เกร็ดน่ารู้จาก ปืนใหญ่จอมสลัด
เกร็ดน่ารู้
- ผู้กำกับ อุ๋ย - นนทรีย์ นิมิบุตร สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ในโอกาสที่เขาทำงานในวงการภาพยนตร์มาครบ 10 ปี คือตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา
- ใช้ทุนสร้างกว่า 200 ล้านบาท ด้วยฝีมือของทีมงานเกือบพันชีวิต
- ผลงานการเขียนบทภาพยนตร์ครั้งแรกของนักเขียน 2 รางวัลซีไรต์ วินทร์ เลียววาริณ
- ผู้กำกับ อุ๋ย - นนทรีย์ นิมิบุตร เลือก วินทร์ เรียววาริณ มาเขียนบทเรื่องนี้ เนื่องจากชื่นชอบหนังสือของ วินทร์ มานานแล้ว และคิดว่า วินทร์ เหมาะกับงานเขียนที่ต้องนำข้อมูลประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์ อีกทั้ง วินทร์ เคยศึกษาด้านภาพยนตร์มาก่อนด้วย ซึ่ง วินทร์ ใช้เวลาเขียนบทภาพยนตร์เรื่องแรกของเขานี้ 1 ปีเต็ม
- เลื่อนวันเข้าฉายจากวันที่ 12 สิงหาคม 2551 เป็นวันที่ 9 ตุลาคม 2551 เพื่อวันเข้าฉายเดิมเป็นช่วงเวลาฉายที่ใกล้เคียงกับฉายภาพยนตร์เรื่อง หนึ่งใจเดียวกัน ที่ทาง ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงตั้งใจสร้าง
- การกลับมาแสดงภาพยนตร์อีกครั้งของ เอก โอรี นับจากเรื่องล่าสุด เยาวราช ในปี พ.ศ. 2546
- ถ่ายทำที่ทะเลหลายแห่งในเมืองไทย ถ่ายฉากหมู่บ้านชาวเลที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ถ่ายฉากสงครามบนกำแพงวังที่บ้านฉาง จังหวัดระยอง ถ่ายทำฉากถ้ำบนเกาะอีกาดำในถ้ำสระยวนทอง จังหวัดกระบี่ และถ้ำลูกเสือ จังหวัดพังงา นอกจากนี้ยังต้องสร้างฉากภายในพระราชวังลังกาสุกะ และเรือหลายรูปแบบที่สามารถใช้ได้จริง
- ฉากที่ใช้เวลาถ่ายทำนานที่สุด คือฉากกำแพงวังลังกาสุกะ
- ฉากถ้ำอีกาดำถ่ายทำฉากภายในที่ถ้ำลูกเสือ จ.พังงา และถ่ายทำฉากภายนอกที่ถ้ำสระยวนทอง จ.กระบี่ โดยใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือนในการจัดฉากทั้งหมด
- เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์แฟนตาซี ที่ดัดแปลงมาจากตำนานการเสียสละเพื่อแผ่นดินของราชินี 3 พระองค์แห่งลังกาสุกะ พร้อมทั้งสะท้อนวิถีชีวิตของชนเผ่าชาวเลและโจรสลัด
- แผนกฉากสร้างกระโจมที่พักที่สามารถใช้อยู่ได้จริงขึ้นที่บ้านฉาง จ.ระยอง เพื่อใช้เป็นฉากที่ เจ้าชายปาหัง ซึ่งรับบทโดย ติ๊ก - เจษฎาภรณ์ ผลดี ถูกโจรสลัดพยายามลอบสังหาร
- วิชาดูหลำซึ่งมีอยู่จริงนั้น เป็นวิชาหาปลาของชาวเล แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นวิชาที่ใช้ต่อสู้และควบคุมจิตใจของตน เมื่อฝึกได้ 3 ขั้นแรกจะสามารถฟังเสียงปลาได้ จนหยั่งรู้อากาศและกระแสน้ำ 3 ขั้นที่ 2 จะทำให้ควบคุมปลาได้ 3 ขั้นสุดท้ายที่ผู้ฝึกจะต้องละกิเลสทุกอย่างจนจิตใจว่างเปล่า จะทำให้หายใจใต้น้ำได้อย่างปลา
- ผู้กำกับ อุ๋ย - นนทรีย์ นิมิบุตร อธิบายแนวคิดหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า มนุษย์เราทุกคน ตั้งแต่ราชินีจนถึงคนธรรมดา ล้วนมีทั้งด้านดำและด้านขาวปนกันอยู่ในตัว ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกหยิบด้านไหนของชีวิตมาใช้ สัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงแนวคิดนี้ในเรื่อง คือปลากระเบนราหู ที่ด้านบนเป็นสีดำด้านล่างเป็นสีขาว
- แผนกออกแบบเครื่องแต่งกายส่งคณะวิจัย 6 คน กระจายกันไปหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากแหล่งต่างๆ เป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นนำแบบที่หามาได้มาแก้ไขปรับปรุงอีกเป็นเวลา 6 เดือน แล้วก็ออกแบบเพิ่มเติมจากลักษณะของตัวละคร รวมเวลาออกแบบทั้งหมดประมาณ 1 ปี และลงมือตัดเย็บอีก 1 ปี
- ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย น้ำผึ้ง โมจนกุล และ ชาติชาย ไชยยนต์ แบ่งเครื่องแต่งกายสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ พวกลังกาสุกะ มีเสื้อผ้าหรูหราแบบชาวเมืองและชาววัง พวกโจรสลัด มีเสื้อคล้ายเกราะที่เย็บจากหนังปลาต่างๆ และพวกชาวเล นุ่งผ้าเตี่ยวที่ลงทะเลได้สะดวก ไม่ใส่เสื้อ
- เรื่องนี้เป็นการแสดงภาพยนตร์ครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีของ เปิ้ล - จารุณี สุขสวัสดิ์
- อุ๋ย - นนทรีย์ นิมิบุตร เลือก เปิ้ล - จารุณี สุขสวัสดิ์ มารับบท ราชินีฮีเจา เพราะคิดว่าคนที่เป็นราชินีในคาบสมุทรมลายูในช่วงนั้นน่าจะดูไม่เหมือนคนไทยแท้ แต่เป็นลูกครึ่งนิดๆ ส่วน แจ๊คกี้ - แจ็คเกอลิน อภิธนานนท์ และ แอนนา รีส ได้มารับบท เจ้าหญิงบิรู และ เจ้าหญิงอูงู ตามลำดับ เนื่องจากหน้าตาคล้าย เปิ้ล จึงเหมาะจะแสดงเป็นพี่น้องกัน
- ผู้กำกับ อุ๋ย - นนทรีย์ นิมิบุตร แบ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ออกเป็นส่วนต่อสู้และส่วนแฟนตาซี นักแสดงที่เป็นตัวนำในบทต่อสู้ คือ เดี่ยว - ชูพงษ์ ช่างปรุง ที่รับบท ยะรัง ผู้มีรูปแบบการต่อสู้แบบคาบสมุทรมลายู ส่วนนักแสดงตัวนำของบรรยากาศแฟนตาซี คือ อนันดา เอเวอริงแฮม ในบท ปารี เนื่องจากรูปลักษณ์ หุ่น และหน้าตาดูคมแปลก ต่างจากคนไทยทั่วไป
- เทคนิคพิเศษด้านภาพกว่า 1,000 ช็อต ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นฝีมือของบริษัทผู้สร้างงานคอมพิวเตอร์กราฟฟิก บลูแฟรี่ ซึ่งเคยฝากผลงานไว้ในภาพยนตร์เรื่อง ปักษาวายุ (2004)
- ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ ผู้แต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ใช้เครื่องดนตรีมลายูผสมผสานในงานของเขาด้วย เช่น กำมะลันของอินโดนีเซีย เครื่องเคาะของมาเลเซีย เครื่องปี่ของภาคใต้ของไทย ดังที่จะได้ยินในเพลง อภินิหาร ธีมของตัวละคร ปารี ซึ่งรับบทโดย อนันดา เอเวอริงแฮม นอกจากนี้ยังมีเพลงประสานเสียงภาษาบาฮาซาร์ ซึ่งเป็นภาษาใหม่ที่เพิ่งสร้างขึ้นโดยไม่ได้กำหนดความหมาย ในเพลงปลุกใจที่ชื่อ ลังกาสุกะธีม
- แม้ผู้ออกแบบงานสร้าง เอก เอี่ยมชื่น จะค้นคว้าข้อมูลที่มีอยู่จริง เช่น สถาปัตยกรรมของมลายู มาอ้างอิงในการออกแบบต่างๆ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มุ่งเน้นความถูกต้องตามประวัติศาสตร์อย่างสมบูรณ์ แต่นำของจริงมาปรับให้ดูหวือหวาขึ้น ตามรูปแบบของภาพยนตร์แนวแฟนตาซี เช่น ช่องลมภายในพระราชวังที่เป็นทรงกลมซึ่งซ้อนอยู่ในสี่เหลี่ยมอีกทีนั้น ไม่ได้มีอยู่จริงตามประวัติศาสตร์
- ทุกวันที่ เอก - สรพงษ์ ชาตรี ผู้รับบท กระเบนขาว ต้องเข้ากล้อง เขาจะต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อมาเตรียมแต่งหน้าแต่งตัว โดยเอาโฟมมาแต่งหน้าให้มีโหนกนูน และมีหน้าผาก ติดหนวดเครา และทำให้ร่างกายดูมีกล้ามเนื้อ จากนั้นก็สวมเครื่องแต่งกาย และลงสีผิวตัว กระบวนทั้งหมดนี้จะเสร็จสิ้นประมาณหลังเที่ยง
- เอก - สรพงษ์ ชาตรี เล่าว่าการติดหนวดเครา เพื่อรับบทเป็น กระเบนขาว นั้น ทำให้คันและอ้าปากไม่เต็มที่ จนกินข้าวไม่สะดวก ส่วนเสื้อผ้าที่สวมเข้าฉากก็ทำให้ลำบากเช่นกัน เพราะต้องให้คนช่วยใส่ช่วยถอด แต่งเองไม่ได้ แม้กระทั่งตอนที่จะเข้าห้องน้ำ
- เอก - สรพงษ์ ชาตรี ต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนรับบท กระเบนขาว โดยเขาต้องลดน้ำหนักจาก 75-76 กิโลกรัม เหลือ 71 กิโลกรัม
- เอก - สรพงษ์ ชาตรี เล่าว่าฉากที่แสดงยากสำหรับเขาคือ ฉากที่ถ่ายในสระ เพราะต้องดำน้ำด้วยท่าทางชำนาญโดยไม่มีเครื่องช่วยหายใจ แล้วยังต้องลืมตาในน้ำ เพื่อมองหาเครื่องหมายที่ทีมงานทำไว้ใช้กำกับการแสดง อีกทั้งยังต้องแต่งตัวแต่งหน้ามาก ซึ่งทำให้การแสดงยากขึ้นไปอีก
- นักแสดงทุกคนที่ต้องเข้าฉากใต้น้ำ มีเวลาเรียนดำน้ำ 2 สัปดาห์ก่อนถ่ายทำ
advertisement
วันนี้ในอดีต
เด็กหอเข้าฉายปี 2006 แสดง จินตหรา สุขพัฒน์, ชาลี ไตรรัตน์, ศิรชัช เจียรถาวร
Constantineเข้าฉายปี 2005 แสดง Keanu Reeves, Rachel Weisz, Shia LaBeouf
Million Dollar Babyเข้าฉายปี 2005 แสดง Clint Eastwood, Hilary Swank, Morgan Freeman