เกร็ดน่ารู้จาก Good Morning Luang Prabang

เกร็ดน่ารู้
  • ก่อนหน้านี้ ประเทศลาวผลิตภาพยนตร์เกิน 10 เรื่องในแต่ละปี โรงภาพยนตร์ในเมืองต่างๆ มีการฉายภาพยนตร์ของลาว ของไทย รวมทั้งประเทศอื่น กระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2518 การผลิตภาพยนตร์ก็หยุดไป เมื่อลาวเปิดประเทศอีกครั้งในปี พ.ศ.2535 อุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็ยังไม่ฟื้น เพราะเครื่องมือในการผลิตยังไม่พร้อม ตลาดภายในประเทศยังเล็กจนไม่มีผู้ลงทุน จึงมีเพียงภาพยนตร์ที่รัฐบาลสร้างเพียง 3 เรื่อง ได้แก่ เสียงเพลงจากทุ่งไหหิน (1983) บัวแดง (1988) และภาพยนตร์จากทุนเวียดนามเรื่อง ขรัวพญาช้าง
  • สะบายดี หลวงพะบาง เป็นผลงานทุนสร้างจากเอกชน เรื่องแรกในรอบ 35 ปี สำหรับประเทศลาว
  • ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้มี 2 คน คือ โป๋ย - ศักดิ์ชาย ดีนาน คนจังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้สร้างภาพยนตร์อิสระ และเคยทำงานกับอาร์เอสฟิล์มหลายเรื่อง ร่วมกับ อนุสอน สิริสักดา ผู้กำกับชาวลาว ที่เรียนจบด้านภาพยนตร์จากเมืองเคียฟ ประเทศยูเครน เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท ลาว อาร์ต มีเดีย
  • อนันดา เอเวอริงแฮม ผู้รับบท สอน มีชื่อจริงว่า อนันดา แม็ตธิว เอเวอร์ริ่งแฮม และมีชื่อเล่นว่า บักจ่อย เนื่องจากเขาเป็นลูกครึ่ง คุณพ่อเป็นชาวออสเตรเลีย คุณแม่เป็นชาวลาว
  • ผู้กำกับ โป๋ย - ศักดิ์ชาย ดีนาน เกิดแรงบันดาลใจในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ขณะไปเที่ยวที่ปากเซ ประเทศลาว ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากสุรินทร์ บ้านเกิดของเขา ผู้กำกับรู้สึกประทับใจภูมิประเทศ ธรรมชาติ และผู้คน เขาจึงเขียนเรื่อง ชายหนุ่มจากเมืองใหญ่ที่เข้าไปยังบ้านเมืองแห่งหนึ่งที่เงียบสงบ แล้วก็พบจุดเปลี่ยนทางความคิด
  • โป๋ย - ศักดิ์ชาย ดีนาน เขียนบทโดยฟังเพลง ฮักกันแต่ชาติก่อน ของ ต่าย - อรทัย ดาบคำ ไปด้วย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ รวมทั้งมีภาพถ่ายของผู้หญิงลาวที่ตัวเองประทับใจ ซึ่งเขาอยากจะนำมาดัดแปลงเป็นนางเอกของเรื่อง
  • เมื่อ โป๋ย - ศักดิ์ชาย ดีนาน เขียนบทจบแล้ว ก็เข้าไปที่เมืองเวียงจันทร์ เพื่อคุยกับผู้กำกับ อนุสอน สิริสักดา ที่เป็นประธานของบริษัท ลาว อาร์ต มีเดีย และเคยเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมมาก่อน อีกทั้งยังเคยเรียนด้านภาพยนตร์มาด้วย อนุสอน เป็นผู้ปรับปรุงบท โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับทัศนคติต่างๆ จากนั้นก็ส่งบทไปที่กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ ประมาณ 1 เดือนกระทรวงก็ตอบอนุญาตให้ถ่ายทำ และระบุรายละเอียดข้อตกลงเล็กๆ น้อยๆ ทีมงานจึงเริ่มทำงานเตรียมเปิดกล้อง
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำที่ 3 เมืองสำคัญของลาว ผู้กำกับ โป๋ย - ศักดิ์ชาย ดีนาน ให้เหตุผลว่า ปากเซเป็นเมืองหลักของภาคใต้ของลาว และเป็นเมืองธรรมชาติที่นักท่องเที่ยวและช่างภาพชื่นชอบ ส่วน เวียงจันทร์ เป็นเมืองหลักของภาคกลาง และหลวงพะบางที่อยู่ภาคเหนือ เป็นเมืองเก่าๆ ที่เป็นมรดกโลก
  • ในเรื่อง พระเอก หรือ อนันดา เอเวอริงแฮม พยายามจะเดินทางจากเมืองปากเซเพื่อไปบ้านญาติ โดยให้นางเอกที่เป็นมัคคุเทศก์ หรือ คำลี่ พิลาวง พาไป ซึ่งการเดินทางก็ลำบากอยู่บ้าง เช่น จากเวียงจันทร์ไปหลวงพะบาง ต้องขึ้นเขา 200 กิโลเมตร ระยะทางประมาณแม่ฮ่องสอนไปเชียงใหม่ ถือว่าลำบากสำหรับการขนอุปกรณ์กล้องและไฟ แต่ทุกคนยึดเหตุผลเดียวกับภาพยนตร์ โร้ด มูฟวี่ ทั่วไป คือถ้าไม่ไปให้สุดเมืองที่เขาเล่าลือกัน ก็คงน่าเสียดาย
  • การทำงานในกองถ่าย สะบายดี หลวงพะบาง ไม่ค่อยมีอุปสรรคอะไรนัก นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายที่มีจำกัด ขณะที่ค่าอาหาร ค่าที่พักต่างๆ ในลาวนั้นแพงกว่าในไทยค่อนข้างมาก ทำให้ทีมงานมีโอกาสได้พักผ่อนสบายๆ ค่อนข้างน้อย เช่น ที่ปากเซ ทีมงานเดินทางไปถึงวันที่ 24 และถ่ายทำวันที่ 25-30 โดยไม่ได้พักเลย น้ำมันรถแพงกว่าในไทยลิตรละ 8 บาท ก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 บาท
  • สะบายดี หลวงพะบาง ใช้เวลาถ่ายทำ 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเข้าไปถ่ายเวียงจันทร์ ถัดมา เดือนธันวาคมเข้าไปถ่ายปากเซ และลงท้ายที่เดือนมกราคม ไปถ่ายที่หลวงพะบาง เมื่อยกกองถ่ายเข้าไปแต่ละที่แล้วก็จะแวะกลับมาเมืองไทย ไม่ได้ถ่ายทำรวดเดียวจบ เพราะต้องจัดเวลานักแสดง นับรวมวันถ่ายทั้งหมดได้ 13 วัน สำหรับผู้กำกับ โป๋ย - ศักดิ์ชาย ดีนาน ถือว่าไม่น้อย เพราะพวกเขาใช้วิธีเดินทางไปพร้อมกับตัวละครในเรื่อง ต้องเตรียมตัวก่อนถ่ายเยอะ ประกอบกับมีตัวละครน้อย เลยทำให้ถ่ายได้เร็ว
  • ผู้กำกับ โป๋ย - ศักดิ์ชาย ดีนาน กังวลในช่วงแรกว่า คำลี่ พิลาวง จะรับบท น้อย ได้ดีหรือไม่ เพราะครั้งนี้เป็นการแสดงภาพยนตร์ครั้งแรกของเธอ ก่อนหน้านี้เธอเคยประกวดและชนะเลิศมิสลักซ์ และมีงานเดินแบบ และถ่ายแบบตามนิตยสาร แต่พอถ่ายทำผ่านไปสัก 1-2 วัน ผู้กำกับก็มั่นใจขึ้น ในฉากยากๆ ที่ คำลี่ ต้องน้อยใจแล้วร้องไห้ ก็สามารถเล่นได้เพียงแค่เทกเดียวก็ผ่าน
  • ผู้กำกับ โป๋ย - ศักดิ์ชาย ดีนาน โทรติดต่อหา อนันดา เอเวอริงแฮม โดยที่ยังไม่แน่ใจว่าจะทำ สะบายดี หลวงพะบาง เป็นภาพยนตร์แผ่นหรือฉายโรง ตอนแรก อนันดา คิดว่าอาจจะไม่เล่นเพราะเป็นภาพยนตร์เล็กๆ แต่ อนันดา ประทับใจที่ โป๋ย อยากทำภาพยนตร์เรื่องนี้จริงๆ ในฐานะงานส่วนตัว โดยไม่ได้ใส่ใจเรื่องรายได้มากนัก นอกจากนี้ อนันดา ยังรับแสดงเพราะภาพยนตร์เกี่ยวข้องกับบ้านเกิดของแม่ และเหตุผลส่วนตัวอื่นๆ
  • นอกจากแสดงบทนำเป็น สอน แล้ว อนันดา เอเวอริงแฮม ยังรั้งตำแหน่งผู้ร่วมอำนวยการสร้างด้วย เขาเคยทำหน้าที่นี้มาใน ดึกแล้วคุณขา (2007) งานกำกับของ สันติ แต้พานิช เหตุผลที่ อนันดา รับตำแหน่งอำนายการสร้างให้ สะบายดี หลวงพะบาง เพราะเขาอยากช่วยผลักดันให้ภาพยนตร์ออกไปตามงานเทศกาลหรือตลาดต่างประเทศ เพื่อเปิดตลาดการลงทุนสร้างภาพยนตร์ในประเทศลาว
  • นักแสดงลาวทั้งหมดล้วนแต่เป็นมือสมัครเล่น ไม่เคยผ่านการแสดงมาก่อน ทำให้ อนันดา เอเวอริงแฮม ผู้รับบท สอน รู้สึกประทับใจที่ได้เห็นการแสดงที่จริงใจ ที่เล่นไปตามบทที่เขียนไว้ โดยไม่ได้ใส่ใจว่ากล้องจะเคลื่อนอย่างไร ไม่ว่าจะถ่ายมุมแคบหรือกว้าง ก็แสดงอย่างเต็มที่เท่ากันหมด
  • อนุสอน สิริสักดา ผู้กำกับร่วม และผู้อำนวยการสร้าง อธิบายว่า คำว่า สบายดี เป็นคำง่ายๆ ที่ใช้แทนความเป็นคนลาวได้ดีที่สุด ส่วนเมืองหลวงพะบางก็เป็นเมืองมรดกโลกที่ใครๆ ต่างรู้จักเป็นอย่างดี ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงมีชื่อว่า สะบายดี หลวงพะบาง
  • คำลี่ พิลาวง ทราบข่าวการคัดเลือกนักแสดงบท น้อย นางเอกที่คล่องตัวในการทำงานมัคคุเทศก์ เธอจึงลองเข้ามาทดสอบบท เพราะสนใจศิลปะการแสดงออกเป็นทุนเดิม เคล็ดลับของเธอคือดื่มน้ำเยอะๆ ทำให้ความตื่นเต้นลดลงไป และในที่สุดเธอก็ได้รับเลือก
  • คำลี่ พิลาวง ผู้รับบท น้อย นางเอกของเรื่อง ฝึกซ้อมบทโดยแสดงให้ที่บ้าน ให้ครอบครัวเธอดู หรือไม่ก็ซ้อมกับกระจก ว่าพูดแล้วดูเป็นอย่างไร แสดงท่าทางออกมาแล้วเป็นอย่างไร นอกจากนี้เธอยังไปศึกษาจากมัคคุเทศก์จริงๆ ว่าเขาทำงานอย่างไร คำลี่ ชอบท่องเที่ยวอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากอะไรที่จะเอาประสบการณ์จริงในชีวิตมาดัดแปลง
  • ฉากที่ คำลี่ พิลาวง ผู้รับบท น้อย คิดว่ายากที่สุดคือฉากฝนตกที่เมืองปากเซ เพราะในฉากนั้นเป็นฉากเศร้าที่เธอจะต้องทำอารมณ์เยอะ ในขณะที่มีคนมาดูการถ่ายทำมากพอสมควร

advertisement

วันนี้ในอดีต

  • Quantum of SolaceQuantum of Solaceเข้าฉายปี 2008 แสดง Daniel Craig, Olga Kurylenko, Mathieu Amalric
  • The Matrix RevolutionsThe Matrix Revolutionsเข้าฉายปี 2003 แสดง Keanu Reeves, Carrie-Anne Moss, Laurence Fishburne
  • สวย ซามูไรสวย ซามูไรเข้าฉายปี 2009 แสดง โสภิตา ศรีบาลชื่น, แจ็คเกอลิน อภิธนานนท์, เกศริน เอกธวัชกุล

เกร็ดภาพยนตร์

  • The Theory of Everything - สตีเฟน ฮอว์คิง พูดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องจริง จึงอนุญาตให้ใช้เสียงของเขาในตอนจบ และให้ยืมเหรียญแห่งอิสรภาพ กับวิทยานิพนธ์ที่ลงชื่อ สตีเฟน ฮอว์คิง ไปใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบฉากด้วย อ่านต่อ»
  • Jupiter Ascending - แชนนิง เททัม ต้องสวมอุปกรณ์บริเวณปากที่ทำให้ลักษณะของขากรรไกรของเขาเปลี่ยนไป เพื่อรับบท เคน อุปกรณ์ชิ้นนั้นทำให้ แชนนิง หุบปากไม่ได้ แถมยังทำให้เขาพูดลำบากอีกด้วย อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

Ode to Joy Ode to Joy เรื่องราวของ ชาร์ลี (มาร์ติน ฟรีแมน) ชายหนุ่มที่มีความผิดปกติทางระบบประสาท เขามีความรู้สึกทางอารมณ์ที่รุนแรง โดยเฉพาะอย...อ่านต่อ»