เกร็ดน่ารู้จาก Slumdog Millionaire

เกร็ดน่ารู้
  • ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดส์ หรือ ออสการ์ ประจำปี 2009 สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและสาขาอื่นๆ รวม 8 สาขา จากที่ได้เข้าชิงทั้งหมด 10 รางวัล ใน 9 สาขา นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลเด่นๆ จากงาน โกลเดน โกลบ อวอร์ดส์, บาฟตา อวอร์ดส์, แซก อวอร์ดส์ และอีกหลายสถาบันในปีเดียวกัน
  • เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกถัดจาก Schindler's List (1993) ที่ชนะทั้งรางวัลภาพนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากทั้งงาน โกลเดน โกลบ, บาฟตา และออสการ์
  • การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มขึ้นเมื่อ เคต ซินแคลร์ ฝ่ายสรรหาหนังสือของ ฟิล์มโฟร์ ได้อ่านต้นฉบับนิยายที่กำลังจะตีพิมพ์เรื่อง Q & A เขียนโดย วิคัส ซวารัป และรู้สึกถูกใจจึงโทรศัพท์ไปเล่าให้ เทสซา รอสส์ หัวหน้าฝ่ายภาพยนตร์และละครที่ แชนแนล โฟร์ ฟัง จากนั้น เทสซา ก็เชื้อเชิญให้ ไซมอน โบฟอย เข้ามารับหน้าที่ดัดแปลงบทภาพยนตร์จากหนังสือเล่มนี้
  • ผู้เขียนบท ไซมอน โบฟอย อธิบายว่า การดัดแปลงบทภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องยากเพราะหนังสือนิยายต้นฉบับ Q & A ที่เขียนโดย วิคัส ซวารัป เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น 12 เรื่อง ซึ่งไม่ปะติดปะต่อกัน และบางเรื่องก็เป็นเรื่องเล่าเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวละครหลักเลย อีกทั้งยังไม่มีการบรรยายเรื่องโดยรวมอีกด้วย
  • ผู้เขียนบท ไซมอน โบฟอย เป็นผู้คิดชื่อเรื่อง Slumdog Millionaire แทนที่จะใช้ชื่อเดียวกับหนังสือนิยายต้นฉบับที่ชื่อ Q & A
  • แดนนี บอยล์ กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้โดยรักษาคำพูดของตัวละครที่ผู้เขียนบท ไซมอน โบฟอย เขียนขึ้นเอาไว้อย่างครบถ้วน
  • ผู้กำกับ แดนนี บอยล์ ไม่เคยไปเยือนประเทศอินเดียอันเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้มาก่อน แม้เขาจะนึกอยากไปเที่ยวที่นั่นมานานแล้ว เพราะคุณพ่อของเขาเคยไปที่อินเดียในช่วงสงคราม และเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอินเดียให้ แดนนี ฟังมากมาย
  • ผู้เขียนบท ไซมอน โบฟอย เคยเดินทางไปทั่วประเทศอินเดียตอนอายุ 18 ปี แต่เมื่อกลับมาอีกทีในเวลา 20 ปีให้หลัง เพื่อทำงานในภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาก็สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงมากมาย
  • ผู้สร้างเริ่มถ่ายทำรอบๆ เมืองมุมไบ ของประเทศอินเดีย ล่วงหน้าก่อนหน้ากำหนดเปิดกล้องอย่างเป็นทางการราว 2 สัปดาห์ ซึ่งแผนกต่างๆ ยังคงเตรียมตัวสำหรับการถ่ายทำอยู่ โดยถ่ายภาพการซ้อมในสถานที่จริง โดยหวังว่าอาจนำบางส่วนมาใช้ได้จริงๆ ในขั้นตอนตัดต่อภาพ ซึ่งนอกจากจะประหยัดเวลาในการทำงานไปได้มากแล้ว ยังเป็นการสำรวจปัญหาด้านการขนส่งและการออกแบบตั้งแต่เนิ่นๆ อีกด้วย
  • ผู้สร้างถ่ายทำฉากในโรงแรมกันที่ เดอะ ทิวลิป สตาร์ โรงแรม 5 ดาวที่ถูกทิ้งร้างในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เนื่องจากเป็นโรงแรมซึ่งอยู่ใกล้กองถ่ายภาพยนตร์ ทำให้ประหยัดเวลาการถ่ายทำได้มากกว่ากำหนดการเดิมถึง 2 วัน
  • ผู้กำกับ แดนนี บอยล์ รู้สึกสนใจความแตกต่างสุดขั้วของประเทศอินเดีย นั่นคือความยากจนข้นแค้นและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของประเทศ ในขณะที่ประเทศอินเดียมีอาวุธนิวเคลียร์ติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่กลับไม่มีห้องน้ำสาธารณะในพื้นที่ชุมชนแออัด
  • สถานที่ถ่ายทำหลัก คือ ธาราวี ชุมชนแออัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศอินเดีย และ จูฮู ชุมชนแออัดที่มีชีวิตชีวาที่สุด ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับสนามบินทางตะวันตกของเมือง
  • บริเวณชุมชนแออัดธาราวี ในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำนั้น มีประชากรอยู่ประมาณกว่า 1 ล้านคน รวมประชากรทั้งหมดของมุมไบมีสูงถึง 22 ล้านคน และกำลังขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ ประมาณกันว่าน่าจะมีประชากรมากขึ้นอีก 20 ล้านคนในปี 2020
  • ผู้สร้างเน้นถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอลที่ทันสมัยอย่าง เอสไอ-ทูเค เพราะมีขนาดเล็กและยืดหยุ่น ทำให้เข้าถึงบรรยากาศของชุมชนแออัดได้มาก และถ่ายทำด้วยฟิล์มเพียงบางฉากเท่านั้น เนื่องจากกล้องมีขนาดใหญ่เทอะทะ นอกจากนี้พวกเขายังใช้ แคนอนแคม หรือกล้องถ่ายภาพนิ่งยี่ห้อ แคนอน ซึ่งเก็บภาพได้ 12 เฟรมต่อวินาที มาเสริมด้วย
  • ถ่ายทำฉากเต้นรำกันที่สถานีรถไฟ วิกตอเรีย เทอร์มินัส ในใจกลางเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย สถานที่ที่ชาวอินเดียซึ่งพักอยู่ใกล้รถไฟ นำเสื้อผ้ามาตากโดยวางก้อนหินไว้ที่มุมเสื้อผ้า ให้รถไฟที่แล่นผ่านพัดลมร้อนเข้ามา ทำให้เสื้อผ้าแห้งได้ภายใน 5 นาที แต่ก็นับเป็นวิธีที่อันตรายมาก
  • หนึ่งในฉากที่ถ่ายทำยากที่สุดคือฉากที่เด็กๆ กระโดดลงจากรถไฟ ซึ่งต้องใช้นักแสดงแทนคอยดูแลการถ่ายทำอย่างใกล้ชิด
  • อินเดีย เทก วัน บริษัทสร้างภาพยนตร์ของประเทศอินเดีย คอยแนะนำคณะผู้สร้างเรื่องการเดินทางไปถ่ายทำยังที่ต่างๆ ซึ่งอุปสรรคสำคัญนั้นไม่ใช่ระยะทาง แต่เป็นการจราจรที่ติดขัด เพราะมีปริมาณรถยนต์ รถลาก และแท็กซี่ที่เนืองแน่นอยู่บนท้องถนนกว่าล้านคัน
  • เมืองมุมไบ ในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ เติบโตกลายเป็นสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้าอย่างรวดเร็ว เมื่อจะถ่ายทำจริง ผู้สร้างจึงต้องเปลี่ยนแปลงสถานที่ถ่ายทำหลายแห่ง จากที่เคยวางแผนไว้เมื่อ 6 เดือนก่อนหน้า
  • ไมอา อารุลพรากาซาม บันทึกเพลง Paper Planes ร่วมกับผู้แต่งเพลง เอ.อาร์. ราห์แมน เพื่อใช้ประกอบในภาพยนตร์เรื่องนี้
  • ไมอา อารุลพรากาซาม ซึ่งร้องเพลงประกอบให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถามผู้สร้างว่าตัวละคร จามาล ซึ่งรับบทโดย เดฟ พาเทล ได้ออกรายการโทรทัศน์ได้อย่างไร ทำให้ผู้สร้างฉุกคิดขึ้นได้ว่าพวกเขาไม่ควรตัดเนื้อเรื่องส่วนนั้นออก พวกเขาจึงนำฉากที่อธิบายคำถามนั้นใส่กลับเข้าไปใหม่
  • ผู้กำกับ แดนนี บอยล์ และผู้อำนวยการสร้าง คริสเตียน โคลสัน เดินทางไปทั่วทั้งประเทศอเมริกา แคนาดา อังกฤษ และอินเดีย เพื่อตามหานักแสดงที่เหมาะสมกับบทตัวละครหลักในเรื่อง ซึ่งมี 3 ช่วงอายุ คือประมาณ 7 ปี 13 ปี และ 18 ปี
  • นอกจาก เลิฟลีน ทันดัน จะทำหน้าที่คัดเลือกนักแสดงชาวอินเดียแล้ว เธอยังต้องเป็นล่ามและกำกับพวกเขาในฐานะผู้กำกับกองถ่ายย่อยที่ 2 อีกด้วย เนื่องจากนักแสดงจำนวนมากไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษกับผู้กำกับ แดนนี บอยล์ ได้
  • ผู้สร้างตั้งใจจะถ่ายทำภาพยนตร์เป็นภาษาอังกฤษ แม้ว่าพวกเด็กๆ จากชุมชนแออัดจูฮูในมุมไบจะพูดภาษามหาราติ ซึ่งเป็นภาษาฮินดีในท้องถิ่น พวกเขาจึงหาตัวนักแสดงที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ แต่นักแสดงเหล่านั้นกลับไม่เหมาะสมกับบท เพราะเป็นเด็กที่ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนระดับกลาง จึงมีท่วงท่าแตกต่างจากเด็กยากจนจริงๆ อีกทั้งการถ่ายทำในชุมชนแออัดยังเป็นงานที่ยากสำหรับเด็กที่ไม่เคยลำบากมาก่อนด้วย สุดท้ายแล้ว ผู้สร้างจึงตัดสินใจถ่ายทำบางส่วนเป็นภาษาท้องถิ่น
  • อซาห์รุดดิน โมฮัมเมด อิสมาอิล ผู้รับบท ซาลิม วัยเด็ก และ รูเบียนา อาลี ผู้รับบท ลาติกา วัยเด็ก ล้วนเป็นเด็กๆ จากชุมชนแออัด
  • ผู้กำกับ แดนนี บอยล์ หาตัวนักแสดงมารับบท จามาล ในวัย 18 ปี โดยจัดการคัดเลือกนักแสดงในเมืองมุมไบ กัลกัตตา เดลี และเชนไน ของประเทศอินเดีย แต่ผู้เข้ารับการคัดเลือกส่วนใหญ่อายุมากเกินไปและมีรูปร่างที่บึกบึนเกินไป จนกระทั่ง แดนนี ตัดสินใจติดต่อ เดฟ พาเทล มาคัดตัวบทนี้ จากคำแนะนำของลูกสาวของเขา ที่ได้ชมการแสดงของ เดฟ ในละครโทรทัศน์ของอังกฤษเรื่อง Skins
  • นักแสดงในเรื่องส่วนใหญ่มาจากมุมไบ ประเทศอินเดีย แต่ เดฟ พาเทล ที่รับบท จามาล วัย 18 ปี ซึ่งเป็นพระเอกของเรื่อง เป็นนักแสดงจากแฮร์โรว์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของลอนดอน ประเทศอังกฤษ
  • เดฟ พาเทล ผู้รับบท จามาล ในวัย 18 ปี ยอมรับว่าเขารู้สึกประหม่าและกดดันมาก เนื่องจากเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก อีกทั้งยังต้องมารับบทเป็นคนที่เติบโตขึ้นในชุมชนแออัดในอินเดีย ทั้งที่จริงๆ แล้ว เดฟ เติบโตขึ้นที่อังกฤษ
  • เดฟ พาเทล เล่าว่า เขาเข้าไปทดสอบบท จามาล ประมาณ 4-5 ครั้ง วันหนึ่งคุณแม่ของ เดฟ แจ้งข่าวดีกับเขาด้วยน้ำตาคลอเบ้าว่าเขาได้รับเลือกให้แสดงเป็น จามาล แล้ว เดฟ รู้สึกดีใจมากและรีบติดต่อกับผู้กำกับ แดนนี บอยล์ อีกครั้ง เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจ
  • เดฟ พาเทล เล่าว่าตอนที่เขาเข้าไปทดสอบหน้ากล้องเพื่อรับบท จามาล ครั้งแรก เขาได้บทภาพยนตร์มาเพียงแค่ส่วนเดียว นั่นคือฉากที่เขาต้องทะเลาะกับพี่ชาย และยืนยันว่าเขารัก ลาติกา ซึ่งรับบทโดย ฟรีดา ปินโต
  • ผู้กำกับ แดนนี บอยล์ ชอบการแสดงแบบด้นสดในกองถ่าย เขามักกระตุ้นให้นักแสดงลองแสดงซ้ำฉากเดิมในแบบที่แตกต่างกันออกไป
  • เดฟ พาเทล ผู้รับบท จามาล เป็นลูกครึ่งอินเดียก็จริง แต่เขาอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษมาตลอด จึงไม่คุ้นเคยกับประเทศอินเดียนัก แม้ครอบครัวของเขาจะจัดงานเทศกาลแบบอินเดีย รวมถึงดีวาลีในลอนดอน และแม้ เดฟ จะเคยเดินทางไปที่อินเดียเพื่อร่วมงานแต่งงานของคนในครอบครัว ดังนั้นการมาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ในอินเดียจึงนับเป็นประสบการณ์ที่มีค่าของเขา
  • ฉากที่ เดฟ พาเทล ผู้รับบท จามาล วัย 18 ปี ชื่นชอบที่สุดคือฉากที่เขาได้แสดงร่วมกับ เออร์ฟาน ข่าน ผู้รับบทพนักงานสอบสวน และ เซาราบห์ ผู้รับบทเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะเขาเพิ่งชม The Namesake (2006) ภาพยนตร์ที่ เออร์ฟาน แสดงมาได้ไม่นาน และรู้สึกชื่นชอบมาก ส่วน เซาราบห์ ก็มักทำให้ เดฟ หัวเราะในกองถ่ายอยู่เรื่อยๆ
  • เดิมผู้กำกับ แดนนี บอยล์ จะให้ มาธุร์ มิตตาล มารับบท ซาลิม ในช่วงกลาง แต่หลังจากทดสอบหน้ากล้องไปหลายครั้ง แดนนี ก็เปลี่ยนใจให้ มาธุร์ รับบทเป็น ซาลิม วัยผู้ใหญ่ เนื่องจากเขาดูเป็นผู้ใหญ่และหนักแน่นเพียงพอ
  • ผู้สร้างกังวลว่าอุบัติเหตุทางจักรยานยนต์จะทำให้ มาธุร์ มิตตาล ไม่พร้อมที่จะมารับบท ซาลิม วัยผู้ใหญ่ แต่ มาธุร์ กลับบอกว่าการเย็บแผล 12 เข็มทำให้เขาใกล้ชิดกับตัวละครมากขึ้น เพราะ ซาลิม ต้องเป็นคนเข้มแข็งที่ผ่านอะไรมามากมาย
  • ลาติกา ซึ่งรับบทโดย ฟรีดา ปินโต เป็นคนที่ จามาล ซึ่งรับบทโดย เดฟ พาเทล หลงรัก แต่กลับมีฉากที่ ฟรีดา ได้แสดงร่วมกับ เดฟ น้อยมาก
  • เลิฟลีน ทันดัน ผู้กำกับฝ่ายคัดเลือกนักแสดงและผู้กำกับร่วมชาวอินเดีย เป็นผู้ติดต่อตัวแทนของ ฟรีดา ปินโต ให้เธอมาร่วมคัดเลือกนักแสดงสำหรับบทนางเอก ลาติกา ซึ่ง ฟรีดา รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะเธอชอบผู้กำกับ แดนนี บอยล์ จากภาพยนตร์เรื่อง Trainspotting (1996)
  • ฟรีดา ปินโต ใช้เวลาในช่วงทดสอบหน้ากล้องเพื่อรับบท ลาติกา นานถึง 6 เดือน ตอนที่เข้าเดือนที่ 4 เธอเริ่มถอดใจเพราะคิดว่าตัวเองแสดงได้ไม่ดีพอจึงไม่ได้รับบทเสียที และเธอแทบจะร้องไห้โฮหลังจากทดสอบบทครั้งที่ 6 แต่แล้วเธอก็ได้รับบทนี้มาในที่สุด
  • มีฉากหนึ่งที่ ฟรีดา ปินโต ผู้รับบท ลาติกา ต้องกรีดร้องขณะถูกลากเข้าไปในรถ หลังจากถ่ายทำแล้ว มีคนเดินมาหา ฟรีดา แล้วถามว่าเธอต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า เนื่องจากเขาตกใจและคิดว่าเป็นเรื่องจริง
  • มีบางฉากที่ ผู้กำกับ แดนนี บอยล์ เน้นถ่ายบริเวณใบหูด้านหลังของตัวละคร จามาล ในหลายๆ วัย เนื่องจากนักแสดงมีหูกางเหมือนกัน เขาจึงต้องการใช้ลักษณะใบหูนี้ในการทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าตัวละครเป็นคนเดียวกันจริงๆ
  • ทาเนย์ เชดา ที่รับบท จามาล วัย 13 ปีนั้นมีผมหยักศก ขณะที่ เดฟ พาเทล ผู้รับบท จามาล วัย 18 ปี และ อยูสห์ มาเฮสห์ เขเทการ์ ผู้รับบท จามาล วัย 7 ปี ต่างก็มีผมตรง แผนกแต่งหน้าจึงทำให้เส้นผมของ ทาเนย์ ตรงเรียบ โดย ทาเนย์ ต้องทนนั่งอยู่ในรถแต่งตัวนานถึง 1 ชั่วโมง วันหนึ่งตอนที่ ทาเนย์ ยังไม่ได้แปลงโฉม ผู้ช่วยในกองถ่ายคนหนึ่งเข้ามาทักว่าเขาเป็นพี่น้องกับ ทาเนย์ หรือเปล่า
  • รายการ Who Wants To Be A Millionaire หรือ เกมเศรษฐี เป็นองค์ประกอบสำคัญของเรื่องนี้ ตัวรายการจริงๆ เปิดตัวในประเทศอินเดียเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2000 รางวัลสูงสุดในรายการนี้เท่ากับเงิน 20 ล้านรูปี พิธีกรคนแรกของรายการ คือ อมิตาป บาจัน และพิธีกรคนล่าสุด คือ ชาห์ รุกห์ ข่าน
  • อานิล คาปูร์ รู้ว่าจะมีการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อเพื่อนคนหนึ่งส่งข้อความทางโทรศัพท์มาให้ จากนั้นเขาก็ติดต่อกับผู้กำกับ แดนนี บอยล์ ทางอีเมล แต่ อานิล ไม่ได้จริงจังกับงานนี้นัก จนกระทั่งลูกชายและลูกสาวของเขาได้ยินชื่อผู้กำกับและตื่นเต้นกันมาก ลูกชายของ อานิล ได้อ่านบทภาพยนตร์และสนับสนุนให้ อานิล รับบท เพรม คูมาร์ ถึงขนาดขู่ว่าถ้า อานิล ปฏิเสธงานนี้ เขาจะออกจากบ้าน
  • อานิล คาปูร์ คิดว่าตนมีบางอย่างคล้าย เพรม คูมาร์ ตัวละครที่เขารับบท เนื่องจากพวกเขาต่างมาจากชุมชนแออัด และสร้างตัวด้วยการรับงานเล็กๆ ก่อนจะไต่เต้าขึ้นมาเป็นคนดังที่ประสบความสำเร็จ
  • บริษัทรถยนต์ เมอร์ซีเดส-เบนซ์ ขอให้ผู้สร้างนำตรายี่ห้อของ เมอร์ซีเดส-เบนซ์ ออกไปจากฉากในชุมชนแออัด เนื่องจากบริษัทเกรงว่าการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของคนยากจนจะทำให้ภาพลักษณ์ของสินค้าเสียหาย
  • ตามท้องเรื่อง จามาล ในวัยเด็ก ซึ่งรับบทโดย อยูสห์ มาเฮสห์ เขเทการ์ มีลายเซ็นของนักแสดงคนหนึ่ง เจ้าของลายเซ็น คือ อมิตาป บาจัน นักแสดงที่มีอยู่จริงของอินเดีย และเป็นพิธีกรรายการ Who Wants To Be A Millionaire หรือเกมเศรษฐีของอินเดียคนดั้งเดิม อีกทั้งยังเป็นคุณพ่อสามีของนักแสดงสาว ไอศวรรยา ไร ด้วย
  • ในฉากหนึ่งที่บ้าน จาเวด ซึ่งรับบทโดย มาเฮสห์ มันเชรการ์ มีการแข่งขันคริกเก็ตถ่ายทอดทางโทรทัศน์ การแข่งนัดนั้นคือการแข่ง ฟิวเจอร์ คัป วันแรก ระหว่างประเทศอินเดียกับแอฟริกาใต้ ที่ ซิวิล เซอร์วิส คริกเก็ต คลับ ในเขตสตอร์มอนต์ เมืองเบลฟาสต์ ประเทศไอร์แลนด์เหนือ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2007 ผลการแข่งขันประเทศแอฟริกาใต้เป็นฝ่ายชนะ
  • ผู้สร้างใช้กล้องถ่ายภาพยนตร์แบบดิจิตอลรุ่นต้นแบบของ ซิลิคอน อิเมจิง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของ ซิลิคอน อิเมจิง ต้องติดตามกองถ่ายไปยังเมืองมุมไบ ประเทศอินเดียด้วย เพื่อคอยแก้ปัญหามากมายที่เกิดจากระบบของกล้องต้นแบบนี้
  • ฉากไล่ล่าตอนต้นเรื่องที่ จามาล และ ซาลิม กระโดดจากตึกลงมาที่พื้น อ้างอิงจากฉากเปิดเรื่อง Trainspotting (1996) ภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งของผู้กำกับ แดนนี บอยล์ ซึ่งเปิดฉากด้วยตัวละครนำ เรนตัน ที่รับบทโดย ยวน แมกเกรเกอร์ กำลังวิ่งหนีการไล่ล่า
  • ในฉากหนึ่งที่โทรศัพท์ของ ซาลิม ในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งรับบทโดย มาธุร์ มิตตาล ดังขึ้นนั้น เสียงเรียกเข้าของเขาเป็นเพลงหลักที่ใช้ประกอบภาพยนตร์อินเดียเรื่อง Swades: We, the People (2004) ที่แต่งโดย เอ.อาร์. ราห์แมน ซึ่งเป็นผู้แต่งเพลงประกอบให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
  • เดิมผู้สร้างตั้งใจสร้างภาพยนตร์ให้เท่ากับเรต พีจี-13 แต่เมื่อผลการตรวจสอบออกมา พวกเขาได้รับเรตอาร์ เนื่องจากความเข้มข้นของเรื่องราว แต่พวกเขาไม่มีทั้งเวลาและเงินในการยื่นอุทธรณ์ จึงปล่อยภาพยนตร์ออกฉายด้วยเรตอาร์นี้เลย
  • ตัวละครพูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก และมีการพูดภาษาฮินดูประมาณร้อยละ 20 ของทั้งเรื่อง โดยมีคำบรรยายภาษาอังกฤษประกอบ
  • มีฉากหนึ่งที่ตัวละครเอกมุดลงไปในส้วม ซึ่งผู้กำกับ แดนนี บอยล์ เคยถ่ายทำฉากคล้ายกันนี้มาครั้งหนึ่งแล้วในเรื่อง Trainspotting (1996)
  • กองอุจจาระที่ จามาล ในวัยเด็ก ซึ่งรับบทโดย อยูสห์ มาเฮสห์ เขเทการ์ ต้องกระโดดลงไปนั้น ทำจากเนยถั่วผสมกับช็อกโกแลต
  • มีฉากหนึ่งที่โรงภาพยนตร์ใกล้ๆ ที่ที่ จาเวด ซึ่งรับบทโดย มาเฮสห์ มันเชรการ์ พักอาศัยอยู่ กำลังฉายภาพยนตร์เรื่อง Maseeha (2002) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายก่อน Kaante (2002) ภาพยนตร์เปิดตัวการแสดงครั้งแรกของ มาเฮสห์ เพียงสัปดาห์เดียว
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้เกือบได้ออกจำหน่ายในรูปแบบดีวีดีโดยตรง โดยไม่ได้ฉายทางโรงภาพยนตร์
  • เอ.อาร์. ราห์แมน ใช้เวลาเพียง 20 วัน ในการแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งหมด
  • เดิม เอ.อาร์. ราห์แมน แต่งเพลง Jai Ho ร่วมกับผู้เขียนคำร้อง แซมปูรัน ซิงห์ กุลซาร์ เพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง Yuvvraaj (2008) แต่ผู้อำนวยการสร้าง สุภาสห์ ไฆ คิดว่าเพลงดังกล่าวไม่เข้ากับ ซายาด คาห์น นักแสดงของเรื่อง เอ.อาร์. ราห์แมน จึงนำเพลงนี้มาใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้แทน
  • ผู้สร้างต้องนำตราสัญลักษณ์รูปชูนิ้วโป้งพร้อมคำว่า Thumbs Up ซึ่งติดอยู่บนเครื่องดื่มของบริษัท โคคา โคลา ในประเทศอินเดีย ออกไปจากฉากหนึ่งในภาพยนตร์ เนื่องจากบริษัทไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่องนี้
  • เดิมผู้กำกับ แดนนี บอยล์ เลือก รัสลาน มัมตาซ มารับบท จามาล แต่ผู้อำนวยการสร้างเห็นว่า รัสลาน ดูดีเกินกว่าจะมารับบทเป็นเด็กจากย่านชุมชนแออัด หลังจากนั้น เดฟ พาเทล จึงเข้ามารับบทนี้แทน
  • เพลง Darshan Do Ghanshyam ที่ใช้ในฉากที่เกี่ยวข้องกับเด็กขอทานที่ตาบอด แต่งและขับร้องโดย เซอร์ดาส นักร้องตาบอดชาวอินเดียที่โด่งดังในยุคกลาง
  • ลอนจิเนสส์ เฟอร์นานเดส เป็นผู้ออกแบบท่าเต้นในฉากที่มีเพลง Jai Ho แต่ชื่อของเขากลับตกหล่นไปจากรายชื่อผู้สร้างช่วงท้ายภาพยนตร์ ทำให้เขาโกรธและไม่มางานเลี้ยงในวันทดลองฉายภาพยนตร์ ขณะรับรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม ผู้กำกับ แดนนี บอยล์ จึงกล่าวถึงความผิดพลาดนี้ และกล่าวขอบคุณ ลอนจิเนสส์
  • ฉากที่ ซาลิม ในวัยเด็ก ซึ่งรับบทโดย อซาห์รุดดิน โมฮัมเมด อิสมาอิล มีธุระกับคนฉายภาพยนตร์นั้น ในโรงภาพยนตร์กำลังฉายเรื่อง Ram Balram (1980)

advertisement

วันนี้ในอดีต

  • เขาชนไก่เขาชนไก่เข้าฉายปี 2006 แสดง วศิษฎ์ ผ่องโสภา, ทวีรัตน์ จุลศิริ, อภิพล ตรีเทวะวงษา
  • เดอะเลตเตอร์ เขียนเป็นส่งตายเดอะเลตเตอร์ เขียนเป็นส่งตายเข้าฉายปี 2006 แสดง มหาสมุทร บุณยรักษ์, ชลลดา เมฆราตรี, แอนดี้ เขมภิมุก
  • Happy FeetHappy Feetเข้าฉายปี 2006 แสดง Robin Williams, Hugh Jackman, Elijah Wood

เกร็ดภาพยนตร์

  • Still Alice - ตอนที่ได้อ่าน Still Alice ฉบับหนังสือครั้งแรก ริชาร์ด แกลตเซอร์ และ วอช เวสต์มอร์แลนด์ ผู้กำกับทั้งสองคนรู้สึกว่าเรื่องราวของผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับโรคสมองเสื่อมชนิดเกิดเร็วเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เพราะก่อนที่ทั้งคู่จะกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ริชาร์ด ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเอแอลเอส ที่เป็นสาเหตุให้พูดแล้วลิ้นพันกัน ซึ่งเป็นทำให้ทั้งสองคนต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ เหมือนตัวละคร อลิซ ที่แสดงโดย จูเลียนน์ มัวร์ อ่านต่อ»
  • Song One - สก็อตต์ อาเวตต์ จากวง ดิ อาเวตต์ บราเธอร์ส เคยมาทดสอบบท เจมส์ โดย สก็อตต์ เล่าว่า เขาอ่านบทกับ แอนน์ แฮตธาเวย์ ผู้รับบท แฟรนนี ในฉากสะเทือนอารมณ์ และ แอนน์ เริ่มน้ำตาคลอ ตอนนั้นผมรู้สึกว่า โอ้ พระเจ้า เธอทำอย่างนั้นได้อย่างไร และมันก็ชัดเจนเลยว่านี่ไม่ใช่ที่ของผม ซึ่งภายหลังบท เจมส์ นี้ก็ตกเป็นของ จอห์นนี ฟลินน์ อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

777 นะชาลีติ 777 นะชาลีติ เรื่องราวของ ป๊อบ (โชตณภร บวรมหาบุญบารมี) ที่ได้ตั้งจิตอธิฐาน จะมอบพระสีวลี ให้วัดทั่วประเทศไทย หลังจากเสร็จพิธีสมโภช ช...อ่านต่อ»