คดีแก้สัมปทานดิวตี้ฟรีมิชอบ ศาลยกฟ้อง ชี้โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายไร้อำนาจฟ้อง

12 มี.ค. 66 13:07 น. / ดู 2,526 ครั้ง / 0 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์
จากข่าว ศาลอาญาคดีทุจริตฯแจงยกคดี "ชาญชัย อิสระเสนารักษ์" ฟ้องบอร์ด ทอท. แก้ไขสัญญาดิวตี้ฟรี-บริการจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบิน ชี้โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย-ไม่มีอำนาจฟ้อง-คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง https://www.komchadluek.net/news/crime/543877
ถามว่า ชาญชัยคนนี้ มารับบทบาทอะไร คำตอบคือ เขาเคยนั่ง "รองประธานคณะกรรมาธิการ ด้านกลไกการปราบปรามการทุจริต คณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ" (สปท.) เรียกว่ารับบทบาทมาปราบโกงให้สมกับคอนเซปต์รัฐบาลตู่ไล่เช็คบิลนักการเมืองขี้ฉ้อ!!

แต่ถ้าดูประวัติที่ผ่านมา เขาคืออดีต ส.ส.ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เกิดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2496 เป็นคนจังหวัดนครนายก และยังเป็นอดีต ส.ส.นครนายก ครองเก้าอี้หลายสมัย สำเร็จการศึกษา ศิลปศาสตรบัณฑิต และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ก่อนจะมาทำการเมือง เขาเคยดำรงอาชีพเป็นนักธุรกิจ แล้วมาตัดสินใจลงเลือกตั้งครั้งแรกช่วงปี 2538 ซึ่งก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส.นครนายก เรื่อยมาจนถึงปี 2550 รวม 4 สมัย คือในการเลือกตั้ง ปี 2538, 2539, 2548 (ระบบบัญชีรายชื่อ) และ 2550 ทั้งหมดนี้ รักเดียวใจเดียวที่ "พรรคประชาธิปัตย์" เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ระหว่างนั้น ก็มีเรื่องราวซึ่งดังมาก และยังคงทำให้หลายคนกังขาในตัว ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ มาจนถึงวันนี้

หากใครจำได้ช่วงปี 2539 หลังจากนั่ง ส.ส.ใหม่ๆ เขาถูกแจ้งจับในคดีปลอมแปลงวุฒิการศึกษา เพื่อนำมาใช้ลงเลือกตั้ง ส.ส. โดยศาลรัฐธรรมนูญพบหลักฐานจริงแค่ว่า ชาญชัยคนนี้ จบ ป.7

ส่วนการศึกษาตั้งแต่ระดับ "มัธยมต้น" จนถึง "มัธยมปลาย" ไม่มีมาแสดง เขาจึงถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดให้สิ้นสุดสมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎร กรณี "ขาดคุณสมบัติ" ในเรื่องวุฒิการศึกษา ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2542

ตอนนั้นแน่นอน สมาชิกภาพ ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งในปี 2538 และ 2539 จึงไม่ถูกต้องสมบูรณ์มาตั้งแต่ต้น เนื่องจากจบการศึกษาไม่ถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ขณะที่มีบิดาเป็นคนต่างด้าวอีกด้วย

เวลานั้นหลายคนฟันธงเลยว่า "อนาคตทางการเมือง" ของอดีต ส.ส.นครนายกคนนี้ถูกฝังกลบจบข่าวไปแล้ว แต่ปรากฏว่า ก่อนหน้าการตัดสินเพียง 1 วัน ชาญชัยได้ชิงลาออกจากการเป็น ส.ส.ไปก่อน ในวันที่ 4 ตุลาคม 2542 ก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยวันเดียว ทั้งหมดคือการพลิกกลับตัวอย่างฉิวเฉียดเพื่อให้รอดจากการถูกตัดสิทธิลงสมัคร ส.ส.ตลอดไป

และก็เป็นเช่นนั้น เพราะต่อมา "ชาญชัย" กลับเข้าสู่เส้นทางการเมืองได้อีกครั้ง หลังสำเร็จปริญญาตรี รัฐศาสตร์ภาคพิเศษ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

จะว่าไป ก็น่าเห็นใจในมุมนี้ เพราะใครๆ ก็รู้ว่า สนามนครนายก การแข่งขันดุเดือดขนาดไหน กว่าจะได้เก้าอี้ไม่ใช่ง่ายๆ แถมถ้าต้องมาเสียให้แก่ "คู่แข่ง" ที่ฟัดกันมายาวนาน คือ ฟากของตระกูลใหญ่ "กิตติธเนศวร" ก็คงเจ็บขั้วหัวใจไม่น้อย

แต่ก็มีอยู่ช่วงที่พรรคไทยรักไทยฮอตมากๆ ชาญชัย ก็จำต้องหนีไปลงบัญชีรายชื่อแทน ปล่อยให้ "เสี่ยแหมะ" สิทธิชัย กิตติธเนศวร พรรคไทยรักไทยครองพื้นที่ไปก่อน แต่โชคร้ายสิทธิชัยเกิดไปติดบ้านเลขที่ 111 ชาญชัยเลยหวนกลับมาสู้ศึกปี 2550 ได้เก้าอี้ ส.ส.นครนายก มาครองอีกครั้ง

ผ่านมาไม่นาน ปรากฏว่าฝุ่นวิกฤติการเมืองฟุ้งอีกรอบ และมาสงบในปี 2554 มีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น ฝั่งพรรคเดิมในชื่อใหม่ว่า "เพื่อไทย" ก็จัดไม้เด็ดเป็น "น้องสาวคนเล็กของทักษิณ" งานนั้น ชาญชัยไปพ่ายแพ้ให้แก่คนตระกูลเดิม คือ "เสี่ยอ๋า" วุฒิชัย กิตติธเนศวร เพียงแต่รายนั้นเขาย้ายไปอยู่ในสัดส่วนพรรคภูมิใจไทยแล้ว

อย่างไรก็ดี น่าสนใจว่า ไปๆ มาๆ บทบาทของชาญชัยกลับกลายมาเป็นผู้ตรวจสอบทุจริตเสียเอง แม้ว่าจะโดนค่อนขอด ขุดคุ้ย กับปมอดีตเรื่องวุฒิการศึกษาอยู่เรื่อยๆ จากฝ่ายตรงข้าม แต่เขาก็ไม่สะเทือน

อย่างสมัยเป็น ส.ส.ช่วง อภิสิทธิ์ นั่งนายกรัฐมนตรี เขาเคยเป็นรองประธานคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ออกมาประกาศยืนหยัดในการหยุดยั้งโครงการดังกล่าว เพราะมองว่ามีความไม่ชอบมาพากล

ตอนนั้นมาดของชาญชัยดูจริงจัง เอาแน่! เพราะได้ยื่นเรื่องให้แก่รัฐบาลอภิสิทธิ์ตรวจสอบ พูดง่ายๆ ว่าถึงจะเป็นคนฝั่งเดียวกัน ถ้าพบสิ่งผิดปกติ ก็ต้องขอให้แตะเบรก

สุดท้ายโครงการดังกล่าวเดินหน้าต่อ ประหนึ่งว่าไม่มีใครฟังเสียงของเขา

จนเมื่อมีเหตุให้หัวโขน ส.ส.ของพรรคการเมืองต้องถูกถอดออกไป ชาญชัยคนนี้ ได้โอกาสมานั่งในคณะกรรมาธิการของ "สปท." มีหน้าที่ด้านการตรวจสอบโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับรัฐโดยตรง

จะว่าไปงานนี้ชาญชัยก็ต้องผิดหวังอีกครั้ง เพราะศาลก็ยกฟ้อง โดยแจ้งว่าผู้ฟ้อง ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไร้อำนาจฟ้อง







#คดีแก้ไขสัญญาสัมปทาน
#ศาลยกฟ้อง
#สัมปทานดิวตี้ฟรี
เลขไอพี : ไม่แสดง | ตั้งกระทู้โดย Windows 10

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google