เกร็ดน่ารู้จาก Watchmen

เกร็ดน่ารู้
  • สร้างจากหนังสือการ์ตูน Watchmen ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในรูปแบบ 12 เล่มจบ โดย ดีซี คอมิกส์ เมื่อปี 1986-1987 ก่อนที่จะถูกรวบรวมเป็นหนังสือเล่มใหญ่ นับเป็นนิยายภาพเพียงเรื่องเดียวที่ได้รับรางวัล ฮิวโก อวอร์ด อีกทั้งยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 100 นิยายภาษาอังกฤษยอดเยี่ยมที่สุดนับตั้งแต่ปี 1923 ของนิตยสารไทม์
  • Watchmen มีเนื้อหาร่วมสมัยสำหรับคนยุค 80 ที่หวาดระแวงว่าสงครามเย็นจะรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์
  • กลุ่มซูเปอร์ฮีโรกลุ่มหลักในเรื่องแบ่งเป็น 2 ชุด ชุดดั้งเดิมที่เรียกกันว่า มินิตเมน ประกอบไปด้วย ซิลูเอตต์, ซิลก์ สเปกเตอร์, เดอะ คอเมเดียน, ฮูดเดด จัสติซ, กัปตัน เมโทรโพลิส, ไนต์ อาวล์, มอธแมน และ ดอลลาร์ บิลล์ ส่วนรุ่นต่อมา ได้แก่ ซิลก์ สเปกเตอร์ 2, ไนต์ อาวล์ 2, รอร์ชอก, ด็อกเตอร์ แมนฮัตตัน, โอซีแมนเดียส และ เดอะ คอเมเดียน แต่ละคนเป็นตัวแทนของอำนาจ ความลุ่มหลง และสภาพจิตอันผิดปกติที่แตกต่างกันไป
  • ซูเปอร์ฮีโรในเรื่องนี้แตกต่างจากซูเปอร์ฮีโรส่วนใหญ่ตรงที่เป็นมนุษย์ธรรมดา ที่ต้องเผชิญกับสังคมเดียวกันและเผชิญกับสภาพกดดันทางจิตใจเหมือนกันทุกคน ซูเปอร์ฮีโรที่มีพลังพิเศษจริงๆ มีเพียงคนเดียว คือ ด็อกเตอร์ แมนฮัตตัน หรือ จอน ออสเตอร์แมน ที่รับบทโดย บิลลี ครูดัป
  • ผู้อำนวยการสร้าง ลอว์เรนซ์ กอร์ดอน และ ลอยด์ เลวิน ชื่นชอบการ์ตูนเรื่องนี้มาก และเตรียมพัฒนาการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้มานานกว่า 1 ทศวรรษ เพราะจำต้องเฝ้ารอจังหวะเวลา และมองหาคณะผู้สร้างที่เหมาะสม
  • เมื่อประมาณ 3 ปีก่อนหน้าที่ แจ็กกี เอิร์ล ฮาลีย์ จะได้มารับบท รอร์ชอก หรือ วอลเตอร์ โคแวกส์ มีกลุ่มคนในอินเตอร์เน็ตพยายามแนะนำให้เขามารับบทดังกล่าวนี้ ในเวลานั้น แจ็กกี ยังไม่รู้จักนิยายภาพเรื่องนี้ จึงลองไปหาอ่านดูและรู้สึกทึ่งมาก เมื่อได้ข่าวการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ แจ็กกี จึงพยายามที่จะคว้าบทนี้มาแสดงให้ได้
  • ตัวละคร วอลเตอร์ โคแวกส์ ที่ แจ็กกี เอิร์ล ฮาลีย์ แสดง มีชื่อขณะสวมชุดซูเปอร์ฮีโรว่า รอร์ชอก คำๆ นี้มาจากการทดสอบสภาพจิตโดยใช้ภาพหยดหมึก ซึ่งเรียกกันว่าการทดสอบรอร์ชอก และหน้ากากของ รอร์ชอก ก็มีลักษณะเหมือนกับหยดหมึกดังกล่าวด้วย
  • ตัวละคร เอเดรียน ไวด์ต ที่รับบทโดย แมตธิว กูด มีชื่อขณะสวมชุดซูเปอร์ฮีโรว่า โอซีแมนเดียส เนื่องจากเขาลุ่มหลงในความสำเร็จของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชและฟาโรห์รามีเซส ที่ 2 ของอียิปต์ ซึ่ง โอซีแมนเดียส คือชื่อในภาษากรีกของ รามีเซส ที่ 2 นั่นเอง
  • ผู้กำกับ แซก ซไนเดอร์ เห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ควรถ่ายทำในฉากจริงๆ มากกว่าสร้างฉากด้วยคอมพิวเตอร์ ดังนั้นแผนกฉากจึงต้องสร้างฉากขึ้นทั้งหมดราว 200 ฉาก
  • เรื่องราวหนึ่งในสี่ของภาพยนตร์เกิดขึ้นบนดาวอังคาร และฉากอื่นๆ อีกหลายฉากเกิดขึ้นในแอนตาร์กติกา ทิวทัศน์ของภาพยนตร์เรื่องนี้จึงค่อนข้างแปลกตา
  • ฉากวังแก้วบนดาวอังคารของ ด็อกเตอร์ แมนฮัตตัน หรือ จอน ออสเตอร์แมน ที่รับบทโดย บิลลี ครูดัป เป็นฉากที่สร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งฉาก โดยผู้ออกแบบงานสร้าง อเล็กซ์ แมกโดเวลล์ ออกแบบโดยผสมผสานหน่วยพลังงานอะตอมฟิสิกส์กับรูปลักษณ์ของนาฬิกาเข้าด้วยกัน
  • ถ่ายทำบริเวณรอบๆ แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา และบางส่วนถ่ายทำในโรงถ่าย 4 แห่งของ ซีเอ็มพีพี หรือ แคนาเดียน โมชัน พิกเจอร์ ปาร์ก นอกจากนี้ ยังมีการสร้างโรงถ่ายแห่งใหม่ขึ้นบริเวณชานเมืองในจุดที่เคยเป็นลานทิ้งขยะ
  • งานสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ส่วนใหญ่ใช้ทีมงานท้องถิ่น ภายใต้การดูแลของหัวหน้าแต่ละแผนกจากทั้งประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ทุกคนจะได้รับเอกสารแจงรายละเอียดของข้อมูลทั้งหมด รวมถึงรูปภาพและบทสัมภาษณ์ผู้สร้างนิยายภาพ และตัวนิยายภาพเอง ซึ่งถือเป็นข้อมูลอ้างอิงหลัก
  • ผู้สร้างถ่ายทำฉากนิวส์สแตนด์ขึ้นที่โรงถ่ายที่สร้างขึ้นใหม่ โดยฉากนี้เป็นฉากจากนิยายเรื่อง Tales of the Black Freighter ซึ่งเป็นนิยายที่อยู่ในเรื่อง Watchmen อีกที โดยผู้กำกับ แซก ซไนเดอร์ จะนำฉากพิเศษเหล่านี้แทรกไว้ในตัวภาพยนตร์ฉบับดีวีดีซึ่งจะออกจำหน่ายในอนาคต
  • ผู้ออกแบบงานสร้าง อเล็กซ์ แมกโดเวลล์ สร้างบาร์ ไซง่อน ซึ่งตามท้องเรื่องอยู่ในประเทศเวียดนามขึ้นมา ภายในฉากเมืองนิวยอร์กที่พวกเขาสร้างขึ้น ฉากเวียดนามนี้เป็นฉากผสมผสานทั้งภายในอาคารและกลางแจ้งที่มีความลึกถึง 40 ฟุต
  • ผู้สร้างสร้างฉากที่หลบภัยของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ซึ่งอยู่ที่โนแร็ด หรือศูนย์ป้องกันภัยอากาศยานอเมริกาเหนือ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากห้องวอร์รูม ในภาพยนตร์ของ สแตนลีย์ คูบริก เรื่อง Dr. Strangelove or: How I Learned to Stop Worrying and Love the Bomb (1964) ในห้องนั้นมีแผนที่ที่เปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยเกิดจากตัวฉายภาพจากด้านหลัง ซึ่งหัวหน้างานแผนกไฟฟ้าในกองถ่ายนี้ เคยทำงานเป็นคนฉายภาพนั้นเองในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวของ สแตนลีย์
  • ผู้สร้างตกแต่งโรงพยาบาลเก่าที่ชื่อ ริเวอร์วิว ในแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ให้กลายเป็นฉากโรงทดลองนิวเคลียร์ จิลา แฟล็ตส์
  • ผู้สร้างสร้างฉากภายในห้องพักของ เดอะ คอเมเดียน หรือ เอ็ดเวิร์ด เบลก ซึ่งรับบทโดย เจฟฟรีย์ ดีน มอร์แกน ขึ้นในโรงถ่าย ประกอบด้วยฉาก 3 ฉาก ได้แก่ ฉากห้องนั่งเล่น ฉากแท่นสูงที่มีหน้าต่างกลสำหรับงานวิชวลเอฟเฟ็กต์ และฉากห้องนอนที่มีห้องลับ
  • ผู้สร้างใช้โรงงานกระดาษเก่าที่ชื่อ ดอมทาร์ เป็นที่สำหรับสร้างฉากห้องทดลองของรัฐบาล และห้องพักของ ด็อกเตอร์ แมนฮัตตัน หรือ จอน ออสเตอร์แมน ที่รับบทโดย บิลลี ครูดัป
  • ไมเคิล วิลกินสัน ออกแบบเครื่องแต่งกายให้ตัวละครโดยยึดสีสันจากในนิยายภาพต้นฉบับเป็นหลัก ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเต็มไปด้วยสีเขียว สีม่วง สีส้ม และสีน้ำตาล ที่ค่อนข้างอึมครึมและมืดมน นอกจากนี้ รูปแบบเครื่องแต่งกายในนิยายภาพก็บ่งบอกยุคสมัยที่เกิดขึ้นในเรื่องตั้งแต่ปี 1938-1985 ได้เป็นอย่างดีอยู่แล้วอีกด้วย
  • ในบางฉากมีตัวประกอบมากถึง 300 คน แผนกเครื่องแต่งกายของภาพยนตร์เรื่องนี้จึงต้องเตรียมเสื้อผ้าไว้มากกว่า 150,000 ชิ้น และมีรายการเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับทั้งหมดรวมแล้วมากถึง 600 หน้า เสื้อผ้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องแบบที่หลากหลายสำหรับทหารทั้งจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเวียดนาม ตำรวจนิวยอร์กในปี 1938 บริกร พ่อครัวประจำคุก พนักงานรักษาความปลอดภัย นักบินอวกาศ และอื่นๆ อีกมากมาย
  • ขณะที่ตัวละครส่วนใหญ่มีเสื้อผ้าที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แต่ รอร์ชอก หรือ วอลเตอร์ โคแวกส์ ที่รับบทโดย แจ็กกี เอิร์ล ฮาลีย์ กลับสวมเพียงเสื้อกันฝนที่เรียบง่าย
  • แจ็กกี เอิร์ล ฮาลีย์ ผู้รับบท รอร์ชอก หรือ วอลเตอร์ โคแวกส์ ตั้งฉายาให้กับหน้ากากที่มีหยดหมึกที่เคลื่อนไหวได้ของเขาว่า ถุงเท้า
  • มาลิน เอเคอร์แมน ไม่เคยแสดงฉากต่อสู้มาก่อนรับบท ซิลก์ สเปกเตอร์ 2 หรือ ลอรี จูปิเตอร์
  • แม้ แจ็กกี เอิร์ล ฮาลีย์ ผู้รับบท รอร์ชอก หรือ วอลเตอร์ โคแวกส์ จะสวมหน้ากากมิดชิดจนไม่เห็นหน้า แต่เขาก็แสดงฉากผาดโผนเอง
  • แพทริก วิลสัน ผู้รับบทเป็น ไนต์ อาวล์ 2 หรือ แดน ไดรเบิร์ก ต้องเพิ่มน้ำหนักตัวขึ้น 25 ปอนด์ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกที่ขัดแย้งของเขาทั้งด้านอ่อนโยนและด้านคุกคาม แต่ก็ต้องแข็งแรงพอที่จะแสดงฉากผาดโผนได้ด้วย เขาจึงต้องเน้นการออกกำลังกายแบบที่ไม่เผาผลาญพลังงาน
  • เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเพลงของศิลปินที่เป็นตำนานหลายคน ได้แก่ แนต คิง โคล, บิลลี ฮอลิเดย์, ไซมอน แอนด์ การ์ฟังเกล, จิมี เฮนดริกซ์ และ เจนิส จอปลิน นอกจากนี้ ศิลปินวง มาย เคมิคัล โรแมนซ์ ยังได้นำบทเพลง Desolation Row ของ บ็อบ ดีแลน มาบรรเลงใหม่ ส่วนดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นฝีมือการประพันธ์ของ ไทเลอร์ เบ็ตส์
  • ช่วงต้นยุค 90 ผู้กำกับ เทอร์รี จิลเลียม และคู่หูของเขา ชาร์ลส์ แมกคีโอน พัฒนาการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้โดยยึดบทภาพยนตร์ของ แซม แฮมม์ มีข่าวลือเกี่ยวกับนักแสดงที่จะมารับบทนำหลายคน ได้แก่ โรบิน วิลเลียมส์ ในบท รอร์ชอก, เจมี ลี เคอร์ติส ในบท ซิลก์ สเปกเตอร์, แกรี บัสซีย์ ในบท เดอะ คอเมเดียน และ ริชาร์ด เกียร์ กับ เควิน คอสเตอร์ ต่างก็อาจได้รับบท ไนต์โอวล์ แต่สุดท้ายแล้วโครงการนี้ก็ถูกพับไป
  • ในปี 2004 พอล กรีนกราสส์ เข้ามารับหน้าที่กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยเริ่มงานเขียนบทและออกแบบแนวคิดต่างๆ แล้ว แต่บริษัท พาราเมาท์ ตัดสินใจสั่งหยุดการสร้าง พอล จึงขอถอนตัวแล้วไปกำกับ United 93 (2006) จากนั้นสิทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เปลี่ยนมือไปเป็นของ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ในปี 2006
  • ดัก ฮัตชิสัน แสดงตัวว่าสนใจจะรับบทเป็น รอร์ชอก หรือ วอลเตอร์ โคแวกส์ แต่ในที่สุด ผู้กำกับ แซก สไนเดอร์ ก็เลือก แจ็กกี เอิร์ล ฮาลีย์ มารับบทนี้แทน
  • ผู้สร้างเสนอให้ อลัน มัวร์ ผู้เขียนหนังสือการ์ตูนต้นฉบับ รับหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนื้ตั้งแต่ปลายยุค 80 แต่ อลัน ตอบปฏิเสธ จากนั้นผู้สร้างก็เลือก แซม แฮมม์ เข้ามาทำหน้าที่แทน แต่สุดท้าย ผู้สร้างก็ไม่ได้นำบทภาพยนตร์ของ แซม ไปใช้
  • ผู้อำนวยการสร้าง ลอว์เรนซ์ กอร์ดอน และ ลอยด์ เลวิน พยายามอย่างมากให้ รอน เพิร์ลแมน ตกลงรับบท เดอะ คอเมเดียน หรือ เอ็ดเวิร์ด เบลก แต่สุดท้ายแล้ว บทนี้ก็ตกเป็นของ เจฟฟรีย์ ดีน มอร์แกน
  • เทอร์รี กิลเลียม เข้ามารับหน้าที่กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อต้นปี 1989 แต่เขาไม่พอใจบทภาพยนตร์แม้จะแก้ไขใหม่หลายครั้ง เทอร์รี จึงตัดสินใจไม่สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ และกล่าวว่าเขาอยากกำกับเรื่องนี้ให้เป็นละครสั้นความยาว 5 ชั่วโมงมากกว่า
  • ทอม ครูซ และ จูด ลอว์ ต่างสนใจที่จะรับบท โอซีแมนเดียส หรือ เอเดรียน ไวด์ต แต่สุดท้าย ผู้ที่ได้รับบทนี้ไป คือ แมตธิว กูด
  • ในตอนที่ผู้กำกับ พอล กรีนกราสส์ ยังเตรียมตัวกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ให้กับค่าย พาราเมาท์ นักแสดง ไซมอน เพกก์ เคยเข้ามาพูดคุยรายละเอียดเกี่ยวกับการรับบท รอร์ชอก หรือ วอลเตอร์ โคแวกส์ แต่การเจรจายังไม่ทันเสร็จ การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ก็หยุดชะงักไปก่อน
  • เดิม วอร์เนอร์ บราเธอร์ส อยากให้ ดาร์เรน อโรนอฟสกี มารับหน้าที่กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ ดาร์เรน คิดว่าเรื่องราวดูล้าสมัยเกินไป เขาจึงวางแผนจะปรับแต่งบทใหม่ รวมทั้งเปลี่ยนส่วนที่อ้างอิงถึงสงครามเวียดนาม ให้เป็นเรื่องการก่อการร้ายและประเทศอิรักแทน วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ไม่ค่อยพอใจความคิดนี้นัก จึงเปลี่ยนตัวผู้กำกับเป็น แซก สไนเดอร์ ส่วน ดาร์เรน หันไปกำกับเรื่อง The Fountain (2006) แทน
  • ครั้งหนึ่งมีข่าวลือว่า จอห์น คูแซก จะมารับบทเป็น ไนต์ โอวล์ หมายเลข 2 หรือ แดน ไดรเบิร์ก และ ซิกอร์นีย์ วีเวอร์ จะมารับบทเป็น ซิลก์ สเปกเตอร์ หรือ แซลลี จูปิเตอร์ แต่สุดท้าย แพทริก วิลสัน และ คาร์ลา กูจิโน ก็มารับบทดังกล่าวนี้ตามลำดับ
  • ตอนที่ พอล กรีนกราสส์ รับหน้าที่กำกับภาพยนตร์ เขาวางแผนให้ ฮิลารี สแวงก์ มารับบทเป็น ซิลก์ สเปกเตอร์ และให้ วาคีน ฟีนิกซ์ มารับบท ไนต์ โอวล์ แต่เมื่อ พอล ถอนตัวออกไปจากตำแหน่งผู้กำกับ ทั้ง ฮิลารี และ วาคีน ก็ขอถอนตัวออกไปด้วยเช่นกัน
  • นาธาน ฟิลเลียน เกือบได้มารับบท เดอะ คอเมเดียน และ ไนต์ โอวล์
  • ผู้กำกับ แซก สไนเดอร์ สัญญาว่าจะให้ เจอราร์ด บัตเลอร์ ที่แสดงในเรื่อง 300 (2006) ของเขา ได้รับบทในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย แต่สุดท้ายแล้ว แซก ย้ายให้เขาไปรับบทหนึ่งในเรื่อง Tales of the Black Freighter (2009) ซึ่งเล่าเรื่องราวในหนังสือการ์ตูนที่อยู่ในโลกของ Watchmen อีกที โดยภาพยนตร์เรื่องนี้จะออกเผยแพร่ทางดีวีดี ช่วงเวลาเดียวกับที่ Watchmen ออกฉายในโรงภาพยนตร์
  • เพลงที่ปรากฏในภาพยนตร์ตัวอย่างคือเพลง The Beginning is the End is the Beginning ของวง สแมชิง พัมป์กินส์ เพลงนี้เป็นเพลงบีไซด์ของ The End is the Beginning is the End ซึ่งเป็นเพลงหลักที่ใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง Batman & Robin (1997) ของผู้กำกับ โจล ชูมักเกอร์
  • แพทริก วิลสัน ที่รับบทเป็น ไนต์ โอวล์ หมายเลข 2 หรือ แดน ไดรเบิร์ก และ แจ็กกี เอิร์ล ฮาลีย์ ที่รับบทเป็น รอร์ชอก หรือ วอลเตอร์ โคแวกส์ เคยแสดงร่วมกันมาก่อนในภาพยนตร์เรื่อง Little Children (2006)
  • ไซมอน เพกก์ ปฏิเสธการรับบทเป็น รอร์ชอก หรือ วอลเตอร์ โคแวกส์
  • มีภาพยนตร์หลายเรื่องปรากฏในจอโทรทัศน์ของตัวละคร โอซีแมนเดียส หรือ เอเดรียน ไวด์ต ซึ่งรับบทโดย แมตธิว กูด หนึ่งในนั้นคือ The 300 Spartans (1962) ภาพยนตร์ที่มีชื่อคล้ายกับภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้าของผู้กำกับ แซก สไนเดอร์ เรื่อง 300 (2006)
  • ในปี 2003 ไมเคิล เบย์ เกือบได้มากำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่สุดท้ายก็ปฏิเสธไป
  • หลังจาก เจฟฟรีย์ ดีน มอร์แกน อ่านบทภาพยนตร์ไปได้ 3 หน้า เขาก็ปฏิเสธไม่รับบท เดอะ คอเมเดียน หรือ เอ็ดเวิร์ด เบลก เพราะเข้าใจว่าเป็นตัวละครที่มีบทน้อย แต่ตัวแทนของเขาขอให้เขาอ่านต่อให้จบก่อนแล้วจึงตัดสินใจ ซึ่งภายหลังเขาก็เปลี่ยนใจยอมรับแสดงบทนี้
  • ผู้กำกับ แซก สไนเดอร์ เลือกนักแสดงให้มารับบทตัวละครที่อายุมากกว่าตัวจริงหลายคน เพราะในภาพยนตร์มีฉากย้อนความบ่อยครั้ง และ แซก คิดว่าการแต่งหน้าให้นักแสดงดูชราขึ้นง่ายกว่าการแต่งให้ดูอ่อนเยาว์ลง
  • คาร์ลา กูจิโน มีอายุ 37 ปี แต่มารับบทเป็น ซิลก์ สเปกเตอร์ หรือ แซลลี จูปิเตอร์ หญิงอายุ 60 ปลายๆ ซึ่งเป็นคุณแม่ของ ซิลก์ สเปกเตอร์ หมายเลข 2 หรือ ลอรี จูปิเตอร์ ที่รับบทโดย มาลิน อเคอร์แมน ในชีวิตจริงนั้น คาร์ลา อายุมากกว่า ลอรี เพียง 7 ปีเท่านั้น

advertisement

วันนี้ในอดีต

  • แจ๋วแจ๋วเข้าฉายปี 2004 แสดง พรชิตา ณ สงขลา, จารุภัส ปัทมศิริ, จารุณี บุญเสก
  • TRON: LegacyTRON: Legacyเข้าฉายปี 2010 แสดง Garrett Hedlund, Olivia Wilde, Jeff Bridges
  • รักที่รอคอยรักที่รอคอยเข้าฉายปี 2009 แสดง รัชวิน วงศ์วิริยะ, พิษณุ นิ่มสกุล, ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ

เกร็ดภาพยนตร์

  • Badlapur - เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ใช่แนวตลกเรื่องแรกที่ วรุณ ธาวาน ผู้รับบท รักฮาฟ แสดง อ่านต่อ»
  • Chappie - ชาร์ลโต คอปลีย์ ผู้รับบท แชปปี้ กับผู้กำกับ นีลล์ บลอมแคมป์ เรียนโรงเรียนเดียวกันสมัยมัธยมศึกษา ทั้งคู่เป็นเพื่อนสนิทกัน ชาร์ลโต จึงร่วมแสดงในภาพยนตร์ทุกเรื่องที่ นีลล์ กำกับก่อนหน้านี้ ได้แก่ District 9 (2009) และ Elysium (2013) อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

Once Upon a Time... in Hollywood Once Upon a Time... in Hollywood นักแสดงทีวีขาลง และ นักแสดงแทนของเขา สำหรับพยายามดิ้นรนอย่างหนักเพื่อสร้างชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมภาพยนต...อ่านต่อ»