเจริญ, วรเวช ดานุวงศ์, กวี ตันจรารักษ์
Tears of the Sunเข้าฉายปี 2003 แสดง Bruce Willis, Monica Bellucci, Cole Hauser
เกร็ดภาพยนตร์
- The Last Five Years - ใช้เวลา 21 วันในการถ่ายทำ และถ่ายทำฉากเพลง Goodbye Until Tomorrow ในวันสุดท้าย อ่านต่อ»
- Mad Max: Fury Road - ฉากเทคนิคพิเศษประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ช่วย แต่เป็นของจริงโดยใช้นักแสดงแทน ฉาก และการแต่งหน้าช่วย ส่วนที่ใช้คอมพิวเตอร์ก็ใช้เพียงลบเชือก ตกแต่งพื้นที่ทะเลทรายนามิบ และสร้างแขนปลอมข้างซ้ายของ ชาร์ลีซ เธอรอน ผู้รับบท ฟิวริโอซา เท่านั้น อ่านต่อ»
เปิดกรุภาพยนตร์
สีดา ตำนานรักโลงคู่
เรื่องจริงของโศกนาฎกรรมความรักของ ประโนตย์ (กฤษฎิ์สพล สุทธิหิรัญดำรงค์) ผู้ชายที่มีจิตใจเป็นหญิง หน้าตาสะสวยที่เติบโตมา...อ่านต่อ»