นักวิชการหนุน หนุนบริโภคโปรตีนจากเนื้อปลา ย่อยง่าย มีโอเมก้า 3 เหมาะทุกเพศวัย

11 มี.ค. 67 11:35 น. / ดู 2,759 ครั้ง / 5 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์

นักวิชาการประมงชี้เนื้อปลามีคุณค่าทางโภชนาการสูง ผู้บริโภคควรสังเกตเครื่องหมายรับรองการผลิตที่รับประกันคุณภาพและความปลอดภัย เลือกซื้อจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ ลดเสี่ยงจากการปนเปื้อน เน้นปรุงด้วยวิธีที่คงคุณค่าทางโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดี
ผศ.ดร.จุฑา มุกดาสนิท หัวหน้าภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า "เนื้อปลา" เป็นแหล่งของโปรตีนที่ร่างกายต้องการครบถ้วน ย่อยง่าย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะกรดอะมิโนที่จำเป็นที่ร่างกายนำไปใช้ในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย มีแร่ธาตุสำคัญ เช่น สังกะสี (Zinc) ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน และธาตุเหล็ก แร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง

นอกจากนี้ เนื้อปลามีกรดโอเมกา-3 โดยมีงานวิจัยยืนยันว่าการรับประทานกรดโอเมกา- 3 อย่างเหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงหรือป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ได้ ทั้งโรคอัลไซเมอร์ โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือด ซึ่งปลาแต่ละชนิดมีโอเมกา-3 แตกต่างกัน ปลาทะเลที่มีโอเมกา-3 มาก เช่น ปลาทู ปลาอินทรี ปลากะพงแดง ปลากะพงขาว ส่วนปลาน้ำจืด เช่น ปลาดุก ปลาสวาย เป็นต้น และในประเทศไทยมีปลาหลายชนิดที่หารับประทานได้ง่าย เช่น ปลาทู ปลาดุก ปลาช่อน ปลากะพง

อย่างไรก็ตาม การบริโภคโอเมกา-3 ในปริมาณที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับเพศ ช่วงวัย และภาวะสุขภาพของแต่ละคน สำหรับคนที่มีสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว ให้รับประทานเฉลี่ย 800-1,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือรับประทานเนื้อปลาให้ได้อย่างน้อย 3 มื้อต่อสัปดาห์ หรือมื้อละ 100 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่แนะนำ

สำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อปลาที่ผ่านการแปรรูปแล้ว เช่น ปลาแช่เยือกแข็ง ปลาแล่เป็นชิ้น หรือลูกชิ้นปลา ให้สังเกตตราสัญลักษณ์ GMP (Good Manufacturing Practice) แสดงถึงมาตรฐานควบคุมการผลิตอาหารอย่างปลอดภัย อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข สามารถทวนสอบย้อนกลับได้ทั้งกระบวนการผลิต และให้สังเกตเครื่องหมาย HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) เป็นมาตรฐานการผลิตที่มีมาตรการป้องกันและลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่การผลิตจนถึงการจัดจำหน่ายและการเก็บรักษา รับรองได้ว่าผู้บริโภคจะได้ปลาที่ สด สะอาด ปลอดภัย

"กรณีผู้บริโภคที่มีความกังวลว่าปลาจะมีการปนเปื้อนของสารปรอท ขอให้ผู้บริโภคอย่าได้ตระหนก ให้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปลาที่ผ่านการรับรองด้วยระบบ HACCP เพื่อลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสารปรอท อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปลาสดนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น อย. และกรมประมง ควรมีการตรวจเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสิ่งที่กำลังเป็นข้อกังวลของผู้บริโภคเป็นระยะๆ และสื่อสารข้อมูลที่เป็นจริงและเพียงพอ ซึ่งจะสามารถสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น" ผศ.ดร.จุฑากล่าว

ส่วนวิธีการบริโภค ควรปรุงให้สุก เพื่อทำลายพยาธิและจุลินทรีย์ก่อโรค ที่สำคัญ การรับประทานเนื้อปลาสุกร่างกายจะดูดซึมสารอาหารได้ดีกว่าการรับประทานแบบดิบ วิธีการปรุง เน้นเป็นการต้ม หรือนึ่ง หลีกเลี่ยงการปิ้งย่างหรือทอด เนื่องจากการใช้อุณหภูมิที่สูงเกินกว่า 100 องศาเซลเซียส จะทำให้โอเมกา-3 สลายตัวส่งผลให้ปริมาณโอเมกา-3 ลดลง อีกทั้งการทอดในน้ำมันบางชนิดจะทำให้ได้รับไขมันอิ่มตัว ควรหลีกเลี่ยงเพื่อสุขภาพ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.matichon.co.th/publicize/news_3912422
เลขไอพี : ไม่แสดง | ตั้งกระทู้โดย Windows 10

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

#1 | _uwu_ | 11 มี.ค. 67 16:32 น.

ไอพี: ไม่แสดง | โดย Windows 10

#2 | asider | 15 มี.ค. 67 16:45 น.

ไอพี: ไม่แสดง | โดย Windows 10

#4 | sz467998 | 3 เม.ย. 67 23:27 น.

ไอพี: ไม่แสดง | โดย Windows 10

#5 | sz468050 | 24 เม.ย. 67 22:03 น.

เห็นด้วยครับ ทุกวันนี้กินแต่เนื้อ ไม่ค่อยได้กินปลา

ไอพี: ไม่แสดง | โดย Windows 10

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google