เกร็ดน่ารู้จาก Madagascar: Escape 2 Africa

เกร็ดน่ารู้
  • คนดังที่มารับหน้าที่พากย์เสียงภาษาไทยให้ตัวละครหลักในภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้แก่ วุธ - อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร พากย์เป็นสิงโต อเล็กซ์, บ๊วย - เชษฐวุฒิ วัชรคุณ พากย์เป็นยีราฟ เมลแมน, บุ๋ม - ปนัดดา วงศ์ผู้ดี พากย์เป็นฮิปโปสาว กลอเรีย, โบ - ธนากร ชินกูล พากย์เป็นม้าลาย มาร์ตี และ กอล์ฟ - ณัฐวุฒิ ศรีหมอก นักร้องฮิปฮอปจาก สิงห์เหนือเสือใต้ พากย์เป็นฮิปโปหนุ่ม โมโตโมโต
  • อันดามัน พิพิธสุขสันต์ ลูกสาววัย 2 ขวบของ บุ๋ม - ปนัดดา วงศ์ผู้ดี พากย์เสียงเป็น กลอเรียในวัยเด็ก ซึ่งพูดได้ทีละ 2 คำ โดยพูดตาม บุ๋ม แล้วใช้เทคนิครวบคำในภายหลัง
  • คณะผู้สร้างเริ่มพูดคุยกันเรื่องการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรก ตั้งแต่ตอนที่พวกเขาอยู่บนเครื่องบิน ขณะเดินทางไปยุโรป เพื่อร่วมงานฉายภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์ของ Madagascar (2005)
  • ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ มิรีลล์ โซเรีย ที่อำนวยการสร้าง Madagascar (2005) ภาคแรก กับ มาร์ก สวิฟต์ ที่เคยร่วมงานอำนวยการสร้างกับ มิรีลล์ มาแล้วในภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับตัวละครเพนกวินจากภาพยนตร์ชุดนี้ เรื่อง The Madagascar Penguins in: A Christmas Caper (2005)
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้มีผู้กำกับ 2 คน คือ อีริก ดาร์เนลล์ และ ทอม แม็กแกร็ธ ซึ่งวิธีการทำงานร่วมกันของทั้งคู่ คือทำงานชิ้นเดียวกันพร้อมๆ กันให้มากที่สุด โดยเฉพาะการตัดต่อ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกันจนได้การตัดสินใจที่รอบคอบที่สุด หากจำเป็นจริงๆ พวกเขาจึงค่อยแยกงานกันทำ
  • ผู้สร้างภาพยนตร์ Madagascar (2005) ภาคแรกหลายคน กลับมาร่วมงานกันในภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้แก่ มือเขียนบทและผู้กำกับ อีริก ดาร์เนลล์ และ ทอม แม็กแกร็ธ, ผู้อำนวยการสร้าง มิรีลล์ โซเรีย, หัวหน้าแผนกตัวละคร เรกซ์ กรินนอน, ที่ปรึกษาด้านแอนิเมเตอร์อาวุโส เดนิส เคาชอน และผู้บริหารแผนกดนตรี ซันนี ปาร์ก เป็นต้น
  • ผู้พากย์เสียงแต่ละคนจะบันทึกเสียงพากย์แบบเดี่ยวๆ ไม่ได้ร่วมพากย์ด้วยกัน จากนั้นแผนกตัดต่อเสียงจะนำเสียงของทุกคนมารวมกันให้กลมกลืนเสมือนกำลังพูดคุยโต้ตอบกันจริงๆ ดังนั้นถึงแม้ผู้พากย์จะมีอิสระในการพูดมุกที่คิดสดๆ ได้ แต่ไม่สามารถพูดมุกที่โยงไปให้ตัวละครอื่นตอบกลับมาได้
  • เนื่องจาก เบน สติลเลอร์ เป็นผู้ให้เสียงสิงโต อเล็กซ์ ผู้สร้างจึงเลือก ควินแลน สติลเลอร์ ลูกชายของ เบน มาพากย์เสียงเป็น อเล็กซ์ตอนเด็ก เช่นเดียวกับที่ จาดา พินเกตต์ สมิธ เป็นผู้พากย์เสียงฮิปโปสาว กลอเรีย หน้าที่ให้เสียง กลอเรียน้อย จึงตกเป็นของ วิลโลว์ สมิธ ลูกสาวของ จาดา นั่นเอง
  • ชื่อของฮิปโปหนุ่ม โมโตโมโต ที่พากย์เสียงโดย วิล.ไอ.แอม. นั้น เป็นภาษาสวาฮิลีแปลว่า ร้อนแรงร้อนแรง
  • แอนดรูว์ ไบอัลก์ ออกแบบตัวละครฮิปโปหนุ่ม โมโตโมโต โดยใช้หุ่นล่ำๆ แบบนักมวยปล้ำในยุค 1950 เป็นต้นแบบ
  • วิล.ไอ.แอม ศิลปินเพลงจากวง แบล็ก อายด์ พีส์ ได้มาพากย์เสียงฮิปโป โมโตโมโต เพราะ จัสติน ทิมเบอร์เลก ที่เคยพากย์เสียงเป็น อาร์ตี ใน Shrek the Third (2007) เคยแนะนำผู้บริหารของดรีมเวิร์คส เจฟฟรีย์ แคตเซนเบิร์ก ว่า วิล เป็นคนใช้เสียงได้ดี ซึ่ง จัสติน รู้ได้จากการผลัดกันเล่นบันทึกเสียงแปลกๆ ผ่านทางเครื่องฝากข้อความทางโทรศัพท์
  • เพลงที่เหล่าสัตว์ป่าร้องและบรรเลงเมื่อ โมโตโมโต ซึ่งพากย์เสียงโดย วิล.ไอ.แอม ได้พบ กลอเรีย ซึ่งพากย์เสียงโดย จาดา พินเกตต์ สมิธ เป็นครั้งแรก เป็นเพลงที่ วิล ร่วมแต่งกับ ฮานส์ ซิมเมอร์ โดยใช้เครื่องตีและเคาะแบบท้องถิ่น เพลงสวดแบบแอฟริกัน การร้องประสานเสียง และเสียงกีตาร์แนวโฟล์ก นอกจากนี้ วิล ยังแต่งเนื้อร้องเอง และใช้เวลาประมาณ 30 นาทีบันทึกเสียง โดยแยกเสียงออกเป็นส่วนๆ ทั้งเสียงจังหวะ เสียงถอนหายใจ และเสียงร้อง
  • วิล.ไอ.แอม แต่งเนื้อเพลงประกอบภาพยนตร์ The Traveling Song หลังจากได้ฟังดนตรีที่แต่งโดย ฮานส์ ซิมเมอร์ โดยเขียนมุมมองเรื่องการเดินทางของตัวละครที่ไม่รู้ว่าบ้านที่แท้จริงของตนคือที่ไหนลงไป โดยอิงจากตัวเขาเองที่เติบโตมาในครอบครัวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในย่านแคลิฟอร์เนียใต้ และต้องนั่งรถนาน 1 ชั่วโมงไปโรงเรียนที่มีแต่คนผิวขาวในย่านแปซิฟิก พาลิเซดส์
  • ดรีมเวิร์กส์ใช้เทคโนโลยีของบริษัทเอชพีที่เรียกว่า เวอร์ชัวล์ สตูดิโอ คอลลาบอเรชัน หรือวีเอสซี ซึ่งใช้จอภาพวิดีโอวอลล์ขนาด 30 ตารางฟุต เชื่อมโยงการทำงานระหว่างสำนักงาน 2 แห่ง คือที่เกลนเดล ในแคลิฟอร์เนียทางใต้ กับที่พีดีไอ ในเรดวูด ซิตี แคลิฟอร์เนียทางเหนือ ทำให้ผู้ร่วมงานทั้ง 2 ฝ่ายรู้สึกเสมือนนั่งอยู่ในห้องประชุมเดียวกัน
  • ที่ปรึกษาฝ่ายวิชวลเอฟเฟกต์ ฟิลิปปี กลักก์แมน เล่าถึงการสร้างภาพทุ่งหญ้าว่า คอมพิวเตอร์จะต้องสร้างภาพหญ้าที่สูงประมาณ 3 ฟุตขึ้นมานับพันล้านใบ และงานส่วนที่ยากที่สุดคือ หญ้าที่สัมผัสกับตัวละครนั้นจะต้องมีปฏิกิริยาตอบรับที่เหมาะสม ในเวลาเดียวกัน ต้นหญ้าจะต้องเคลื่อนไหวตามแรงลมอีกด้วย
  • ผู้สร้างทำให้ มาร์ตี ม้าลายตัวเอกที่พากย์เสียงโดย คริส ร็อก โดดเด่นออกมาจากฝูงม้าลาย ด้วยการให้มาร์ตีอยู่ในจุดที่มีแสงมากกว่า หรือทำให้ตัวหม่นกว่าม้าลายตัวอื่นด้วยฝุ่นหรือดิน หรือทำให้ม้าลายตัวอื่นๆ ดูมัวขึ้น
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาสร้างทั้งหมดประมาณ 3 ปีครึ่ง คือตั้งแต่ฤดูร้อน ปี 2005 ถึงฤดูใบไม้ร่วงปี 2008 นับรวมได้ 30 ล้านชั่วโมง เทียบกับภาคที่แล้วนั้น ใช้เวลาไปน้อยกว่าครึ่ง นั่นคือ 12 ล้านชั่วโมง ทั้งนี้เป็นเพราะแค่เฟรมภาพเฟรมเดียวจากภาพยนตร์เรื่องนี้ อาจใช้เวลาในการส่งภาพนานถึง 12 ชั่วโมง
  • ผู้สร้างใส่เทคนิคพิเศษลงไปในฉากเครื่องบินตกถึง 15-30 อย่าง พวกเขาจึงต้องใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์สร้างช็อตๆ เดียว ซึ่งเมื่อนำมาฉาย อาจกินเวลานานแค่ 2 วินาทีเท่านั้น
  • เมื่อรวมการทำงานของผู้สร้างทุกคนรวมทั้งนักแสดงผู้ให้เสียงพากย์ มีคนกว่า 494 ชีวิตที่ต้องใช้เวลารวมกันทั้งสิ้น 21,417 สัปดาห์เพื่อสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ นั่นหมายถึงการทำงานของทุกคนรวมกันกินเวลาทั้งสิ้น 107,085 วันหรือ 856,680 ชั่วโมง
  • ผู้ร่วมงานในแผนกแอนิเมชันของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นแอนิเมเตอร์จากหลายประเทศทั่วโลก ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล จีน ฝรั่งเศส อินเดีย อิสราเอล ญี่ปุ่น เลบานอน โมรอกโค ปารากวัย เปอร์โตริโก รัสเซีย เกาหลีใต้ สเปน ไต้หวัน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
  • แอนิเมเตอร์หลายคนของดรีมเวิร์คส ให้เสียงพากย์เป็นตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้แก่ ผู้กำกับ ทอม แม็กแกร็ธ พากย์เป็นหัวหน้าเพนกวิน สกิปเปอร์, คอนราด เวอร์นอน ผู้กำกับ Monsters vs. Aliens (2009) พากย์เป็นลิงชิมแปนซี เมสัน, คริส มิลเลอร์ ผู้กำกับ Shrek the Third (2007) พากย์เป็นเพนกวิน โควอลสกี และผู้ลำดับภาพร่วม คริส ไนต์ส พากย์เป็นเพนกวิน ไพรเวต
  • กลุ่มตัวละครเพนกวินในเรื่องนี้ ถือกำเนิดจากภาพยนตร์ Rockumentary ที่ผู้กำกับ อีริก ดาร์เนลล์ พัฒนางานสร้างเอาไว้ เป็นภาพยนตร์ที่ว่าด้วยของวงร็อกที่มีสมาชิก 4 นายคล้าย เดอะ บีเทิลส์ แต่อีริกพักโครงการไว้ แล้วมากำกับ Madagascar (2005) ภาคแรก เขาจึงใส่กลุ่มเพนกวินลงไปในภาพยนตร์ชุดนี้ โดยเปลี่ยนจากนักดนตรีมาเป็นหน่วยคอมมานโด
  • ผู้สร้างออกแบบตัวละครทั้งสัตว์และคนไว้ทั้งหมด19 สายพันธุ์ 4,635 ตัว และเมื่อนำมาใช้แล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้มีสัตว์ทั้งสิ้น 231,573 ตัว ส่วนฉากฝูงสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดนั้นประกอบไปด้วยสัตว์ 7,183 ตัว
  • ต้นบาวแบบ ต้นไม้พื้นเมืองของเอธิโอเปียที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การสร้างคอมพิวเตอร์กราฟฟิก แผนกสเปเชียลเอฟเฟกต์ตั้งชื่อเล่นให้มันว่า โวลทรอน
  • ปานประจำตระกูลของสิงโต อเล็กซ์ ซึ่งพากย์เสียงโดย เบน สติลเลอร์ นั้น มีรูปทรงเหมือนทวีปแอฟริกา รวมถึงเกาะมาดากัสการ์ด้วย
  • เป็นผลงานการพากย์แอนิเมชันเรื่องสุดท้ายของ เบอร์นี แมก ผู้พากย์เสียง ซูบา เนื่องจากเขาเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2008 คณะผู้สร้างจึงอุทิศภาพยนตร์เรื่องนี้ให้แก่เขา
  • หลายเดือนก่อนหน้าที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะออกฉาย บริษัทผู้สร้างยืนยันว่าจะสร้าง Madagascar 3 (2012) ต่อจากภาคนี้
  • คำแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยที่เพนกวินบนเครื่องบินกล่าวกับผู้โดยสาร เป็นคำแนะนำเดียวกับที่ตัวละครหนูบอกกับพวกไก่ในภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Chicken Run (2000)

advertisement

วันนี้ในอดีต

  • ความสุขของกะทิความสุขของกะทิเข้าฉายปี 2009 แสดง ภัสสร คงมีสุข, สะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์, จารุวรรณ ปัญโญภาส
  • QuarantineQuarantineเข้าฉายปี 2009 แสดง Jennifer Carpenter, Steve Harris, Jay Hernandez
  • Bal GaneshBal Ganeshเข้าฉายปี 2009 แสดง Asha Bhonsale, Kailash Kher, Usha Mangeshkar

เกร็ดภาพยนตร์

  • Still Alice - ตอนที่ได้อ่าน Still Alice ฉบับหนังสือครั้งแรก ริชาร์ด แกลตเซอร์ และ วอช เวสต์มอร์แลนด์ ผู้กำกับทั้งสองคนรู้สึกว่าเรื่องราวของผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับโรคสมองเสื่อมชนิดเกิดเร็วเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เพราะก่อนที่ทั้งคู่จะกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ริชาร์ด ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเอแอลเอส ที่เป็นสาเหตุให้พูดแล้วลิ้นพันกัน ซึ่งเป็นทำให้ทั้งสองคนต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ เหมือนตัวละคร อลิซ ที่แสดงโดย จูเลียนน์ มัวร์ อ่านต่อ»
  • Song One - สก็อตต์ อาเวตต์ จากวง ดิ อาเวตต์ บราเธอร์ส เคยมาทดสอบบท เจมส์ โดย สก็อตต์ เล่าว่า เขาอ่านบทกับ แอนน์ แฮตธาเวย์ ผู้รับบท แฟรนนี ในฉากสะเทือนอารมณ์ และ แอนน์ เริ่มน้ำตาคลอ ตอนนั้นผมรู้สึกว่า โอ้ พระเจ้า เธอทำอย่างนั้นได้อย่างไร และมันก็ชัดเจนเลยว่านี่ไม่ใช่ที่ของผม ซึ่งภายหลังบท เจมส์ นี้ก็ตกเป็นของ จอห์นนี ฟลินน์ อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

Mulan Mulan เมื่อองค์จักรพรรดิ์แห่งประเทศจีนออกพระราชโองการว่าบุรุษหนึ่งคนต่อหนึ่งครอบครัวจะต้องเข้าร่วมกองทัพเพื่อป้องกันประเทศจาก...อ่านต่อ»