วิจารณ์ Secretary
-
จ๊อบ
(ไม่ได้เป็นสมาชิก)
เมื่อ 10 ธ.ค. 46 22:58
ข้างบนเขียนวิจารณ์ได้ดีจัง ผมเพิ่งไปดูมา ชอบมากๆครับหนังเรื่องนี้ เป็นหนังที่ตรึงอารมณ์ได้อยู่หมัดจริงๆ เนื้อหาก็โรแมนติกมากๆ
-
JoEi
(ไม่ได้เป็นสมาชิก)
เมื่อ 20 พ.ย. 46 18:50
เลขานุการ มักจะหมายหมายถึงผู้ที่คอยเป็นมือเป็นเท้าให้กับคนอื่น ทำงานจุกจิก เช่น นัดหมาย รับโทรศัพท์ พิมพ์จดหมาย จนไปถึงชงกาแฟ ถ้ามองในแง่ของอาชีพการงานแล้ว เลขาฯ มักจะเป็นบุคคลที่ชอบทำงานตามคำสั่ง และสามารถรองรับคำติติงได้เป็นอย่างดี
เจมส์ สเปเดอร์ ในเรื่องนี้มารับบทเป็น อี.เอ็ดเวิร์ด เกรย์ ทนายความที่กำลังต้องการเลขาฯ ส่วน แม็กกี้ กิลเลนฮาล มารับบทเป็น ลี ฮอลโลเวย์ หญิงสาวผู้หมกมุ่นอยู่กับการทำร้ายตัวเอง และหาทางที่จะหลีกเลี่ยงการทำร้ายตัวเองโดยการเป็นเลขาฯ
ในภาพยนตร์จะมีการติดไฟไว้ที่หน้าสำนักงานว่าต้องการเลขาฯ และการที่เลขาฯ คนก่อนต้องลาออกไปทั้งน้ำตาก่อนที่เลขาฯ คนใหม่จะเข้ามาทำงาน เหมือนบอกเป็นนัยๆ ว่าเหตุการณ์การเปลี่ยนเลขาฯ นี้เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อถูกเจ้านายดุด่าก็ยอมรับ เมื่อถูกไล่ออก ก็ต้องยอมรับด้วยเหมือนกัน นอกจากนี้ยังดูเหมือนว่าเอ็ดเวิร์ดเองก็มีกำแพงที่กลัวการก้าวหน้าของความสัมพันธ์ อาจจะเป็นเพราะประสบการณ์ที่เลวร้ายในอดีต
ความเป็นโรแมนติกของเรื่องนี้คงอยู่ที่การพิสูจน์ว่าความรักสามารถอยู่เหนือทุกอย่าง แม้ว่าจะไม่ใช่ความรักที่แสนหวาน แต่ก็เป็นความรักที่มุ่งมั่น และเป็นบทพิสูจน์ถึงรักแท้ได้อยู่เหมือนกัน
ถ้าจะพูดถึงฝีมือการแสดงของนักแสดงนำทั้งสองคนคือ เจมส์ สเปเดอร์ และ แม็กกี้ กิลเลนฮาล บอกได้เลยว่าเป็นส่วนผสมหลักที่ทำให้เรื่องนี้เป็นที่น่าสนใจ ขณะที่เจมส์ สเปเดอร์ แสดงพลังของความเป็นผู้นำในฐานะเจ้านาย ความเปลี่ยวเหงาจากคนที่ขาดความรัก ความต้องการความรัก และความกลัวความรัก ได้อย่างชัดเจนและสมจริงที่สุด แม็กกี้ กิลเลนฮาล ก็แสดงออกถึงความสุขใจในการที่จะได้คิดถึงเจ้านาย การยอมรับการอยู่ใต้อำนาจ การมอบความรัก และความเจ่าเล่ห์ ได้อย่างลงตัวเช่นกัน
แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็อาจจะดูน่าเบื่อสำหรับคนดูหนังอีกหลายคน เพราะว่าอารมณ์ในภาพยนตร์นั้นจะค่อยเป็นค่อยไปอย่างมีเหตุมีผลและนุ่มนวล ที่สำคัญเนื้อเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ผิดไปจากสูตรหนังรัก เดาเรื่องง่ายมาก แนะนำว่าไม่ควรพยายามเดาเรื่องเพราะว่าจะทำให้ความสนุกจากการชมภาพยนตร์ลดลง
การให้น้ำหนักของภาพยนตร์เรื่องนี้ดูจะด้อยไปนิด เข้าใจว่าภาพยนตร์ต้องการให้พัฒนาการของตัวละครแต่ละตัวเป็นไปอย่างช้าๆ และมีเหตุผล ทำให้ให้น้ำหนักกับส่วนแรกของภาพยนตร์มากหน่อย ขณะที่ตอนท้ายของเรื่องจะดูรวบรัดเกินไป
เรื่องนี้ในเวอร์ชั่นที่ฉายในประเทศไทยจะถูกตัดออกไปประมาณ 2-3 นาที (3 ฉาก) แต่ฉากที่หายไปก็ไม่ได้เป็นเนื้อหาที่สำคัญมากนัก ก็นับว่าโชคดีที่ทางกองเซ็นเซอร์ยังใจดีไม่หั่นซะเละ
สรุปแล้ว Secretary เป็นภาพยนตร์ที่เข้าฉายจำกัดโรงอีก 1 เรื่องที่คนทั่วๆ ไปก็สามารถดูเข้าใจ และอิ่มไปกับภาพยนตร์ได้ ผู้ที่ชอบดูหนังที่การใส่อารมณ์ ฝีมือของนักแสดง หรือ อยากจะหาภาพยนตร์ที่ไม่จำเจ ก็น่าจะหาโอกาสไปดูเรื่องนี้ซะหน่อย -
สิรินทร์
(ไม่ได้เป็นสมาชิก)
เมื่อ 22 ต.ค. 46 19:03
หลังจากได้ไปชมหนังเรื่องนี้ในรอบพิเศษของสยามโซน.คอม
รู้สึกว่าเป็นหนังที่แฝงแง่มุมให้ข้อคิดหลายอย่าง เช่น เรื่องราวในครอบครัวที่อาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของสมาชิกคนใดคนหนึ่งย่อมเกิดขึ้นได้ หากเขา/เธอจิตใจไม่เข้มแข็งพอ การค้นหาความถนัดของตนเอง สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คืองานเลขาฯ เป็นงานที่จำเจ หากทำดีก็เสมอตัว แต่ถ้าทำผิดละก็(อันนี้ต้องไปชมเอง กับบทโทษในหนังเรื่องนี้.....) ฉะนั้นจงฝึกฝนตนเองให้มีความชำนาญในงานที่ทำอยู่ , ความแนวแน่ อันนี้ไม่เฉพาะเรื่องรักเท่านั้น แต่หากคิดและตัดสินใจทำอะไรแล้ว ขอให้ทำให้สำเร็จเหมือนนางเอกของเรื่องนี้
ปล.หนังเรื่องนี้อาจเรียกว่าเป็นหนังเชิงสัญลักษณ์ ที่คนดูต้องเปิดใจในการชมหนังในแนวนี้ -
nnn
(ไม่ได้เป็นสมาชิก)
เมื่อ 22 ต.ค. 46 10:19
หนังสุดยอด...แต่ตัดเยอะไปหน่อย จนเกือบไม่รู้เรื่องแหน่ะ.....ต้องไปดูเอง
-
aom
(ไม่ได้เป็นสมาชิก)
เมื่อ 12 ก.ย. 46 11:21
ขอขอบคุณ คุณประจวบคะ ที่ให้ข้อมูลภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กระจ่างดีจริงๆ ตัวดิฉันเองก็มีอาชีพเป็นเลขานุการคะ และที่ถูกต้องที่สุดก็คือ เลขานุการจะต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เจ้านายสั่งให้ได้ และต้องทำให้ได้ดีด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้คงจะเป็นอีกเรื่องที่จะต้องไปดูให้ได้เลยคะ
-
ซาดิสม์
(ไม่ได้เป็นสมาชิก)
เมื่อ 10 ก.ย. 46 03:35
ได้ยินมาว่าเป็นหนังรัก ระหว่างหนุ่มซาดิสม์กับสาวมาโซคิสม์ ว้าวอยากดู
-
บอก
(ไม่ได้เป็นสมาชิก)
เมื่อ 13 ส.ค. 46 14:53
ประจวบ วังใจ prachuab@nationgroup.com
Secretary
เพราะเราคู่กัน
หากพูดถึงพล็อตว่าด้วยเรื่องรักโรแมนติกระหว่างนายกับบ่าว เจ้านายกับลูกน้อง คงมีคนสร้างออกมาแล้วมากมายหลายร้อยเรื่อง ซึ่ง Secretary ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ออกมาในแนวนี้ แต่ที่ทำให้หนังเรื่องนี้ต่างออกไปจากเรื่องอื่นๆ คือธีมหลักของเรื่องที่มุ่งหน้า 'ค้นหา' ตัวตนที่ซุกซ่อนอยู่ มากกว่าการ 'ตามหา' ชิ้นส่วนที่หายไปเหมือนกับหนังเรื่องอื่นๆ ในแนวทางเดียวกัน
Secretary มาพร้อมกับบทภาพยนตร์อันทรงพลัง และเห็นได้ชัดว่าผู้เขียนบทคือ สตีเวน เชนเบิร์ก ซึ่งดัดแปลงมาจากงานเขียนของ แมรี เกตสกิลล์ 'คิดมาก' เพียงใด เพราะในทุกๆ รายละเอียดที่เสนอออกมา มักแฝงไว้ด้วยแง่มุมน่าขบคิดทั้งสิ้น จุดนี้นี่เองทำให้ผมรู้สึกว่า Secretary เป็นหนังโรแมนติก-คอมเมดี้ที่น่าดูเอามากๆ เรื่องหนึ่งประจำปีนี้
หนังน่าสนใจตั้งแต่ชื่อเรื่อง Secretary หากเราพิจารณาตามคำศัพท์อย่างผิวเผิน ก็หมายถึง 'เลขานุการ' ที่แต่งตัวสวยนั่งอยู่หน้าห้องผู้บริหาร คอยจัดการเรื่องปลีกย่อยต่างๆ ให้ แต่ถ้าเป็นความหมายในเชิงสังคมวิทยาแล้ว เลขานุการคือตัวแทนหรือส่วนเติมเต็มให้กับผู้เป็นนายจ้างและยังเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง 'นาย' กับ 'บ่าว' ที่สามารถอธิบายในเชิงโครงสร้างเชิงอำนาจได้ด้วย
กล่าวคือ นายจ้างสามารถจิกหัวใช้เลขานุการของตัวเองอย่างไรก็ได้ โดยไม่มี 'ตัวกลาง' อย่างหัวหน้าแผนกหรือหัวหน้าฝ่ายคอยเป็นกันชนให้ ดังนั้น หาก 'นาย' ประสงค์สิ่งใด 'บ่าว' อย่างเลขานุการ จำต้องจัดการให้บรรลุประสงค์ของผู้เป็นนาย ชนิดไม่สามารถบิดพลิ้ว
ขณะเดียวกัน ถ้าในเชิงจิตวิทยาแล้ว เจ้านายกับเลขานุการยังเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะ 'ซาดิสม์' กับ 'มาโซคิสม์' อีกด้วย เมื่อมีทั้ง 'ผู้กระทำ' และ 'ผู้ถูกกระทำ' (ด้วยความเต็มใจทั้งสองฝ่าย) ซึ่งไม่ต้องอธิบายเพิ่มว่าระหว่างนายกับบ่าว ใครเป็นฝ่ายไหน และหนัง Secretary ดูเหมือนจะมุ่งหน้าให้ความสำคัญกับการอธิบายความสัมพันธ์ในแง่นี้ โดยเผยให้เห็นถึงการค้นหาตัวตนของผู้เป็นนายและบ่าว ว่าแท้จริงแล้ว ตัวเองต้องการสิ่งใดกันแน่ และเมื่อรู้แล้ว ควรจะเผชิญหน้ากับ 'การดำรงอยู่' ของตัวเองอย่างไร
ลี ฮอลโลเวย์ (แม็กกี้ กิลเลนฮาล) สาวจอมเก็บกด ยามใดจิตใจพลุ่งพล่าน เธอมักทำร้ายตัวเองเสมอ ไม่ว่าจะเป็นใช้ของแหลมคมทิ่มร่างกาย ใช้มีดกรีดแขนขาตัวเอง ซึ่งลีตอบไม่ได้เหมือนกันว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น รู้แต่ว่าหากได้ทำแล้วเธอจะสงบลง
พฤติกรรมแสนประหลาดของลี สร้างความกังวลให้กับผู้เป็นพ่อแม่ เวลาเดียวกันก็กลายเป็นกำแพงปิดกั้นตัวเธอ ทำให้เข้ากับสังคมรอบข้างไม่ค่อยได้ แม้จะพยายามคบ ปีเตอร์ (เจเรมี เดวีส์) เป็นแฟน แต่ลีรู้ดีว่ายังมีบางสิ่งบางอย่างปิดกั้นทั้งสองอยู่
ลีมีความสามารถในการพิมพ์ดีดในระดับสูง ดังนั้น เธอจึงมองหางาน และงานที่น่าจะเหมาะกับเธอ คือเลขานุการ
ที่สำนักงานกฎหมายของ เอ็ดเวิร์ด เกรย์ (เจมส์ สเปเดอร์) ต้องการเลขานุการคนใหม่ ลีจึงไปสมัคร ปรากฏว่าเอ็ดเวิร์ดรับเธอเข้าทำงาน
ครั้งแรกๆ ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองเป็นไปอย่างสามัญ เหมือนนายจ้างกับลูกจ้างทั่วไป แต่เมื่อนานวันเข้ามีบางสิ่งบางอย่างที่บอกให้ลีรู้ว่าเธอปรับสายตาให้คุ้นชินกับความมืดมิดในชีวิตของเธอแล้ว เธอตอบตัวเองได้ว่าเธอต้องการสิ่งใด และส่วนเติมเต็มของชีวิตที่หายไปนั้น อยู่ที่ไหน...อยู่ในตัวของเอ็ดเวิร์ดนี่เอง
ใครที่ไม่ค่อยคุ้นกับหนังดรามาจิตวิทยา อาจจะรู้สึกรำคาญเหมือนกำลังนั่งดูชีวิตประหลาดๆ ที่เต็มไปด้วยเหตุผลพิกลพิการของคนสองคน แต่ถ้าอยากจะทำความรู้จักกับอีกด้านมืดอีกด้านหนึ่งในพฤติกรรมมนุษย์ ผมเชื่อว่า Secretary มีความกระจ่างชัดในประเด็นที่กำลังเสนอค่อนข้างมากทีเดียว
อย่างการค้นหาตัวตนนั้น หนังเปิดโอกาสให้คนดูได้ทำความรู้จักกับชีวิตที่ถูกปรุงแต่งหรือเสแสร้งของตัวละครหลักทั้งสองตัวก่อน เช่น ความพยายามของลีที่จะเมคเลิฟอย่างคนสามัญมากที่สุด แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด หรือกรณีของเอ็ดเวิร์ดที่บอกว่า เขาสามารถจัดการกับความอายได้ แต่คำพูดนี้เหมือนกับการวิ่งหนีตัวเอง ซึ่งคำว่า 'การจัดการ' ในความหมายแท้จริง ก็คือการฝืนธรรมชาติ ไม่ยินยอมให้สิ่งใดดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็นนั่นเอง
หลังจากนั้น หนังนำคนดูเข้าสู่กระบวนการของการเรียนรู้ธรรมชาติของตัวเองผ่านฉากสำคัญฉากหนึ่ง เมื่อลีทำงานผิดพลาด พิมพ์ผิดหลายคำ เอ็ดเวิร์ดได้ปลดปล่อยความรู้สึกอันเสมือนสัญชาตญาณที่แท้จริงของตัวเองออกมา โดยการทำโทษลี (ตีก้น) ในฉากนี้นอกจากจะเผยให้เห็นธรรมชาติจริงๆ ของคนสองคนแล้ว ยังถือเป็นฉากอีโรติกที่ทำได้ดีมากๆ ฉากหนึ่งทีเดียว
ช่วงท้ายของหนัง พยายามอธิบายถึงการตาม missing piece หรือชิ้นส่วนที่ขาดหายไปของมนุษย์ โดยที่ลีนั้นเหมือนจะเป็นคนรู้ตัวก่อนว่า เอ็ดเวิร์ดคือ 'คนที่ใช่' ของเธอ แต่ฝ่ายชายกลับฝืน ไม่ยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็น แม้ว่าจิตในเบื้องลึกจะเรียกร้องสักปานใดก็ตาม
สตีเวน เชนเบิร์ก นอกจากจะเขียนบทแล้ว ยังทำหน้าที่กำกับภาพยนตร์ด้วย เขาคนนี้คือผู้กำกับรุ่นใหม่ที่ไม่สนใจระบบสตูดิโอเท่าใดนัก ทำหนังเรื่องนี้ด้วยต้นทุนเพียงน้อยนิด แต่งานที่ออกมาก็พิสูจน์ให้เห็นว่า หากมีความฉลาดและเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์อันบรรเจิด ก็สามารถทำหนังทรงคุณค่าได้เหมือนกัน
ความยอดเยี่ยมของ Secretary ผ่านการรับรองจากเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ประจำปี 2002 เรียบร้อยแล้ว เมื่อคว้ารางวัลสูงสุด คือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำเทศกาล และช่วงปลายปีที่แล้ว Secretary ก็เป็นงานอีกเรื่องหนึ่งที่นักวิจารณ์เชียร์กันขรมอยากให้ติดเข้าไปเป็นหนึ่งในห้าเรื่องสุดท้ายของออสการ์ หรืออย่างน้อยการแสดงของแมกกี้ กิลเลนฮาล น่าจะได้รับการเหลียวมองบ้าง แต่คำว่า 'หนังฟอร์มเล็ก' จึงถูกเบียด ถูกตัดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย
กิลเลนฮาล นักแสดงจาก Riding in Cars with Boys แสดงเป็นสาวที่ไม่ยอมปิดกั้นธรรมชาติของตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยม ตลอดเวลาเกือบสองชั่วโมงที่เธอเป็น 'ลี ฮอลโลเวย์' เราแทบจะไม่เห็นเธอหลุดคาแรกเตอร์ออกมาแม้แต่น้อย ทุกๆ ซ็อตที่แสดงออกมาทำให้เราเชื่อสนิทใจว่า สาวผอมบางร่างโย่งคนนี้ ต้องมีอะไรที่ไม่ธรรมดาแน่ๆ
ฝ่าย เจมส์ สเปเดอร์ ดูเหมือนว่าหนุ่มคนนี้กลายเป็น 'ขาประจำ' ของหนังในกลุ่มวิกลจริตไปเสียแล้ว ไล่ตั้งแต่ Sex Lies and Videotape มาถึง Crash เรายังไม่ค่อยเห็นเขาเป็นคนธรรมดาสามัญเหมือนชาวบ้านเขาแม้แต่ครั้งเดียว ดังนั้น จะว่าไปแล้วในหนังเรื่องนี้สเปเดอร์ให้การแสดงที่อยู่ในมาตรฐานของตัวเอง ก็คงไม่ผิดนัก
บทสรุปสุดท้ายของ Secretary ให้คำตอบแก่คนดูอย่างที่ควรจะเป็น ว่า 'การเข้าคู่กัน' นั้น จำเป็นเพียงใด แต่จุดใหญ่ใจความน่าจะอยู่ที่เรารู้จักตัวเองดีเพียงใด-มากกว่า
จาก เนชั่นสุดสัปดาห์ http://www.bangkokbiznews.com/weekend/20030702/weh14.shtml
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google+ หรือ Facebook ก็ได้
Facebook | Google+
advertisement
วันนี้ในอดีต
- รักแห่งสยามเข้าฉายปี 2007 แสดง มาริโอ้ เมาเร่อ, วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล, กัญญา รัตนเพชร์
- Harry Potter and the Chamber of Secretsเข้าฉายปี 2002 แสดง Daniel Radcliffe , Emma Watson , Rupert Grint
- ตีสาม 3Dเข้าฉายปี 2012 แสดง กาญจน์เกล้า ด้วยเศียรเกล้า, โทนี่ รากแก่น, ชาคริต แย้มนาม
เกร็ดภาพยนตร์
- Big Eyes - โดยส่วนใหญ่ผู้กำกับ ทิม เบอร์ตัน จะทำงานร่วมกับนักแสดงที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้มีแต่นักแสดงที่ ทิม ไม่เคยร่วมงานด้วยมาก่อน โดยภาพยนตร์ที่ทำเช่นนี้ก่อนหน้านี้ คือ Beetlejuice (1988) อ่านต่อ»
- American Sniper - เดวิด โอ. รัสเซลล์ เคยได้รับการพิจารณาให้มากำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ก่อนที่เขาจะขอถอนตัว สตีเวน สปีลเบิร์ก ก็เคยสนใจกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ก็ถอนตัวออกไปเช่นกัน คลินต์ อีสต์วูด จึงมารับหน้าที่กำกับในที่สุด อ่านต่อ»